ตัวเราในวันนี้เป็นผลผลิตจากการฟูมฟักเลี้ยงดู และจากความสัมพันธ์ของทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครูที่โรงเรียน รวมไปถึงผู้ใหญ่ในชุมชน ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลต่อตัวตนของเรา และเขาเหล่านี้คงพยายามเลี้ยงดูเราอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ณ ตอนนั้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยตั้งคำถาม ใคร่ครวญกับตัวเอง (self-reflection) อยู่บ้างว่า
“ทำไมพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เหล่านั้นจึงเลี้ยงดูเราแบบนั้น มีตรงไหนที่อยากให้เขาปฏิบัติกับเราต่างไปจากที่เป็นไหม”
“เรานำวิธีที่ถูกเลี้ยงดูมาใช้กับลูกบ้างหรือไม่ ตรงไหนที่เหมือน ตรงไหนที่ต่าง”
“อะไรเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เราได้รับในวัยเด็ก”
ใน ‘Parenting from the Inside Out’ หนังสือคู่มือการเลี้ยงลูกยุคใหม่ ผลงานเขียนร่วมกันของจิตแพทย์ แดเนียล ซีเกล (Daniel J. Siegel) และครูสอนเด็กเล็ก แมรี เฮิร์ทเซล (Mary Hurtzell) บอกว่า การที่พ่อแม่ใคร่ครวญกับตัวเอง (self-reflection) และรู้ว่าตัวเองมีมุมมองอย่างไรต่อประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก ตอบตัวเองได้ชัดว่าพ่อแม่ที่ดีควรเป็นและปฏิบัติกับลูกอย่างไร จะมีหลักยึดให้สามารถสร้างสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นและส่งเสริมให้ลูกมีสัมพันธภาพที่ดีในวันข้างหน้าได้
ความสอดคล้อง (coherence) ของเรื่องราวที่เล่าจากประสบการณ์ชีวิตในอดีตสะท้อนว่าพ่อแม่มีความเข้าใจตนเองมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีงานวิจัยพิสูจน์ออกมาแล้วว่าสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ว่าเด็กรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่หรือไม่ พ่อแม่คนไหนที่มีความเข้าใจในตนเองจะมีความมั่นคงทางใจ (adult security of attachment) และตามมาด้วยแนวโน้มในการสร้างความผูกพันแบบมั่นคง (secure attachment) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงของลูกได้มากที่สุด
ความมั่นคงทางใจที่สร้างเอง (Earned Security)
ทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ นำโดย แมรี เมน (Mary Main) ตั้งสมมุติฐานว่าพ่อแม่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไรก็จะนำพฤติกรรมแบบเดียวกันนั้นไปใช้กับลูก เช่น พ่อแม่ที่วัยเด็กถูกเลี้ยงดูแบบทิ้งขว้างเมื่อโตขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจลูกตัวเองเช่นกัน
