- ชวนศึกษาลักษณะของคนหมดไฟหรือเสี่ยงหมดไฟในการทำงาน เช่น จริงจังและบ้างาน, ปฏิเสธหรือต่อรองคนไม่เก่ง ฯลฯ อีกทั้งชวนลงไปค้นโลกภายในใต้ภูเขาน้ำแข็งของคนที่หมกมุ่นกับงานจนป่วย หลายคนมีภูมิหลังสะเทือนอารมณ์และใช้งานเป็นการหนี บ้างก็ใช้การทำเป้าหมายให้สำเร็จเพื่อหลีกลี้จากความรู้สึกว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่ดีพอให้ใครมาชื่นชม
- แม้จะมีผู้บริหารที่เชื่อว่าคนหมดไฟไม่แกร่งพอ แต่การที่ใครคนหนึ่งหมดไฟไม่ได้แปลว่าเขาไม่สู้งาน ตรงกันข้าม คนหมดไฟมักมีบุคลิกแบบ A ซึ่งมักทะเยอทะยาน เข้มงวด วิตก บีบตัวเองให้เข้ากับกำหนดเวลาส่งงาน ฯลฯ และมักเป็นพวก “บ้างาน” ที่ประสบความสำเร็จสูง แต่ความบ้างานนั้น ไม่ได้หมายความแค่ว่าทำงานเยอะหรือไม่ยอมไปพักร้อนเมื่อมีโอกาส แต่หมายถึงการทำงานเยอะกระทั่ง ลืม มิติอื่นๆ ของชีวิตไป เช่น การนอนหลับและสุขภาพ
- ขยายภาพไปถึงปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อคนทำงาน เช่น ความคาดหวังของวิชาชีพหรือขององค์กร, กลไกในธรรมชาติที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทำอะไรตามๆ กัน พร้อมให้ลิงค์แนวคิดต่างๆ ที่สามารถเป็นทางเลือกสำหรับการทำงานในวิถีที่ต่างออกไป
1.
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอัศวินคนหนึ่งที่วันๆ ต้องทำภารกิจร้อยแปดพันเก้า การช่วยเจ้าหญิงน่ะไฟล์ทบังคับอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่นั้น อัศวินยังแบกรับงานจับฉ่ายไว้อีกหลายอย่างไม่เว้นแม้แต่การช่วยแมวน้อยลงจากต้นไม้ ความยุ่งวุ่นวายต่างๆ ทำให้อัศวินรู้สึกเหนื่อยล้าและอิดโรยอย่างมากกระทั่งในที่สุดเขาก็ตัดสินใจออกเดินทางพักผ่อน โดยเจ้ามังกรของเขาก็งอแงติดมาด้วย แล้วในระหว่างเดินทางนั้นพวกมังกรก็หยุดแล้วหยุดอีก เดี๋ยวก็ขอยืดแข้งยืดขา เดี๋ยวก็ขอไปพุ่มไม้ ทุกครั้งที่เหล่ามังกรขอหยุด อัศวินไม่ได้อยากจะหยุดสักหน่อย เอาน่า อัศวินอย่างเขาย่อมขวนขวายหาพื้นที่อันสงบสันติให้ตัวเองจนได้ แต่พอเขาเริ่มจะผ่อนคลาย เจ้ามังกรของเขาก็ร้องจะเดินทางต่ออีก ความไม่สงบนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุดพวกมังกรก็เข้าใจเสียทีว่าอัศวิน “อยากพักผ่อนจริงๆ” และพวกมันก็หาทางให้อัศวินได้พัก (แนวเรื่องจากนิทานเด็กเรื่อง A Good Knight’s Rest โดย Shelley Moore Thomas)
เรื่องราวของอัศวินที่ทำภารกิจมากมายกระทั่งเหนื่อยล้าเกินทนแต่พอถึงเวลาพักก็พักไม่ได้เพราะโดนเหล่ามังกรรบกวนอยู่ร่ำไป ทำให้นึกถึงหนึ่งในอาการของคนที่มีภาวะหมดไฟ พวกเขาเหนื่อยล้ามาก แต่บรรดามังกร(เช่น ความเครียดและความวิตก, บาดแผลในอดีตที่ยังไม่ได้จัดการอันกลายเป็นแรงขับเข้าควบคุมวิถีการทำงานของเรา) ทำให้พวกเขาพักไม่ได้ นอนก็ไม่หลับหรือคุณภาพการนอนแย่มากทั้งที่รู้สึกปานจะขาดใจ บางคนถึงขั้นมีปัญหาการนอนเกือบทุกคืน ส่งผลลบต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก และพวกเขาก็ไม่ได้โชคดีเหมือนอัศวินในนิทาน เพราะอาการดังกล่าวและสัญญาณอื่นๆ มักจะเกิดขึ้นเรื้อรังก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลงในที่สุด
2.
