- Designing Your Life หนังสือที่ชวนออกแบบว่าชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ที่แก้ได้ยากหรือติดกับดัก จะมีวิธีคลี่คลายอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร พร้อมคำคมตลอดเล่มชวนปลุกใจและกำหนดทิศทางชีวิตอย่างใช้ได้จริงในมุมของนักออกแบบ
- การบันทึกสิ่งที่เกลียดและชอบในการทำงาน จะทำให้เรารู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไรในงานที่ทำ และจะเป็นตัวตัดสินว่าเราควรไปต่อหรือพอกับงานที่ทำอยู่
- วิธีออกแบบ (ชีวิต) ก็ไม่เคร่งเครียดเลย แต่น่าสนุกและทำให้เห็นว่าความเป็นไปไม่ได้ที่เราเคยตัดออกไปจากชีวิต หลายครั้งเป็นวิธีที่นักออกแบบเลือกมาสร้างสรรค์แล้วกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง
ปัญหาที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่ถือเป็นปัญหาแต่เป็นสถานการณ์ ไม่ต่างอะไรกับแรงโน้มถ่วงโลก -ลืมมันซะ อย่าขี่จักรยานต้านแรงโน้มถ่วง!-
คำถามคือ คุณอยู่ในขั้นไหนระหว่าง ‘ลืมมันซะ’ หรือ ‘กำลังขี่จักรยานต้านแรงโน้มถ่วง’ เพราะถ้าอยู่ในขั้น ‘ลืมมันซะ’ แปลว่าคุณรู้แล้วว่า ‘สถานการณ์’ ที่ว่าคืออะไร เพื่อเค้นสมองคิดอย่างสร้างสรรค์และเป็นอิสระได้ว่าจะล้มไปข้างหน้าด้วยวิธีไหนดี แต่หากกำลังใช้ความอดทนและพลังขาเพื่อปั่นจักรยานต้านโลก คุณก็ต้องรู้ (อยู่ดีแหละ) ว่าสิ่งที่สู้อยู่คือ ‘แรงโน้มถ่วง’ เพื่อเลือกจักรยานที่เบาลงและใช้จานเฟืองขนาดเล็กหน่อยให้ขี่ง่ายขึ้นแทน
ฟังดูเป็นนามธรรมใช่มั้ย? แต่ทั้งหมดนี้จะถูกอธิบายอย่างเห็นภาพพร้อมตัวอย่างใน Designing Your Life คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking (การคิดเชิงออกแบบ) โดย บิล เบอร์เนตต์ และ เดฟ อีวานส์ (Bill Burnett & Dave Evans) นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำผู้ประยุกต์ Design Thinking เข้ากับการออกแบบชีวิต ทั้งเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตร Designing Your Life วิชายอดนิยมแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
มีคนแนะนำหนังสือเล่มนี้พร้อมสำทับว่า มันเป็นหนังสือที่เหมาะกับเด็กจบใหม่ที่ยังหลงทาง คนที่ยังสับสนหรือค้นหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งวิธีอธิบายเรื่องและเสนอแนะให้แก้ปัญหา มาจากมุมมองของนักออกแบบ ใช้ศาสตร์การออกแบบเข้าแก้ปัญหาชีวิต
แต่… ตั้งแต่บทแรกถึงหน้าสุดท้าย สรุปว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาของเด็กจบใหม่หรอก ทั้งไม่ใช่ ‘ฮาวทู’ ที่มีแต่คำสวยหรูเอาไว้ปลอบใจ (แก้ตัว) กับสถานการณ์ของตัวเอง เช่น ผู้ใหญ่อายุ 40 ที่ ‘ติดกับ’ (ในบทที่ 4 หลุดจากกับดัก อธิบายปัญหานี้ไว้อย่างกระจ่างแจ้ง) มีทั้งติดกับอาชีพที่ทำแล้วมั่นคงแต่อาจรู้สึกกลวงเปล่าในจิตใจ หรือ เพิ่งมารู้สึกไม่เคยชอบสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแต่อยู่ในวังวน ‘กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง’
หมายความว่า ไม่ว่าใครที่เป็นคน มีตัวเลือกในชีวิตจำกัด สถานการณ์ความคาดหวังของคนรอบข้างกดทับ บ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ ต่างก็เผชิญปัญหา ‘แรงโน้มถ่วง’ รู้ตัวอีกทีก็อาจ ‘ติดกับ’ อยู่ในปลักโคลนชีวิตกันได้ทั้งนั้น
แต่ Designing Your Life จะช่วยดึงสติ จัดประเภทปัญหา ชวนค้นหามุมมองความหมายของชีวิตผ่านคำถามหลายข้อ โดยให้น้ำหนักระหว่าง มุมมองต่อสุขภาพ, งาน, กิจกรรมสร้างสุข และความรัก (เพราะชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ทุกด้านมุมชีวิตมันไหลรวมเทรวมกันหมด และเป็นหมวดที่เบอร์เนตต์และอีวานส์ ให้น้ำหนักมากๆ) ชวนออกแบบว่าชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ที่แก้ได้ยากหรือติดกับดัก จะมีวิธีคลี่คลายอย่างสร้างสรรค์อย่างไร พร้อมคำคมตลอดเล่มชวนปลุกใจและกำหนดทิศทางชีวิตอย่างใช้ได้จริงในมุมของนักออกแบบ (เข้าไปดาวน์โหลดแบบทดสอบได้ที่นี่)
ที่ชอบที่สุดคือ สอนวิธีเขียนเรซูเม่พร้อมคำปลอบโยนในตอนท้ายด้วยว่า ถ้าถึงที่สุด การลงแรงทั้งหมดของคุณยังไม่บรรลุผลในตอนนี้ (ก็คือล้มเหลวนั่นแหละ) มันก็ยังมีวิธีจัดการอื่นเหลืออยู่ นั่นคือ ‘การปล่อยวางและก้าวต่อไป’ ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้นว่า การปล่อยวางเป็นนามธรรมและต้องพึ่งวินัยส่วนตัว ขณะเดียวกันก็เป็นการอยู่เฉยมากกว่าลงมือทำ การ ‘ก้าวต่อไป’ ต่างหาก คือการเริ่มต้นลงมือ (คล้ายๆ อกหักแล้วหาสิ่งทดแทนอื่น)
คำถามที่หาคำตอบไม่ได้ ‘เบื่องานที่ทำอยู่เหลือเกิน เปลี่ยนงานเสียเลยดีไหม?’