พวกเขาสัมภาษณ์คนที่เคยร่วมทดสอบรูปแบบความผูกพันที่มีต่อพ่อแม่ซึ่ง แมรี ไอน์สเวิร์ธ (Mary Ainsworth) นักวิจัยด้านจิตวิทยาเคยทำไว้ตอนพวกเขาอายุราวหนึ่งขวบ (ในผลงานชื่อ Infant-strange Situation) โดยใช้ชุดคำถามที่เรียกว่า The Adult Attachment Interview (AAI) ถามกระตุ้นให้เด็ก (ซึ่งขณะนี้โตเป็นผู้ใหญ่หรือบางคนกลายเป็นพ่อแม่แล้ว) เล่าย้อนถึงความทรงจำและสะท้อนมุมมองที่มีต่อประสบการณ์วัยเยาว์ของตัวเอง แล้วนำข้อมูลมาประเมินความสอดคล้องสมบูรณ์ของเรื่องราว (coherence) เพื่อจำแนกสภาวะจิตใจอันเป็นผลจากรูปแบบความผูกพันในวัยเด็ก (states of mind with respect to attachment) ออกเป็น 4 รูปแบบคือ มั่นคงทางใจ (secure) เมินเฉย (dismissing) หมกมุ่น (preoccupied) และ มีปมติดค้าง/สับสน (unresolved/disorganized)
รูปแบบความผูกพันกับพ่อแม่ในวัยเด็ก (models of attachment) | ลักษณะการเลี้ยงดูลูกเมื่อเป็นพ่อแม่ หรือ สภาวะจิตใจ (states of mind) เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ |
ผูกพันแบบมั่นคง (securely attached) | มีความมั่นคงทางใจ (ไม่ยึดติด หรือ พึ่งพาได้) |
ผูกพันแบบไม่มั่นคง-ห่างเหิน (avoidantly attached) | เมินเฉยกับความสัมพันธ์ (dismissing) |
ผูกพันแบบไม่มั่นคง-ครึ่งๆ กลางๆ (ambivalently attached) | หมกมุ่นกับอดีต (preoccupied) |
ผูกพันแบบไม่มั่นคง-สับสน (disorganizedly attached) | มีปมติดค้างในใจ หรือยึดติดกับความสูญเสีย/สับสน (unresolved trauma or loss/disorganized) |
โดยปกติแล้ว ความมั่นคงทางใจมีจุดกำเนิดจากการได้รับความอบอุ่นจากการเลี้ยงดูในครอบครัวเป็นหลัก เมื่อมีข้อค้นพบว่าผู้ใหญ่ซึ่งโตมาในบ้านสีเทาหม่นแต่กลับมีจิตใจมั่นคง นักวิจัยจึงเรียกความมั่นคงประเภทนี้ว่า ‘earned security’ แปลว่า ความมั่นคงทางใจที่สร้างขึ้นเอง งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า รูปแบบความผูกพันกับพ่อแม่ในวัยเด็กสามารถพยากรณ์ลักษณะเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่หรือเมื่อเป็นพ่อแม่ได้จริงและแม่นยำถึง 85 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในงานวิจัยนี้คือการค้นพบว่าผู้ใหญ่บางคนที่ถูกทิ้งขว้างในวัยเด็กสามารถเติบโตมาเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกได้ดีได้ กล่าวคือ แม้ในวัยเด็กผูกพันกับพ่อแม่แบบไม่มั่นคง (insecure attachment) แต่ตอนโตกลับมีสภาวะมั่นคงทางใจเต็มเปี่ยม (adult secure attachment)
ดร.อลัน ซรูฟ (Alan Sroufe) ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็กแห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ศึกษาผู้ใหญ่กลุ่มนี้ต่อมาและพบว่าพวกเขาสร้างความมั่นคงทางใจจากสัมพันธภาพรอบตัวอื่นๆ ในชีวิตนอกเหนือจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก (primary caregiver) มาช่วยประคับประคองจิตใจให้อยู่ในแดนบวก เช่นมีญาติ ครู หรือเพื่อนที่ดีคอยให้คำปรึกษาช่วยเหลือ