องค์การอนามัยโลก(WHO) อธิบายว่าภาวะหมดไฟ หรือ “Burn-out” เป็นปรากฏการณ์ทางการประกอบอาชีพ และเป็นกลุ่มอาการอันเป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานซึ่งยังจัดการไม่ได้ โดยสำแดงออกมาเป็นการมีประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพลดลง รู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย และเอาใจออกห่างจากงานที่ทำมากขึ้นหรือรู้สึกแย่เกี่ยวกับงานที่ทำ ส่วนดร. Geri Puleo ผู้ทำการศึกษาเรื่องภาวะหมดไฟและการเปลี่ยนแปลงองค์กร บรรยายว่าคนหมดไฟมักจะเป็นพวกพนักงานดีเด่นที่หนักเอาเบาสู้ แต่ในเรื่องการฟื้นฟูจากภาวะหมดไฟนั้น เธอบอกว่ากว่าคนจะฟื้นได้ก็มักใช้เวลาถึงประมาณ 2 ปี และมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของคนในงานศึกษาของเธอ ซึ่งได้ลาออกจากองค์กรไปเพื่อจะขจัดภาวะหมดไฟกลับกลายเป็นมะเร็ง (ดู Burnout and post-traumatic stress disorder)
ในกรณีศึกษาอื่นๆ น่าแปลกที่ยังมีคนพูดทำนองว่าการที่คุณหมดไฟ “เป็นความผิดของคุณ” มี CEO คนหนึ่งถึงขนาดบอกว่าดีแล้วที่คนทำงานหมดไฟเพราะ “ถ้าพวกเขาหมดไฟ แปลว่าพวกเขาไม่ดีพอ ไม่แข็งแกร่งพอ รับไม่ไหว” พอหมดไฟก็จะออกไปเอง เขาจะได้ไม่ต้องไล่ออก (ดู Understanding Job Burnout โดยดร. Christina Maslach อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเบิร์คลีย์)
จริงจังและบ้างาน
แท้จริงแล้ว การที่ใครคนหนึ่งหมดไฟไม่ได้แปลว่าเขาไร้ประสิทธิภาพหรือไม่สู้งาน ตรงกันข้าม คนหมดไฟมักมีบุคลิกอย่างหนึ่งเรียกว่าบุคลิกแบบ A ซึ่งมักเข้มงวด ทะเยอทะยาน ใส่ใจเรื่องสถานะมาก วิตก บีบตัวเองให้เข้ากับกำหนดเวลาส่งงาน ไม่ชอบประวิงเวลา ฯลฯ และมักเป็นพวก “บ้างาน” ที่ประสบความสำเร็จสูง
แต่ความบ้างานนั้น ไม่ได้หมายความแค่ว่าทำงานเยอะหรือไม่ยอมไปพักร้อนเมื่อมีโอกาส แต่หมายถึงการทำงานเยอะกระทั่ง ลืม มิติอื่นๆ ของชีวิตไป เช่น ความสัมพันธ์ การนอนหลับพักผ่อน สุขภาพ หรือทำงานมากเกินกว่าที่ถูกคาดหวังให้ทำ และอาจจะหมกมุ่นกับงานเกินพอดีจนไม่มีความสุขด้วยไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
(แพทย์โรคหัวใจชื่อ Meyer Friedman and Ray Rosenman บอกเป็นครั้งแรกว่าบุคลิกกภาพแบบ A อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ)
แบกรับไว้: ไม่กล้าปฏิเสธหรือต่อรอง
อีกบุคลิกที่เจอในคนที่มีภาวะหมดไฟคือ คนนั้นมักไม่กล้าปฏิเสธหรือต่อรองคนไม่ค่อยเก่ง และมักรับทุกงานมาใส่ตัว “ได้ค่ะพี่ ดีค่ะนาย สบายค่ะท่าน” อีกทั้งมักจะพยายามทำงานให้เสร็จตามกำหนดส่งงานแม้จะเป็นงานเสกลใหญ่เกินเวลาที่ให้มา เช่น เร่งทำงานเสกล 6 วันให้เสร็จใน 2 วัน ตามที่เจ้านายคาดหวังโดยเอาเวลานอนตัวเองเข้าแลก
โลกภายในใต้ภูเขาน้ำแข็ง
ถ้าตัดเรื่องกลัวตกงานและเศรษฐกิจออกไป ข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งในใจคนเหล่านี้ บ้างก็เจอความรู้สึกไม่ต้องการความขัดแย้ง หรือกลัวการแยกจากคนอื่นและอยากจะรู้สึก belong นอกจากนี้ก็อาจต้องการอย่างอื่นด้วย เช่น ต้องการการยอมรับ อยากมีค่า หรือต้องการเป็นที่รัก และเมื่อสาวลึกลงไป บ้างก็พบการถูกปฏิเสธบางอย่างในวัยเด็ก
