- ‘การเปรียบเทียบ’ เป็นพฤติกรรมที่ฝังรากลึกในมนุษย์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งคนเรา เปรียบเทียบลักษณะตัวเองกับคนอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในสังคมที่เราอยู่ และใช้การเปรียบเทียบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราจะหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นได้
- การเปรียบเทียบไม่ได้มีแต่ด้านที่เลวร้าย เราอาจใช้มันเป็นแรงขับดันในด้านที่ดีได้ แต่ก็ควรต้องตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเอง
- ลองตั้งเป้าหมายและทำสิ่งที่คิดว่าจำเป็นด้วย ‘จังหวะย่างก้าว’ ของตัวเอง รวมถึงพยายามบอกตัวเองว่าเราจะทำให้ดีที่สุดมากกว่าเมื่อวาน ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
เคยสงสัยกันไหมครับว่า นิสัยการชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นนิสัยที่ปลูกฝังกันมาจากการเลี้ยงดูและการอยู่ในสังคมหรือฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเรากันแน่?
มีการศึกษาวิจัยที่ชี้ว่าเป็นไปได้ว่า การที่เราเป็น ‘สัตว์สังคม’ ทำให้การเปรียบเทียบกับคนอื่นในกลุ่มเป็นเรื่องปกติมากและฝังอยู่ในพันธุกรรมของเราและส่งทอดต่อกันมาผ่านวิวัฒนาการ อันที่จริงแล้วมีการประเมินด้วยว่าความคิดของเราวนเวียนอยู่กับเรื่องการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่มากถึง 10% ของการใช้ความคิดทั้งหมดทีเดียว
ทำไมคนเราถึงได้หลงใหลได้ปลื้มกับการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมากนัก?
การเปรียบเทียบกับคนอื่นก็มีข้อดีของตัวเอง ไม่งั้นวิวัฒนาการคงไม่เก็บเอาไว้แน่ แนวคิดและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจจะย้อนกลับไปได้อย่างน้อยก็ถึงปี 1954 เมื่อนักจิตวิทยาสังคมชื่อ ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) ตั้ง ‘ทฤษฎีการเปรียบเทียบเชิงสังคม (social comparison theory)’ ขึ้น ใจความหลักของทฤษฎีนี้ก็คือ
เราเปรียบเทียบลักษณะตัวเองกับคนอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในสังคมที่เราอยู่ และใช้การเปรียบเทียบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราจะหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นได้
อีกทั้งเรามีคุณค่าหรือประโยชน์มากพอให้คนในสังคมนั้นยอมรับเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร
แต่สังคมสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อนและมีรายละเอียดของชีวิตให้เปรียบเทียบกันได้มากมาย จนบางครั้งมากเกินไปเสียด้วยซ้ำสำหรับบางคน เพราะแต่ละคนมีความ ‘ชอบเปรียบเทียบ’ มากน้อยไม่เท่ากัน บางคนจึงเกิดความเครียด วิตก กังวล หรือแม้แต่อิจฉาริษยาคนอื่นได้เช่นกัน
