Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Myth/Life/Crisis
12 March 2021

ซื่อตรงต่ออารมณ์ด้านลบ สร้างพื้นที่เยียวยาเพื่อกู้ร่าง ‘เอลฟ์’ ผู้สง่างามในตัวเรา

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • เอลฟ์เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่ดูงดงาม เต็มเปี่ยมด้วยภูมิปัญญา ส่วนออร์ค ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือเอลฟ์ที่ถูกเบียดเบียน กลับมีลักษณะโหดร้ายและชิงชังทุกสิ่ง โดยเฉพาะสิ่งที่มีระเบียบและเรืองโรจน์
  • การถูกเบียดเบียนสามารถทำให้จิตใจของคนที่ในยามปรกติดูโอบอ้อมอารีกลายเป็นจิตด้านลบ คับแค้นชิงชัง และพร้อมเบียดเบียนคนอื่นโดยไม่รู้สึกอะไรมาก
  • ในสังคมและในตัวเราจึงมีทั้งเอลฟ์และออร์คปะปนกันไป เราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นแบบไหนผ่านสภาวะทางจิตใจของตัว แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องลบความทุกข์ทรมานและอารมณ์ลบๆ ได้ในทันที

“ครั้งหนึ่งพวกมันเคยเป็นเอลฟ์ ทว่าถูกพลังมืดนำไปทรมานและทำให้เสียโฉมพิกลพิการ กระทั่งกลายเป็นรูปแบบชีวิตซึ่งเป็นเศษซากและน่าสยดสยอง” 

เอลฟ์ ถือกำเนิดจากการรังสรรค์แห่งองค์มหาเทพ เอรู อิลูวาทาร์ ตามตำนานซิลมาริลออน ของเจ อาร์ โทลคีน (1892 – 1973) นักนิรุกติศาสตร์และนักประพันธ์ชาวอังกฤษ พวกเอลฟ์กลุ่มแรกตื่นขึ้นและดำรงอยู่อย่างเงียบงัน ณ ริมทะเลสาบคุยวิเอเน อันเป็นสายน้ำแห่งการตื่นรู้ทางตะวันออกแห่งมัชฌิมโลก (middle earth) ที่มีเพียงแสงดาวจรัสผืนฟ้า เอลฟ์จึงเป็นชนผู้หลงรักแสงดาราแห่งสวรรค์ที่ได้เห็นเป็นอย่างแรกเมื่อตื่นขึ้นนั่นเอง พวกเอลฟ์พำนักอยู่ริมน้ำนั้นอยู่เนิ่นนานถึงค่อยก้าวเดินบนผืนโลก เริ่มพูดและมอบชื่อแด่สิ่งต่างๆ รวมถึงชื่อของพวกเขาเองที่เรียกว่า ‘เควนดี’ (อิงจาก Of the Coming of the Elves and the Captivity of Melkor ใน The Silmarillion)

แม้ภายหลังเอลฟ์จะอพยพและแตกกลุ่มไปอีกมากซึ่งมักแบ่งตามภาษาที่พวกเขาใช้ ทว่าภาพของเอลฟ์ในงานของโทลคีนที่ผู้คนมักนึกถึงก็คือ สิ่งมีชีวิตที่ดูงดงามมีราศี สง่า อ่อนเยาว์ เต็มเปี่ยมด้วยภูมิปัญญา อีกทั้งมีความสามารถในการเยียวยา 

ว่ากันว่า การเยียวยาความเจ็บปวดของโลก เป็นหนึ่งในสองแรงจูงใจสำคัญของเผ่าพันธุ์เอลฟ์ 

ทว่าในจักรวาลนั้นยังมี มอร์กอต เจ้าแห่งความมืดหรือ ‘ผู้กดขี่อันน่าสยดสยอง’ ในอดีตนั้นมอร์กอตก็ถือกำเนิดจากมหาเทพอิลูวาทาร์ เช่นกัน โดยที่เขาเกิดขึ้นเป็นเมลกอร์ เทพไอนัวร์ผู้ยิ่งใหญ่ ทว่าภายหลังเขาได้ท้าทายมหาเทพถึงสามครั้งในกระบวนการสร้างโลกก่อนจะตกลงมาในมัชฌิมโลกด้วยรูปลักษณ์อันน่าสยดสยอง 

