- การคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking) ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความต้องการของตัวเอง เข้าใจตัวเอง และสามารถตอบคำถามได้ว่า “อยากเติบโตขึ้นไปทำอะไรในอนาคต” ซึ่งเป็นโมเดลที่ไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่ถูกนำไปใช้และได้รับการพิสูจน์แล้วจากคณะศึกษาศาสตร์ และจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- วิชาการออกแบบชีวิตของตัวเอง มี 5 ขั้นตอน เริ่มจาก ความสนใจ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity), การลองทำ…ไม่ต้องกลัวพลาด (Try stuff), การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (Reframing), การรับรู้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ (Know it’s a process) และการขอความช่วยเหลือ (Ask for Help)
- นักออกแบบและนักคิดมืออาชีพต่างผ่านประสบการณ์เรียนรู้ว่า ความคิดที่ดีที่สุดเกิดขึ้นบนพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คิดได้อย่างอิสระ โดยไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้”
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” หลายคนคงเคยได้ยินคำถามนี้ หรืออาจเคยเป็นทั้งผู้ถูกถามและตั้งคำถาม
หากผู้ใหญ่ถามคำถามนี้กับเด็ก สิ่งที่ถามเป็นได้ทั้งคำถามที่สร้างพลัง ถ้าไม่เผลอพูดอะไรปิดกั้นจินตนาการ ขณะเดียวกันก็เป็นคำถามดับฝันได้ทันที หากเด็กได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า “เพ้อเจ้อแล้ว เป็นไปไม่ได้หรอก!”
Designing Thinking – การคิดเชิงออกแบบ เป็นแนวทางที่คลอดมาจากห้องเรียนโปรแกรมการออกแบบ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยอาจารย์นักออกแบบสองคนที่เติบโตและผ่านการทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) มาก่อน ซิลิคอน วัลเลย์ คือแหล่งบุกเบิกเทคโนโลยี เป็นที่ตั้งของบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิ้ล (Google) เทสลา (Tesla) หรือเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
การทำงานของนักออกแบบต้องใช้จินตนาการสูงมาก เพื่อระเบิดความคิดสร้างสรรค์ภายในออกมารังสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ดีกว่าที่มีอยู่ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของพวกเขา คือ การทำอะไรสักอย่างขึ้นมา เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องดี หากเราสามารถคิดอย่างนักออกแบบ แล้วนำวิธีคิดของพวกเขามาสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเอง
Designing Your Life – วิชาการออกแบบชีวิตของตัวเอง
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักนักออกแบบ ผู้คิดค้นโมเดลนี้กันก่อน บิล เบอร์เน็ตต์ (Bill Burnett) เป็นผู้อำนวยการบริหารโปรแกรมการออกแบบสแตนฟอร์ด ศาสตราจารย์พิเศษด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผู้ดูแลหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านการออกแบบ ทั้งสาขาวิศกรรมเครื่องกลและสาขาศิลปะ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เบอร์เน็ตต์ถือสิทธิบัตรด้านกลไกและการออกแบบจำนวนมาก ส่วนหนึ่งในนั้น คือ รางวัลการออกแบบแอปเปิล พาวเวอร์บุ๊ก (Apple PowerBook) หรือโน๊ตบุ๊กของแอปเปิล และของเล่นตัวละครสตาร์วอร์ (Star Wars) รุ่นดั้งเดิม
ส่วน เดฟ อีแวนส์ (Dave Evans) เป็นอาจารย์โปรแกรมออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นผู้ออกแบบแอปเปิลเมาส์ (Apple Mouse) ตัวแรกให้กับบริษัทแอปเปิล ทั้งคู่ได้ร่วมออกแบบห้องเรียน โดยใช้ชื่อแสนเรียบง่ายว่า “Designing Your Life” – วิชาการออกแบบชีวิตของคุณเอง ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของ “Life Design Lab” โปรแกรมการออกแบบ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทั้งเบอร์เน็ตต์และอีแวนส์ ทำงานร่วมกันมาราว 15 ปี ห้องเรียนของพวกเขาเป็นวิชาเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะผู้เรียนจากแทบทุกสาขาต่างประสบปัญหาเดียวกัน คือ รู้สึกไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำและชีวิตที่เป็นอยู่ หลายคนยังเรียนไม่จบก็ตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า จบออกไปแล้วจะทำอะไรดี?