คนกลุ่มนี้มีลักษณะจำเพาะบางอย่างดังนักจิตบำบัด แมริสา เพียร์ (Marisa Peer) เจ้าของเว็บไซต์ marisapeer.com ระบุไว้ว่า มักจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่มั่นคง และมีความวิตกกังวลอยู่เสมอ จนทำให้มีแนวโน้มจะชอบการเปรียบเทียบมากเป็นพิเศษ
หากไปสังเกตชีวิตคนเหล่านี้ดู จะพบว่ามีเป็นจำนวนไม่น้อยเลยที่ในวัยเด็กนั้น ‘รู้สึกขาดพร่อง’ ในจิตใจ ไม่ค่อยมีคนสนับสนุนเมื่อทำอะไร ขาดคนยกย่องชมเชยเมื่อทำอะไรสำเร็จ หรือแม้แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรจากผู้ใหญ่ใกล้ตัว จนกลายมาเป็นการขาดความภาคภูมิใจในตัวเองเมื่อโตขึ้น
ในสถานการณ์ย่ำแย่ เช่น สอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งหรือโดนให้ออกจากงาน ก็จะยิ่งรู้สึกมากขึ้นไปอีก
แต่การเปรียบเทียบก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่เลวร้าย เราอาจใช้มันเป็นแรงขับดันในด้านที่ดีได้เช่นกัน การเห็นเพื่อนร่วมห้องได้คะแนนดีๆ หรือเพื่อนร่วมงานทำผลได้ดีเยี่ยม ก็อาจใช้เป็นเป้าหมายให้ทำตามได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก็ควรต้องตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าสู่วงจรอุบาทว์ ตั้งความหวังที่ยากจะเป็นไปได้ จึงเกิดความกดดัน ความกังวลใจ ความเครียด แล้วก็ทำไม่ได้ในที่สุด จนเกิดความทุกข์ ความไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง หรือเลยเถิดไปถึงขึ้นโกรธเกลียดตัวเองไป ในวงการศึกษาสมัยใหม่ มักเน้นไปที่แนวคิดการพัฒนาตัวเองให้ ‘ดีกว่าเมื่อวาน’ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรากำลังจะมีตัวช่วยชั้นดีอย่างเอไอที่อาจมาช่วยออกแบบและสนับสนุนการเรียนให้เหมาะลงไปถึงระดับรายบุคคลได้
คำถามต่อไปนี้สามาถใช้ช่วยตรวจสอบได้ว่า เรากำลังติดกับดักการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนมากเกินไปหรือไม่ ลองเช็คดูว่าคุณ ‘เห็นด้วย’ กับข้อความเหล่านี้กี่ข้อนะครับ [3]
(1) หากมีใครทำสิ่งที่ฉันกำลังตั้งใจทำได้สำเร็จ ฉันรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว
(2) ฉันใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเพื่อดูว่ามีเพื่อนคนไหนที่มีความสุขมากกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่าฉันหรือเปล่า
(3) ฉันมักบอกกับคนอื่นว่าสบายดีและไม่ค่อยยอมให้ใครรู้ว่ากำลังมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง
(4) ฉันรู้สึกว่าทุกคนสุขสบายมากกว่าฉัน
(5) ฉันมักเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาและความดึงดูดใจของฉันกับคนอื่นเสมอๆ
(6) ฉันมักรู้สึกเศร้าหรือไม่ก็อิจฉาเวลาคนอื่นได้สิ่งที่ฉันต้องการ และ
(7) ชีวิตของฉันซ้ำซากและฉันไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่ตื่นเต้น
หากคุณตอบว่า “ใช่” เป็นส่วนใหญ่ แสดงว่าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากจนเกินไปแล้ว!