เมลกอร์ผู้ขี้อิจฉาได้ลักพาตัวเอลฟ์จำนวนหนึ่งมาทรมานอย่างเหี้ยมโหดกระทั่งกลายเป็นออร์ค เอลฟ์ที่ถูกเบียดเบียนได้กลายร่างเป็นศัตรูตัวฉกาจของเอลฟ์เอง ออร์คมีลักษณะโหดร้ายใจดำ ซาดิสม์ มาดร้าย และชิงชังทุกสิ่งโดยเฉพาะสิ่งที่มีระเบียบและเรืองโรจน์ พวกมันหน้าตาน่าขยะแขยง ร่างกายผิดรูป มีหัวใจเป็นหินแกรนิต ซึ่งในเบื้องลึกนั้นเกลียดกลัวนายที่สร้างความระทมขมขื่นให้พวกมัน 

‘การเบียดเบียน’ กระบวนการเปลี่ยนเอลฟ์ผู้สง่างามเป็นออร์คผู้โหดร้าย

ในเรื่องเล่านี้ มีการลงมือสำคัญอย่างหนึ่งใน กระบวนการเปลี่ยนเอลฟ์ผู้สง่างามให้เป็นออรค์ผู้มาดร้าย นั่นคือ การเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น 

สอดคล้องกับการที่ออร์คเป็นภาพแทนของทุกความเลวทรามในสงครามยุคใหม่ ตัวอย่างของการถูกเบียดเบียนกระทั่งกลายเป็นเหมือนกับออร์คอันชัดเจนที่สุด คือการฝึกทหารให้เข้าร่วมสงคราม ดั่งเช่นที่คล้อด อันชิน ธอมัส (1947 – ปัจจุบัน) ทหารอเมริกันผู้ผ่านการรบในสงครามเวียดนามซึ่งในภายหลังได้บวชเป็นภิกษุโซโตเซนได้บอกเล่าไว้ว่า ในกระบวนการฝึกนั้น เขาถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ลงไป เมื่อผสานไปกับความหยาบคายสารพัดจากครูฝึกในบรรยากาศที่การทำร้ายทารุณเป็นเรื่องธรรมดา อันเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจตอบโต้ ความโกรธแค้นที่จำต้องกดเก็บไว้นั้นจึงได้ถูกถ่ายโอนไปยัง ‘ศัตรู’ อย่างง่ายได้ โดยที่ความหมายของศัตรูก็คือ ใครก็ตามที่เพียงแต่แตกต่างไปจากเขาเท่านั้น

แต่สิ่งที่บีบคั้นหัวใจกว่านั้นคือคล้อด อันชิน บอกว่าการฝึกทหารเหล่านี้เปลี่ยนแปลงเขาได้ เพราะเขาถูกบ่มเพาะด้วยประสบการณ์ก่อนหน้า เขาบอกว่าการฝึกสามารถ “ทำลายผมให้ย่อยยับ” แล้วสร้างเขาให้กลายเป็นคนที่พร้อมทำลายชีวิต ‘ศัตรู’ โดยไม่รู้สึกรู้สา เพราะเขามีภูมิหลังที่ถูกสอนให้คลั่งชาติแล้ว และที่สำคัญเขาได้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งจากพ่อและแม่เสมอมา เขาเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาด้วยความรุนแรงเพราะ “ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้น ผู้มีกำลังเหนือกว่าคือผู้ชนะ ฉันเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากแม่ พ่อ ครูและเพื่อนๆ” (อ้างอิงจาก สุดทางทุกข์ – at Hell’s Gate) 

การถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และส่งต่อความรุนแรงในนามความคับแค้น

การที่ใครคนหนึ่งสามารถทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นอย่างโหดร้ายโดยไม่รู้สึกอะไรนักอาจมาจากความคับแค้นที่รู้สึกว่า ตัวเขาเองถูกทำเหมือนไม่ใช่คนแล้ว ไร้ค่าแล้ว ดังนั้นคนอื่นก็ไม่มีค่าด้วย

งานศึกษาหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงความเชื่อมโยงอันชัดเจนระหว่างการเป็นฆาตกรต่อเนื่องและการถูกกระทำทารุณโดยเฉพาะในวัยเด็ก แม้ว่าอาจไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เป็นเช่นนั้น อย่างที่นายจิม เคลเมนเต แห่งสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) กล่าวว่า พันธุกรรมบรรจุกระสุนปืน บุคลิกภาพและจิตใจของพวกเขาเล็ง และประสบการณ์ของพวกเขาก็ลั่นไกปืน 

ที่น่าสังเกตคือ สถานภาพดั้งเดิมของคนที่ถูกทำให้รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกที่ต่ำต้อยกว่าการเป็นมนุษย์กระทั่งลุกขึ้นมาทำร้ายคนอื่นได้ง่ายดายนั้น มักเป็นสถานภาพที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก ไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อเห็นคนที่เรียนรู้สิ่งนี้ในวัยเด็กหลายคนรู้สึกหงุดหงิดและร้อนรนอย่างยิ่งเพียงจากการเจอคนที่มีท่าทางวางอำนาจหรือเริ่มๆ จะมาใช้อำนาจควบคุม 

