- วีระยุทธ์ วรพล คือศิลปินอาร์ตทอยผู้หยิบเรื่องราวในชีวิตและสภาพแวดล้อมที่บ้านเกิดมาสร้างสรรค์เป็นคาแรกเตอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อสื่อสารถึงคุณค่าของงานศิลปะและธรรมชาติ
- เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้จากความผิดพลาดบกพร่อง “ผลงานที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องจะทำให้เราได้เฝ้าสังเกตและศึกษา ทบทวนความผิดพลาด และพัฒนาโดยหวังว่าจะเห็นพัฒนาการที่แตกต่างต่อไป”
- เขามองว่าศิลปะทำให้รู้จักชีวิตมากขึ้น เรียนรู้ว่าบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่ทำได้คือเข้าใจธรรมชาติของมัน และทำใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดผลงานเหล่านั้นจะหล่อหลอมให้ตนเองเติบโตขึ้นด้วย
ผมเป็นนักสะสมของเล่นที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘อาร์ตทอย’ มาเป็นเวลากว่าสิบสองปี และในจำนวนอาร์ตทอยที่ผลิตโดยคนไทย ผมรู้สึกสะดุดตาเป็นพิเศษกับคาแรกเตอร์ ‘มัฟฟิน’ (Muffinn) ซึ่งมีเสน่ห์บางอย่างที่แตกต่างจากอาร์ตทอยตัวอื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูลึกลับแต่น่ารัก หรือจะเป็นวิธีการนำเสนอผลงานที่ต้องเข้าไปถ่ายรูปในป่าทุกครั้ง ชวนให้ตั้งคำถามถึงความหมายของชิ้นงาน
กระทั่งเมื่อผมมีโอกาสไปเชียงใหม่จึงไม่พลาดที่จะชวน ‘วี’ วีระยุทธ์ วรพล (MADKIDs HOME STUDIO) เจ้าของคาแรกเตอร์มัฟฟิน มาคุยถึงแรงบันดาลใจ แพสชั่นและการเติบโตของเขาบนเส้นทางสายนี้ รวมไปถึงคอนเทนต์ที่เขาพยายามสื่อสารผ่านอาร์ตทอยตัวเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นความรักในศิลปะ การเห็นคุณค่าของธรรมชาติ หรือความผูกพันกับบ้านเกิด ซึ่งผมพบว่าทั้งหมดเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งส่งผลให้ผลงานทุกชิ้นมีเอกลักษณ์และสามารถสะท้อนมุมมองของเขาในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างลงตัว
เปลี่ยนเรื่องเล่นๆ ให้เป็นเส้นทางสู่ฝัน
ย้อนหลังไป 20 ปีที่แล้ว ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เด็กชายวีระยุทธ์รวบรวมความกล้าเพื่อเข้าไปคุยกับยาย หลังจากที่เขาตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เรียนต่อม.1 และขอออกไปทำงานกับเพื่อนๆ เพื่อหาเงินมาซื้อฟิกเกอร์นารูโตะที่เขาอยากได้
แทนคำตอบ ยายกวักมือเรียกเขามาช่วยทำนาพร้อมกับจ่ายค่าจ้างให้หลานรัก ทว่าผ่านไปได้สองวัน เด็กชายก็เริ่มทนกับความเหน็ดเหนื่อยไม่ไหว ยายจึงยื่นข้อเสนอให้สองทางคือ ‘ออกมาทำนา’ หรือ ’กลับไปเรียนต่อ‘
หลังจากบวกลบคูณหารชั่งใจอยู่นานว่าจะเอายังไงกับชีวิต เพราะเงินก็อยากได้แต่ไม่อยากทำนา ส่วนม.1 ก็อยากเรียนต่อแต่กลัวไม่มีเพื่อน สุดท้ายเด็กชายวีจึงเลือกเส้นทางหลังซึ่งแลกมากับการลงทุนตื่นเช้าเพื่อแต่งตัวไปให้ทันโรงเรียน