ในกรณีคนที่หมกมุ่นกับงานจนสุขภาพเสื่อมโทรมนั้น หลายคนมีภูมิหลังสะเทือนอารมณ์ที่อยากหนี พนักงานผู้ที่มีแผลใจคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “การทำงานและการเคลื่อนที่ตลอดเวลา เป็นวิธีเลี่ยงความรู้สึกของตัวเอง” หรืออีกตัวอย่างเป็นผู้บริหารองค์กรและเจ้าของกิจการผู้เล่าเรื่องการทำธุรกิจที่ได้ชัยชนะมาอย่างบ้าบิ่นและประสบความสำเร็จในด้านการเงินอย่างสูง แต่พวกเขากลับป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อนั่งลงคุยกัน แนวเรื่องหลักกลับเปลี่ยนเป็นการตัดพ้อเรื่องแฟนเก่าที่ไม่รักพวกเขาอีกต่อไป หรือเล่าเรื่องที่เจ็บใจเพราะคนใกล้ชิดแสดงอาการไม่ยอมรับบางอย่างในอดีต เช่น หน้าตาและฐานะ
น่าสำรวจเพิ่มว่าในบรรยากาศกรุ่นความโกรธและต้องการพิสูจน์คุณค่าให้โลกเห็นนั้น ยังมีอะไรอยู่อีกบ้าง?
ในการค้นคว้าเพิ่มเติม เราพบคนบุคลิกภาพประเภทหนึ่ง ซึ่งเคลื่อนเข้าหาความสำเร็จตามเป้าหมายอยู่ตลอด เพราะในขณะเดียวกันเขาก็กำลังพยายามวิ่งหนีออกจากความละอายใจด้วย เนื่องด้วยคลางแคลงใจในคุณค่าตามตัวตนที่แท้จริง เขามักมีแรงขับเคลื่อนจากคำถามในใจว่าจะประสบความสำเร็จในเรื่องงานมากกว่านี้ให้เร็วที่สุดได้อย่างไร ส่วนคำถามว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นใคร? กลายเป็นคำถามที่น่ากลัว ชีวิตจึงกลายเป็นลู่วิ่งแข่งอันไร้จุดจบ ซึ่งต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่ซื้อคืนไม่ได้หรือการสูญเสียความสัมพันธ์ พบบ่อยว่าคนเช่นนี้มักเป็นเจ้าของกิจการหรือมีตำแหน่งงานที่มีลูกน้องจำนวนมาก และนั่นก็ทำให้เขาสามารถส่งต่อวงจรดังกล่าวไปให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอีกทอด กระนั้นเมื่อเขาไปถึงจุดหมายแห่งเกียรติยศอันอลังการก็อาจเพิ่งตระหนักว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ
มีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนทำงานสะสมความเครียดและเหนื่อยล้าต่อเนื่อง อย่างรูปแบบการทำงานที่ไม่เข้ากับลักษณะตามธรรมชาติของเขา(หรือบางกรณีก็ไม่เข้ากับร่างกายมนุษย์เลยนะ!) เช่น นาย A เป็นคนไวต่อเสียง สิ่งละเอียดอ่อนและอารมณ์ผู้คนในสภาพแวดล้อม อีกทั้งไวต่อสิ่งเร้าอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัส (ดูเพิ่มเรื่องความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้า ในบทความ เจ้าหญิงกับเม็ดถั่ว และหนังสือ The Highly Sensitive Person: How to Thrive When the World Overwhelms You) ความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ ทำให้เขามีความลึกซึ้งในการคิดวิเคราะห์และมีความสามารถในการเขียน ทั้งยังทำให้เขาสัมผัสความรู้สึกของผู้คนที่ต้องพบปะในการทำงานได้ไว ซึ่งเนื้องานก็ต้องการสิ่งเหล่านี้จากเขาทั้งหมด
แต่ในขณะเดียวกัน ความไวต่อสิ่งเร้าของเขาทำให้เขาไม่สามารถมีสมาธิกับการคิดและเขียนงานออกมาในสถานที่ที่คนคุยกันเสียงดังๆ ข้ามหัวเขาไปมาแทบตลอดทั้งวันได้ เขาเคยทดลองขอนายนำงานกลับไปทำที่บ้านหนึ่งวัน ผลคือเขาทำงานคุณภาพดีได้ในปริมาณมหาศาล เท่ากับทำที่ออฟฟิศหลายวันรวมกัน แต่เนื่องจากที่ทำงานของเขาก็เหมือนที่ทำงานประจำทั่วๆ ไปซึ่งเน้นการดำรงอยู่ในพื้นที่กายภาพรวมกันในเวลาและเกินเวลาที่กำหนดไว้ เขาไม่อาจเลือก เขาจึงมักต้องหอบงานส่วนหนึ่งกลับไปทำที่บ้านนอกเวลางาน เพราะมันจะไม่เสร็จแบบมีคุณภาพเท่านี้ในที่ทำงาน และเวลาที่เขาควรต้องมีให้ครอบครัวก็ถูกพรากไปด้วย หรืออีกกรณี นางสาว B ทำงานได้ปริมาณมากและมีคุณภาพมากที่สุดแค่ช่วง 10 โมงถึงหนึ่งทุ่ม ในพื้นที่ปลอดโปร่ง แต่เธอต้องทำงานในที่อากาศอับ โดยต้องเริ่มงานเช้ากว่านั้นและเลิกงานดึกๆ ติดต่อกันเป็นประจำ เพราะมักมีงานด่วนแทรกเข้ามาเรื่อยๆ ในแต่ละวัน เธอไม่เคยได้รับค่าล่วงเวลาทั้งที่เงินเดือนของเธอต่ำมากอยู่แล้ว วันแล้ววันเล่า เธอต้องเร่งโหมงานต่อไปหลังเวลาเลิกงานและในวันหยุดอย่างไม่อาจต่อรอง เธอย่อมเหนื่อยล้าสะสมและเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ อีกทั้งยังระคนไปกับความอัดอั้นตันใจด้วย
หากสนใจประเด็นทำนองดังกล่าว และแนวทางการแก้ปัญหาในการทำงาน ลองดู Making the Switch from Time-Oriented to Task-Oriented Productivity, Why Work Does not Happen at Work: Jason Fried at TEDxMidwest, The Remote Working Revolution Has Arrived, The Power of When Book Review Trailer With Dr. Michael Breus และหนังสือ Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking ฯลฯ)
ความคาดหวังของวิชาชีพและองค์กร
พวกเรามากมายอาจอยู่ในลักษณะวิชาชีพ หรือวัฒนธรรมองค์กรที่คาดหวังให้เราตะบี้ตะบันทำงานราวกับหุ่นยนต์ อย่างในบรรษัทอเมริกันบางส่วนมีการแข่งขันดุเดือดถึงขนาดมีการใช้ยากระตุ้นระบบประสาทที่ใช้รักษา ‘โรค’ สมาธิสั้น มาใช้เพิ่มสมรรถนะในการทำงานกันเป็นปรกติ มีพนักงานคนหนึ่งในสารคดีเกี่ยวกับการใช้ยาขนานนี้ให้สัมภาษณ์ว่า “ “พนักงานดีเด่น” ของธนาคารเพื่อการลงทุนหรือบริษัทเทคโนโลยีคือ “คนที่ไม่เคยปฏิเสธงาน” มีวัฒนธรรมการตื่นอยู่ 16 ชั่วโมงรวด 7 วันรวด และถ้าคนทางซ้ายและขวาทำงานได้ผลแบบนั้น คุณก็ควรจะได้ผลงานแบบเดียวกัน” ผู้ให้สัมภาษณ์ทำแบบนั้นอยู่พักหนึ่งจนถึงวันที่ทนไม่ได้แล้วเดินออกมาจากออฟฟิศเลย และวันต่อมาเพื่อนของเขาที่ทนฝืนร่างกายทำงานต่อก็เข้าโรงพยาบาลไปเรียบร้อย ซึ่งไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักรที่ไม่มีใครใยดีในฐานะมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น หากเราอยู่ในวัฒนธรรมที่ความภักดีต่อองค์กรถูกวัดด้วยระยะเวลาที่ใช้ไปกับที่ทำงาน(รวมถึงการเอ็นเทอร์เทนลูกค้านอกออฟฟิศ พร้อมกับคำกล่าวที่ว่า “เล็บที่ยื่นออกมา จะถูกตอกกลับเข้าไป” ซึ่งแปลว่าอย่ารินอกรีตแตกแถวเชียว ก็มีโอกาสที่จะหมดไฟได้มากเหมือนกัน
การบีบตัวเองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเกินมนุษย์ขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกิดภาวะหมดไฟ หรือเจ็บป่วยร้ายราย หรืออาจถึงตายนั้น บางส่วนก็ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องความอยู่รอด แต่เป็นความรู้สึกว่า คนอื่นทำแบบไหน เราก็ต้องทำอะไรทำนองนั้น
กลไกการสอดประสานของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ
อาจารย์เอียน (Iain Couzin) นักวิจัยมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดได้ทำภาพจำลองเพื่อแสดงกฎการทำงานของฝูง เช่น สิ่งมีชีวิตจะรับรู้เฉพาะวงเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้ที่สุดและแต่ละตัวมีแนวโน้มที่จะเรียงแถวจัดแนวกัน ส่วนนักคณิตศาสตร์ชื่อ สตีเฟน สโตรแกตซ์ (Steven Strogatz) ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าแม้แต่สิ่งไม่มีชีวิตอย่างเครื่องเคาะจังหวะ เมื่อวางใกล้ๆ กัน ก็ยังปรับจังหวะเข้าหากันกระทั่งเคาะพร้อมกันไปในที่สุดด้วยกลไกของพวกมันเอง จึงไม่แปลกที่มนุษย์อย่างเราจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำอะไรไปตามแบบแผนที่คนส่วนใหญ่รอบตัวเราทำ ซึ่งในสังคมเมืองที่ต้องแข่งขันสูงก็มักหมายรวมถึงการตั้งหน้าตั้งตาเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ คนเมืองในโลกสมัยใหม่ไม่ค่อยได้มีรูปแบบชีวิตที่ขึ้นกับจังหวะธรรมชาติ พวกเรามากมายถูกหลอมมาในระบบการศึกษาที่ตัดเอาทักษะการสร้างปัจจัยสี่เองออกจากหลักสูตร เราจึงรู้สึกว่ามีทางเลือกชีวิตน้อยและลงเอยด้วยการไปทำงานหามรุ่งหามค่ำข้ามเขตเวลาเหมือนว่าดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เรามากมายทำงานในองค์กรต่างๆ ที่ให้ค่าการทำกำไรสูงสุดมากกว่าสุขภาวะของพนักงาน
ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะเราส่วนใหญ่ก็อาจไม่ได้มี หรือมองไม่เห็นทางเลือกมากนัก เพียงแต่สุดท้ายแล้วมันก็สามารถจะทำให้เราต้องตัดขาดจากคนในครอบครัวในทางหนึ่งๆ หรือตัดขาดจากการเห็นคุณค่าของตัวเองในมิติอื่น (เช่น ความเรียบง่าย ความใจดี รวมถึงใจดีต่อตัวเองด้วย) หรือตัดขาดความต้องการของร่างกายเราเองกระทั่งล้มป่วยลง
แทนที่จะรอให้หมดไฟหรือล้มป่วยลงก่อน มันจะดีกว่าหรือไม่หากเราเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่ตอนนี้ว่าวิถีการทำงานที่เป็นอยู่ทำลายสุขภาวะหรือไม่ และยั่งยืนหรือไม่?
บทความตอนที่สอง นำเสนอทางเลือกที่อาจเป็นทางออกสู่การงานที่มีสุขภาวะและยั่งยืนมากขึ้น
อ้างอิง
สารคดี Take Your Pills ใน Netflix
A Good Knight’s Rest โดย Shelley Moore Thomas, illustrated by Jennifer Plecas
Burn-out an “occupational phenomenon”: International Classification of Diseases โดยองค์การอนามัยโลก
Burnout and post-traumatic stress disorder (PTST) หรือภาวะหมดไฟและอาการเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ โดย ดร. Geri Puleo
Making the Switch from Time-Oriented to Task-Oriented Productivity โดย Joe Martin
Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking โดย Susan Cain
The Highly Sensitive Person: How to Thrive When the World Overwhelms You โดย Elaine N. Aron
The Psychological Link Between Trauma And Work Addiction
The Remote Working Revolution Has Arrived โดย Justin Jones
Understanding Job Burnout โดยดร. Christina Maslach อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเบิร์คลีย์
Where Do You Fall on the Burnout Continuum? Recognize the danger signs of burnout. Why Work Does not Happen at Work: Jason Fried at TEDxMidwest โดย Jason Fried