- คำถามต่างๆ เกี่ยวกับการ ‘อยู่’ หรือ ‘ไม่อยู่’ กับครอบครัว อาจทำให้ผู้ถูกถามรู้สึกรบกวนใจ แต่นี่ก็เป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ได้กลับมาสำรวจขอบของตัวเองอีกทีว่ามีอะไรอยู่ในใจผู้ถูกถามและผู้ถามบ้าง?
- การทำหรือไม่ทำให้เกิดอะไรสักอย่างของแต่ละคน รวมถึงการที่ผู้คนสนใจว่าทำไมเราไม่ทำอะไรตามที่เขาคาด เราสามารถเจอ ‘คุณค่า’ บางอย่างที่แต่ละคนให้ ซึ่งสามารถสะท้อนจากคำถามที่ว่า ทำไม เขาต้องการให้มันเป็นแบบนั้น
- ไม่ได้มีคำตอบตายตัวให้กับอะไร เพราะองค์ประกอบชีวิตของแต่ละคนและชุมชนไม่เหมือนกัน เพียงแต่ใช้คำถามต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง
“ไปอยู่ที่นั่นตั้งนาน ทำไมไม่กลับมาอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ล่ะ?” “หนี/ ทิ้งพ่อแม่หรือ?”
“นี่ยังอยู่ที่เดียวกับพ่อแม่อีกหรือ? เมื่อไหร่จะย้ายออก?”“อ่อนแอ ไม่เป็นไท?”
1.
คำถามทำนองดังกล่าวจากผู้คนที่เราอาจไม่สนิทนัก สามารถเป็นการอยากชวนคุยอย่างเป็นมิตรที่ผู้ถามไม่ได้คิดลึกและสามารถสะท้อนความหวังดีของผู้ถามหลายท่านได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณผ่านประสบการณ์อยู่บ้านกับพ่อแม่และแยกกันอยู่มาหลายแบบแล้ว คำถามที่ฟังดูขัดกันเองและประดังประเดเข้ามาซ้ำๆ ก็สามารถนำไปสู่การสืบหา ขอบของแต่ละคนที่ตั้งคำถาม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงขอบของสังคมนั้นๆ ที่ผู้ถามสังกัด โดย ‘ขอบ’ ในที่นี้ก็คือ การไม่สามารถทำอะไรบางอย่าง ‘ถูกจำกัดหรือขัดขวางไม่ให้ทำ ไม่ให้คิดหรือสื่อสารออกมา’ โดยขอบแยกตัวตนหลักของเราออกจาก กระบวนการชีวิตในแบบอื่นๆ (ดู City Shadows โดย Dr. Arnold Mindell)
สำหรับผู้ถูกถาม หากรู้สึกรบกวนใจ ก็กลับเปิดโอกาสให้ได้สำรวจขอบของตัวเองอีกที
เหมือนกับการมีคนมาถามซ้ำไปมาว่า ทำไมไม่ซื้อรถยนต์ส่วนตัวขับสักทีล่ะ? (แทนที่จะเป็น ทำไมระบบขนส่งสาธารณะที่มีมาตรฐานไม่กระจายไปอย่างทั่วถึงเสียที) ทำไมยังไม่มีลูกล่ะ? ทำไมหน้าดำคล้ำจัง? ฯลฯ ที่เราสามารถสำรวจสนุกๆ ว่ามีอะไรอยู่ในใจผู้ถูกถามและผู้ถามบ้าง?
2.
5 คำถามสะท้อนคุณค่า
ในการทำหรือไม่ทำให้เกิดอะไรสักอย่างของแต่ละคน รวมถึงการที่ผู้คนสนใจจังว่าทำไมเราไม่ทำอะไรตามที่เขาคาด ลึกลงไป เราสามารถเจอ ‘คุณค่า’ บางอย่างที่แต่ละคนให้ ซึ่งสามารถสะท้อนจากคำถามที่ว่า ทำไม เขาต้องการให้มันเป็นแบบนั้น?
คำถามจากและแนวทางที่ดัดแปลงจาก The How to Think like Leonardo da Vinci Workbook โดย Micael J. Gelb เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาใช้สำรวจตัวเองได้
คำถามที่ 1 สิ่งที่เราต้องการนั้นถูกตั้งเงื่อนไขจากภายนอกมากน้อยเพียงไหน?
