- คำบางคำที่พูดออกไป คนหนึ่งอาจมองว่าเป็นเพียงคำธรรมดาๆ หรือแค่แซวเล่นเฉยๆ แต่กลับทำให้อีกคนรู้สึกเจ็บปวดหรือทำร้ายจิตใจอย่างมาก นั่นเป็นเพราะ ‘Empathy gap’
- Empathy gap หมายถึงการที่ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกหรือประสบการณ์ของบุคคลอื่น เนื่องจากความแตกต่างทางด้านอารมณ์ สังคม และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
- การพูดแรงๆ พูดตรงๆ ไม่ได้ทำให้คนฟังจำและนำไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น แต่คำพูดนั้นอาจฝังอยู่ในใจคนฟังและกลายเป็นบาดแผลที่ยากจะรักษาให้หาย ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปเราจึงต้องปรับมุมมองของตัวเอง ก่อนที่คำพูดนั้นจะไปทำร้ายผู้อื่น
“แซวเล่นเฉยๆ”
“แค่พูดเล่น คิดมากไปหรือเปล่า”
เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยผ่านความรู้สึกเจ็บปวดจากคำพูดของคนอื่น ที่เมื่อฟังแล้วเหมือนถูกมีดแทงตรงกลางใจ หรือเหมือนโดนตบหน้าแรงๆ โดยที่ผู้พูดอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่สำหรับผู้ฟังแล้วแม้จะตบท้ายด้วยการบอกว่า “แซวเล่น” หรือ “ล้อเล่น” ก็ไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้น ซึ่งในทางตรงกันข้าม บางครั้งเราเองก็อาจเป็นคนที่มอบความเจ็บปวดนั้นให้กับคนอื่นด้วยคำพูดด้วยเช่นกัน
แล้วทำไมคำพูดที่คนหนึ่งมองว่าเป็นเพียงคำธรรมดาๆ หรือแค่แซวเล่นเฉยๆ กลับทำให้อีกคนรู้สึกเจ็บปวดหรือทำร้ายจิตใจอย่างมาก?
แน่นอนว่าไม่ได้มาจากความรุนแรงของถ้อยคำที่ถูกสื่อสารออกมาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่างกันในแต่ละเรื่อง
เราต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตไม่เหมือนกัน ซึ่งความแตกต่างนี้นำมาสู่ความไม่เข้าใจ หรือ ‘Empathy gap’ ที่หมายถึงการที่ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกหรือประสบการณ์ของบุคคลอื่น เนื่องจากความแตกต่างทางด้านอารมณ์ สังคม และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
ในเวทีเสวนา ‘Fill in the blank เติมเต็มช่องว่างระหว่างใจ’ ที่จัดขึ้น ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดร.มุก – กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน นักจิตวิทยาคำปรึกษา และ CEO เพจ ME HUG ชวนปรับมุมมองและทำความเข้าใจ Empathy gap เพื่อลดการตัดสินและทำร้ายผู้อื่นผ่านคำพูด
ทําไมคำบางคำที่พูดออกไป แต่ละคนรู้สึกไม่เหมือนกัน
‘กฎของกระจก’ (ชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเรา) สามารถอธิบายว่า ทําไมเราถึงเจ็บปวดกับคำบางคํา เพราะจริงๆ แล้ว ตัวเราเองเป็นคนที่ยิงคําพวกนี้ใส่ตัวเองโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ดังนั้นเวลาที่คนอื่นพูดมา แม้บทสนทนาจะมีสัก 100 คำ แต่เราก็จะไปโฟกัสเฉพาะคําที่แทงใจเรา หรือคําที่เรายิงใส่ตัวเองเสมอ จึงทำให้เจ็บปวดมาก เพราะสิ่งนี้ตรงกับสิ่งที่เราคิดว่าตัวเราเป็น
“ธรรมชาติของมนุษย์ ชอบไปโฟกัสกับสิ่งที่ไม่ดี ยิ่งเราอยู่ในโลกของโซเชียล แล้วทุกอย่างมันเป็นในแง่ลบตลอดเวลาเลยทำให้เรามีจิตใจที่หมกมุ่นกับคำลบๆ และประสบการณ์ทางลบนั้น
สิ่งที่เราทํางานกับตัวเองในฐานะนักจิตวิทยาคือ ต้องกลับมาสํารวจความเป็นจริง ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นจริง ก็จะได้กลับมาบอกตัวเองได้ว่ามันไม่ใช่ เพราะสุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพร่างกาย ถ้าในวันที่เราอ่อนแอ ภูมิต่ำ เราก็จะติดเชื้อโรคได้ง่าย สิ่งที่เราทําได้คือเราต้องออกกําลังใจแข็งแรง