“การคิดเชิงออกแบบ” (Designing Thinking) ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความต้องการของตัวเอง เข้าใจตัวเอง และสามารถตอบคำถามได้ว่า “อยากเติบโตขึ้นไปทำอะไรในอนาคต” ซึ่งเป็นโมเดลที่ไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่ถูกนำไปใช้และได้รับการพิสูจน์แล้วจากคณะศึกษาศาสตร์ และจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ออกแบบชีวิตได้ใน 5 ขั้นตอน
“ไม่ใช่ทุกที่สามารถออกแบบไอโฟนรุ่นใหม่ได้ แต่ทุกคนสามารถคิดอย่างนักออกแบบได้”
การออกแบบชีวิตที่ต้องการ คงไม่ง่ายขนาดแค่ฉีกซองแล้วเติมน้ำร้อน แต่คงไม่ใช่เรื่องยากหากอยากลองดูสักตั้ง ถ้าทำไม่ได้ชีวิตก็แค่อยู่ที่เดิม ถึงยังไงประสบการณ์จากการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายและดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
การคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking) เป็นการคิดอย่างมีลำดับขั้นตอน เริ่มจาก ความสนใจ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity), การลองทำ…ไม่ต้องกลัวพลาด (Try stuff), การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (Reframing), การรับรู้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ (Know it’s a process) และการขอความช่วยเหลือ (Ask for Help)
ขั้นตอนที่ 1 ความสนใจ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
Designing Thinking ให้เราคิดหาสิ่งที่เราสนใจ อยากทำ หรือต้องการจะเป็น อย่างน้อย 3 อย่าง ศัตรูของความอยากรู้อยากเห็น/ ความสงสัยใคร่รู้ คือ ‘การตัดสิน’ บางครั้งเกิดขึ้นจากตัวเอง และหลายครั้งส่งตรงมาจากผู้อื่น
“อย่าทำเลยดูไม่เข้าท่า”
“ไม่เอาดีกว่า…ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้”
เราต้องขจัดความคิดทำนองนี้ออกไป
นักออกแบบและนักคิดมืออาชีพต่างผ่านประสบการณ์เรียนรู้ว่า ความคิดที่ดีที่สุดเกิดขึ้นบนพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คิดได้อย่างอิสระ โดยไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้”
ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วความคิดแปลกใหม่ที่ดูหลุดโลกนั้น อาจไม่ได้เป็นความคิดที่ถูกเลือก แต่กระบวนการคิดที่ติดกับดักอยู่แค่คิดทำสิ่งที่เป็นไปได้ จะทำให้เราไม่สามารถเดินทางจากจุดที่ยืนอยู่ไปสู่ชีวิตที่ต้องการ หรือจากสิ่งที่มีอยู่ไปสู่การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้
หลายครั้งเมื่อโตขึ้น เราได้ยินคำพูดทำนองว่า “เอาความเป็นเด็กในตัวออกมาใช้!”
‘ความเป็นเด็ก’ ในที่นี้หมายถึง ความขี้สงสัย ความคิดที่ไร้กังวล ความสุขจากการได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำไปโดยไม่คิดอะไร ความรู้สึกที่เราเคยมี ก่อนที่ผู้ใหญ่จะบอกให้เรา หยุดเล่น หยุดถาม หรือหยุดทำ!
ความคิดเชิงออกแบบต้องการความเป็นเด็กที่ว่านี้มาเป็นส่วนผสม ความสนใจ ความอยากรู้อยากนำมาสู่การค้นคว้าและการสำรวจเพื่อหาคำตอบอย่างอิสระ เป็นการลงมือทำที่ทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือน “การเล่น”
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองสนใจอะไร?
การคิดเชิงออกแบบ ชวนเราตั้งคำถามสามอย่างนี้
อย่างแรก งานที่ทำอยู่ตอนนี้คืออะไร?
อย่างที่สอง สิ่งที่อยากทำ หากสิ่งที่ทำหรืองานที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่มีอยู่แล้ว?
อย่างที่สาม อยากทำอะไร ถ้าไม่ต้องคำนึงถึงชื่อเสียงเงินทอง ไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะคิดยังไง จะหัวเราะเยาะเราหรือเปล่า?
