- แบวูล์ฟ หนุ่มบึกบึนสายท้าชน ผู้ชอบคุยโม้กึ่งจริงกึ่งเท็จ เดินทางมายังเดนมาร์กเพื่อเสนอตัวรบรากับ ปีศาจเกรนเดล แต่ด้วยความโลภจากข้อเสนอของปีศาจแม่แกรนเดล เขาจึงโกหก ทำให้เขาต้องอยู่กับราชสมบัติจากความลวงต่อจาก กษัตริย์ฮรอร์ธการ์
- ตัวเราเองก็มีกลไกการปกป้องอัตตาตัวเองและไม่ได้ซื่อตรงขนาดนั้น เช่นเดียวกันกับ ‘แบวูล์ฟ’ แต่ทั้งเราและแบวูล์ฟอาจมีสิ่งหนึ่งร่วมกันก็คือ ความต้องการการยอมรับหรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องการจะถูกสังคมปฏิเสธ
- เมื่อสัมผัสกับลักษณะเหล่านั้นและรู้สึกถึงพลังที่ผุดขึ้นจากภายในและผสานไปกับลักษณะอื่นๆ ที่อยู่ก่อนหน้า เช่น การพร้อมรับฟัง การโอบกอด ก็กลายเป็นมวลพลังซ้อนประสาน ที่พร้อมแผ่ออกไปส่งเสริมได้ลื่นไหลกว่าเดิม
1.
ค่ำคืนแห่งการเลี้ยงฉลองอันคึกครื้น เหล่าผู้กล้าในโรงเมรัยแห่งเดนมาร์กต่างกระดกสุรากันอย่างสนุก แต่ทันใดนั้น ปีศาจ เกรนเดล – ซึ่งดูเหมือนเด็กน้อยถูกทอดทิ้ง – ที่อาศัยอยู่ห่างไกลออกไปในถ้ำชื้นแฉะก็ทนเสียงรื่นเริงของคนอื่นไม่ได้ เกรนเดลตัวใหญ่ยักษ์บุกเข้าเข่นฆ่าพวกนักรบ แต่ที่สุดแล้วเขาก็ไม่ทำร้าย ‘พ่อ’.. กษัตริย์ฮรอร์ทการ์ ผู้หลับนอนกับนางปิศาจ เพื่อแลกมธุรสรางวัลอันแฝงด้วยความขมขื่น
เมื่อเรื่องราวสยดสยองได้ถูกเล่าขาน แบวูล์ฟ หนุ่มบึกบึนสายท้าชน ก็เดินทางมายังเดนมาร์กเพื่อเสนอตัวรบรากับปีศาจ แบวูล์ฟ โม้ว่าเขาสังหารอสูรทะเลไป 7 ตน แต่คราวก่อนเหมือนจะเล่าว่าฆ่าไป 3!? (เรื่องเล่าครั้งไหนจริงนะ หรือไม่มีอะไรจริงเลย?) ภาพความทรงจำของเขาที่จวนจะนัวเนียกับนางอสูรทะเลนั้นแย้งกับเรื่องเล่าของเขาอย่างกลับตาลปัตร
ไม่ว่าเรื่องโม้ของเขาจะกึ่งจริงกึ่งเท็จมากเพียงไหน ชาวเดนมาร์กก็ต้องการความช่วยเหลือ และในที่สุด แบวูล์ฟก็สามารถฆ่าแกรนเดลได้ เพียงเพื่อจะพบว่าเขายังต้องพิชิตปีศาจที่เป็นแม่ของแกรนเดลด้วย..
เขามุ่งหน้าไปยังรังของปีศาจตัวแม่และเผชิญนางด้วยความอาจหาญ
..และ ด้วยความหื่นใคร่ทะยานอยากในอำนาจราชศักดิ์ ความมั่งคั่ง บารมี และชื่อเสียงยอยศระดับตำนาน ที่นางสัญญาจะมอบให้
แบวูล์ฟเสพสังวาสกับนาง แล้วกลับมายังราชสำนักเพื่อเผยอกรับการสรรเสริญ เขาโม้เรื่องการสังหารแม่แก่ๆ ของเกรนเดลอย่างองอาจ …นั่นเองทำให้กษัตริย์ฮรอร์ธการ์ปล่อยก๊ากออกมาอย่างเบาใจ ทั้งสองต่างรู้แก่ใจว่าในท้องถ้ำนั้นไม่ได้สถิตไว้ซึ่งนางปิศาจชราน่าเกลียดที่ถูก ‘วีรบุรุษ’ ปลิดชีพ เป็นพวกเขาต่างหากที่ต่างพ่ายแพ้ให้กับเสน่ห์เย้ายวนของนาง และมากไปกว่านั้นก็คือแพ้ลาภยศสรรเสริญต่างๆ ที่นางสัญญาจะมอบให้
“นางไม่ใช่คำสาปของข้า ไม่อีกต่อแล้ว” กษัตริย์ฮรอร์ทการ์กล่าวด้วยความโล่งอก และประกาศยกอาณาจักร มเหสีผู้เลอโฉม และทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่แบวูล์ฟก่อนที่เขาจะปลิดชีพตน และบัดนี้มันกลายเป็นของ ‘วีรบุรุษ’ หนุ่มแล้ว
แต่จอมราชันองค์ใหม่ก็ยังต้องอยู่กับความจริงอีกด้านของตน ซึ่งลวงอย่างยิ่ง ก่อนที่ในช่วงหลังของชีวิต เขาจะเติบโตและยอมรับความจริงมากขึ้น
2.