แม้จะเลือกเรียนต่อ แต่ความปรารถนาที่มีต่อฟิกเกอร์นารูโตะก็ไม่เคยหายไปไหน เขายังคงเปิดดูการ์ตูนเรื่องโปรดทุกเช้าวันเสาร์อาทิตย์ ก่อนออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ที่ท้องนาหรือไม่ก็ชานป่าบริเวณดอยเล็กๆ หลังบ้าน ซึ่งเวลาเดียวกันนั้นเองเขาก็ค้นพบวิธีที่จะสร้างนารูโตะขึ้นมาในแบบฉบับของตัวเอง
“ช่วงวันหยุด เด็กบ้านนอกจะชอบไปกระโดดน้ำเล่นตามทุ่งนา ผมก็ชอบเอาดินเหนียวจากทุ่งนามาปั้นเป็นนารูโตะ เพราะผมอยากได้ฟิกเกอร์มากแต่ผมไม่มีทางซื้อได้แน่นอน ตอนแรกก็ปั้นเล่นๆ พอมันแห้งก็ลงสีเล่นตามปกติ ปรากฏว่าวันหนึ่งรุ่นน้องในหมู่บ้านผ่านมาเห็นแล้วเกิดอยากได้เลยขอซื้อต่อในราคาตัวละ 5 บาท 10 บาท คือมันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมหาเงินได้เองโดยที่ไม่ต้องไปดำนา ผมคิดว่าจุดนั้นช่วยจุดประกายผมว่าเราสามารถทำเงินจากพรสวรรค์ของเราได้ แต่ปัญหาคือจะทำยังไงให้งานของเราแข็งแรงคงทนกว่านี้”
หลังจากนั้น หนุ่มน้อยผู้หลงรักนารูโตะก็ให้สัญญากับตัวเองว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องปั้นงานและทำฟิกเกอร์ด้วยตัวเองให้ได้ และเริ่มศึกษาหาข้อมูลในการผลิตของเล่น กระทั่งตอนม.5 เขาก็ได้ฝึกหล่องานเรซิ่น (Resin) ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก
“ผมตั้งคำถามว่าวัสดุอะไรจะทำให้งานของเราคงทน สามารถทำจำนวนก็อปปี้ให้ได้มากกว่าหนึ่งตัว ตอนนั้นก็ลองเสิร์ชหาจากอินเตอร์เน็ตจนพบกับเรซิ่น เลยสั่งซื้อออนไลน์มาลองทำดู ซึ่งในเว็บจะมีการสอนวิธีใช้แบบคร่าวๆ ว่าต้องผสมสัดส่วนยังไง ตอนนั้นผมลองแล้วก็พังยับเยินครับ หล่องานแบบผิดๆ ถูกๆ แถมกลิ่นก็เหม็นคลุ้งไปทั่วบ้าน แต่ผมพยายามมองข้อดีว่าถึงแม้มันจะออกมาไม่สวยงามแต่มันก็ยังออกมาเป็นตัวอะไรสักอย่างที่แข็งแรง ผมเลยบอกตัวเองให้ใจเย็นๆ ค่อยๆ ศึกษามันต่อไปนะ”
วีบอกว่าแม้เขาจะมุ่งมั่นและชัดเจนกับตัวเองในเรื่องศิลปะมากแค่ไหน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่สอนศิลปะขั้นพื้นฐานเพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือการไม่มีโรงเรียนสอนศิลปะหรือแหล่งความรู้ในบริเวณใกล้เคียงทำให้เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบผิดๆ ถูกๆ ซึ่งหนทางเดียวที่จะช่วยสานฝันให้ทอดต่อไปได้คือการตั้งใจเรียนเพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
“ผมเลือกเอนทรานซ์เข้าคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเปลี่ยนชีวิตผมหลายอย่าง ผมได้เจอทั้งอุปกรณ์ศิลปะที่ไม่เคยรู้จัก เพื่อนฝูงที่พูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง ได้เห็นคนเก่งๆ มากมาย รวมถึงการมีอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงง่ายทำให้ผมรู้จักกับอาร์ตทอยต่างประเทศ เช่น Dunny ของ Kidrobot ซึ่งเป็น Platform Toy (ของเล่นสีขาวตัวเปล่าๆ ที่เปิดโอกาสให้นักสะสมสามารถแต่งเติมจินตนาการลงบนของเล่นได้ตามต้องการ) ส่วนศิลปินอีกคนที่ผมติดตามและซึมซับสไตล์ คือ Kathie Olivas ซึ่งล้วนจุดประกายให้ผมอยากไปให้ถึงจุดนั้น แต่ผมรู้สึกว่าความฝันมันไกลมาก เรายังไม่มีความรู้อะไรเลย แถมผมยังไม่รู้ด้วยว่ามีกลุ่มอาร์ตทอยในประเทศไทย”