คำตอบอย่างแรก คือ ชีวิตที่เป็นอยู่ คำตอบอย่างที่สองและสาม แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในชีวิต ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เราอยากทำแต่หลงลืมมันไป เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับทำอย่างแรก
เบอร์เน็ตต์และอีแวนส์ย้ำถึงความเชื่อที่ผิดแปลก (Dysfunctional Belief) เกี่ยวกับความหลงใหล (passion) หลายคนเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า แพชชั่นหรือความหลงใหลของตัวเองคืออะไร? พยายามแล้วพยายามอีกเพื่อตามหาแพชชั่นอย่างหนึ่งให้เจอ ผลการสำรวจพบว่าเมื่อถามคำถามถึงแพชชั่น 8 ใน 10 คน ไม่รู้ว่าแพสชั่นของตัวเองคืออะไร
“เพราะเรามีสิ่งที่สนใจ สิ่งที่หลงใหล ได้มากกว่า 1 อย่าง ในความเป็นจริงความหลงใหลของแต่ละคนไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างเดียว” เบอร์เน็ตต์ กล่าว
ผลการประเมินจากห้องเรียน Designing your life พบว่า คนๆ หนึ่งมีสิ่งที่สนใจ มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทำอยากเป็นมากกว่า 1 อย่าง (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 อย่าง) สำคัญที่สุด คือ การมองหาโมเดลต้นแบบ เพื่อศึกษาดูว่าสิ่งนั้นมันใช่จริงๆ สำหรับเราหรือเปล่า
สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจตัวเองมากพอ การคิดเชิงออกแบบชวนค้นหาตัวเองผ่านมุมมองสามด้าน ต่อไปนี้
หนึ่ง ตัวตนของเรา
สอง สิ่งที่เราเชื่อ
สองด้านแรกสำรวจตัวเองผ่านการตั้งคำถาม – ชีวิตคืออะไร? เรื่องอะไรที่สำคัญสำหรับเรา? ท่องเที่ยว? ความมั่งคั่ง? ครอบครัว? อะไรที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและคุ้มค่าที่ได้เกิดมา? อธิบายวิถีชีวิตในอุดมคติของเราว่าอยากให้เป็นแบบไหน? งานมีความหมายกับเราอย่างไร? สำหรับเรางานที่มีคุณค่าเป็นแบบไหน? ทำไมถึงอยากทำงานนี้? เราทำสิ่งที่ทำอยู่นี้เพื่ออะไร?
และ สาม สิ่งที่กำลังทำอยู่
สำรวจตัวเองผ่านการตั้งคำถามต่อไปนี้ – กิจกรรมหรืองานไหนที่คุณอยากมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และกระตุ้นพลังเชิงบวกในตัวคุณ? ถ้าสมมุติเราเบื่องานที่ทำเหลือเกิน ลองสังเกตดูว่างานที่คุณบอกว่าแสนน่าเบื่อ มีช่วงจังหวะไหนที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกสนุก
มีสิ่งไหนบ้างที่คุณทำได้ทั้งวี่ทั้งวัน รู้สึกสนุกและไม่กังวลถึงผลลัพธ์ว่าจะออกมาเป็นยังไง?
ขั้นตอนที่ 2 การลองทำ…ไม่ต้องกลัวพลาด (Try stuff)
“นักออกแบบไม่ได้แค่คิดว่าจะก้าวไปข้างหน้า แต่นักออกแบบสร้างหนทางไปข้างหน้า
นักออกแบบไม่วางแผน แต่นักออกแบบลงมือทำโมเดลต้นแบบ”
เมื่อได้ค้นคว้า สำรวจสิ่งที่สนใจด้วยความสนุกสนานแล้ว สิ่งที่นักออกแบบทำ คือ ทดลองทำสิ่งที่อยากทำ สำหรับการออกแบบพวกเขาจะสร้างโมเดลต้นแบบ (prototype) ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ในการออกแบบชีวิต เราทำแบบเดียวกัน จินตนาการทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ แต่การลองทำเป็นหนทางสร้างความเป็นไปได้ให้เป็นความจริง
หลายคนไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัวความล้มเหลว ในงานออกแบบความผิดพลาดล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทดลองทำที่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
แล้วเราจะสร้างโมเดลต้นแบบชีวิตขึ้นมาได้อย่างไร? ต้องวางเดิมพันอะไรบ้าง?