มีคำแนะนำเรื่องวิธีป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้แต่ละคนตกหลุมพรางการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเกินไปจนชีวิตเสียหายอยู่มากมายหลายวิธีดังต่อไปนี้ [3-4] สามารถนำไปเลือกใช้ให้เหมาะกับอุปนิสัยหรือจริตของแต่ละคนได้เลยครับ
คำแนะนำแรก ตรงไปตรงมาคือ ให้ตั้งเป้าหมายของตัวเองและทำสิ่งที่คิดว่าจำเป็นด้วย ‘จังหวะย่างก้าว’ ของตัวเอง อย่าไปวอกแวกกับเรื่องว่าใครทำอะไรสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะอาจจะบั่นทอนกำลังใจได้ทั้งนั้น เน้นไปที่สิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ ที่สำคัญอีกอย่างคือ หากเราทำอะไรที่สำเร็จตามแผน ต้องฉลองให้กำลังใจตัวเองด้วย ต้องแสดงความยินดีกับตัวเองด้วย
เรื่องที่สองที่ทำได้คือ ตั้งคำถามกับตัวเอง สงสัยให้มากไว้เวลาเกิดอาการเจ็บจี๊ดขึ้นมา เพราะไปเปรียบเทียบอะไรกับใครเข้า ให้ลองถามตัวเองว่า “ฉันรู้สึกอะไรอยู่?” และ “ความรู้สึกนี้มาที่มาจากไหน?” หากลองทำดู ไล่ๆ ไปจะพบว่ามักจะมีจุดตั้งต้นจากความกลัวอะไรบางอย่างหรือไม่ก็จากความขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง สำหรับบางคนวิธีนี้ก็อาจใช้หยุดยั้งอาการดังกล่าวได้
คำแนะนำต่อไปคือ ให้เลิก ‘สร้างภาพ’ ครับ บางคนติดการสร้างภาพ ภาพจะโพสต์บนโซเชียลมีเดียต้องสวยหล่อเท่านั้น อาหารต้องน่ากิน ที่พักต้องน่าอยู่ รถยนต์ต้องดูดีทุกกระเบียด ฯลฯ การอยู่กับความจริง ไม่ต้องหล่อสวยเท่ตลอดเวลาก็ได้ เป็นตัวของตัวเองบ้าง สนุกบ้าง ป้ำๆ เป๋อๆ บ้าง ทำอะไรดูตลกเพี้ยนๆ บ้าง
เรื่องพวกนี้นำความสงบมาสู่จิตใจได้ไม่มาก ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็น ‘คนสองโลก’ ที่เหนื่อยยาก
แต่ถ้าทำยังไงๆ ก็อดนิสัยต้องแชร์ ต้องเขียนอวดบนโซเชียลมีเดียไม่ได้ สำหรับบางคนการไม่เข้า โซเชียลมีเดียระยะเวลาหนึ่ง คล้ายกับการ ‘อดยาเสพติด’ ก็อาจช่วยได้ เริ่มจากไม่เข้า 1 วันหรือ 2 วัน หรือถ้ายังยากไป ก็เริ่มจากกดยกเลิกการแจ้งเตือนและ ‘อันเฟรนด์’ หรือ ‘อันโชว์’ เพื่อนที่มีแนวโน้มโพสต์อะไรที่จะมากระตุ้นอาการอยากเปรียบเทียบของเราก่อนก็ได้
เวลาเข้าโซเชียลก็หมั่นเตือนตัวเองว่า นี่มัน ‘โลกมายา’ การที่เราเห็นคนอื่นมีความสุข สนุกสนาน สบาย หรูหราหมาเห่านั้น เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวด้านหนึ่งของชีวิตของพวกเขา เขาก็มีวันที่แย่ เรื่องเลวร้ายที่ต้องเจอเหมือนกับเรานั่นแหละ แค่ไม่ได้โพสต์ให้เราเห็น
บางแอปก็อาจลบไปได้เลย ถ้าใจถึงพอ อันนี้เหมาะกับคนที่ต้องการหักดิบ แม้ว่าคุณก็รู้ว่าลบไปแล้ว ก็ยังกลับมาลงแอปพวกนั้นได้อีกแหละนะ
ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องมองหาตัวช่วย อาจเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนในกลุ่มบำบัดก็ได้ที่จะคอยให้กำลังใจหรือคำแนะนำ
ข้อสุดท้ายที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ บอกกับตัวเองเสมอว่า “เราแค่ต้องดีกว่าตัวเราเองเมื่อวาน” หากทำเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
[1] https://openup.com/self-guided-care/blog/comparing-ourselves-to-others/
[2] https://www.psychologytoday.com/gb/basics/social-comparison-theory
[3] Rose Goodman (2023) Psychology Now., Vol. 6, 38-40
[4] https://thrivingcenterofpsych.com/blog/why-do-humans-compare-themselves-to-others-and-how-to-stop/