สำหรับพ่อแม่ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าตนเป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งไปก่อน แต่ละคนอาจมีหลายลักษณะร่วมกัน และเด็กก็มีรูปแบบความผูกพันกับผู้ใหญ่แต่ละคนไม่เหมือนกัน (กับแม่ผูกพันแบบมั่นคง กับพ่ออาจเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ) งานวิจัยได้แบ่งลักษณะความผูกพันออกจากกันเพื่อเปรียบเทียบให้ชัดเจน ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจมีลักษณะความผูกพันหลักเป็นแบบใดแบบหนึ่งกับคนที่เลี้ยงดูและเปลี่ยนรูปแบบไปกับคนอื่นในสถานการณ์อื่นก็ได้
ข้อคิดจากการค้นพบว่าเราสามารถสร้างความมั่นคงทางใจขึ้นได้เองแม้ว่าจะไม่เคยรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่เลยก็ตามนั้น หมายความว่า เราไม่ได้ถูกลิขิตพฤติกรรมและเส้นทางที่เลือกเดินจากการเลี้ยงดูเสมอไป หากเราทบทวน ทำความเข้าใจในตนเอง และเปิดรับการเปลี่ยนแปลงที่ดี มันจะกลายเป็นพลังใจอันมั่นคงให้ก้าวไปข้างหน้าและพร้อมส่งต่อความสัมพันธ์ที่ดีให้ลูกหลานและคนรุ่นต่อไป
ดูจากพ่อแม่ก็รู้ว่าลูกจะโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น ขออธิบายลักษณะของสภาวะจิตใจตอนโตอันเป็นผลมาจากรูปแบบการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่ในวัยเด็ก ทั้ง 4 แบบในตารางข้างต้น ซึ่งทีมวิจัยของแมรี เมน ได้จำแนกไว้อีกครั้งหนึ่ง
- ผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางใจ (Secure Adult Attachment)
คือคนที่เล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กได้สอดคล้องสมบูรณ์ เมื่อเป็นพ่อแม่ก็จะสามารถเลี้ยงลูกให้มีความผูกพันแบบมั่นคงได้ดี
“พ่อฉันป่วยด้วยโรคอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวสุขเดี๋ยวเศร้า ฉันกับพี่น้องโตมาด้วยบรรยากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ โชคดีที่แม่เข้าใจว่าพวกเรากลัวอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของพ่อ แม่ปลอบโยนและทำให้ฉันรู้สึกอุ่นใจตลอด ทั้งที่กลัวนะแต่ก็สัมผัสได้ว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง จนฉันคลอดลูกชาย พ่อก็เข้ารับการรักษาอาการที่ว่า พอได้เลี้ยงลูกเองฉันเริ่มทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันยากมากเวลาเขาร้องโยเยและฉันกลัวเวลาควบคุมลูกไม่อยู่ เลยลองตรองกับตัวเองดูว่าจะทำให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง ฉันพยายามไม่ตอบโต้เวลาลูกใช้อารมณ์ ความสัมพันธ์ของเราจึงค่อยๆ ลงตัว กับพ่อเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากเหมือนฟ้าหลังฝน ถึงเขาจะไม่เซนซิทีฟและเปิดกว้างเท่าแม่แต่เขาก็พยายาม พ่อผ่านอะไรๆ มามากและฉันก็นับถือเขาในจุดนั้น”
นี่คือบางช่วงบางตอนของบทสัมภาษณ์คุณแม่ที่ผูกพันกับลูกชายเป็นอย่างดี (secure attachment) แต่วัยเด็กเธอเติบโตในครอบครัวที่พ่อป่วยด้วยโรคอารมณ์แปรปรวน มีแม่เป็นคนช่วยแบ่งเบาและพยุงจิตใจเธอจนกระทั่งโตเป็นสาว ลักษณะมุมมองของเธอสะท้อนความมั่นคงในทางที่สร้างเอง (earned security) จุดเด่นของเรื่องเล่าในผู้ที่มีความมั่นคงทางใจในงานวิจัยของ แมรี เมน นั้นจะแสดงถึงสิ่งต่อไปนี้
- การเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ (กรณีนี้คือ ผู้เล่ารับรู้ความรักจากแม่ เข้าใจโรคภัยและการต่อสู้ของพ่อ)
- การปรับตัวตามสถานการณ์ที่เจอ (flexibility) และถ่ายทอดอย่างเป็นกลาง (objectivity)
- เรื่องเล่าเชื่อมโยงอดีต-ปัจจุบัน และ (มีนัยยะถึง) อนาคต
- ผู้ใหญ่ที่เมินเฉยกับความสัมพันธ์ (Dismissing Adult Attachment)
คือผู้ใหญ่ที่ตอนเด็กมักโดนพ่อแม่ละเลยไม่เอาใจใส่และปฏิเสธความสำคัญ เมื่อเป็นพ่อแม่ก็ผูกพันแบบห่างเหินกับลูก (avoidance attachment) เป็นหลัก คือรับรู้ความต้องการของลูกช้า ชอบอยู่โดดเดี่ยว ไม่ยี่หระกับความรู้สึกของใครแม้แต่ความรู้สึกที่กู่ร้องภายในของตนเอง
“พ่อแม่ฉันอยู่ด้วยกันและฉันก็เติบโตขึ้นในบ้านที่ดี เราทำกิจกรรมด้วยกันหลายอย่าง และฉันก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีอย่างที่เด็กคนหนึ่งพึงได้รับจากบ้านที่ดี ฉันกับพี่ถูกสอนให้แยกแยะถูกผิด ทางที่ถูกที่ควร เพื่อความสำเร็จในชีวิต ฉันจำไม่ได้แน่ชัดว่าเขาสอนอะไรบ้าง แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับวัยเด็กแล้ว แค่นี้แหละค่ะ ใช่ มันเป็นชีวิตที่ดี”
จากคำบอกเล่าจากคุณแม่ที่ผูกพันกับลูกแบบห่างเหินในงานวิจัยของ แมรี เมน บทสัมภาษณ์ของผู้ใหญ่กลุ่มนี้มักมีลักษณะร่วมดังต่อไปนี้
- เล่าเรื่องได้สอดคล้องสมบูรณ์ มีตรรกะ แต่ขาดรายละเอียดความทรงจำ อารมณ์ความรู้สึก ความเป็นส่วนหนึ่ง
- ไม่กล่าวถึงใครเป็นพิเศษหรือเชิงลึกเลย
- ไม่มีการเชื่อมโยงอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
มีงานศึกษาซึ่งเจาะลึกด้านความทรงจำของผู้ใหญ่กลุ่มนี้ว่าทำไมจึงนึกเรื่องราวในอดีตไม่ออก (นอกจากบางคนอาจจงใจปิดบังอดีตอันขมขื่น) พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะประสบการณ์ที่พวกเขาเจอไม่มีการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ถูกเลี้ยงดูอย่างแห้งแล้งซังกะตาย สมองจึงไม่สนใจจะบันทึกไว้ตั้งแต่แรก อีกทั้งการที่พ่อแม่ไม่ให้ความสำคัญกับตัวตนของเขาก็มีส่วนทำให้สมองไม่มีภาพตำแหน่งแห่งหนของตัวเองในห้วงเวลาเหล่านั้น (autobiographical memory) เลย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ใหญ่ลักษณะนี้ดูท่าจะไม่สนใจใคร แต่ปฏิกิริยาตอบสนองทางกายยังบ่งชี้ว่าจิตใต้สำนึกของพวกเขาให้ความสำคัญกับการมีผู้อื่นในชีวิตอยู่ โดยมากรับรู้และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นได้ปกติ เพียงแต่สร้างเกราะไม่ให้ตัวเองแสดงออกหรือปิดกั้นความรู้สึกตนเองโดยไม่รู้ตัว งานศึกษานี้อธิบายว่าคนกลุ่มนี้สมองซีกขวาซึ่งทำหน้าที่ด้านอารมณ์จะทำงานน้อยกว่าสมองซีกซ้าย
