- เดอสแตดนิง (Döstädning) เป็นศิลปะการใช้ชีวิตจากชาวสวีเดน แปลความหมายแบบตรงตัวคือ การจัดบ้านเพื่อเตรียมตัวตาย (Death Cleaning) เป็นการจัดบ้านครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก่อนตายจากโลกนี้ไป
- การจัดการบ้าน ก็มีความคล้ายคลึงกับการ ‘จัดการชีวิต’ จึงให้ความหมายอันลึกซึ้งเชิงปรัชญาชีวิตถึงการเก็บเฉพาะ ‘สิ่งสำคัญในชีวิต’ และ ‘ละทิ้ง’ สิ่งไม่สำคัญหรือที่ไม่มีความสุขออกไป
- เป็นปรัชญาที่ทำหน้าที่มาเตือนเราถึงเรื่องที่เราไม่อยากรับรู้มากที่สุด คือ ‘ความตาย’ ให้เราเตรียมตัวเตรียมใจ รับมือ พร้อมปล่อยวางและโอบกอด
“ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้” ตัวเราน่ะเอาไปไม่ได้ แต่ตัวคนอื่นยังพอเอาไปได้อยู่ แต่ถ้าสิ่งของ(ในบ้าน)ที่หลงเหลืออยู่มีมากมายมหาศาล อาจกลายเป็นการสร้างความลำบากแก่ ‘คนข้างหลัง’ ที่ยังมีชีวิตอยู่…
เรื่องนี้เป็นทั้งความกระอักกระอ่วนใจ แต่ก็เป็นความจริงที่หลายคนอาจไม่อยากเอ่ยถึง แต่มีชาวสวีเดนสูงวัยแต่ใจเยาว์คนหนึ่งมองเห็นประเด็นนี้ขึ้นมาจนนำมาสู่แนวคิดที่น่าสนใจมากๆ
วันนี้เลยอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจแนวคิดการจัดบ้าน…ที่ได้กลายมาเป็นศิลปะการใช้ชีวิต! จากชาวสวีเดนอีกสักรอบ ที่เรียกว่า เดอสแตดนิง (Döstädning)
เดอสแตดนิ่ง…คำนี้อาจเรียกยาก เขียนยาก จำยาก และไม่ค่อยคุ้นหูตามสื่อต่างๆ เท่าไรนัก แต่ถ้าทุกคนได้ลองเข้าใจมันแล้วล่ะก็ นอกจากจะรีบอยากกลับไปจัดบ้านตัวเองให้รู้แล้วรู้รอดแล้ว ยังน่าจะตั้งคำถามกับชีวิตของเราที่เหลือด้วย
เดอสแตดนิง: จัดบ้านเสร็จก็พร้อมโบกมือลาโลกนี้
เดอสแตดนิง (Döstädning) เป็นภาษาสวีเดน ถ้าแปลความหมายแบบตรงตัวเลยคือ การจัดบ้านเพื่อเตรียมตัวตาย (Death Cleaning) เป็นการจัดบ้านครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก่อนตายจากโลกนี้ไป
ให้เราตระหนักรู้ตัวว่า เราจะต้องจัดการสิ่งของส่วนตัวในบ้านและสัมภาระที่เก็บสั่งสมมาทั้งชีวิตอย่างไรเพื่อไม่ให้คนรักข้างหลังที่มีชีวิตอยู่ต่อ…ไม่ต้องมาลำบากเคลียร์ของโน่นนี่เมื่อเราได้ตายไปแล้ว
ปกติแล้ว เรามักจะตั้งคำถามทำนองว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต…เราจะทำอะไร? อยู่ที่ไหน? ใช้เวลากับใคร?