ในครอบครัว เด็กคนหนึ่งอาจมีผู้ดูแลหรือพ่อแม่ที่ติดสารเสพติด หรือเป็นคนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจจะลงความเห็นว่าเป็นคนหลงตัวเองมาก หรือมีพฤติกรรมซาดิส หรือหรือป่วยทางจิต หรือมีลักษณะอื่นๆ ที่อยู่ด้วยยาก ซึ่งมีแนวโน้มที่เบียดเบียนหรือมีพฤติกรรมเป็นโทษต่อเด็กโดยไม่ได้ตั้งใจ 

นอกจากนี้ บางครั้งการเบียดเบียนไม่ได้มาในรูปแบบของการที่ผู้ดูแลกระทำทารุณกับร่างกายของเด็ก แต่เป็นการใช้ถ้อยคำรุนแรง เช่น ‘แกมันเป็นขยะ’ ‘แกไม่น่าเกิดมาเลยทำให้ฉันลำบาก น่าจะเอาออกไปแต่แรก’ ฯลฯ ที่ทำให้เด็กคนนั้นรู้สึกไร้ค่าอย่างยากจะกอบกู้เพราะเขาได้ยินมันมาตลอดชีวิต เขารู้สึกไม่คู่ควรกับสิ่งดีงามแม้เขาจะมีคุณสมบัติดีงามมากเพียงใดก็ตาม 

เด็กคนนั้นโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เจ็บปวดจนไม่กล้าแม้แต่จะมองเห็นแสงสว่างของตนเอง และมักลงเอยในความสัมพันธ์ที่เขาต้องถูกเบียดเบียนต่อไป เช่น ติดกับคู่ครองที่เต็มไปด้วยถ้อยคำลดทอนคุณค่า จนกว่าเขาจะตื่นรู้และปลดตัวเองให้เป็นอิสระจากความรู้สึกไร้ค่า เขาถึงอนุญาตให้ตัวเองมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันกว่านั้นได้

ในโรงเรียน การถูกเพื่อนๆ รุมรังแก แทบจะเป็นเรื่องปรกติและเด็กที่ตกเป็นเป้าการเบียดเบียนมักมีอะไรบางอย่างที่แค่แตกต่างจากเด็กอื่น เช่น ป่วยเป็นโรคประจำตัว นับถือศาสนาที่แตกต่างไป ผิวสีคล้ำกว่าหรือตัวเล็กกว่าหรือมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากเด็กส่วนใหญ่ในห้อง เด็กบางคนที่ถูกรุมแกล้งพลิกเล่มเกมรุกและกลายเป็นมาเฟียเสียเอง บ้างก็ถึงกับกลายเป็นฆาตกรโหด แต่บางคนไม่อาจลุกขึ้นสู้และปลิดชีพตัวเองเพื่อหนี ส่วนที่เหลือก็โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีบาดแผล 

แม้คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะมีความสามารถในการให้อภัย และสามารถบอกตัวเองได้ว่าประสบการณ์ที่ถูกเบียดเบียน แค่สะท้อนปัญหาของคนที่ลงมือเบียดเบียนเรา มันไม่ได้แปลว่าเรามีบางอย่างผิดปรกติเกินไปที่จะอยู่ในโลกใบนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในวัยเด็กจะกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งต้องอาศัยการทำงานภายในอย่างหนัก ไม่ใช่เพื่อกำจัดแผลทิ้ง แต่เพื่ออยู่กับรอยแผลนั้นได้โดยไม่ให้มันมาบงการชีวิตเราอย่างเอ่อล้นอีกต่อไป 

ส่วนในพื้นที่การทำงาน ก็มีการส่งต่อการเบียดเบียนเช่น การยัดงานให้พนักงานค่าแรงต่ำทำให้ได้มากที่สุดโดยไร้ค่าล่วงเวลา ไม่ว่าต้องแลกมาด้วยร่างทรุดโทรมจากการอดหลับอดนอน อย่างบังเบียดเวลาพักที่พึงมีตามกฎหมายเพียงใด หรือการปฏิบัติต่อพนักงานเสมือนเป็นทาสรองรับอารมณ์หรือการข่มเหงหรือการโลมเลีย ซึ่งสืบทอดกันมาโดยไม่รู้ตัว กระทั่งบางครั้งผู้ที่ถูกเบียดเบียนมาจนคุ้นชินก็กลับลุกขึ้นมาปกป้องระบบที่เบียดเบียนเสียเองด้วยการตำหนิใครก็ตามที่ตั้งคำถามกับมัน  