หนทางเยียวยาคือ การกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวาซึ่งทำงานไม่เต็มที่ ทำให้อ่านอารมณ์ความคิดของคนอื่นไม่ออก ไม่เข้าใจอากัปกิริยาท่าทางที่คนอื่นสื่อสารและขาดการตระหนักรู้ตนเอง การทบทวนตนเอง (self-reflection) ในกรณีนี้อาจไม่ได้ผลนักเพราะสมองซีกซ้ายซึ่งใช้ตรรกะไม่สามารถทำงานได้ถ้าขาดรายละเอียดข้อมูลของความทรงจำที่เก็บโดยสมองซีกขวา
วิธีกระตุ้นให้สมองซีกขวาทำงาน ทำได้โดยฝึกให้มองภาพหรือสัญลักษณ์ท่าทางของคนแล้วพยายามอธิบายอารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นคำพูด
- ผู้ใหญ่ที่หมกมุ่นกับอดีต (Preoccupied Adult Attachment)
คือคนที่ถูกเลี้ยงดูด้วยการเอาใจใส่แบบลุ่มๆ ดอนๆ พ่อแม่เข้าใจและตอบสนองไม่เสมอต้นเสมอปลายในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นจึงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่จิตตก ขี้กังวล เอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อเป็นพ่อแม่น้อยครั้งที่ผู้ใหญ่กลุ่มนี้จะเข้าถึงความต้องการหรือตีความกิริยาท่าทางที่ลูกแสดงออกมาได้ ลูกจึงพัฒนาความผูกพันแบบครึ่งๆ กลางๆ กับพ่อแม่ (ambivalent attachment) เพราะเต็มไปด้วยความกังขาไม่แน่ใจว่าพึ่งพาพ่อแม่ได้หรือไม่
เรื่องเล่าที่ผู้ใหญ่กลุ่มนี้ถ่ายทอดมักกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เป็นปมในอดีตและออกทะเลไปจากหัวข้อที่กำลังพูดกัน สะท้อนความหมกมุ่นกับอดีตและสติไม่อยู่กับปัจจุบัน คิดอ่านและแสดงพฤติกรรมโดดไปจากสถานการณ์ตรงหน้า
“ผมโตมายังไงน่ะเหรอ? อธิบายไม่ถูกอะ! พวกเราซี้กันมากแต่ก็ไม่มากขนาดนั้น เรียกว่าสนิทละกัน เราเล่นด้วยกันบ่อย ผมกับพี่ชายอีกสองคนน่ะ บางทีพวกนั้นชอบเล่นแรง ผมก็แรงกลับ ไม่ได้อะไรกันหรอกแต่แม่ชอบมองเป็นปัญหา อย่างวันแม่ที่ผ่านมาได้เจอกัน แม่บอกว่าผมกับภรรยาเลี้ยงลูกโหดไป คือท่านว่าผมน่ะพูดแรงกับลูกชายเกิน แต่ทีกับพี่ๆ ตอนเราเป็นเด็ก แม่ไม่เห็นเคยว่าอย่างนี้เลย แม่ปล่อยให้พี่แกล้งผมแรงๆ เอาสนุก แล้วไม่เห็นว่าอะไร ไม่มีเลย ผมโดนตลอด แต่ผมไม่แคร์นะ ถึงมันจะน่าเศร้าก็เหอะ ผมจะไม่ให้แกมายุ่งอีกแล้ว คุณว่าไหมล่ะ?”
นี่คือคำบอกเล่าของคุณพ่อซึ่งมีความผูกพันแบบครึ่งๆ กลางๆ กับลูก (ambivalent attachment) เขากำลังให้สัมภาษณ์ว่าถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร แต่กลับสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันโดยตัวเขายังติดอยู่ในปมความรู้สึกว่าแม่ลำเอียง ถ้าคุณพ่อท่านนี้ไม่ทบทวนและแกะตัวเองออกจากปม มีโอกาสสูงมากที่เขาจะทำให้ลูกรู้สึกแบบเดียวกันกับที่ตัวเองเคยเป็นมาก่อน
การเยียวยาแก้ไขผู้ใหญ่ที่เป็นแบบนี้ต้องอาศัยการใช้ตรรกะของสมองซีกซ้ายเข้ามาควบคุมอารมณ์ความรู้สึก นักวิจัยมองว่าสมองซีกขวาของคนกลุ่มนี้ทำงานมากไป บวกกับฝังใจว่าตนเองโดนละเลยบ่อยๆ จึงรู้สึกว่าพึ่งใครไม่ได้ เกิดข้อกังขาหรือกล่าวโทษตนเองโดยไม่รู้ตัวและขาดความมั่นคงทางใจ