แต่ถ้าในกรณีที่เราเผลอไปพูดทำร้ายใครโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะคนที่เรารัก ยิ่งถ้าเรารู้ว่าเขารักเรา เราก็จะกล้าทำ เพราะเราเชื่อว่าทำไปเขาก็ยังอยู่กับเราไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แต่ว่าถ้าเรารู้ตัวแล้วว่าเราทำร้ายเขา สิ่งที่เราทําได้คือ ต้องกล้าที่จะเยียวยาเขา กล้าที่จะรับผิดชอบ และต้องหยุดสังเกตสีหน้าท่าทางปฏิกิริยาเขาเสมอ”
ดร.มุก แนะนำว่าหากเผลอพูดไปแล้ว หรือปกติเป็นคนพูดไม่คิด ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเอง โดยมีเคล็ดลับคือ หากจะพูดอะไรออกไป ให้นำคําพูดนั้นไปคิดในใจก่อนสัก 5 วินาที ว่าควรพูดออกไปหรือไม่ เพราะมองว่าสิ่งที่จะช่วยชะลอการพูดทำร้ายคนอื่นได้คือการมีสติ รู้เท่าทันตัวเอง
“เราต้องตระหนักรู้ก่อนว่า ตอนนี้เรากําลังตัดสินเขาอยู่หรือเปล่า และถ้าพูดออกไปแล้วเป็นเรื่องที่ดีก็พูดเลย แต่ถ้าพูดแล้วกลายเป็นลบ ก็ไม่ควรพูด เก็บไว้ในใจดีกว่า”
ทุกคนสามารถเติบโตอย่างมีความสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกเฆี่ยนตี
หลายคนอาจเข้าใจผิด และมองว่าการพูดแรงๆ หรือพูดตรงๆ นั้นจะทำให้คนฟังจำและนำไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน คำพูดนั้นอาจฝังอยู่ในใจของคนฟังและกลายเป็นบาดแผลที่ยากจะรักษาให้หาย ดังนั้นก่อนที่เราจะพูดอะไรออกไปเราต้องปรับมุมมองของตัวเอง ก่อนที่คำพูดนั้นจะไปทำร้ายผู้อื่น
“เรามองว่า No Pain, No Gain ไม่จริง บางคนบอกว่าต้องเจ็บปวดก่อนถึงจะเติบโต ซึ่งไม่จริงเลย นั่นเป็นความเชื่อโบราณ วิธีการที่จะเติบโตที่ดีคือ การที่สามารถเติบโตไปในทิศทางบวกได้โดยไม่จําเป็นต้องเจ็บปวดก่อน ไม่จําเป็นต้องตี ให้เจ็บแล้วถึงจะจํา
ถ้าเราอยากจะส่งต่อความสุขให้กับผู้อื่น ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง จาก Fighter ที่ทิ่มแทงคนอื่น เป็น Learner ที่เรียนรู้ผู้อื่น เพราะเราทุกคนอยู่บนโลกที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม การเมือง จริงอยู่ที่ความแตกต่างจะมีอยู่ทั่วโลก แต่เราต้องหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้ หาความเหมือนและจุดร่วมกับผู้อื่น แล้วเราจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นผ่านการสังเกต และพยายามสร้างความเข้าใจบนพื้นฐานประสบการณ์ของเขา
การเป็น Learner คือการฝึกทําตัวเป็นนักสืบ รู้จักสังเกตก่อนตัดสินว่าที่มาที่ไป และเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และต้องระลึกไว้ในใจว่า เราทุกคนเติบโตมาแตกต่างกัน แล้วเมื่อเราตระหนักสิ่งนี้ได้แล้ว เราจะหาความสุขได้”
ซึ่ง ดร.มุกมองว่าวิธีที่เราจะหยุดการส่งต่อความเจ็บปวดสู่ผู้อื่นนั้น เราต้องรู้เท่าทันตัวเองก่อนว่าเรามีทัศนคติต่อคนหรือเรื่องราวตรงหน้าอย่างไร เพื่อที่จะชะลอการตัดสิน
“การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด ถ้าเรารู้ว่าเรามีดีเรื่องอะไร หรือมีข้อเสียอะไร ก็จะทําให้เราพัฒนาได้ไกล ดังนั้นเมื่อเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราคิดไม่ดีกับคนนี้ เราต้องรู้เท่าทันตัวเองว่าจะสามารถพลิกความคิดนั้นได้ยังไงบ้าง แล้วปรับมุมมองใหม่ เข้าใจเขาให้มากขึ้น