แม้ความฝันจะดูเลือนราง แต่ด้วยมุมมองแบบ ‘ซามูไร’ ระหว่างนั้นวีจึงเลือกลับอาวุธตัวเองทุกวัน ผ่านการฝึกฝนต่อยอดทักษะด้านศิลปะทุกแขนงที่มหาวิทยาลัยสอน เพื่อให้เขามีความพร้อมที่สุดก่อนจะลงสนามจริงในอนาคต
“ผมโชคดีที่สาขาที่ผมเรียนเป็นแนวประยุกต์ศิลป์ ซึ่งอาจไม่ได้เน้นให้เราเก่งทุกด้านแต่ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้เบสิกทุกอย่าง ทั้งการออกแบบแพ็กเกจ กราฟิกดีไซน์ ถ่ายรูป สกรีน ปั้น เขียนแบบ วาดรูป หล่องาน เลยกลายเป็นว่าผมได้ลองหยิบจับมาทั้งหมด โดยเฉพาะตอนปีสองผมดีใจมากที่ได้เรียนเรซิ่นแล้วมีอาจารย์มาให้คำแนะนำ ซึ่งแม้จะเรียนวิชานี้แค่เทอมเดียว แต่หลังจากนั้นผมก็ฝึกทดลองเองมาตลอด พอเก็บเงินได้ก็แบ่งไปซื้อซิลิโคนบ้างเรซิ่นบ้าง เพราะตอนนั้นก็อยากลองเริ่มจากการฝึกทำพวงกุญแจไปขายตามถนนคนเดินเชียงใหม่ก่อน แต่พอทำแล้วไม่สวยดั่งใจผมก็เลิก พอเลิกแล้วมีไอเดียใหม่ก็ไปซื้ออุปกรณ์กลับมาทำอีกวนซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้หลายปี”
และแล้วในวันที่เขาใกล้จะโบยบินออกจากรั้วมหาวิทยาลัย หนุ่มเมืองฝางก็ได้พบกับกลุ่ม Art toy Thailand ในเฟซบุ๊ก รวมถึงข่าวการจัดงาน Thailand Toy Expo ที่รวบรวมผลงานอาร์ตทอยจากทั่วโลกมาจัดแสดง ทำให้ความฝันที่เคยไกลเกินเอื้อมเริ่มจะมีเค้าลางแห่งความหวัง ดังนั้นหน้าที่ของเขาคือการเปลี่ยนฝันนั้นให้กลายเป็นจริง
“พอผมเจอกลุ่ม Art toy Thailand ที่ชื่นชอบงานนี้เหมือนกัน มันเหมือนเราได้เจอที่อยู่ของเราแล้ว ตรงนี้แหละคือที่ที่เราตามหามานาน และด้วยความที่ผมเป็นเหมือนซามูไรที่ซ้อมตัวเองให้พร้อมสู้ศึกตลอดเวลา พอมาเจอคอมมูนิตี้นี้ ผมจึงตัดสินใจว่าจะผลิตอาร์ตทอยตัวแรกของตัวเอง”
จากเรื่องเล่าของปู่สู่ภูติจิ๋ว ‘มัฟฟิน’
แม้ว่าจะไม่มีทุน แต่ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ทำให้ไม่กี่เดือนถัดมา ผลงานอาร์ตทอยตัวแรกของวีระยุทธ์ที่ชื่อ ‘YAXXAR The Guardian’ (ยักษ์ซ่า) ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยจุดเด่นคือการนำความเป็นไทยและลวดลายธรรมชาติมาผสมผสานกันจนมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ยากจะเลียนแบบ ประกอบกับการที่เขาลงมือทำงานด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ทำให้ผลงานในราคาประมาณ 1,500 บาทถูกขายหมดเกลี้ยงทั้ง 50 ตัวจนกลายเป็น Turning Point ที่ทำให้เขายืนหยัดในการเป็นศิลปินอาร์ตทอยจนทุกวันนี้