ควรฝึกการปลอบโยนตัวเอง (self-soothing) เช่น หมั่นพูดบวกกับตัวเอง (self-talk) บ่อยๆ ยิ่งในสถานการณ์ที่กำลังรู้สึกเปราะบางหรือเจอเหตุการณ์ที่ไม่เป็นใจ จนพานให้กล่าวโทษตัวเอง หายใจลึกๆ แล้วบอกกับตัวเองว่า “ตอนนี้เครียดจริงๆ แต่ใจเย็นๆ ก่อนนะ ลองสู้ดูสักตั้งก่อน ไม่ว่ายังไงเราจะได้เรียนรู้มันและผ่านไปได้” หรือ “ฉันจะรักตัวเองก่อนเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และฉันจะทำให้ตัวเองมีความสุขและยิ้มได้” นอกนั้นอาจทำกิจกรรมแนวผ่อนคลาย เช่น ปลูกต้นไม้ ฝึกโยคะ และฝึกการสื่อสารอย่างเปิดอกกับคนใกล้ชิดที่เข้าใจ
- ผู้ใหญ่ที่มีปมติดค้าง (Unresolved Adult Attachment)
พ่อแม่ที่มีบาดแผลทางใจก็ดีหรือผ่านการสูญเสียมาก็ดี มักสร้างลักษณะความผูกพันแบบสับสน (disorganized attachment) ให้กับลูกๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ด้วยพฤติกรรมเช่น ใจลอยไปถึงปัญหาตนเองเมื่อลูกกำลังร้องไห้แทนที่จะปลอบโยน ตะเบ็งโมโหใส่ลูกที่กำลังร้องดีใจเสียงดังกับผลบอล หรือตีลูกที่โยเยไม่ยอมนอน
สาเหตุที่ผู้ใหญ่กลุ่มนี้มักแสดงอาการเกรี้ยวกราดเพราะภาวะการควบคุมอารมณ์เสียสมดุล เรียกว่า ‘dysregulation’ อารมณ์จะแปรปรวนแบบปัจจุบันทันที จากพูดคุยอยู่ดีๆ กลับบึ้งตึงขึ้นมาเฉยๆ สมองถูกครอบงำด้วยความคิดที่บดบังสถานการณ์ตรงหน้า การตอบสนองจึงไม่สอดคล้องกับปฏิสัมพันธ์ แน่นอนเด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่ที่ติดค้างอยู่ในปมย่อมเกิดความตื่นกลัวต่อคลื่นอารมณ์ซึ่งหาที่มาที่ไปไม่เจอ สับสนในตัวพ่อแม่ (disorganized attachment) และต้องแบกรับจิตใจที่บอบช้ำที่พ่อแม่รับช่วงต่อมาสร้างกับตน
คนที่มีภาวะ dysregulation นี้ สามารถเยียวยาและทำความเข้าใจตัวเองได้โดยให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เป็นปมในใจ เพื่อหาให้เจอว่าชิ้นส่วนที่ขาดหายไปของเรื่องที่สมบูรณ์สอดคล้องนั้นคืออะไร
“ตอนเด็กฉันไม่น่าจะเคยรู้สึกเสียขวัญนะ ไม่ใช่ว่าไม่มีเรื่องน่ากลัวอะไรเลย มันก็มีแหละ อย่างพ่อฉันมักเมาแอ๋กลับมาบ้านและแม่ก็ไม่ใช่ธรรมดา ถึงเขาจะพยายามเป็นแม่ที่ดี แต่ที่เป็นแบบนี้เขาโทษว่าเพราะพ่อสิผิดที่ชอบกินเหล้า ฉันว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะใจร้าย แต่มันเหมือนมีปีศาจมาเข้าสิงทุกที สีหน้าแม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนฉันไม่รู้ว่าจะเชื่อแม่ดีรึเปล่า แม่ชอบโมโหฉุนเฉียวแล้วก็เหมือนหวาดกลัวบางอย่างทุกทีเลย หน้าบิดเบี้ยวไปหมด ตาก็แข็ง บางทีแกร้องไห้เป็นวันๆ ฉันเห็นหน้าแม่ที่มีน้ำตานองลอยมาเลย มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องเศร้าอะไร แต่ก็น่าเศร้าอยู่ดี”