อย่างไรก็ตาม น่าเห็นใจว่าผู้เบียดเบียนก็อาจกำลังถูกเบียดเบียนด้วยระบบที่ใหญ่กว่าเขา อีกทั้งหากเราโตแล้วและรู้จักที่จะไม่ทำให้คนอื่นเป็นผู้ร้าย ด้วยกล้าหาญพอจะกั้นอาณาเขตอย่างมีเหตุผล เราอาจทึ่งว่าหลายโอกาสผู้มีกำลังอำนาจเหนือก็หยุดการเบียดเบียนลงอย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่าเราเบียดเบียนตัวเองไปแค่ไหนกัน? เพียงเพราะเชื่อมานานเกินไปว่าต้องปล่อยให้คนอื่นเบียดเบียน 

กล่าวโดยรวม การถูกเบียดเบียนสามารถทำให้จิตใจของคนที่ในยามปรกติดูโอบอ้อมอารี กลายเป็นจิตด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นอมทุกข์ คับแค้นชิงชังและพร้อมเบียดเบียนคนอื่นโดยไม่รู้สึกอะไรมาก หรืออาจไม่รู้ตัวเลยด้วยว่ากำลังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ อีกทั้งในห้วงยามที่คนเราคับแค้นกับชีวิตแสนทรมานของตนและรังเกียจความรุ่งเรืองอย่างสุจริตของผู้อื่นกระทั่งอยากทำร้ายหรือทำลายความสง่างามของเขา ก็ไม่ต่างอะไรจากการกลายร่างเป็นออร์คเช่นกัน แต่สภาพจิตใจเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตลอดไป ด้วยการรู้สึกถึงมัน เราก็ได้ลดทอนมันให้เป็นเพียงสภาวะซึ่งผุดเกิดในใจเพียงชั่วแวบ 

กระนั้น ต่อให้สิ่งที่เห็นดับไปแล้ว มันก็สามารถผุดเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ อย่างมีกำลังมาก ไม่เป็นไรนะ ออร์คอาจจะอยากออกมาพูดกับเรา มันจะบอกอะไรบ้าง? ช่วยประคองมันไว้ในใจเช่นเดียวกับที่เราสวมกอดสภาพจิตใจอันงดงามอย่างเอลฟ์หรือเปล่า? หรือมันแค่ออกมาปกป้องเรา ไม่อยากให้เราโดนทำร้ายอีกแล้ว? เราจึงไม่ต้องทำให้เอลฟ์เป็นแสงแห่งดาวเพียงเพื่อจะผลักไสให้ออร์คหลบซ่อนในเงาอันมืดมิดชั่วนิรันดร์ก็ได้ (สนใจการทำงานกับลักษณะที่เราปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่ามีอยู่ในตัวเอง อ่าน Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในการเสพติดความสัมพันธ์) 

วิธีการจัดการกับจิตด้านลบแบบออร์ค และกู้ร่างเอล์ฟผู้มีจิตใจอันงดงามขึ้นมาใหม่

บางกรณี ถึงแม้ว่าคุณรู้ว่าจิตใจแบบออร์คจะสามารถทำให้คุณพูดจาร้ายกาจหรือลงมือทำบางอย่างที่รุนแรงกับผู้อื่น ซึ่งทำให้ต้องเสียใจภายหลัง ทว่ากำลังของมันอันมากล้นเกินต้านทานอาจเชื่อมโยงกับการถูกเบียดเบียนโดยคนที่มีอำนาจหรือมีแรงมากกว่าเราในอดีตอันไกลโพ้น การบอกให้แผ่เมตตาและคิดบวกจึงอาจไม่ใช่วิธีกู้ร่างเอล์ฟที่ใช้ได้ผลเสมอไป วิธีการอื่นๆ ที่อาจทุ่นแรงกว่านั้น ก็คือ  