วิธีการที่เบอร์เน็ตต์แนะนำง่ายกว่าที่คิดมาก เราไม่จำเป็นต้องวางเดิมพันอะไรทั้งนั้น โมเดลต้นแบบชีวิตสร้างได้ผ่านการสนทนากับคนที่ทำสิ่งนั้นอยู่แล้ว (Prototype Conversation) เราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเขา หรือ ลองพาตัวเองเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งที่อยากทำ (Prototype Experience)
เช่น ถ้าความสนใจของคุณ คือ การเปิดร้านกาแฟ สิ่งที่คุณต้องทำ คือ การหาเวลาเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านกาแฟ อ่านบทสัมภาษณ์ บทเรียนความสำเร็จ ความล้มเหลวของคนที่ทำร้านกาแฟ หรือหาเวลาสมัครทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านกาแฟ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่จินตนาการกับความจริงนั้นเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
ขั้นที่ตอน 3 การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (Reframing)
เราทุกคนต่างมีความคิดที่โผล่ขึ้นมาขัดขวางความเชื่อมั่นของตัวเอง การปรับมุมมองเป็นวิธีการที่นักออกแบบใช้ เพื่อไม่ให้ติดอยู่กับที่ เพราะทางออกไม่ได้มีเพียงทางเดียว นอกจากสิ่งที่อยากทำแล้ว การคิดเชิงออกแบบแนะนำให้เขียนความคิดหรือความเชื่อ 2-3 อย่าง ที่เราคิดว่าเป็นข้อจำกัด หรือเป็นกรอบที่ทำให้เราไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ แล้วขยำกระดาษนั้นทิ้งไป
การขยำกระดาษแล้วโยนทิ้ง เป็นการกระทำเชิงจิตวิทยาที่ช่วยปลดล็อคบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองย่ำอยู่กับที่
หลังจากนั้นวาดมายด์แมพ (Mind Map) สิ่งที่อยากทำทั้ง 3 อย่างขึ้นมาอย่างละแผ่น วาดและเขียนเพื่อหาความเชื่อมโยง เช่น สิ่งที่อยากทำต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? อะไรที่มีอยู่แล้ว? อะไรที่ควรทำต่อ? และอะไรที่อยากให้เป็น? แล้วมองหาความคล้ายคลึงกันจากมายด์แมพทั้ง 3 ซึ่งพอจะให้คำตอบได้ว่า เรามีความสุขกับการทำอะไร หรือชอบทำงานประมาณไหน
มายด์แมพเป็นเครื่องมือที่นักออกแบบใช้เพื่อระดมความคิด เชื่อมโยงไอเดียและสิ่งที่เป็นไปได้ เปิดประตูให้กับความคิดสร้างสรรค์ได้เบ่งบาน จุดมุ่งหมายของมายด์แมพไม่ได้เพื่อหาคำตอบแต่เพื่อให้จินตนาการได้ทำงาน ขยายและเปิดมุมมองความคิด
ขั้นตอนที่ 4 การรับรู้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ (Know it’s a process)
“นักออกแบบมองหาปัญหาที่ถูก (right problem) สำคัญกว่าการเสียเวลาแก้ปัญหาที่ผิด (wrong problem) ซึ่งไม่มีทางหาคำตอบที่ถูกต้องได้”
ขั้นตอนที่ 1 – 3 เป็นขั้นตอนให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่อยากเป็นและอยากทำ หลายคนเรียกว่า ‘ความฝัน’ แต่ระหว่างที่เดินทางอยู่นั้น เราอาจต้องเดินบนเส้นทางที่ยุ่งเหยิง ยุ่งยาก ไม่ได้อย่างใจ เต็มไปด้วยเรื่องดราม่า อุปสรรคและสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เพราะชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จแต่มีกระบวนการให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไอเดียหรือความคิดของเราอาจทำแล้วได้ผลดีหรือทำแล้วไม่ได้ผล ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมชาติ
ขั้นตอนที่ 4 ทำให้นึกถึงเพลง ลีฟ แอนด์ เลิร์น (Live and Learn) โดยกมลา สุโกศล จากค่ายเลิฟอีส (Love Is)
“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน
เติมความคิดสติเราให้ทัน
อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”
อยู่กับสิ่งที่มีและสิ่งที่กำลังเผชิญหน้า โฟกัสไปที่กระบวนการเรียนรู้ ยุ่งกับการหาปัญหา (problem finding) ที่ถูกต้องเพื่อทำให้ดีขึ้น มองหาทางเลือกเพื่อเติบโตแล้วไปต่อ ดีกว่ายุ่งกับการแก้ปัญหา (problem solving) ผิดๆ