แบวูล์ฟ แข็งแรง กล้าหาญในหลายเรื่อง และมีลักษณะอันน่าสรรเสริญอีกหลายอย่าง แต่เขาก็ขี้ขลาดในบางเรื่องและขี้โกหกด้วย อย่างไรก็ตาม แทนที่จะต้องมานั่งเสียเวลามากเกินไปกับการทำความเข้าใจเขาว่าโกหกไปเพื่ออะไรบ้าง
ประการแรก เราสามารถแบ่งเวลามาทำความรู้จักกับตัวเองเพื่อวิวัฒน์ขยายขอบเขตภายใน ผ่านการพิจารณาตัวเองอย่างพยายามไม่ลำเอียง ซึ่งก็จะพบว่าเราเองก็มีกลไกการปกป้องอัตตาตัวเองและไม่ได้ซื่อตรงขนาดนั้น หรือมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเองที่ไม่คงเส้นคงวาเช่นเดียวกันกับแบวูล์ฟ บางทีเราสามารถเล่าเรื่องสำเร็จดีงามของตัวให้ขยายใหญ่กว่าที่เป็น รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง เพราะเราเองก็อ่อนแอเกินไปที่จะยอมรับว่าเราไม่ได้ดีหรือเก่งหรือบางทีเราก็ไม่ได้เคารพให้เกียรติคนอื่นอะไรขนาดนั้น และหลายครั้งมันก็ยากที่จะยอมรับในการกระทำอันน่าละอายของตนด้วย ทั้งเราและแบวูล์ฟอาจมีสิ่งหนึ่งร่วมกันก็คือ ความต้องการการยอมรับหรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องการจะถูกสังคมปฏิเสธ
อีกประการหนึ่ง ทุกคนสามารถมีลักษณะต่างๆ มากมายที่ขัดแย้งกันเองปะปนกันไปในตัวแบวูล์ฟเองก็ไม่ได้มีแค่ความขี้โกหก แต่ยังมีลักษณะอื่นๆ ที่เราสามารถตระหนักรู้ว่ามีอยู่ในตัวเองได้อย่างลึกซึ้งขึ้น และเรียนรู้ที่จะนำมาใช้ให้เป็นคุณ ไม่ว่าจะเป็น ความห้าวหาญ ดุดัน กล้าปะทะ กล้าเสี่ยง ชอบแข่งขัน กล้ากระโจนเข้าสู่ความโกลาหล นำและแผ่ขยาย ฯลฯ (ทุกลักษณะส่งผลได้ทั้งที่เป็นคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับวิถีที่เราใช้)
3.
กลับเข้าสู่ด้านในตัวเอง สัมผัสกับลักษณะที่เราลืมเลือนเหล่านั้นและรู้สึกถึงพลังที่ผุดขึ้นจากภายใน…
และเมื่อมันได้ผสานไปกับลักษณะอื่นๆ ที่เราคุ้นชินอยู่ก่อนหน้า เช่น การพร้อมรับฟัง การโอบกอด ความนุ่มนวล การประนีประนอม ฯลฯ เหล่านั้นก็กลายเป็นมวลพลังซ้อนประสาน ที่พร้อมแผ่ออกไปส่งเสริม เป็นพันธมิตร ปกป้องคุ้มครองสิ่งอื่น หรือทำกิจกรรมใดๆ ได้อย่างลื่นไหลกว่าเดิม
อ้างอิง
ภาพยนตร์ แบวูล์ฟ โดยมีพื้นฐานจากกวีมหากาพย์ (ดู Beowulf Old English poem)
คนขี่เสือ โดย ภวาณี ภัฏฏาจารย์ ผู้แปล จิตร ภูมิศักดิ์ ขอบคุณเสียงของจันทรเลขา