“ถ้าการทำอาร์ตทอยเหมือนกับเกมๆ หนึ่ง ผมก็คงมีสูตรลับจากการเรียนประยุกต์ศิลป์ ที่ช่วยให้ผมทำเป็นทุกขั้นตอน วาดได้ ปั้นได้ หล่อได้ ลงสีได้ ทำแม่พิมพ์เป็น รวมถึงการถ่ายรูปและการออกแบบแพ็กเกจ ทีนี้ด้วยความที่ยักษ์ซ่าเป็นงานที่ตัวใหญ่ที่สุดที่ผมทำ ผมจึงค่อนข้างเหนื่อยกับการผลิตที่ผมเป็นคนลงมือทำเองทุกขั้นตอน เลยคิดว่าซีรีย์ต่อไปเราจะดีไซน์ให้เล็กลงแบบกระจุ๊กกระจิ๊กพอให้มันน่ารัก จึงเป็นที่มาของมัฟฟินที่นักสะสมส่วนมากรู้จัก”
เมื่อพูดถึงคาแรกเตอร์อันโด่งดังอย่าง ‘มัฟฟิน’ (Muffinn) ที่ไม่ว่าจะทำออกมากี่เวอร์ชั่นก็ขายหมดภายในหนึ่งนาที วีเล่าว่า ภูติจิ๋วนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าของปู่
“จำได้ว่าตอนนั้นผมชอบนกฮูกมาก แต่ถ้าผมปั้นนกฮูกออกมามันก็จะเหมือนงานคนอื่นที่แตกต่างกันแค่ดีไซน์เล็กน้อย ผมเลยคิดถึงตัวเองสมัยเด็กๆ ที่ชอบไปวิ่งเล่นในป่าหลังบ้าน แล้วคุณปู่ของผมที่เป็นพรานป่าเก่าก็ชอบมาเล่าให้ฟังว่าเวลาเข้าป่าไปจับสัตว์เป็นยังไง รวมถึงมีเรื่องลี้ลับ ตำนานอะไรเกี่ยวกับป่าบ้าง
จากนั้นผมก็ตั้งคำถามต่อว่าทำไมธรรมชาติมันถึงเติบโตเองได้ อย่างพวกผลไม้ในป่าไม่เห็นมีใครไปใส่ปุ๋ยหรือรดน้ำมัน ซึ่งจริงๆ ธรรมชาติจะมีระบบนิเวศน์ของมันอยู่แล้ว แต่เราลองเอาจุดนี้มาเป็นไอเดียในการดีไซน์งานว่าอาจมีอะไรที่มองไม่เห็นคอยดูแลสิ่งเหล่านี้อยู่ ซึ่งอาจจะเป็นภูติจิ๋วอย่างมัฟฟินที่คอยดูแลพวกเห็ด ต้นไม้ และพืชพันธุ์ต่างๆ ให้มันเติบโตเพื่อให้สิ่งมีชีวิตในป่าได้มีที่อยู่อาศัย
ผมเลยคิดว่ามัฟฟินคือภูติจิ๋วที่ใส่หน้ากากและมีเขา ส่วนลวดลายบนตัวมัฟฟินผมก็ชอบอะไรที่เป็นป่าๆ อาจจะมีเฟิร์น มีมอส มีเห็ด ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความชอบของตัวผมเองเป็นพื้นฐาน ส่วนที่เหลือก็อาศัยว่าทำยังไงให้มัฟฟินอยู่กึ่งกลางระหว่างความน่ารักกับความลึกลับน่าค้นหา แต่ที่สำคัญที่สุดคือมัฟฟินจะต้องมีความ Mystery
ซึ่งทุกครั้งที่มีคนมาถามผมว่า ภายใต้หน้ากากของมัฟฟินคือตัวอะไร ผมจะไม่ให้คำตอบใครเลย เพราะนั่นคือสิ่งที่คุณต้องเติมจินตนาการเข้าไปเอง”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมระหว่างการพูดคุยถึงคาแรกเตอร์มัฟฟิน คือการที่หนุ่มเชียงใหม่วัย 31 ได้แฝงแมสเสจเล็กๆ เพื่อให้แฟนๆ นักสะสมได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น เพราะจังหวัดของเขาถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่
“ทุกครั้งที่ทำมัฟฟินเสร็จ ผมจะต้องคิดแล้วว่าจะไปถ่ายรูปที่ไหน จะเข้าป่าไหม จะขึ้นดอยสุเทพหรือดอยอินทนนท์ เพื่อเอามัฟฟินไปถ่ายรูปในสภาพแวดล้อมที่เราคิดว่านี่คือโลกจริงๆ ของมัฟฟิน บางทีผมต้องเข้าป่าลึกเพื่อหาจุดที่ตรงกับภาพในหัวของเราเพื่อให้คนได้เห็นภาพที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมคิดไว้ที่สุด