เงื่อนไขภายนอกที่เรารับเข้ามา อาจเป็นสารจากพ่อแม่ญาติพี่น้อง โรงเรียน โฆษณาหรืออะไรก็ตาม เช่น ค่านิยมในชุมชนหนึ่งๆ บอกว่าการอยู่บ้านกับพ่อแม่จนเลยอายุ 18 ปี เป็นเรื่องของคนไม่เอาไหน ไม่รู้จักยืนด้วยลำแข้งตัวเอง แต่สำหรับอีกชุมชน การที่คุณออกจากบ้านไปใช้ชีวิตลงหลักปักฐานของตัวเองที่อื่น กลับถูกมองเชิงลบว่าไม่ยอมอยู่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่หรือเป็นการปล่อยให้คนเฒ่าเหงาหงอย เป็นต้น
คำถามที่ 2 เราทำอะไรที่เป็นปฏิกิริยาต่อต้านเงื่อนไขข้างต้นเหล่านั้นบ้างไหม?
เช่น ถ้าคุณถูกตั้งเงื่อนไขว่าต้องอยู่บ้านกับพ่อแม่ตลอดไปเพราะนั้นคือสิ่งที่ ‘ลูกที่ดี’ ทำ คุณก็แหกคอกด้วยการออกไปทำงานไกลๆ บ้านนานหลายปีหรือย้ายหลักแหล่ง หรือคุณถูกสังคมบีบคั้นให้ต้องซื้อรถยนตร์ส่วนตัวขับ คุณก็นั่งรถสารณะโชว์เสียเลย นี่อาจเป็นการขบถต่อเงื่อนไขที่ถูกยัดเยียดมาให้ ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเพื่อต่อต้านอยู่
คำถามที่ 3 อะไรบ้างที่เราต้องการทำหรือทำไปแล้ว สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ค่าจริงๆ?
คำถามที่ 4 ด้านล่างนี้เป็นกลุ่มคำพอเป็นแนวทางที่สะท้อนคุณค่าต่างๆ ได้ คุณสามารถวงประมาณ 5 รายการที่สอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองให้ค่ามากที่สุด ซึ่งถ้าไม่มีในนี้ คุณก็สามารถเขียนเพิ่มเองได้
ความทรงปัญญา ความตระหนักรู้ ความจริงแท้ มิตรภาพ การเติบโต ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความเป็นครอบครัว ธรรมชาติ ระบบนิเวศ ความคิดสร้างสรรค์ ความเคารพ ความถ่อมตน ความสนุก เงิน ศักยภาพ การแข่งขัน การชนะ การนำ ชุมชน ความประหยัด การให้ ระเบียบ ความโกลาหล จิตวิญญาณ เสถียรภาพ ความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้า ความหยั่งรู้ เวลา ขนบ ความนอกรีต ความขี้เล่น อิสรภาพ ฯลฯ
คำถามที่ 5 สิ่งที่คุณต้องการสอดคล้องกับ ‘คุณค่า’ ที่คุณให้ หรือไม่?
เช่น คุณอาจให้ค่ากับอิสรภาพ การที่คุณต้องการจะอยู่คนละพื้นที่กับพ่อแม่ตัวเองก็น่าจะสอดคล้องกับอิสรภาพ หรือคุณให้ค่าความประหยัดและการได้ให้บริการผู้คนในครอบครัว การที่คุณต้องการจะอยู่กับคนที่บ้านอย่างพร้อมหน้าโดยไม่ต้องให้ใครสักคนในบ้านเปลืองเงินซื้อหรือเช่าที่อยู่ให้เยอะแยะในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็อาจสอดคล้องกับคุณค่าที่คุณให้มากกว่าการที่สมาชิกในครอบครัวต้องออกไปแยกกันอยู่
แต่เราไม่จำเป็นต้องติดตันอยู่กับคุณค่าหรือวิธีการแค่อย่างเดียว เช่น ถ้าเราให้ค่ากับการที่คนหลายรุ่นในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันและก็ให้ค่ากับอิสรภาพสำหรับแต่ละบุคคลมากด้วย ก็อาจหาวิธีทำบ้านให้เป็นสัดส่วนกว่าเดิม ซึ่งก็สามารถแตกต่างกันไปตามงบประมาณและความสร้างสรรค์ของแต่ละคน หรืออาจจะย้ายไปเช่าหรืออยู่ที่อื่นและกลับบ้านเป็นระยะสลับกันไป ซึ่งก็มีคนทำแบบนี้มากมาย ฯลฯ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
มีทางเลือกนับไม่ถ้วนที่ดำรงอยู่ระหว่างทางเลือกสองขั้วตายตัวของการอยู่หรือไม่อยู่บ้านกับพ่อแม่พี่น้อง
3.