ความเชื่อที่ผิดแปลกอีกข้อหนึ่ง คือ การกดดันตัวเองเพื่อเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คิดวางแผน แล้วตะบี้ตะบันเดินตามแผนโดยไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อล้มเหลว ผิดพลาด จึงผิดหวังแล้วไปต่อไม่ได้ ทั้งที่ในตัวแต่ละคน มีส่วนดีหลายอย่างซึ่งไม่จำเป็นต้องหาส่วนที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยากทำ อยากเป็น อย่างน้อย 3 อย่าง จินตนาการถึงมันขึ้นมาด้วยความอยากรู้ แล้วลองหาโมเดลต้นแบบ ขั้นตอนที่ว่ามาเป็นการสร้างทางเลือกให้กับชีวิต แล้วใช้วิธีการเปลี่ยนมุมคิดในขั้นตอนที่ 3 จากเดิมที่เคยมองว่าชีวิตมีคำตอบเดียว เป็นตัวเองที่ดีที่สุด ทำสิ่งที่ดีที่สุดแค่อย่างเดียว ลองคิดว่าชีวิตของเรามีเส้นทางมากกว่า 1 เส้นทาง การวางแผนชีวิตจึงไม่ควรยึดติดกับแผนใดแผนหนึ่ง แต่ลองทำหลายๆ อย่างเพื่อประสบการณ์ ในทุกๆ อุปสรรคปัญหาเมื่อถึงทางแยก เราต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะเดินต่อไปทางไหน แล้วยอมรับมันให้ได้
ขั้นที่ 5 การขอความช่วยเหลือ (Ask for Help)
“มันคือชีวิตของฉัน ฉันต้องออกแบบมันด้วยตัวเอง” เป็นอีกหนึ่งความเชื่อผิดแปลกที่เบอร์เน็ตต์ กล่าวถึง
เบอร์เน็ตต์เปรียบเทียบว่า ศิลปินสามารถสร้างชิ้นงานมาสเตอร์พีซของตัวเองได้ แต่นักออกแบบไม่สามารถออกแบบชิ้นงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้อื่น
ชีวิตของเราเป็นเหมือนงานออกแบบที่ยอดเยี่ยมมากกว่างานศิลปะ ผลงานออกแบบระดับโลกต่างอาศัยการทำงานเป็นทีม และการสนับสนุนจากผู้อื่น สำหรับการออกแบบชีวิต อย่ากลัวที่จะบอกและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ด้วยมุมมองความคิดใหม่ว่า “เราใช้ชีวิตและออกแบบชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้”
สำหรับการใช้ชีวิต ไม่มีใครทำอะไรได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง ถึงจุดหนึ่งทุกคนต้องการทีมหรือเพื่อนร่วมงานคอยสนับสนุน เปิดโอกาสให้ตัวเองทำงานร่วมกับผู้อื่น บอกให้คนอื่นรับรู้ถึงเป้าหมาย เริ่มจากคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ให้พวกเขามีส่วนร่วมออกแบบชีวิตที่เราต้องการ และสนับสนุนการออกแบบชีวิตของคนอื่น ขั้นตอนนี้ทำให้เราสร้างชีวิตที่เชื่อมโยงถึงกัน สร้างเครือข่ายชุมชนและสังคมร่วมกัน
“นักออกแบบจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่มีอยู่จริง จากนั้นพวกเขาสร้างโมเดล แล้วทำมันขึ้นมา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ คุณสามารถทำสิ่งนี้ได้กับชีวิตของคุณเอง
จินตนาการถึงสิ่งที่อยากทำ คุณไม่จำเป็นต้องหยุดทำสิ่งที่ทำอยู่ทันที ออกไปคุยกับผู้คน แล้วลองทำด้วยการจำลองโมเดลต้นแบบก่อน สิ่งนั้นอาจกลายเป็นอาชีพของคุณ เป็นไลฟ์สไตล์ชีวิตที่คุณต้องการ ซึ่งมันอาจยังไม่มีอยู่จริงก็ได้
หรือท้ายที่แล้วคุณอาจพบว่าคุณไม่อยากทำมันอีกแล้ว นี่ทำให้วิธีคิดอย่างนักออกแบบแตกต่างจากแบบอื่น การออกแบบยืดหยุ่นได้เมื่อมีข้อมูล ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้าไม่ใช่อย่างที่คิด คุณก็แค่ออกแบบใหม่ คุยใหม่ ลองทำใหม่ คุณ…ออกแบบอนาคตของตัวเองได้” ห้องเรียนความคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking)
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=SemHh0n19LA
https://calvinrosser.com/notes/designing-your-life-bill-burnett-dave-evans/
https://www.linkedin.com/pulse/5-ways-build-better-life-through-design-thinking-bill-burnett/