เดอสแตดนิงก็คล้ายคลึงกัน มันยิงคำถามใส่เราว่า สมมติถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตและเราต้องอยู่ในบ้านของเรา…เราจะอยากให้บ้านของเราเป็นแบบไหน? มีหน้าตาแบบไหน? มีสิ่งของความทรงจำอะไรหลงเหลืออยู่ก่อนจากลา? ถ้าเราตายแล้ว ทรัพย์สมบัติของเราจะไปอยู่ที่ไหน? ใครจะจัดการสัมภาระข้าวของที่เราเก็บสั่งสมมาทั้งชีวิต?
แม้ว่าเดอสแตดนิงจะเป็นคำที่ผลิบานมาจากด้านการจัดบ้านก็จริง แต่มันยังได้ให้ความหมายอันลึกซึ้งเชิงปรัชญาชีวิตถึงการเก็บเฉพาะ ‘สิ่งสำคัญในชีวิต’ และ ‘ละทิ้ง’ สิ่งไม่สำคัญหรือที่ไม่มีความสุขออกไป
เพราะการจัดการบ้าน ก็มีความคล้ายคลึงกับการ ‘จัดการชีวิต’ ไม่น้อย
คุณยายมาร์กาเร็ต: ผู้จุดประกายเดอสแตดนิง
ถ้าฝั่งตะวันออกอย่างญี่ปุ่นมี มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) ผู้เขียนหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up ที่ได้สร้างตำนานการจัดบ้านให้โด่งดังไปทั่วโลก ฝั่งตะวันตกก็น่าจะมี มาร์กาเร็ต แม็กนัสซัน (Margareta Magnusson) นี่แหล่ะที่จุดประกายการจัดบ้านโดยเฉพาะในฝั่งซีกโลกตะวันตก!
โดยคุณยายมาร์กาเร็ต หญิงสูงวัยชาวสวีเดนผู้เปิดเผยอายุแบบอ้อมๆ ว่าอยู่ที่ระหว่าง 80-100 ปี!! แต่กลับดูร่าเริงมีชีวิตชีวาอย่างเหลือเชื่อ เธอเป็นผู้เขียนหนังสือ Döstädning: The Gentle Art of Swedish Death Cleaning ที่เริ่มวางจำหน่ายในช่วงเดือนธันวาคมปี 2017 และส่งอิทธิพลต่อแนวคิดการจัดบ้านและปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมโหฬาร
อย่างที่เกริ่นไปว่า เดอสแตดนิงมีอิทธิพลต่อใจผู้คนมากเพราะมันไม่ได้จำกัดแค่การจัดบ้าน แต่มันชวนเรามาทบทวนถึงการใช้ชีวิตต่างหาก
โดยคุณยายเผยว่า เดอสแตดนิงไม่ได้โฟกัสที่ความตาย ณ ปลายทาง แต่กลับเป็นระหว่างทาง ณ ตอนนี้ ให้เราเฉลิมฉลอมชีวิตที่ยังมีอยู่ ที่ได้ใช้อยู่ทุกวินาที
- อะไรที่ดี เราเก็บไว้ ทะนุถนอมมัน แค่เพียงได้เสพผ่านสายตาก็คุ้มค่าแล้ว
- อะไรที่ไม่ดี เราทิ้งมันไป ปลดระวางภาระทางจิตใจออกไปจากตัวเรา
เดอสแตดนิง: มากกว่าการจัดบ้านแต่คือจัดการชีวิต
เดอสแตดนิงมีความแตกต่างจากการจัดบ้านสายมินิมอล (Minimalism) นิดหน่อยตรงที่ เป้าหมายไม่ได้ต้องการให้สิ่งของ ‘เหลือน้อยที่สุด’ ห้องไม่ต้องโล่งที่สุด เหลือพื้นที่ว่างเปล่ามากที่สุด
หากแต่เรามีของเยอะได้ วางเฟอร์นิเจอร์มุมโน้นมุมนี้ได้ แต่ขอให้มันต้องเป็นของที่มีความสำคัญที่สุดและเรามีโอกาสใช้งานได้จริงต่างหาก
ในมุมหนึ่ง เดอสแตดนิงเตือนเราให้ ‘คิดถึงคนอื่น’ อยู่เสมอโดยเฉพาะคนรอบตัวในบ้าน ใจเขาใจเรา คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปและต้องมาจัดการกับสัมภาระและข้าวของของเราแม้จะจากไปแล้ว