ด้วยความที่ผมทำงานอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผมสังเกตว่าตอนนี้ป่าหลังบ้านที่เคยเข้าไปเล่นตอนเด็กๆ ไม่เหลือแล้วกลายเป็นสวนทั้งหมด ส่วนเวลาไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่นจุดที่ผมเคยไปถ่ายรูปเดือนก่อน ปรากฏว่าไปอีกทีตรงนั้นก็ไม่เหลืออะไรแล้ว มันแห้งมันเสียไปหมด ผมก็เห้อ…เสียดายจังเลย โลเคชั่นตรงนี้มันดีมากนะ
หรือบางช่วงที่ผมกลับไปยังน้ำตกที่เคยไป ผมกลับพบว่าน้ำตกนั้นไม่เหลืออีกแล้ว โดนน้ำป่าซัดกระจายหมด หรือจุดที่มันเคยเป็นมอสเป็นเฟิร์นสวยๆ ก็หายไป ผมเลยต้องหาที่ใหม่ไปเรื่อยๆ จนคิดว่ามันเป็นปัญหากับเรานะ เพราะที่ผ่านมาเราคิดว่าใครๆ ก็รณรงค์เรื่องโลกร้อนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายมันก็วนกลับมากระทบกับเราด้วยอากาศด้วยอะไรต่างๆ ซึ่งงานของผมอาจไม่ได้ถึงขั้นเจาะจงว่าต้องรักโลกหรือยัดเยียดความรู้สึกนั้นในผลงาน เพราะผมอยากให้คนที่อยู่กับงานของผมรู้ได้ด้วยตัวของเขาเองว่า มัฟฟินมันอยู่ในป่า ดังนั้นถ้าไม่มีป่า มันก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน”
เด็กหนุ่มผู้พัฒนาตัวเองจากความล้มเหลว
การเลือกเดินในเส้นทางที่ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย วีบอกว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ผ่านเข้ามาทักทายเขาอยู่เสมอ เพราะการทำอาร์ตทอยไม่ได้มีรูปแบบการผลิตที่ตายตัว ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่รักความสมบูรณ์แบบ ทำให้งานของเขาต้องออกมาตรงกับภาพในจินตนาการเท่านั้น
“ระหว่างการทำอาร์ตทอยไม่มีอะไรมายืนยันว่าเราทำแบบนี้สำเร็จแล้วมันจะสำเร็จตลอดไป หรือพองานหน้าเราก็แค่ทำเหมือนเดิมซึ่งมันไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ อย่างสีที่เอามาทำโมเดลผมก็ลองยี่ห้อนั้นมาใช้ดีไหม ลองสีประเภทนี้มาทำดีหรือเปล่า บางงานเราอยากได้สีที่ดูมีมิติแบบที่เราจินตนาการไว้ แต่พอทำจริงๆ กลับล้มเหลวไม่ต่ำกว่าสามรอบ บางงานจะเปิดขายอยู่แล้วแต่ทำออกมาไม่ตรงกับที่ต้องการก็ต้องประกาศเลื่อนวันจำหน่ายออกไปแบบไม่มีกำหนด หรือบางงานผมทำพังในขั้นตอนสุดท้ายไป 30 ตัว จนต้องเทกระจาด
ผมยอมรับว่าความสมบูรณ์แบบของผมคืองานจะต้องตรงกับสิ่งที่ผมคิดไว้ แต่ในความสมบูรณ์แบบผมก็ไม่ชอบความสมมาตรที่เป๊ะจนเกินไป ทุกวันนี้เวลาผมปั้น 3D ผมก็ต้องปรินท์ออกมาเก็บงานมืออีกทีเพื่อเติมความเป็นแฮนด์เมด ในจุดที่คอมพิวเตอร์ให้เราไม่ได้ เพื่อให้งานมีความเป็นธรรมชาติที่ดูไม่สมบูรณ์แบบแต่ออกมามีเสน่ห์ เพราะขนาดคนเราเกิดมาฝั่งซ้ายกับฝั่งขวายังไม่เท่ากันเลย รวมถึงผมเป็นคนชอบอะไรที่ไม่ใหม่เอี่ยมและต้องมีความเปรอะเปื้อนจากธรรมชาติ”
วีบอกต่อว่าหากวันไหนที่ล้มเหลวในขั้นตอนการผลิตงาน เขาจะบอกตัวเองให้หยุดพักและใช้ความคิดเพื่อทบทวนว่าปัญหาเกิดจากอะไร ก่อนลงมือแก้ปัญหาจากจุดที่ง่ายที่สุดก่อน