แต่มีวิธีหนึ่งคือ การหลอกสมองตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าเคยเป็นคนที่ไม่ชอบวิ่งเลย ไม่ชอบออกกําลังกาย แต่ถ้าไปออกกําลังกายเรื่อยๆ สมองก็จะค่อยๆ โดนหลอกไปเรื่อยๆ เหมือนจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่เบสิกๆ นะ แต่ว่ามันทําได้จริงๆ อยากให้ทุกคนลองทําดู พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย เช่นเดียวกับการปรับมุมมองทัศนคติและการสร้างความสุขให้กับตัวเอง ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ ปรับได้ในที่สุด
เพราะถ้าเราสร้างความสุขให้ตัวเองไม่ได้ อย่าไปคาดหวังว่าเราจะทําให้คนอื่นได้ เพราะเรายังไม่สามารถมีประสบการณ์นั้นเลย และเราจะไปคาดหวังให้คนตรงหน้ามีความสุขได้ยังไง”
‘การรักตัวเอง’ เกราะกำบังทุกคำพูดทิ่มแทงหัวใจ
ถ้าเราเห็นคุณค่าของตัวเอง รักตัวเอง สิ่งนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะช่วยป้องกันสิ่งร้ายๆ ที่พุ่งเข้าหาเรา เพราะหากเรารักตัวเองมากพอ เราจะไม่อนุญาตให้อะไรมาทําร้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นคน หรือแม้กระทั่งคําพูดก็ตาม
“เราสามารถเริ่มต้นการรักตัวเองด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ท่ามกลางคนที่มีความคิดทางบวก เป็น Positive Environment เพราะทัศนคติของเราเกิดจาก You are what you eat กินอะไรเป็นเช่นนั้น อะไรก็ตามที่เราเสพ ไม่ว่าจะผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันถูกซึมเข้าตัวเราทั้งหมด เราเลือกได้ว่าเราอยากจะซึมซับอะไรเข้ามา”
พร้อมกันนี้ ดร.มุก ได้ฝากโครงการหนึ่งของเพจ ME HUG คือ ‘โครงการอาสาโอบใจ’ ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อนคอยสำรวจจิตใจและช่วยให้คนที่เข้ามาปรึกษากลับมาโอบกอดตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะรักตัวเองได้อีกครั้ง
เพราะปกติแล้วเวลาที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เรามักจะไปโฟกัสกับความเจ็บปวด แต่หากเรายังรักตัวเองมากพอ ก็ให้ลองมองว่า ของขวัญที่ได้รับจากความเจ็บปวดนี้คืออะไร เพราะจะมีของขวัญพิเศษบางอย่างที่มากับสิ่งนั้นเสมอ
“ไม่มีสิ่งใดบนโลกใบนี้ที่เกิดมาแล้วไม่มีประโยชน์ ต่อให้สัตว์ที่เป็นพิษ หรือแมลงสาบ ก็มีเหตุผลของการมีอยู่ของมันเสมอ ดังนั้นทุกๆ ความเจ็บปวด ทุกๆ ความป่วย หรือ ทุกๆ ความไม่ชอบของเรา ก็จะมอบของขวัญอะไรบางอย่างให้เราเสมอ เพียงแค่เราไม่เคยมองเห็นมันเท่านั้นเอง
บางคนที่เขาป่วยเป็นโรคต่างๆ กลับมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงหลายคนด้วยซ้ำ ของขวัญของคนที่รู้ตัวเองว่าป่วยคือ เขาจะไม่ประมาทในการดําเนินชีวิต จะรู้ว่าชีวิตของเขามีคุณค่าและมีความสุขแค่ไหน”
ดร.มุกทิ้งท้ายสำหรับการตามหาความสุขในชีวิตว่า จริงๆ แล้วก็มีความสุขนั้นไม่ได้ยาก แต่หากเราหาความสุขในชีวิตไม่เจอก็ลองเริ่มต้นจากการทำอะไรก็ได้ให้สำเร็จ แม้สิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากก็ตาม
“ลองกลับบ้านไปโน้ตดูว่าตัวเองมีความสุขในการประสบความสําเร็จเรื่องอะไรบ้าง โดยที่ความสําเร็จไม่ต้องใหญ่เลยก็ได้ แค่เราทํากับข้าวกินเอง ตื่นแปดโมงเช้า แค่นี้ก็ถือว่าเราสำเร็จแล้ว แล้วค่อยๆ เรียนรู้กับความสําเร็จนี้ไปเรื่อยๆ
ถ้าความสําเร็จเล็กๆ ทําให้เรามีความสุขได้ พอเราประสบความสําเร็จใหญ่ๆ ก็จะทำให้เรามีความสุขมากไปอีก เพราะฉะนั้นเราว่าเรียนรู้ความสำคัญของความสําเร็จเล็กๆ ให้ได้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปยังความสุขที่ใหญ่ขึ้น”