- เราอาจเคยรู้สึกผิดกับการปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ อย่างเปล่าประโยชน์ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น เราอาจเรียนหรือทำงานอย่างเต็มที่มาแล้วตลอดทั้งสัปดาห์ แล้วทำไมเราถึงยังต้องรู้สึกผิดกับการพักผ่อน?
- คำตอบคือการกดดันจากบริบทสังคมในปัจจุบันที่ได้สร้างค่านิยมใหม่ต่อการบริหารเวลา ผู้คนจะยกย่องคนที่ดูยุ่งอยู่ตลอดเวลา (หรืออย่างน้อยก็มีกิจกรรมยามว่างเสมอ) ว่าเป็นคนขยัน บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่คนที่ยืดหยุ่นกับเวลาชีวิตกลับถูกมองว่าเป็นคนไร้ความมุ่งมั่น ไม่มีความจริงจังกับการวางแผนอนาคต ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่
- มาตรฐานสังคมแบบนี้นี่เองที่ผลักให้เราต้องกระตือรือร้น มองหากิจกรรมทำอยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับการใช้เวลามากกว่าสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ได้กลายเป็นคนที่ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า เป็นคนที่มีประสิทธิภาพตามความคาดหวังของสังคม พฤติกรรมการหมกมุ่นกับเวลานี้เราเรียกว่า “โครโนมาเนีย” (Chronomania)
“เวลาไม่คอยท่า ทุกนาทีเป็นเงินเป็นทอง”
เชื่อว่าสำนวนในข้างต้น ทุกคนต้องเคยได้ยิน ไม่ว่าจะในรูปแบบประโยคแบบไหนก็ตาม แต่ล้วนแล้วต้องเป็นความหมายในทำนองนี้ อาจเป็นเพราะเราถูกปลูกฝังมาว่าชีวิตมันสั้น การบริหารจัดการเวลาจึงดูจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่หลงทาง หรือสรุปได้ง่ายๆว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบ ‘ไม่เสียเวลา’ ไปโดยเปล่าประโยชน์
การเสียเวลาลองผิดลองถูกเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในยุคที่ทุกอย่างดูเร่งรีบไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การสื่อสารเชื่อมถึงกันแค่ปลายนิ้ว การแจ้งเตือนจากผู้คนรอบตัวที่ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน หรือทำกิจกรรมยามว่างก็มักจะผ่านมาให้เห็นอยู่เสมอ
ความกระตือรือร้นที่จะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ทำให้เรารู้สึกกระดากอายและเริ่มหลงใหลในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ตามคนอื่นที่มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดได้ทัน ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรืออย่างน้อยก็แค่ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดการเวลาด้วยการวางแผนจะทำให้เราดูเป็นคนที่มีความคิด ใช้ชีวิตได้อย่างชาญฉลาดจนอาจปล่อยใจสบายๆ ได้และไม่กดดัน แต่แท้จริงแล้ว การกระทำดังกล่าวจะทำให้เราตกเป็นทาสของเวลา การหมกมุ่นจดจ่ออยู่กับเวลานี่เองที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยไม่สบายใจ
ผลการศึกษาของสแตนฟอร์ดกล่าวว่าการตีค่าเวลาเป็นตัวเงิน ไม่ได้ทำให้เราใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่คิด กลับกันความคิดดังกล่าวจะสร้างความกดดันซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเราด้วย การตกเป็นทาสของเวลาอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ตัวอย่างเช่น
มีปัญหาในการใช้ความคิดอย่างชัดเจน
นั่นเพราะเราใช้ชีวิตโดยอิงอยู่กับเวลา ความเร่งรีบจะทำให้เรามองข้ามการเอาใจใส่ตัวเอง และไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรับรู้เวลาของเราจะเร่งมากขึ้น
เมื่อเรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว (ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) เราก็จะยิ่งกดดันตัวเองเพื่อไม่ให้เวลาที่ผ่านไปสูญเปล่า และการคิดแบบนี้จะยิ่งทำให้การรับรู้เวลาของเราเร่งมากขึ้นอีกวนต่อไปเป็นวัฏจักร
สูญเสียการรับรู้ด้านอารมณ์
เมื่อเรายุ่งวุ่นวายอยู่กับการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพที่สุด เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะหลงลืมการเอาใจใส่จิตใจของเรา เราอาจไม่สามารถบอกได้ว่าเรารู้สึกอะไรหรือเจ็บปวดตรงไหนอยู่
ประสบกับความตึงเครียดและวิตกกังวลที่มากเกินไป
ข้อนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อด้านบน เราอาจไม่ทันสังเกตว่าตัวเองมีความเครียดแต่แน่นอนว่าร่างกายของเราจะรับรู้และบอกได้เองว่าเรามีสภาวะความเครียดอย่างรุนแรง
สูญเสียช่วงเวลาที่น่าจดจำ