ในเมื่อเรายังมีบริการสำนักงานครอบครัว (Family office) คิดวางแผนล่วงหน้าเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งและบริหารการเงินแก่คนในตระกูลสู่เจเนอเรชั่นต่อไป แล้วทำไมเราจะทำเดอสแต๊ดนิ่งไม่ได้? เพื่อไม่ให้ลำบากแก่คนในบ้านที่อยู่ต่อ
ส่วนวิธีจัดบ้านแบบเดอสแตดนิงนั้น เริ่มจากสิ่งที่ ‘ง่าย’ ก่อน ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า เพราะปกติคนเรามักซื้อเสื้อผ้าที่เยอะเกินความจำเป็น เยอะเกินความต้องการ เราอาจมีเสื้อผ้า 100 ชุด แต่ตัวที่เป็นพระเอกเสื้อคู่ใจของเราอาจมีไม่ถึง 10 ตัว
จากนั้น ซอยย่อยแบ่งเวลามาให้กับชุดเสื้อผ้าแต่ละประเภท เช่น เชื้ต โปโล สูท เดรส กางเกงขายาว กางเกงขาสั้น รองเท้า เราอาจจัดระเบียบโดยแบ่งประเภทละ 1-2 ชั่วโมง ค่อยๆ ทำไปทีละวัน-ทีละสัปดาห์ อย่าเพิ่งโหมทำทีเดียวทั้งหมด เพราะจะเหนื่อยล้าจนท้อใจและล้มเลิกในที่สุด
สิ่งที่ต้องทิ้ง ปล่อยวางมันไป ถอนสมอภาระทางจิตใจที่เราผูกติดมันอยู่ซะ โดยมาร์การเร็ตเผยว่า เพราะปัจจุบันมนุษย์เราอายุยืนยาวขึ้น นั่นหมายความว่ายิ่งมีแนวโน้มที่จะเก็บสิ่งของเยอะขึ้นตาม แต่เมื่อเยอะถึงจุดหนึ่ง การเอาแต่เก็บเพิ่มเรื่อยๆ มักนำมาซึ่งความทุกข์ หนทางพ้นทุกข์จุดนี้คือคร่ำครวญบอกลาก่อนทำการทิ้งบางสิ่งบางอย่างออกไป
จากเดิมที่ละทิ้ง ทิ้ง ทิ้ง ก็มาถึงขั้วตรงข้ามคือสิ่งของที่เราผูกพันทางใจ มีความสำคัญกับเรามากจนประเมินค่าไม่ได้
- มันอาจเป็นหมอนเน่าใบน้อยที่เรากอดมันมาแต่เด็ก
- รูปถ่ายใบเก่ากับเพื่อนรักตั้งแต่เด็กซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพและความสุขในแว่บแรกที่เห็น
- เสื้อผ้าชุดโปรดที่ใส่ไปออกเดตครั้งแรกกับคนๆ หนึ่งที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา
- โซฟาที่เรารู้สึกถูกโฉลกในความสบายพอดีตัวตั้งแต่เล็กจนโต
- หรือหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่คุณเขียนเพื่อหวังส่งต่อให้ลูกหลาน
ชีวิตเป็นสุขด้วยเดอสแตดนิง
เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะพบว่ามันมักมีจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอยู่เสมอ เช่น เรารู้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายนปี 1945 แต่เวลามองไปยังอนาคต กลับพบว่าเราไม่มีทางรู้จุดสิ้นสุดของเรื่องอะไรก็ตามเลย เรารู้แค่ว่าเดี๋ยวเราต้องตาย แต่เราไม่มีทางรู้ว่าจะตายเมื่อไร
พอเป็นแบบนี้ คนเราจึงเผลอใช้ชีวิตปล่อยดำเนินเรื่อยไปเสมือนว่าความตายไม่ได้อยู่ในสมการ