ทั้งหมดข้างต้นยังฟังดูนามธรรมอยู่ไหม? เพื่อให้เห็นภาพ อยากขอยกตัวอย่างวิธีแก้ปัญหา ‘คลาสสิก’ ปัญหาหนึ่ง นั่นคือความรู้สึกไม่มีความสุขในงานที่ทำ และกำลังลังเลคิดว่า ‘เปลี่ยนงานเสียดีไหม (วะ)’
ตัวอย่างสมมุติ นาย ก. อายุ 36 ปี อาชีพนักพัฒนาเครื่องยนต์ที่บริษัทรถยนต์ชั้นนำแห่งหนึ่ง เขาเบื่องานที่ทำอย่างแรง เบื่อเจ้านาย เบื่อลูกค้า ไม่ชอบทำงานเอกสาร ความทุกข์ที่ต้องตื่นไปทำงานทุกวันทำให้เขาเริ่มตั้งคำถาม เปลี่ยนงานดีไหม เปลี่ยนชีวิตเลยดีไหม?
สิ่งที่ Designing Your Life ย้ำอยู่บ่อยๆ คือประโยคที่ว่า ‘อย่าลืมว่าการออกแบบชีวิตคือการพัฒนาชีวิต หาใช่การออกแบบชีวิตใหม่ทั้งหมด’
ก่อนที่คุณจะสับสนไปกว่านี้ แน่นอนว่าคุณต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า อะไรในงานที่คุณเกลียดที่สุด ไม่ใช่การตอบแบบคลุมเครือกว้างๆ ว่า ‘ก็เบื่องานอะ’ เบอร์เนตต์และอีวานส์จะเสนอให้คุณ ‘บันทึกสิ่งที่เกลียดและชอบในการทำงาน’
จดและให้คะแนนตัวเองทุกครั้งว่าคุณทำงานส่วนไหนแล้วมีความสุข เกิดความลื่นไหล (flow) ไปกับงานจนเวลาหยุดเดิน ส่วนไหนที่ทำให้คุณทุกข์แทบบ้า รำคาญและอยากเลิกทำให้พ้นๆ
สุดท้ายคุณอาจพบว่า สิ่งที่คุณเกลียดที่สุดไม่ใช่ ‘งาน’ (ในภาพรวม) แต่อาจไม่ชอบสิ่งที่ต้องทำในงานบางประเภท เช่น ไม่ชอบเจ้านาย (เป็นปัญหาแรงโน้มถ่วงที่คุณเปลี่ยนไม่ได้ แต่ออกแบบจัดการกับมันได้) ไม่ชอบการประชุมกับลูกค้า ไม่ชอบการทำบัญชี
การจดบันทึกไม่เพียงทำให้รู้ว่าคุณไม่ชอบอะไรในงาน แต่ยังช่วยช่างน้ำหนักด้วยว่า การไม่ชอบทำบัญชี ไม่ชอบขนาดไหน เปรียบเทียบกับส่วนที่ชอบที่สุดในการทำงานแล้ว มันเพียงพอจะทำให้คุณทำงานนั้นต่อไปได้รึเปล่า
เช่น นาย ก. ชอบทำงานพัฒนาเครื่องยนต์มาก ทุกครั้งที่มีแค่เขากับเอกสารการปรับปรุงคุณภาพเครื่องยนต์เวลาเหมือนหยุดไป เขาอยู่กับมันได้เป็นวันๆ เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วอาจพบว่า แทนที่เขาจะเปลี่ยนงาน เขาอาจหาคนมาช่วยทำบัญชีในส่วนที่เขาไม่ถนัดแทน หรือหากเกลียดการประชุม เขาอาจหาทางรวบรัดปรับปรุงวิธีการประชุมให้กระชับและได้ประโยชน์ที่สุด
ในทางกลับกัน ถ้าพบว่าส่วนที่ชอบในงานมีน้อยกว่าสิ่งที่เกลียด ถึงเวลานั้นอาจต้องยอมรับความจริงแล้วออกแบบชีวิตกันใหม่ ด้วยข้อความที่เขียนย้ำในหนังสือบ่อยครั้งว่า นักออกแบบจะไม่เสียเวลากับสิ่งที่ผิดพลาด แต่จะหาทางแก้ไขและออกแบบมันใหม่เสมอ
ส่วนวิธีออกแบบ มันก็ไม่เคร่งเครียดเลย แต่น่าสนุกและทำให้เห็นว่าความเป็นไปไม่ได้ที่เราเคยตัดออกไปจากชีวิต หลายครั้งเป็นวิธีที่นักออกแบบเลือกมาสร้างสรรค์แล้วกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงก็เป็นได้!
แต่วิธีการออกแบบชีวิตจะเป็นอย่างไร เข้าไป design your life ผ่านหนังสือเล่มนี้ โดยไม่ต้องไปเรียนไกลถึงสแตนฟอร์ด!