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในความเร่งรีบที่จะมีชีวิตที่มีประสิทธิภาพทำให้เราไม่ได้มีความสุขกับช่วงเวลาดีๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละวัน การพักผ่อนจากการโหมใช้ชีวิตกลายเป็นเรื่องยากเย็นเพราะการผ่อนคลายจากความเร่งรีบเป็นสิ่งที่สังคมมองว่าไร้แก่นสาร ไม่มีสาระ เวลาในการพักสามารถเอาประโยชน์ได้อีกมาก ทั้งที่ในระหว่างหยุดพักนั้นเราอาจค้นพบแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตได้ก็ตาม
การหลีกเลี่ยงโครโนมาเนียอาจเป็นเรื่องยาก ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในสังคม เราก็ต้องขับเคลื่อนชีวิตด้วยเงื่อนไขของสังคม อย่างไรก็ตาม เราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นโครโนมาเนีย ตกเป็นทาสและหมกมุ่นกับใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากจนเสียสุขภาพไปได้ โดยเริ่มจากการปรับแผนชีวิตใหม่และจิตใจใหม่ ดังต่อไปนี้
จัดตารางเวลาไม่ให้แน่นจนเกินไป
ลองลดตารางงานที่เคยแน่นขนัดลงหากเป็นไปได้ เพื่อที่เราจะได้มีเวลาจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่ต้องเร่งรีบ และจะได้ไม่รู้สึกกดดันว่าไม่มีเวลา (ถึงแม้การพูดว่าไม่มีเวลาจะไม่ใช่เรื่องผิดเลยก็ตาม)
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องยากสักหน่อย แต่ถ้าเราเจองานที่ทำให้รู้สึกพอใจ ไม่กดดัน ก็จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เราจะรู้สึกดีและสามารถตั้งใจจดจ่อกับเป้าหมายในแง่บวกได้
ปล่อยให้ตัวเองว่างโดยไม่มีแผนดูบ้าง
ข้อนี้เป็นอะไรที่เเนะนำให้ทำอย่างมาก จัดไปไว้ในอันดับแรกของ to do list เลยจะยิ่งดี เพราะเป็นข้อที่ทำได้ง่าย เริ่มได้จากการฝึก “ขี้เกียจ”
เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ลองไม่วางแผนเพื่อให้ตัวเองได้มีเวลาว่างดูบ้าง เอาช่วงเวลาที่ว่างๆ นั้นไปพักผ่อนและเรียนรู้เอาใจใส่ตัวเอง ทำเพื่อตัวเองดูบ้าง ไม่แน่อาจได้พบความสุขหรือแรงบันดาลใจของชีวิตก็เป็นได้
ลองสนุกไปกับสิ่งต่างๆ ระหว่างมากกว่าผลลัพธ์ที่ปลายทาง
แน่นอนว่าทุกคนในสังคมชอบที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาดีเพื่อประโยชน์ที่จะตามมา เราถึงได้เข้มงวดกับการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจนละเลยความรู้สึกและช่วงเวลาสนุกสนานไป แต่หากเราไม่สนุกกับหนทางที่จะไปสู่เป้าหมาย ความสำเร็จที่ได้มาก็อาจไม่มีความหมายอะไรเลย เราอาจพบว่าวันหนึ่งในอนาคต เราอาจกำลังหลงทาง ว่างเปล่า และนั่งตั้งคำถามหาความหมายของชีวิต อาจเป็นการดีกว่าถ้าเราเลือกมองหาความสุขในระหว่างทางมากกว่าการมุ่งมั่นสนใจแต่ผลลัพธ์
การวางแผนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่านับเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่าหากแผนเหล่านั้นไม่ทำให้เราสูญเสียช่วงเวลาหรือโอกาสที่มีคุณค่าต่อชีวิตเราไป การติดบ่วงโครโนมาเนียและความรีบร้อนรังแต่จะทำให้เราเผลอละเลยสิ่งสำคัญต่างๆ
ดังนั้น เราต้องหมั่นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าชีวิตไม่ใช่การแข่งขัน แม้จะถูกปลูกฝังมาจนจำได้ขึ้นใจ แต่หากเชื่อแบบนั้นขึ้นมาจริงๆ เราคงไม่พ้นต้องหมกมุ่นอยู่กับเวลา เป็นโครโนมาเนีย และต้องแข่งขันไปตลอดชีวิตจนไม่ได้มีเวลาหาความสุขหรือความหมายของการมีชีวิตเลย ในโลกการทำงาน เราเป็นเฟืองตัวเล็กๆ ที่ช่วยให้กลไกทำงานได้ไม่ติดขัด แต่ถ้าขาดเราไปก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาเฟืองตัวใหม่มาแทน ดังนั้น ใส่ใจกับตัวเองให้มากเท่าที่จะทำได้
และแม้ว่าคำแนะนำในข้างต้นจะปรับใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้ามีโอกาสก็ลองใช้ชีวิตช้าลงบ้างบางจังหวะถ้าเป็นไปได้ ลองเป็นคนที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพดูบ้างบางครั้ง ลองไม่มีเวลาทำตัวมีแก่นสารเพื่อออกไปหาแรงบันดาลใจดูบ้าง จำไว้เสมอว่าไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดถ้าต้องพูดคำว่า ‘ไม่มีเวลา’ เพราะการบริหารจัดการเวลาของแต่ละคนแตกต่างกัน เวลาไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเงินแต่คือทั้งชีวิตของเรา และ 24 ชั่วโมงของคนเราไม่เท่ากัน
อ้างอิง
Chronomania: An Obsession with Time
Your Obsession With Time Management Is Slowly Killing You, Science Says