ไม่แปลกที่เดอสแตดนิงจะสร้างอิมแพคให้ผู้คนได้มโหฬาร เพราะมันทำหน้าที่มาเตือนเราถึงเรื่องที่เราไม่อยากรับรู้มากที่สุด นั่นคือ ความตาย เพื่อให้เราเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อให้เรารับมือ พร้อมปล่อยวางและโอบกอด
นอกจากนี้ คนเรา ‘หลอกสมอง’ ตัวเองไม่ได้ ถ้าตาเราเห็นแต่สิ่งของที่เราให้ความสำคัญ มีความหมาย อบอุ่นใจ การรับรู้จะส่งต่อไปยังสมองทันที และความสุขจะเกิดขึ้นในใจเองอัตโนมัติ ขณะที่การละทิ้ง ‘ของที่ไม่ใช่’ ก็เป็นการปล่อยวางรูปแบบหนึ่งที่สร้างความสงบสุขให้ใจเราได้เป็นอย่างดี
เริ่มต้นวันนี้ด้วยเดอสแตดนิง
“Part of the journey is the end.” โทนี่ สตาร์คเคยกล่าวไว้ใน Avengers: Endgame มันเป็นประโยคชีวิตอันแท้จริงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกแว่บแรกที่ ‘ใจหาย’
ไม่ต่างจากเดอสแตดนิงที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า จัดบ้านก่อน ‘ตาย’ บางทีถ้าเราทบทวนจุดสิ้นสุดของชีวิตบ้าง และมองย้อนกลับมา…เราอาจประพฤติตัวและมีความคิดต่างออกไป
ไม่ว่าเราจะนิยาม ‘การเดินทาง’ ว่าอย่างไร ประโยคนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งสิ้น การเดินทางของเราอาจหมายถึง
- การไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงสิ้นปีเต็มโควต้าเป็นเวลา 14 วัน
- การเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษเป็นเวลา 1 ปี
- หรือแม้แต่การใช้ชีวิตของเราตราบจนวันสุดท้ายที่มีลมหายใจ
เดอสแตดนิงเตือนเราให้ทำสองสิ่งอย่างไตร่ตรอง นั่นคือ ลงมือทิ้งสิ่งของที่ไม่มีความหมายกับเราออกไปซะตั้งแต่วันนี้ และ เก็บสิ่งของที่เรารักใคร่ ผูกพัน มีความสุขแค่ได้เห็นไว้ใกล้ตัวเรากว่าที่เคย
และถ้าเราใส่ใจรายละเอียดมากพอ การคิดถึงผู้อื่นหลังเราโบกมือลาไปแล้ว เราอาจประยุกต์เพิ่มเติมได้ด้วยการหาสมุดที่มีเนื้อกระดาษคุณภาพดีซักเล่ม และใช้เพื่อจดบันทึก ‘รหัสพาสเวิร์ด’ ทั้งหมดในโลกออนไลน์ของเรา รหัสเข้า LINE, Facebook, Gmail, บัญชีธนาคาร, หรือแค่รหัสเข้ามือถือ
ในเมื่อการทำงานยังมีเดดไลน์ส่งงาน ในเมื่อแคมเปญการตลาดมีวันสิ้นสุดโปรโมชั่น สักวันนึงจุดสิ้นสุดของชีวิตเราก็ต้องมาถึงรึเปล่า? บางทีอาจจะเป็นการดีถ้าเราลองคิดเล่นๆ คิดขำๆ บ้างกับวันสุดท้าย หรือปีสุดท้าย หรือจุดสิ้นสุดของชีวิตตัวเราเอง!
อ้างอิง
https://www.rainbowhunting.co.uk/blog/dostadning-the-gentle-art-of-swedish-death-cleaning
https://www.bhg.com/decorating/storage/organization-basics/swedish-death-cleaning-tips/
https://theconversation.com/swedish-death-cleaning-how-to-declutter-your-home-and-life-90253