ลึกลงไปอาจมีแก่นสารและคุณค่าร่วมกัน
นอกจากนี้ คนที่คุณเห็นโดยผิวเผินว่าเขาให้คุณค่าแตกต่างจากคุณ ลึกลงไปเขาอาจให้คุณค่าแบบเดียวกับคุณ เช่น คนที่ถามคนอื่นว่า “ทำไมไม่ยอมอยู่บ้านกับพ่อแม่ล่ะ?” โดยถามเพราะให้ค่าความรักแก่คนในครอบครัวและเชื่อบาปบุญต่างๆ ส่วนลูกที่เลือกจะไม่อยู่กับพ่อแม่ ก็อาจออกไปอยู่ที่อื่นเพราะเขารักพ่อแม่อย่างที่สุด ทว่าเมื่ออยู่ด้วยกันแล้วมีเหตุให้ต้องทะเลาะกันบ่อยๆ มันทำให้คนในสถานะลูกอย่างเขารู้สึกผิดบาป เขาจึงเลือกจะไม่อยู่กับพ่อแม่
แต่เขาก็เป็นดั่งต้นไม้ที่รากของมันยังหาทางหยั่งลงและปกแผ่โยงใยอยู่ใต้ผืนดินที่ไม่มีใครมองเห็น แม้ภายในจะถูกกัดกร่อนจากความทรงจำของบรรยากาศขัดแย้งเมื่ออยู่ที่บ้านเพียงใด ภาพชีวิตประจำวันของคนในครอบครัวยังคงเป็นมนต์ขลังซึ่งเขาโหยหาและหวาดหวั่นไม่แน่ใจว่าวันไหนจะกลายเป็นวันสุดท้ายที่ได้มองดู
4.
สำหรับสังคมที่ให้ค่าการอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้น คนที่ไม่อยู่หรือไม่ค่อยอยู่กับท่านก็ถูกมองในเชิงลบมาแล้ว แต่สำหรับสังคมที่ให้ค่าความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับใคร คนที่ยังอยู่กับพ่อแม่ก็กลายเป็น ‘ผู้แพ้’ (ใส่เครื่องหมายตั้งคำถาม) มาแล้วเช่นกัน ดังนั้น ลบหรือบวกก็ไม่ได้ตายตัว
เฉกเช่นที่เมื่อสังคมหนึ่งๆ ให้ความสำคัญกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างไม่อาจสนใจสุขภาพ, การเชื่อฟังไปเชื่องๆ อย่างไม่ตั้งคำถาม ฯลฯ บุคคลใดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้นๆ ก็อาจถูกมองว่าเป็น ‘ปัญหา’ ส่วนอีกตัวอย่าง ในสังคมที่ให้ค่าความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูง (highly sensitive) ความอ่อนไหวก็สามารถจะได้รับการมองว่าเป็นหนึ่งในลักษณะความชาญฉลาดที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม หรือในชุมชนที่ให้ค่าความหยั่งรู้และจินตนาการ ภาพแฟนตาซีฝันๆ ก็กลายเป็นประตูสู่การเยียวยา ปัญญาและสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคได้ โดยไม่ต้องถูกมองว่าเป็นอาการหรือเค้าลางของโรคจิตเวชแต่อย่างใด (ดูเพิ่ม City Shadow และ Highly Sensitive Person ตามที่อ้างอิง)
เหมือนเช่นเคย ไม่ได้มีคำตอบตายตัวให้กับอะไร องค์ประกอบชีวิตของแต่ละคนและชุมชนไม่เหมือนกัน เพียงแต่ชวนคิดและนำเสนอคำถามต่างๆ เพื่อใช้ทำความเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง เท่าที่จะทำได้ เท่านั้นเอง
อ้างอิง
City Shadow: Psychological Interventions in Psychiatry โดย Dr Arnold Mindell
Highly Sensitive Person โดย Dr. Elaine Aron
The How to Think like Leonardo da Vinci Workbook โดย Micael J. Gelb