“ผมเป็นคนพัฒนาตัวเองจากความผิดพลาด ซึ่งข้อดีของการที่ผมผลิตงานด้วยตัวเองคือ ถ้าเราผลิตงาน 100 ตัว ก็เท่ากับเราอยู่กับมัน 100 ครั้ง ผมจึงเป็นคนเดียวที่เห็นข้อบกพร่องของงานมากที่สุด และรู้ว่าตัวต่อไปจะปรับแก้ให้ดีขึ้นยังไง
นอกจากนี้ ผมเป็นคนค่อนข้างชัดเจนกับเป้าหมาย ทำให้เวลาเจอปัญหา ผมจะสอนตัวเองให้ใช้ความคิดมากกว่าอารมณ์ ผมเข้าใจว่าเราต้องเจอกับปัญหาที่ทำให้เราล้มเหลวและไม่ได้ดั่งใจ แต่ผมจะไม่ไปติดค้างกับมันว่านี่เราล้มเหลวอีกแล้วนะ ผมจะพยายามคิดว่าถ้าทางที่หนึ่งล้มเหลวมันจะมีทางที่สองไหมที่พอจะข้ามความล้มเหลวนี้ไปได้ ซึ่งทางที่สองมันก็อาจจะพาผมไปเจอความล้มเหลวในแบบที่สอง แต่ก็โอเคเพราะผมได้ข้ามความล้มเหลวในแบบที่หนึ่งไปแล้ว
แต่ทุกครั้งที่ผมข้ามความล้มเหลวในแต่ละครั้งเพื่อไปเจอความล้มเหลวถัดไป ผมกลับมองว่าเราเอาชนะความล้มเหลวไปแล้วหนึ่งอย่าง
ซึ่งถ้าความล้มเหลวมีด่านให้เราข้ามสิบครั้ง ก็แปลว่าเราข้ามมันเสร็จไปแล้วหนึ่ง โอเคเหลืออีกเก้าครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เรากลับมาวางแผนแก้ปัญหาแล้วเกิดล้มเหลวอีก แปลว่าความล้มเหลวครั้งที่สองมันเสร็จไปแล้ว เรากำลังเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
ดังนั้น ผมมองว่าถ้าเราล้มเหลวครบทุกครั้งมันก็จะไม่เหลืออะไรให้เราล้มเหลวได้อีก สุดท้ายเราก็ต้องสำเร็จสักครั้งหนึ่ง”
ทบทวนตลอดเวลา เพื่อก้าวข้ามตัวเองในวันนี้
ไม่เพียงเท่านั้น วียังเตือนใจตัวเองเสมอว่าความสำเร็จเปรียบเหมือนกับ ‘การขึ้นภูเขา’ ที่ต่อให้วันนี้ผลงานของเขาจะขายได้ แต่วันหนึ่งขาลงในชีวิตก็ต้องมาถึง ดังนั้นนอกจากการฝึกฝีมือแบบซามูไรที่เขาทำเป็นประจำ เขายังหาเวลาออกไปเรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ รวมถึงศึกษาผลงานของศิลปินที่เก่งกว่าเพื่อยื้อเวลาบนภูเขาลูกนี้ออกไปให้นานที่สุด
“ผมจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ อย่างผมไม่เก่งภาษาอังกฤษ ตอนนี้ผมก็เริ่มแบ่งเวลาไปเรียนบ้างเพื่ออัพสกิลตรงนี้ เผื่อวันหนึ่งถ้ามีโอกาสบางอย่างมาถึง ผมจะได้พร้อมและไม่ปฏิเสธมัน เพราะโอกาสดีๆ อาจเข้ามาแค่ครั้งเดียว
ส่วนผลงานมัฟฟินของผม ผมชอบเก็บเอา Feedback รอบข้างมาวิเคราะห์ว่าตัวต่อไปเราจะพัฒนายังไงให้ดีขึ้น และเข้าถึงความต้องการของตลาดได้โดยไม่เสียความเป็นตัวเอง ซึ่งงานออริจินัลของผมจะต้องออกมาด้วยพื้นฐานของความมีเหตุมีผลเสมอว่า ทำไมมัฟฟินถึงมีลักษณะแบบนี้ ทำไมต้องแต่งตัวแบบนั้น เพราะผมจะไม่ยอมให้งานออกมามั่วๆ เหมือนดูถูกนักสะสม รวมถึงแบ่งเวลามาศึกษาผลงานของศิลปินคนอื่นว่าเขามีวิธีการทำงานยังไงถึงพาตัวเองขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ ที่สำคัญคือผมเป็นคนไม่ชอบเปรียบเทียบผลงานกับคนอื่น แต่ชอบเรียนรู้จากเขามากกว่า”
สำหรับเป้าหมายในอนาคต เจ้าของคาแรกเตอร์มัฟฟิน มองว่าอีกสองปีข้างหน้าจะครบรอบ 10 ปีที่เขาอยู่ในวงการอาร์ตทอย เขาจึงเร่งพัฒนาทักษะด้านการวาดรูปอย่างสุดฤทธิ์เพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดแสดงงานในปี 2026
“ผมอยากนำเสนอผลงานถึงโลกที่ผมอยากให้เป็นจริง อยากให้นักสะสมมาดูผลงานของเราว่านี่คือโลกในจินตนาการของผม และนี่คือผลงานของตัวผมที่เฝ้าพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ เหมือนกับที่ผมชอบโพสต์รูปสเก็ตช์งานลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อบอกตัวเองในอนาคตว่าวันข้างหน้า นายย้อนกลับมาดูนะว่านายในอนาคตเป็นยังไงบ้าง
เพราะผมจะเปรียบเทียบกับตัวเองเป็นหลัก ว่าเราจะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวข้ามตัวเองในวันนี้ไป แต่ระหว่างทางก็จะทบทวนตัวเองอยู่ตลอด เพราะผมไม่ใช่คนที่ยกยอตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองเป็นคนเด่นดัง
อย่างการทดลองวาดภาพครั้งล่าสุดผมได้ใช้อุปกรณ์หลายชนิด ทั้งดินสอ ปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม ซึ่งแต่ละจุดล้วนเกิดจากการทดลองใช้อุปกรณ์ที่ตัวเราเองก็ไม่มั่นใจว่าจะออกมาดีไหม แต่สุดท้ายผลงานการทดลองกลับออกมาเป็นที่น่าพอใจ และแม้จะไม่ใช่ผลงานที่เพอร์เฟกต์สำหรับผม แต่กลับเต็มไปด้วยการลองผิดลองถูกที่น่าจดจำ
เพราะผลงานที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องจะทำให้ตัวเราเองได้เฝ้าสังเกตและศึกษา ทบทวนความผิดพลาด และพัฒนาโดยหวังว่าจะเห็นพัฒนาการที่แตกต่างต่อไป”
ศิลปะหล่อหลอมตัวตน ผลงานหล่อหลอมศิลปิน
จากจุดเริ่มต้นที่ครอบครัวอาจไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เขาทำและเส้นทางที่เขาเลือก ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ วีเล่าด้วยรอยยิ้มว่าทุกวันนี้ยายค่อนข้างภูมิใจในตัวเขา ทั้งยังคอยสนับสนุนเขาอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ รวมถึงไม่เคยบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
“ยายจะเป็นคนที่อนุญาตให้ผมทำอะไรก็ได้ ขออย่างเดียวไม่ติดคุกก็พอ เพราะถ้าติดคุกยายไม่ไปหานะ ส่วนตาของผมตอนเห็นมัฟฟินก็โอ๊ย..ตัวนี้เหรอ 50 บาทก็แพงแล้ว คือเขาจะไม่ค่อยชมผมตามสไตล์คุณตาปากแข็ง แต่เรารู้ว่าลึกๆ เขาภูมิใจนะ เพราะยายชอบมากระซิบให้ฟังว่าตาเขาแอบไปคุยไปโม้ให้ญาติให้คนแถวบ้านฟังนะ
ส่วนเรื่องผลงาน ผมคิดว่าปีนี้จะเป็นปีที่รับงานน้อยลง เพื่อเอาเวลามาวางแผนจัดการระบบงานต่างๆ ให้พร้อมกว่าเดิม และยังไม่มีแผนเข้าร่วมกับแกลเลอรี่ไหน ผมยังอยากทำด้วยตัวเราเองก่อน เพราะถ้ามีแกลเลอรี่เข้ามาเป็นเอเจนซี่ แน่นอนว่าเขาต้องลงทุนทำกำไร แต่ผมยังไม่อยากให้งานของผมดูเป็น Mass Product เกินไป ผมยังไม่อยากเสียตัวตน
เพราะสำหรับผมมายด์เซ็ตที่ใช้ในงานของตัวเองเสมอคือ Art + Toy ซึ่งของเล่นของผมจะต้องมาจากความเป็นตัวตนของศิลปิน เป็นงานที่ผูกกับศิลปินโดยตรง ไม่ใช่แค่การดีไซน์งานให้ไม่เหมือนการ์ตูน หรือการทำของเล่นทั่วไปที่ผลิตจากโรงงานโดยไม่ต้องสนใจว่าคนผลิตคือใคร ผมมองว่าแบบนั้นก็เป็นแค่ดีไซน์ทอยไม่ใช่ศิลปะ”
วีกล่าวทิ้งท้ายว่านอกจากความสุขที่ได้จากการทำอาร์ตทอยที่เป็นความฝันแล้ว การทำอาร์ตทอยได้ย้อนกลับมาหล่อหลอมให้เขามีมุมมองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม
“ผมรู้สึกดีใจกับตัวเองเสมอว่าโชคดีนะที่เราได้เรียนศิลปะ เพราะมันทำให้เรารู้จักชีวิตของตัวเองมากขึ้น บางอย่างเราไม่สามารถควบคุมมันได้ บางอย่างเราไม่สามารถทำให้ได้ดั่งใจ ณ ตอนนี้ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้เลยคือใจเย็นลง เข้าใจมัน เข้าใจธรรมชาติ เหมือนเวลาทำงานสี ผมไม่สามารถที่จะทำตอนนี้แล้วอีกครึ่งชั่วโมงผมจะเร่งให้มันแห้งเพื่อทำงานขั้นต่อไปได้เลย ซึ่งผมเคยฝืนแล้วสุดท้ายงานก็พัง เพราะสีมันยังเซ็ตตัวไม่สนิท
ผมเรียนรู้ว่าบางอย่างเราใจเย็นลงหน่อยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบกับมัน สู้เอาเวลาตรงนี้ไปรีแลกซ์กับส่วนอื่นที่เราสามารถทำได้ดีกว่า มันเลยทำให้ผมเป็นคนไม่ค่อยใจร้อน ไม่ค่อยยึดติดกับอะไรที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้แล้ว อย่างเวลาผมทำงานพัง โอเคมันเสีย งั้นเพราะอะไร 1 2 3 4 เราพลาดจุดนี้ไปแล้ว ผมจะอยู่กับมันแค่นี้เลย เพราะถ้าเรามัวแต่มานั่งเซ็งมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา สู้เอาเวลาต่อจากนี้ไปเริ่มใหม่ให้มันดีขึ้นดีกว่า
ศิลปะทำให้ผมใจเย็นลง โฟกัสกับอะไรหลายๆ อย่างได้ดีขึ้น ไม่ยึดติดกับปัญหาที่มันเกิดไปแล้ว และเราไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขมันได้อีก
พอเรากลับมาใช้ชีวิตประจำวันจริงๆ มันทำให้เรากลายเป็นคนแบบนั้นไปเลย สมมติรถยางแตก รถโดนชนนิดหน่อย ก็โอเคมันชนไปแล้ว ต่อไปเราจะทำยังไงดีกว่า ผมเข้าใจว่าบางครั้งผมก็อาจฟูมฟายบ้าง แต่พอมีอารมณ์ต่างๆ เข้ามาปุ๊บ ผมก็ Stop มันได้ แล้ว Reset ใหม่ ขอเริ่มต้นใหม่ดีกว่าเพราะไม่งั้นมันจะฝัง แต่ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนมูฟออนได้ทุกอย่าง บางทีบางเรื่องมันก็จะคอยเข้ามาฝังอยู่ แต่แว๊บหนึ่งผมก็จะดึงสติกลับมาได้ ทำให้ผมมองว่าศิลปะช่วยเราได้เยอะ
ผมชอบที่หลายๆ คนเรียกมันว่า ‘ศิลปะบำบัด’ คือมันทำให้เราใจเย็นลง โฟกัสกับตัวเอง ใช้จินตนาการของตัวเองมากขึ้น อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมมองว่าเราโชคดีนะที่เรามาทางศิลปะ เพราะนอกจากผมจะเข้าใจศิลปะมากขึ้นแล้ว ผมก็ได้เข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้นเช่นกัน”