นี่คือบทสัมภาษณ์จากคุณแม่ท่านหนึ่งเมื่อทีมวิจัยได้ถามว่ามีอะไรเคยทำให้เสียขวัญตอนเป็นเด็กบ้างหรือไม่ เธอเห็นสีหน้าของแม่ที่เปลี่ยนแบบปุบปับตอนกำลังโกรธ เมื่อเห็นเช่นนั้นสมองก็เตรียมการแสดงอารมณ์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น นี่เป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของเซลล์กระจกในสมอง (mirror neurons) ซึ่งมีหน้าที่ปรับอารมณ์ให้คล้อยตามอีกฝ่ายโดยอัตโนมัติ
ผู้ใหญ่ที่ต้องสะดุดเข้ากับความกลัวที่ไร้ทางออก (fright without solution) จากการเลี้ยงดูที่แปรปรวนสับสนนี้ เมื่อเจอสถานการณ์ใกล้เคียงกับปมบาดแผล มักไม่สามารถรับมือสถานการณ์นั้นได้ ถ้าให้เล่ารายระเอียดจากความทรงจำ สมองจะมีแต่ภาพและความรู้สึกหวาดกลัวกระจัดกระจาย เรื่องที่ให้ทบทวนมักติดค้างอยู่แต่กับอดีตจนทำให้ไม่สามารถร้อยเรียงเรื่องราวให้เกิดความสมบูรณ์สอดคล้องและหลุดพ้นจากปมบาดแผลได้ เพราะปฏิกิริยาทางอารมณ์ในเหตุการณ์นั้นยังฝังประทับอยู่ ผนวกกับการทำงานของเซลล์กระจกในสมอง หรือกระบวนการเชื่อมสมองสองซีกเกิดความบกพร่อง
การเยียวยาที่เป็นรูปธรรมคือการเปิดอกเล่าเรื่องราวให้ใครสักคนที่ไว้ใจได้ฟัง โดยให้เน้นเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเข้ากับตัวตนในปัจจุบัน และตั้งเป้าวางแผนพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต
การมีใครสักคนให้กำลังใจและร่วมข้ามผ่านจุดที่เปราะบางที่สุดไปด้วยกันบนเส้นทางของการเยียวยาช่วยได้มาก และสำคัญที่การเปิดใจเผชิญหน้ากับความรู้สึกเจ็บปวดนั้นอย่างยอมรับ ค่อยเป็นค่อยไป
ถึงเวลาทบทวนตัวเอง
ในหนังสือ ‘Parenting from the Inside Out’ มีคำถาม 12 ข้อเพื่อให้พ่อแม่ทุกคนลองทบทวนตัวเองเพื่อใคร่ครวญผลกระทบจากประสบการณ์ในวัยเด็กต่อความเป็นพ่อแม่ในปัจจุบัน ลองเป่าฝุ่นความทรงจำสีจางแล้วพยายามมองสีสันและอารมณ์ความรู้สึกในห้วงเวลาเหล่านั้น คำตอบอาจเป็นเงาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงจากการเติบโตหรือตะกอนติดค้างจากวัยเยาว์ได้ชัดขึ้น
สำหรับบางคน การอธิบายภาพหรือความรู้สึกที่อยู่ข้างในอาจเป็นเรื่องยาก ระหว่างทางอาจเกิดความรู้สึกเปราะบางขึ้นกลางคัน ทั้งที่ไม่แน่ใจ ละอายใจหรือผิดบาป ขอให้พยายามเปิดรับทุกมโนทัศน์ ถ้อยคำหรืออารมณ์ที่ผุดขึ้นในสมองแม้เพียงเสี้ยวหนึ่ง การพยายามแปลภาพและอารมณ์ความรู้สึกในหัวออกมาเป็นคำพูดเป็นการกระตุ้นกระบวนการเชื่อมต่อของสมองทั้งสองซีก แก่นแท้ของการทบทวนตัวเองไม่ใช่การค้นหาบาดแผลทุกรอยให้เจอ แต่คือการโอบกอดสิ่งที่ล่วงผ่านไปแล้ว ขอบคุณทุกอย่างที่เรามีในปัจจุบัน เข้าใจและยอมรับตัวเองด้วยความเมตตาเพื่อก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่แบกยึดกับความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านไปแล้ว
ตอบคําถามเหล่านี้ ด้วยการเล่าให้คนสนิทฟังหรือเขียนลงกระดาษ
- คุณเติบโตมาอย่างไร มีใครอยู่ในครอบครัวบ้าง
- สมัยเด็กคุณกับพ่อแม่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อคุณเติบโตขึ้นความสัมพันธ์นั้นพัฒนามาเป็นอย่างไร
- ความสัมพันธ์ของคุณกับพ่อและกับแม่เหมือนและต่างกันอย่างไร พวกท่านเป็นต้นแบบด้านไหนบ้างที่อยากเจริญรอยตาม และด้านใดบ้างที่ไม่อยากเอาอย่าง
- พ่อแม่เคยปฏิเสธความสำคัญหรือคุกคามความรู้สึกคุณไหม มีเหตุการณ์ใดที่ทําให้รู้สึกท่วมท้นหรือเป็นบาดแผลชีวิตตอนเป็นเด็กหรือระหว่างเติบโตในช่วงใดช่วงหนึ่ง รู้สึกว่าเหมือนเหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ หรือไม่ มันส่งผลต่อการใช้ชีวิตในขณะนี้ไหม อย่างไร
- พ่อแม่ปลูกฝังวินัยอะไรให้คุณในวัยเด็กบ้าง การอบรมเหล่านั้นมีผลอย่างไรตอนคุณเป็นเด็ก และมันส่งผลต่อการเป็นพ่อแม่ในปัจจุบันนี้อย่างไร
- จําช่วงเวลาที่ต้องแยกจากพ่อแม่ครั้งแรกได้หรือไม่ มันเป็นอย่างไร เคยอยู่ห่างจากพ่อแม่เป็นระยะเวลานานๆ หรือไม่
- เคยมีคนสําคัญในชีวิตล้มหายตายจากไปในวัยเด็กหรือระหว่างเติบโตไหม คุณรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น การสูญเสียนั้นส่งผลอย่างไรกับคุณตอนนี้
- ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่สื่อสารอย่างไรเวลาคุณเป็นสุขและตื่นเต้น เขามีอารมณ์ร่วมกับคุณไหม ตอนคุณเศร้าเสียใจ พ่อแม่ตอบสนองอย่างไร
- นอกจากพ่อแม่แล้ว มีใครเลี้ยงดูคุณอีกบ้าง ความสัมพันธ์เหล่านั้นเป็นอย่างไร และคุณในฐานะพ่อแม่ รู้สึกอย่างไรเมื่อให้คนอื่นเลี้ยงดูลูกให้คุณ
- ตอนเป็นเด็กเมื่อเจอเรื่องร้ายๆ มีคนในครอบครัวหรือใครที่เป็นที่พึ่งได้ ความสัมพันธ์เหล่านั้นมีประโยชน์ต่อคุณอย่างไรและมันช่วยคุณในห้วงเวลาปัจจุบันอย่างไร
- ประสบการณ์ในวัยเยาว์ของคุณส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วอย่างไร คุณเคยพยายามไม่ปฏิบัติตัวอย่างหนึ่งอย่างใดเพราะฝังใจจากวัยเด็กรึเปล่า คุณมีพฤติกรรมที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนไม่สําเร็จหรือไม่
- คุณคิดว่าวัยเด็กของคุณมีอิทธิพลกับชีวิตปัจจุบันทั่วไปอย่างไร รวมไปถึงมันกระทบต่อมุมมองที่คุณมอง ตัวเองและความสัมพันธ์ของคุณกับลูกๆ อย่างไรด้วย เคยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือความเข้าใจที่มีต่อตัวเองหรือต่อผู้อื่นไหม เรื่องใดบ้าง
แม้ประสบการณ์ในวัยเยาว์และความสัมพันธ์ตลอดระยะทางการเติบโตส่งผลต่อตัวตนในวัยผู้ใหญ่ กรอบคิดที่ได้จากงานศึกษาเรื่องทฤษฎีความผูกพันมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากให้เราทำความเข้าใจตัวเองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและไขหนทางไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางใจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ด้วยความเข้าใจในตัวเองเป็นสำคัญ หากคุณเป็นพ่อแม่ที่กำลังพยายามแสวงหาชีวิตที่มีคุณค่าให้กับลูกและตัวเอง ทั้งหมดนี้อาจเป็นตำราบทหนึ่งให้นำไปปรับใช้ในบ้าน