- ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า เรามักรู้สึกว่าต้องตอบรับความต้องการของเขา ‘ได้ครับพี่’ ‘ดีค่ะนาย’ แต่บางครั้งก็อาจไม่รู้ตัว ว่าเราก็ได้ส่งสัญญาณความไม่สยบยอมออกไปแล้วเหมือนกัน
- ภัทรารัตน์ เขียนถึงความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจน้อยกว่าอีกฝ่าย ซึ่งมักส่งสัญญาณปฏิเสธเพื่อโต้ตอบผู้ที่มีลำดับขั้น (ranking) สูงกว่า โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ผ่านเรื่องราวของตัวละคร ‘ เกรซ มาร์คส์’
- “การที่เกรซเชื่อมโยงการแต่งตัวของผู้หญิงสูงศักดิ์กับความ ‘ตื้นเขิน’ ของพวกหล่อนซึ่งเป็นเสมือนนักโทษเช่นเดียวกับเธอ ก็อาจเป็นข้อสรุปที่กำลังต่อสู้อยู่กับอภิสิทธิ์ของพวกหล่อนที่มีอยู่มากมายกว่าเธอ”
1.
ในปี 1843 เกรซ มาร์คส์ แม่บ้านวัยสิบหกปีผู้อพยพมาจากไอร์แลนด์ ได้มีส่วนร่วมกับ เจมส์ แมคเดอร์มอตต์ ในเหตุสังหารนายจ้างและแม่บ้านของเขา เธอไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับรายละเอียดการฆาตกรรม ทว่าก็ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว ในการพิจารณาคดีเจมส์กล่าวหาว่าเธอใช้เสน่ห์ล่อลวง ซึ่งพ้องกับอคติของชนส่วนหนึ่งที่ว่า เจมส์ลงมือฆ่าคนก็เพราะมารยายั่วยวนของ ‘ฆาตกร’ สาว
ในระยะเวลาแห่งการรับโทษ เกรซถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยแพทย์ชาย ผู้คุมคุกชาย และมันก็สอดคล้องกับชีวิตของเธอก่อนหน้า ซึ่งถูกผู้ชายจ้องกลืนกินหรือกดขี่แม้แต่โดยพ่อผู้ติดเหล้าของเธอเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เธอไม่ไว้วางใจผู้ชายที่มีอำนาจมากกว่า
ภายหลังจากการรับโทษมาอย่างยาวนาน เกรซได้รับอนุญาตให้ไปทำงานที่บ้านของผู้อำนวยการเรือนจำ อันเป็นสถานที่ซึ่งภรรยาของผู้อำนวยการใช้จัดกิจกรรมตามความสนใจทางสังคมและศาสตร์ลึกลับ เกรซสังเกตว่าหญิงสาวที่มารวมตัวกันที่บ้านหลังนี้แต่งตัวอลังการอย่างยากจะนั่งลงได้ ซึ่งเธอมองว่าไร้สาระและเชื่อมโยงมันเข้ากับความตื้นเขิน
อาภรณ์เนื้อแข็งอันวิลิศมาหรานั้น คือ กรงที่ใช้คุมขังพวกหล่อน ซึ่งก็เป็นนักโทษของสังคมชายเป็นใหญ่เช่นเดียวกันกับเธอ เธอเห็นใจหญิงสาวเหล่านั้นซึ่งเป็นรองผู้ชายอยู่วันยังค่ำ
อีกฝั่งหนึ่ง คนในแวดวงของภรรยาผู้อำนวยการเรือนจำเชื่อว่าเกรซสมควรได้รับอภัย และอาจพ้นโทษได้หากมีข้อสนับสนุนจากแพทย์ว่าเธอเป็นผู้บริสุทธ์ ในที่สุดจิตแพทย์ ไซมอน จอร์แดน ก็ได้เดินทางมาพูดคุยกับเกรซ เขาอาจดึงเสี้ยวความทรงจำของหญิงสาวให้กลับคืนมาได้ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเธอทำผิดจริงหรือไม่? ทว่าความไม่ไว้ใจผู้ชายและไม่มั่นใจว่าหมอจะเข้าใจมุมมองของเธอ ทำให้เธอเล่าเรื่องราวของตัวเองให้หมอหนุ่มฟังโดยเลือกปิดบังและปรับแต่งข้อมูลเป็นส่วนๆ ดังนี้
พ่อแม่ของเธอมีลูกมากและพ่อผู้ติดเหล้าหนักก็เอาเงินไปถลุงกับเหล้าเกินกว่าจะหาเลี้ยงครอบครัว พวกเขาทั้งหมดจึงอพยพจากไอร์แลนด์มาสู่ประเทศแคนนาดา และเมื่อถึงแคนนาดา พ่อผู้ชอบข่มเหงก็บีบให้เกรซรีบหางานเพื่อจะได้ส่งเงินกลับไปให้เขา
เกรซได้งานเป็นแม่บ้านประจำของครอบครัวเศรษฐีและได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับ แมรี่ แม่บ้านสาวซึ่งวิพากษ์เรื่องชนชั้นแต่ก็ตั้งครรภ์กับบุตรชายเจ้าบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าสุภาพบุรุษผู้มีผลรวมแห่งอภิสิทธิ์มากมายกว่าเธอในทุกด้านคนนั้นเลือกจะรักษาสถานะของเขาเองมากกว่าเธอและลูกในท้อง นั่นทำให้เธอตัดสินใจทำแท้งด้วยคมมีดสุภาพบุรุษ ซึ่งพาเธอไปสู่ความตาย
สาวโศกผู้สูญเสียมิตรรักย้ายไปทำงานที่บ้านของ ธอมัส คินเนียร์ โดยต้องทำงานร่วมกับ เจมส์ แมคเดอร์มอตต์ แรงงานหนุ่มผู้แข็งกร้าวราวกับมีความโกรธอยู่ภายใน และ แนนซี่ มอนต์โกเมอรี่ แม่บ้านซึ่งสานสัมพันธ์สวาทกับคุณผู้ชาย ความสัมพันธ์ของคนทั้งสามไม่ค่อยราบรื่นเท่าใด จนในที่สุดแนนซี่ก็ไล่เจมส์และเกรซออกไปในขณะที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ ทว่าเจมส์ลงมือฆ่าแนนซี่ และปลิดชีพชายเจ้าของบ้านเมื่อเขากลับมาด้วย
เกรซและหมอใจดี ที่ลึกๆ แล้วก็ใส่ใจเรื่องอำนาจในความสัมพันธ์ สนทนากันมากมายหลายครั้ง โดยที่เธอเองก็ไม่สามารถระลึกถึงรายละเอียดแห่งการฆาตกรรมได้อย่างชัดเจนนัก กระทั่งเมื่อเธอได้รับการสะกดจิต เธอกลับมีท่าทีเปลี่ยนไปราวกับผีแมรี่กำลังเข้าสิง ในภวังค์ เสียงแปร่งนั้นบอกเป็นนัยว่าผีแมรี่ได้ใช้ร่างของเกรซยั่วยวนเจมส์ รวมถึงมีส่วนร่วมกับเจมส์ในความตายของแนนซี่ด้วย
ไม่มีใครรู้ได้ว่าเกรซถูกวิญญาณแมรี่สิง? หรือมีอาการเชิงจิตเวชของคนหลายบุคลิก หรือเธอแค่ยืมตัวตนของแมรี่มาบอกเล่าเรื่องราวส่วนที่สังคมไม่อนุญาตให้เธอพูดได้อย่างปลอดภัย กันแน่?
2.
ลำดับขั้นทางสังคมในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาเชิงกระบวนการ (Process Work) อันอาจเปรียบเสมือนลูกสาวของจิตวิทยาสายยุง (Jungian Psychology) อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) นิยาม ‘ลำดับขั้น’ (Ranking) ไว้หลายลักษณะ เช่น ความสามารถทางสังคมหรือส่วนบุคคล อีกทั้งพลังอำนาจและการสนับสนุนจากวัฒนธรรมและชุมชน และอีกหนึ่งในนิยามที่น่าสนใจก็คือ ‘ผลรวมอภิสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งๆ’
ลำดับขั้นมีหลายประเภท แต่หนึ่งในนั้นก็คือ ลำดับขั้นทางสังคม ซึ่งอาจมาจากเพศ เชื้อชาติ การศึกษา วิชาชีพ สุขภาพ พละกำลัง อายุ และศาสนา ซึ่งเมื่อคิดตามแล้วก็ดูเป็นเหตุเป็นผล เช่น คนที่สุขภาพดีและมีกำลังวังชามากกว่า มีสติปัญหาและการศึกษาดีกว่า มีแนวโน้มจะสามารถหาทรัพยากรบางอย่างได้มากกว่าคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้น้อยกว่าเขา แต่คนรอบตัวเหล่านั้นก็มีโอกาสได้รับแบ่งทรัพยากรนั้นจากเขา ซึ่งทำให้ง่ายที่จะพากันสนับสนุนหรืออวยเขา นั่นทำให้เขามีอำนาจบารมีบางอย่างมากกว่าไปโดยปริยาย
น่าสำรวจต่อว่าระบบชายเป็นใหญ่มีที่มาส่วนหนึ่งเช่นนี้หรือไม่? อย่างไรก็ตาม เกรซอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ซึ่งมีลำดับชั้นระหว่างกลุ่มคนแยกย่อยออกไปอีก โดยที่เธออยู่ท่ามกลางคนที่มีลำดับขั้นสูงกว่า ซึ่งจะสังเกตได้จากพฤติการณ์ต่างๆ เช่น
- พวกเขาสามารถกำหนดรูปแบบ เวลาและสถานที่ ในการสัมพันธ์/ สื่อสารกับเธอ
- พวกเขาเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า ในขณะที่เธอต้องใคร่ครวญก่อนพูดและแสดงออกมากกว่าพวกเขา
การที่เกรซเลือกนำเสนอข้อมูลของตัวเธอเองเท่าที่และในแบบที่เธอเห็นควรมาจากความกังวลซึ่ง กำลังปฏิสัมพันธ์อยู่กับอำนาจของผู้ชายที่เคยได้กระทำต่อเธอ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์และผู้คุมคุกที่ล่วงละเมิดเธอทางเพศ และการข่มเหงโดยพ่อของเธอเอง
แม้แต่หมอจอร์แดนที่ดูจะใจดีกับเกรซ ก็ยังพยายามรักษาอำนาจผ่านความเป็นแพทย์ในระหว่างที่พยายาม ‘ล้วง’ ข้อมูล ‘จากเธอ’ เฉกเช่นเดียวกับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั้งหลายที่แม้จะดีกับเธอ แต่ก็เป็นท่าทีในการอุปถัมภ์และมีระยะห่าง
มากกว่าเพียงอำนาจจากความเป็นชายหรือหญิง
ผู้หญิงอย่างเธอและแมรี่วิทนีย์ ต้องถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดโดยเฉพาะจากผู้ชายที่สังกัดในลำดับชั้นที่มีข้อได้เปรียบมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่เพียงผู้ชายเท่านั้นที่จะมีอำนาจและอภิสิทธิ์ในความสัมพันธ์มากกว่าผู้หญิง ในระหว่างผู้หญิงด้วยกันเองก็ยังมีผลรวมอภิสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน
ภรรยาของผู้อำนวยการเรือนจำและสุภาพสตรีที่มารวมกลุ่มกันที่บ้านของเธอนั้นมีข้อได้เปรียบในชีวิตมากกว่าเกรซแน่นอน แต่ก็ยังน้อยกว่าผู้ชายจากสังคมเดียวกับพวกหล่อน เช่นเดียวกับแนนซี่ที่เมื่ออิงอยู่กับอำนาจของชายผู้ร่ำรวยผ่านสัมพันธ์สวาท เธอก็มีอำนาจสั่งการเหนือกว่าเกรซ และแม้ดูเหนือกว่าผู้ชายอย่างเจมส์ แต่เขาก็ได้เปรียบในทางพละกำลัง ซึ่งทำให้การฆ่าเธอไม่ได้ยากเย็นอะไร
3.
ปฏิกิริยาต่อความต่างชั้น
ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า เรามักรู้สึกว่าต้องตอบรับความต้องการของเขา ‘ได้ครับพี่’ ‘ดีค่ะนาย’ แต่บางครั้งก็อาจ ไม่รู้ตัว ว่าได้ส่งสัญญาณความไม่สยบยอมออกไปแล้วเหมือนกัน
ในกรณีของเกรซ เธอต่อรองกับลำดับขั้นที่เหนือกว่าทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น เธอตั้งใจปรับแต่งเรื่องราวของเธอเพื่อนำเสนอให้กับดร.จอร์แดนฟัง เพราะรู้สึกได้ว่าผู้ชายที่มีอภิสิทธิ์มากกว่าอย่างเขานั้นกำลังต้องการบางอย่างจากเธอเฉกเช่นผู้ชายคนอื่น แม้เขาจะดีกับเธอมากกว่าก็ตาม หรือการที่เธอเชื่อมโยงการแต่งตัวของผู้หญิงสูงศักดิ์กับความ ‘ตื้นเขิน’ ของพวกหล่อนซึ่งเป็นเสมือนนักโทษเช่นเดียวกับเธอ ก็อาจเป็นข้อสรุปที่กำลังต่อสู้อยู่กับอภิสิทธิ์ของพวกหล่อนที่มีอยู่มากมายกว่าเธอ เช่นเดียวกับความ ‘เห็นใจ’ ที่เธอมีให้สาวทรงศักดิ์ซึ่งก็ยังเป็นรองผู้ชาย เหล่านี้สามารถเป็นกลไกลการปกป้องตัวเองของเกรซเพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึก ‘ด้อยกว่า’ เกินไปนักหรือแม้แต่เพิ่มความ ‘เหนือกว่า’ ได้ด้วยซ้ำ
ส่วนความไม่ศิโรราบต่อลำดับขั้นที่สูงกว่าอันชัดเจนยิ่งขึ้นนั้นก็เช่น การใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีผลรวมอภิสิทธิ์มากกว่าและต่อสังคมโดยรวมที่ดูเหมือนมีส่วนร่วมในระบบเช่นนั้น การประท้วง กระด้างกระเดื่อง โค่นล้ม ปฏิวัติ หรือก่อการร้ายที่มีการทำร้ายและเข่นฆ่าผู้คนในกระแสหลักนั้นราวกับเป็นการตะโกนอย่างสุดเสียงเพื่อให้เสียง ‘ภูตผี’ ที่คนในลำดับชั้นสูงกว่าไม่เคยสนใจฟังถูกสดับรับฟังในที่สุด ในที่นี้การทำลายล้างจึงกลายเป็นการโต้ตอบเพราะความรู้สึกโคตรไม่สำคัญและถูกกดทับนั่นเอง (อ้างอิง Sitting in the Fire โดย Arnold Mindell)
ดังนั้น หากเราได้สัมผัสบรรยากาศการขัดข่มจากผู้อื่นในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็น่าทบทวนว่าเรามีผลรวมอภิสิทธิ์อะไรมากกว่าคนอื่นบ้างและคนอื่นอาจรู้สึกถูกกดทับโดยเราไม่รู้ตัวหรือไม่? (ประเด็นถกเถียงเรื่อง 1) ปัญหาเชิงโครงสร้างและ 2) การสร้างอาณาเขตว่า ในกรณีที่เราปราศจากเจตนากดทับคนอื่น ความรู้สึกของคนอื่นก็เป็น ปัญหาของเขา นั้น ขอละไว้พูดถึงในครั้งต่อๆ ไป)
และสัญญาณต่อต้านอันดูก้าวร้าวของตัวเราเองที่มีต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะผ่านวจนและอวจนะภาษา แม้แต่ความป่วยไข้ทางกาย ความฝัน ฯลฯ ก็สามารถส่ง สารบางอย่าง เช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ฟังเสียงผีแมรี่และหลากหลายบุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายใน