- Ageism หรือ การเหยียดอายุ คือ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุผลเรื่องอายุ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่าเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ แต่ด้วยค่านิยมสังคมปัจจุบันที่เชิดชูความหนุ่มสาว นั่นทำให้ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติมากกว่า ซึ่งการเหยียดอายุสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงระดับองค์กร
- ‘การเหยียดอายุ’ ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตของผู้ถูกกระทำ ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า และลดความสามารถในการทำงาน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เนื่องจากทำให้สังคมสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า
- แม้จะอายุมากขึ้นแต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะกลายเป็นคนไร้ค่า เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่อาจจะมีมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรอบคอบในการทำงาน และประสบการณ์
หนึ่งในปัญหาของสังคมยุคใหม่ที่มีการอยู่รวมกันของผู้คนหลากหลายกลุ่ม ก็คือ ‘การเลือกปฏิบัติ’ ทั้งในที่ทำงาน ในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งในระดับประเทศ ซึ่งสาเหตุของการเลือกปฏิบัติ มักจะมาจากอคติ หรือการเหมารวม ที่นำไปสู่การเหยียดในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การเหยียดเชื้อชาติ-สีผิว (Racism) และการเหยียดเพศ (Sexism)
แม้ที่ผ่านมาจะมีกระแสการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การเหยียดเชื้อชาติ-สีผิว และการเหยียดเพศ แต่การเหยียดชนิดใหม่ ที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า ‘ความสูงวัยคือความเสื่อมถอย’ คือ การเหยียดอายุ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Ageism หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า Age Bias กลับเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีค่านิยมเรื่องระบบอาวุโส
หลายคนอาจมองว่าด้วยค่านิยมดังกล่าว ทำให้ผู้สูงวัยไทยเผชิญกับ Age Bias น้อยกว่า แต่แท้จริงแล้วอีกด้านหนึ่งมันคือการตอกย้ำความชอบธรรมในการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง ‘วัย’ ซึ่งไม่เพียงเป็นอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนต่างเจเนอเรชัน ยังส่งผลให้สังคมไม่อาจดึงศักยภาพของคนเหล่านี้มาใช้ได้อย่างเต็มที่
Ageism คืออะไร
หลายคนอาจคิดว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นแค่ช่องว่างระหว่างวัย ที่นำไปสู่ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนสองช่วงวัย ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการปรับตัวเข้าหากัน แต่จริงๆ แล้ว Ageism เป็นปัญหาที่รุนแรงกว่านั้น และแก้ยากกว่านั้น
ปัญหาการเหยียดอายุ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด เพราะคำศัพท์ที่ใช้เรียกปัญหานี้ ถูกบัญญัติขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1972 หรือ 52 ปีที่แล้ว โดยโรเบิร์ท นีล บัทเลอร์ (Robert Neil Butler) แพทย์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์ เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า Ageism ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า ‘วยาคติ’ หมายถึงการเหมารวม หรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ใดผู้หนึ่ง โดยมีเหตุมาจากปัจจัยเรื่องอายุ
ผู้สูงอายุ ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่เป็นผู้ถูกกระทำในลักษณะของการเหยียดอายุ (Ageism) เพราะผู้เยาว์ก็อาจถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านอายุเช่นกัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากค่านิยมในสังคมปัจจุบันที่เชิดชูความอ่อนเยาว์ หรือความหนุ่มสาว นั่นทำให้ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติมากกว่า
เช่นเดียวกับปัญหาการเหยียดอื่นๆ Ageism หรือการเหยียดอายุ สามารถแบ่งย่อยได้หลายประเภท ตั้งแต่ การเหยียดระหว่างบุคคล การเหยียดที่เกิดขึ้นโดยตัวเอง และการเหยียดในระดับองค์กร ที่มีความเป็นระบบ หรือเป็นทางการ
1. การเหยียดระหว่างบุคคล (Interpersonal Ageism) เป็นการเหยียดที่เกิดขึ้นโดยคนๆ หนึ่ง กระทำต่ออีกคนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในที่ทำงาน และในที่อื่นๆ หรือแม้แต่ในครอบครัว ตัวอย่างเช่น หัวหน้างานของคน ปฏิเสธที่จะมอบหมายงานใหม่ให้แก่ลูกน้อง เพราะเห็นว่าเขามีอายุมากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การมีอายุมาก ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานชิ้นนั้นเลย
หรือแม้แต่การพูดจาทีเล่นทีจริงในกลุ่มเพื่อน หรือในครอบครัว เช่น “พี่ (หรือพ่อ หรือแม่ หรือลุงป้าน้าอา) แก่แล้ว เล่นเกมนี้กับเราไม่ได้หรอก ถึงเล่นได้ก็ตามไม่ทันหรอก” ซึ่งการพูดกึ่งหยอกเย้าเช่นนี้ อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวถึง รู้สึกขุ่นเคืองใจ หรือรู้สึกถูกด้อยค่า อันจะนำไปสู่การเหยียดที่เกิดขึ้นโดยตัวเองได้
2. การเหยียดที่เกิดขึ้นโดยตัวเอง (Self-directed Ageism) คือการที่ตัวเองเกิดทัศนคติในแง่ลบต่อตัวเอง ด้วยเหตุผลเรื่องอายุ ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย อันจะนำไปสู่การรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือกระทั่งการมีความภูมิใจในตัวเองในระดับต่ำ
พฤติกรรมหลงๆ ลืมๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นในทุกช่วงอายุ อาจทำให้ผู้สูงอายุหลายคน เริ่มคิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่นในครอบครัว และยิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึกเหยียดตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้คนช่วงวัยอื่น มองผู้สูงอายุในภาพแบบเหมารวมเพิ่มมากขึ้นด้วย
3. การเหยียดในระดับองค์กร (Institutional Ageism) คือ การเหยียดที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมมีค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือกฎระเบียบที่ชัดเจน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้อยู่ในช่วงวัยใดวัยหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นผู้สูงอายุ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในหัวข้อดังกล่าว คือ การที่หลายๆ บริษัทตั้งกฎให้พนักงานต้องสมัครใจลาออก เมื่อถึงเกณฑ์อายุที่กำหนดไว้ หรือในบางกรณีที่การเหยียดนั้นฝังตัวอยู่ลึกจนสังเกตได้ยาก เช่น การที่ผู้สูงอายุ ไม่ค่อยได้รับเลือกให้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ
ผลกระทบจาก Ageism
หลายคนอาจเข้าใจว่า Ageism หรือ การเหยียดอายุ แค่ทำให้เสียความรู้สึก ขุ่นเคืองใจ หรืออย่างมากก็แค่อับอาย แต่ในความจริงแล้ว เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ รวมถึงสถานะทางการเงิน ทำให้ความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองลดน้อยลง กระทบกระเทือนต่อชีวิตสังคม และที่ร้ายแรงที่สุด ทำให้ช่วงอายุขัยของคนๆ นั้นสั้นลง
ในการประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ระบุว่า ปัญหา Ageism ถือเป็นปัญหาท้าทายในระดับโลก ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
พร้อมกันนั้น องค์การอนามัยโลก อ้างถึงรายงานการสำรวจเมื่อปี 2020 ระบุว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกราว 6 ล้านคน ที่อาจมีสาเหตุมาจากการถูกเหยียด เหมารวม หรือเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลเรื่องอายุ
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า การมีทัศนคติแง่ลบต่อตัวเอง อันเป็นผลมาจากความรู้สึกเหยียดตัวเองของผู้สูงอายุหลายๆ คน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายในระยะสั้น รวมไปถึงลดสมรรถภาพการฟื้นตัวจากอาการป่วยของผู้สูงอายุด้วย นั่นทำให้ช่วงอายุขัยของผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าว สั้นกว่าช่วงอายุขัยของผู้สูงอายุ ที่มีสุขภาพจิตดี และมีทัศนคติในแง่บวกต่อตัวเอง
นอกจากนี้ การเหยียดอายุยังส่งผลกระทบทางอ้อมในด้านสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้สูงอายุมักจะไม่ถูกเลือกให้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างของการวิจัย หรือการทดลองเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพใหม่ๆ ส่งผลให้การจ่ายยาดังกล่าว หรือการนำเอาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพใหม่ๆ เข้ามาใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุ อาจจะไม่ได้ผลเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อต่อจิตใจ เป็นเรื่องที่น่าวิตกไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นแค่คำพูดล้อเลียนเรื่องอายุจากคนใกล้ตัวในครอบครัว หรือการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานด้วยเหตุผลเรื่องอายุ ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนนำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าน้อยลงได้
การถูกเหมารวมด้วยเหตุผลเรื่องอายุ จะส่งผลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การคุกคามจากภาพในความคิด (Stereotype Threat) ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลหนึ่ง เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กลุ่มของตน ถูกมองเป็นภาพในแง่ลบ จนส่งผลให้บุคคลนั้นแสดงออกได้ต่ำกว่าศักยภาพของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุคนหนึ่ง ถูกเหยียดด้วยเหตุผลเรื่องอายุ จนเกิดภาพจำในหัวว่า คนสูงอายุมักจะขี้หลงขี้ลืม และทำงานไม่คล่อง จนท้ายที่สุด ภาพจำในหัวนั้น ทำให้ผู้ถูกเหยียด กลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืม และทำงานเงอะๆงะๆ ขึ้นมาจริงๆ
Ageism ยังนำไปสู่พฤติกรรมแยกตัวจากสังคม และกลายเป็นคนเก็บตัว จากการถูกเหยียดเรื่องอายุบ่อยๆ ทำให้ผู้ถูกเหยียดขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จนถึงขั้นค่อยๆ ถอยห่างจากกิจกรรมทางสังคม รวมไปถึงการเดินทางออกนอกบ้าน และสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเครียดที่เพิ่มขึ้น คุณภาพการนอนลดน้อยลง ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อมถอย ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
Ageism ในที่ทำงาน
ที่ทำงาน เป็นสถานที่แรกๆ ที่เราเริ่มพบเจอปัญหาการเหยียดอายุ ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกปิดกั้นโอกาสในการเติบโตด้านการทำงาน ด้วยเหตุผลเรื่องอายุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับบริษัท (ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้)
ยิ่งไปกว่านั้น สังคมเองก็ดูจะมีค่านิยมผิดๆ จนกลายเป็นมายาคติว่า ผู้สูงอายุ มีค่าเท่ากับพนักงานที่ทำงานด้อยประสิทธิภาพกว่า หากเทียบกับคนรุ่นหนุ่มสาว
ดร. ไมเคิล นอร์ธ (Michael North) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาการบริหารจัดการและองค์กร มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า ผู้สูงอายุถูกคาดหวังว่า จะต้องลาออกจากงาน เพี่อเปิดทางให้แก่คนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยแล้ว
“ผมเคยพูดหลายครั้งว่า แนวคิดที่ผู้สูงอายุจะต้องหลีกทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแทน เป็นอะไรที่ล้าสมัยมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ดี ดร.นอร์ธ กล่าวว่า อคติ หรือการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเพียงกลุ่มเดียว กลุ่มคนที่มีอายุน้อย ก็ตกเป็นเป้าหมายของปัญหา Ageism ในที่ทำงานได้เช่นกัน เนื่องจากคนรุ่นหนุ่มสาว จะถูกมองแบบเหมารวมว่า ยังเด็กเกินไป และขาดประสบการณ์ในการทำงาน
การมีอคติทั้งต่อกลุ่มคนหนุ่มสาวและกลุ่มผู้สูงอายุ จึงทำให้กลุ่มวัยกลางคนในที่ทำงาน กลายเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากปัญหา Ageism
แต่ถึงกระนั้น ดร.นอร์ธ ชี้ว่า ในที่สุดแล้ว กลุ่มวัยกลางคน ก็จะมีอายุมากขึ้นและกลายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ตกเป็นเป้าการเลือกปฏิบัติในอนาคต
การรับมือกับปัญหา Ageism
ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวทางการรับมือปัญหา Ageism เราต้องมองเห็นปัญหาเสียก่อน ซึ่งในบางครั้ง การเหยียดอายุ ถูกแสดงออกอย่างชัดเจนสังเกตเห็นได้ไม่ยาก แต่ก็มีหลายกรณีที่ตัวผู้ถูกกระทำเอง ก็ไม่แน่ใจว่า เขาหรือเธอ กำลังตกเป็นเป้าการเหยียดอายุ
สัญญานเตือนถึงการเหยียดอายุที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การล้อเลียนเรื่องอายุ โดยเฉพาะจากเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน ตามมาด้วยการถูกกีดกันออกจากกลุ่ม และการไม่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุมในที่ทำงาน
นอกจากนี้ คุณอาจสังเกตเห็นว่า นโยบายของหลายๆ บริษัท มีแนวโน้มจะรับพนักงานใหม่ที่อายุน้อย รวมไปถึงการเลื่อนตำแหน่งให้แต่เฉพาะพนักงานที่อายุไม่มาก ขณะที่พนักงานที่สูงวัย จะถูกโน้มน้าวให้สมัครใจลาออก เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาแทนที่
สิ่งสำคัญอันดับแรกในการรับมือกับปัญหา Ageism คุณจะต้องยอมรับความจริงก่อนว่า คุณอายุมากขึ้นจริง และนั่นมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ร่างกายคุณไม่กระฉับกระเฉงเท่าคนหนุ่มสาว สายตาเริ่มยาว หูได้ยินไม่ชัด แต่นั่นไม่ได้แปลว่า คุณจะกลายเป็นคนไร้ค่า เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณอาจมีมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรอบคอบในการทำงาน และประสบการณ์
ประสบการณ์ที่คุณมี อาจสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานให้กับคุณ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ปรึกษา โค้ช หรือพี่เลี้ยง ที่คอยถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นต่อมา ขณะเดียวกัน ในครอบครัว ผู้สูงอายุ ก็สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตให้กับลูกๆ หลานๆ หรือบอกเล่าเรื่องราวที่คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้พบเจอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ยังช่วยสร้างความสนิทแนบแน่นระหว่างกลุ่มคนจากหลากหลายช่วงอายุอีกด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุด จงอย่ายอมรับมายาคติ หรือภาพแบบเหมารวมของผู้สูงอายุว่า จะต้องเป็นคนเชื่องช้า ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือขี้หลงขี้ลืม คุณจะต้องทำลายภาพมายาคติเหล่านั้น ด้วยการทำตัวกระฉับกระเฉง พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งหมั่นลับสมองให้เฉียบคมและจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะด้วยการเล่นเกม หรือการคิดเลข แทนที่จะใช้เครื่องคิดเลข
ดร.เบคคา เลวี (Becca Levy) ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่มุ่งมั่นจะแก้ปัญหา Ageism ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่แก้ได้ยาก เนื่องจากสังคมมีภาพจำที่ฝังลึกมานานว่า ความสูงวัยคือความเสื่อมถอย ความหนุ่มสาวคือความรุ่งเรือง
อย่างไรก็ดี ดร.เลวี ยังมองในแง่บวกถึงความพยายามแก้ปัญหา Ageism โดยกล่าวว่า
“เรากำลังอยู่บนจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งไปสู่สังคมที่ให้คุณค่าคนอย่างเท่าเทียม” ดร.เลวี กล่าว “ไม่ว่าคุณจะเป็นคนหนุ่มสาว หรือเป็นผู้สูงวัย”
อ้างอิง
Ageism and Age Discrimination : https://www.helpguide.org/aging/healthy-aging/ageism-and-age-discrimination
Ageism is a global challenge : https://www.who.int/news/item/18-03-2021-ageism-is-a-global-challenge-un
Stereotype Threat – การคุกคามจากภาพในความคิด : https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/stereotype-threat-2/
Workplace Age Bias Hurts Early- and Late-Career Workers : https://www.forbes.com/sites/sheilacallaham/2022/02/25/workplace-age-bias-hurts-earlyand-late-career-workers/
Ageism is one of the last acceptable prejudices : https://www.apa.org/monitor/2023/03/cover-new-concept-of-aging