  1. ปลดปล่อยพลังออร์คอย่างสร้างสรรค์ เช่น ในดนตรี หรืองานศิลปะ เช่น จุ่มๆ สีน้ำเงินลงบนฝ่ามือ แล้วละเลงลงไปบนกระดาษ มันอาจปลดเปลื้องอารมณ์ลบและรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ซึ่งคุณจะลองเปลี่ยนสีหรือสร้างสรรค์อะไรมากกว่านี้ก็ย่อมได้ ในระหว่างนั้นก็อาจดูอารมณ์ด้านลบไปเฉยๆ แบบซื่อตรงกับตัวเอง โดยไม่ต้องพยายามชดเชยด้วยการคิดบวกแบบหลอกๆ เพราะนั่นอาจทำให้เก็บกดกว่าเดิม
  2. ลองคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราเป็นสิ่งที่เราเลือกเองทั้งหมด จิตวิญญาณเราเลือกที่จะมาเกิดในบริบทที่จะให้บทเรียนแบบนี้เอง จากที่เคยทดลอง ชั่วขณะที่คิดแบบนี้ เราจะโทษคนอื่นน้อยลง ซึ่งทำให้หัวใจคลายออกและผ่อนพักจากความเคียดแค้นได้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Soul Healing) และแม้จะมีคนตั้งคำถามว่าจิตวิญญาณเราเลือกมาเกิดเช่นนั้นเองจริงหรือไม่ และอีกสารพัดคำถาม แต่ความ ‘จริง’ อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับความสบายใจ เพราะฉะนั้น ถ้าลองคิดแบบนี้แล้วสบายใจขึ้น ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร 
  3. ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เราก็เคยเบียดเบียนคนอื่นให้เขาบอบช้ำเหมือนกัน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และ ในจังหวะเดียวกับที่ ตั้งจิตขอให้คนเหล่านั้นให้อภัยเราก็ตั้งจิตให้อภัยคนอื่นด้วย ถวายเป็นอภัยทานแด่สิ่งที่เราเคารพ วิธีนี้ไม่ได้บังคับใครเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะอินกับแนวนี้ แต่โดยส่วนตัวก็ได้ทดลองจัดการกับความโกรธมาหลายวิธี และวิธีนี้ให้ความรู้สึกว่าพลังงานไหลลื่นกว่าการพยายามแผ่เมตตา โดยเมื่อเรารู้สึกผิดเพราะนึกได้ว่าก็เคยเบียดเบียนคนอื่นเหมือนกัน(แม้แค่ทางวาจาหรือใจก็ตาม) มันจะให้อภัยคนอื่นง่ายกว่าตอนที่รู้สึกว่าเราถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว

เอล์ฟที่แท้จริงไม่ได้เพียงดูสวยงาม แต่ยังแข็งแกร่งด้วย ทว่าความแข็งแกร่งก็อาจไม่ได้หมายถึงการมีพลังอำนาจไปไล่บดขยี้คนอื่น บางทีแค่เราสามารถสร้างพื้นที่เยียวยาสำหรับตัวเองและสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดให้ healthy มากขึ้น ก็ถือว่ามีความแกร่งของนักรบแห่งจิตใจแล้ว

ต่างจากออร์ค ซึ่งเป็นความแข็งแกร่งที่มาพร้อมกับความปวดร้าว สูญเสียความสง่า ละทิ้งเกียรติในการดำรงชีวิต จึงทำให้ออร์คเป็นที่เกลียดชัง แต่ในทางกลับกันออร์คก็คือผู้ที่ต้องการความเห็นใจอย่างถึงที่สุด

ในสังคมและในตัวเราจึงมีทั้งเอลฟ์และออร์คปะปนกันไป เราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นแบบไหนผ่านสภาวะทางจิตใจของตัว แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องลบความทุกข์ทรมานและอารมณ์ลบๆ ได้ในทันที แค่เราสามารถเห็นโลกภายในของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาแล้ว 

การเป็นเอลฟ์บ้างออร์คบ้างก็คือเรื่องของคนธรรมดา ขอให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร หรือถ้าอยากเขียนมาคุยก็เขียนมาได้นะ (Line ID: patrasuwan) 

อ้างอิง
สุดทางทุกข์ (At Hell’s Gate) โดย Claude Anshin Thomas (คล้อด อันชิน ธอมัส)
Soul Healing โดย Bruce Goldberge 
The Silmarillion โดย J. R. R. Tolkien และ Christopher Tolkien เป็นบรรณาธิการ
From Abused Child to Serial Killer: Investigating Nature vs Nurture in Methods of Murder 
The Twisted Tale Of Richard Ramirez, The “Night Stalker” Serial Killer Of 1980s Los Angeles By Katie Serena

Tags:

Myth Life Crisis

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    นาฬิกาและเค้กแต่งงานของมิส ฮาวิชแฮม: บาดแผลที่หยุดเวลาเอาไว้และภาพทุกข์ในใจที่ถูกฉายซ้ำ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในการเสพติดความสัมพันธ์

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Life classroom
    Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel