- ช่วง 6 – 12 ปี ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆ ทางด้านสติปัญญา ถ้าเด็กได้รับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาในทุกๆ ด้าน ก็จะปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างราบรื่น
- เด็กวัยนี้จะอ่อนไหวกับความรู้สึกสำเร็จหรือล้มเหลว เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เด็กจะภูมิใจในตนเองมีความพยายามที่จะเรียนต่อไป นำไปสู่การมีบุคลิกที่มั่นคง สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี แต่หากเด็กรู้สึกล้มเหลว ไม่มีความสามารถจะท้อแท้และรู้สึกด้อย มีผลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในภายหลัง
- “มีนักวิจัยกล่าวว่า ทักษะ EF นั้น มีความสำคัญมากกว่าทั้ง IQ และ EQ เนื่องจากเป็นทักษะสำคัญในการชีวิตที่ทุกคนต้องมี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นทักษะที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จในชีวิต แต่อย่างไรก็ดีหากเด็กมีทักษะทั้ง 3 อย่างดี ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและมีความสุขได้มากกว่า”
เด็กวัย 6 – 12 ปี แม้จะอยู่ในวัยเรียน แต่การเรียนไม่ใช่โลกทั้งใบของเด็ก การเรียนรู้ที่ส่งเสริม ‘พัฒนาการสมวัย’ คือ สิ่งที่นักกิจกรรมบำบัดเด็กยืนยันว่าจะช่วยสร้างเด็กที่มีศักยภาพได้แบบองค์รวม
“ช่วงอายุของเด็กในวัยเรียน 6 – 12 ปีนั้น ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆ ทางด้านสติปัญญา” อาจารย์ ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา นักกิจกรรมบำบัดเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว อธิบายถึงพัฒนาการของ ‘เด็กวัยเรียน’ หนึ่งในช่วงเวลาทองที่เด็กทุกคนจะเติบโตอย่างแข็งแรงและแข็งแกร่ง
นักกิจกรรมบำบัดเด็กบอกว่า ใน ‘เด็กวัยเรียน’ ถ้าเด็กได้รับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาในทุกๆ ด้าน ก็จะปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างราบรื่น
พัฒนาการ 4 ด้าน ช่วงสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน
การที่เด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ถ้าผู้ใหญ่ส่งเสริมอย่างถูกต้อง พวกเขาจะมีพัฒนาการที่ดีครบทั้ง 4 ด้าน
พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กในช่วงวัยนี้เจริญเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าช่วงวัยเด็กตอนต้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น 3 – 3.5 กิโลกรัมต่อปี ส่วนสูงเพิ่มขึ้น 6 – 7 เซนติเมตรต่อปี รอบศีรษะเพิ่มขึ้น 2 – 3 เซนติเมตร ฟันน้ำนมเริ่มหลุดเมื่ออายุประมาณ 6 ปี
การเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว การใช้สายตา และมือประสานกันทำกิจกรรมต่างๆ มีความคล่องแคล่วแม่นยำมากขึ้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศ โดยเฉพาะเพศหญิงอาจมีการเข้าสู่วัยสาวที่อายุ 7 – 8 ปี
พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม เด็กวัยนี้มีความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ของตนเองและของคนรอบข้าง ชอบซักถาม ชอบแข่งขันและแสดงออก เพื่อให้ได้รับความสนใจและยอมรับจากครอบครัว เพื่อน และครู เด็กจะอ่อนไหวกับความรู้สึกสำเร็จหรือล้มเหลว เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีความสำเร็จ เด็กจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความมุมานะพยายามที่จะเรียนต่อไป นำไปสู่การมีบุคลิกที่มั่นคง สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี
ในทางตรงกันข้าม หากเด็กรู้สึกล้มเหลว ไม่มีความสามารถ เด็กจะท้อแท้และรู้สึกด้อย มีผลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในภายหลัง
ในด้านสังคม เด็กจะอยู่กับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันและเพศเดียวกัน มีการกำหนดบทบาททางเพศ หรือแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน (gender identity) เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เรียนรู้มารยาททางสังคม รู้จักกฎกติกา การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง ทำให้ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดีขึ้น
พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กอายุ 6 – 10 ปีจะมีการคิดอย่างใช้เหตุผลเชิงรูปธรรม (concrete operation) เช่น ความเข้าใจเรื่องความคงอยู่ (conservation) ของน้ำหนัก ปริมาตร และมวลสาร ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างไร ความเข้าใจเรื่องเวลา การจัดหมวดหมู่ คิดเลขในใจได้ วาดรูปสามมิติง่ายๆ ได้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจริงโดยใช้การสังเกต ทดลอง
เด็กวัยนี้เล่นและทำกิจกรรมกลุ่มแบบร่วมมือกันโดยเข้าใจบทบาทของแต่ละคน รู้จักการอดทนรอคอย ประนีประนอม และการต่อรอง มีทักษะการบริหารจัดการ (Executive function: EF) ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้ควบคุมตนเอง ยืดหยุ่นทางความคิด และวางแผนจัดการต่างๆ ได้ดีขึ้น
พัฒนาการด้านภาษา เด็กในวัยนี้จะพูดได้ชัด เข้าใจความหมายของคำ และเลือกใช้คำอย่างถูกต้องมากขึ้น เข้าใจประโยคที่ซับซ้อนรวมทั้งความหมายของโคลงกลอน อ่านจับใจความ อ่านในใจได้ และวิเคราะห์เรื่องราวที่ได้อ่านหรือฟังมา พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล แสดงความคิดเห็นได้ชัดเจน เชื่อมโยงเหตุผลได้ดีพูดคุยสื่อสารได้เหมือนผู้ใหญ่
มาถึงคำถามที่ว่า ผู้ใหญ่จะสังเกตว่าเด็กมีแรงจูงใจหรือความชอบอย่างไรเพื่อค้นหาและส่งเสริมศักยภาพในตัวเด็ก อาจารย์กันนิกาแนะนำว่า หัวใจสำคัญ คือ ‘การทำความเข้าใจเด็กๆ’ ต้องยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถพิเศษแตกต่างกัน
“พรสวรรรค์หรือความสามารถพิเศษของเด็กนั้นมีได้หลายด้านที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีมุมอื่นๆ ที่สามารถสังเกตลูก เช่น ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ด้านภาษา เป็นต้น
เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอย่างใจเย็นและไม่กดดัน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ จะมีส่วนช่วยให้ลูกได้ค้นพบความถนัดของตัวเองเมื่อถึงเวลา ในแบบของตัวเอง
ตัวช่วยในการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของเด็ก ทำได้โดยอาศัยทั้งวิธีการสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำตามปกติ และการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป เพราะโดยปกติแล้วเด็กจะมีความสามารถครอบคลุมในหลายด้าน แต่มีมากน้อยลดหลั่นกันไป การค้นหาและพัฒนาศักยภาพจึงจำเป็นต้องให้เวลาและโอกาสกับเด็ก ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจและโดดเด่นเป็นพิเศษอย่างแท้จริง”
ทักษะ EF ตัวช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จและมีความสุข
ทักษะ EF หรือ Executive Functions เป็นทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก นักกิจกรรมบำบัดเด็กให้ข้อมูลว่า EF มีความสัมพันธ์กับความพร้อมทางการเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระยะยาว
“จากการศึกษาพบว่า ในด้านทักษะการเคลื่อนไหว สหสัมพันธ์ของร่างกาย สหสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวและการมองเห็น เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ ความสามารถด้านการรู้คิด ทักษะการคิดเชิงบริหาร working memory และ self – regulation
การศึกษาโดยทีมอาจารย์ในเด็ก ป.1 – 4 พบว่า เด็กที่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวดี จะมี working memory ที่ดีด้วย”
Executive Functions มีทั้งหมด 9 ด้าน แบ่งออกเป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน และทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน ได้แก่
ทักษะพื้นฐาน (Basic) ประกอบไปด้วย
(1) Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ
(2) Inhibitory Control (ยั้งคิด ไตร่ตรอง) คือ ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมความต้องการ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้
(3) Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ความคิดยืดหยุ่น) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ
ทักษะสูง (Advance) ประกอบไปด้วย
(4) Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป
(5) Emotional Control (ควบคุมอารมณ์) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายเกินไป รู้จักแสดงอารมณ์อย่างถูกวิธี
(6) Self – Monitoring (ติดตาม ประเมินตนเอง) คือ การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น รู้จักไตร่ตรองว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองทำอะไร และรู้ว่าใกล้จะเสร็จหรือเรียบร้อยแล้ว
(7) Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
(8) Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) คือ การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล
(9) Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
“มีนักวิจัยกล่าวว่า ทักษะ EF นั้น มีความสำคัญมากกว่าทั้ง IQ และ EQ เนื่องจากเป็นทักษะสำคัญในการชีวิตที่ทุกคนต้องมี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นทักษะที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จในชีวิต แต่อย่างไรก็ดีหากเด็กมีทักษะทั้ง 3 อย่างดี ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและมีความสุขได้มากกว่า” อาจารย์กันนิกากล่าว
เพื่อ ‘พัฒนาการสมวัย’ เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องรู้
ทั้งเรียนรู้และเติบโต ดูจะเป็นภารกิจที่เด็กต้องแบกรับมากหน่อยในยุคนี้ แต่คนที่จะประคับประคองให้พวกเขามี ‘พัฒนาการสมวัย’ ได้ คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ ทัศนคติที่ผู้ใหญ่ต้องมีต่อเด็ก หากปรับได้ตามที่นักกิจกรรมบำบัดเด็กแนะนำไว้ การจะช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างมีคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องยาก
สำหรับบัญญัติ 10 ประการ ในการดูแลเด็กช่วงวัยเรียน มีดังนี้
- ให้เด็กมีอิสระในการเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเหมาะสม
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของเด็กในทางที่เหมาะสม
- ใช้คำพูดที่ช่วยให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
- ดูแลเอาใจใส่ในการคบเพื่อนของเด็ก
- ให้การเลี้ยงดูอย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านของเด็ก
- ส่งเสริมให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองตามวัยได้อย่างเหมาะสม
- ดูแลแนะนำเกี่ยวกับการรับสื่อต่างๆ อย่างถูกต้อง
- ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
- กฎเกณฑ์ที่ใช้กับเด็ก ควรมีความยืดหยุ่น และสามารถปฏิบัติได้
- สนับสนุนให้เด็กรู้จักทำงานร่วมกัน และเคารพกติกา
ในด้านร่างกาย อาจารย์กันนิกาแนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูไปถึงเรื่องโภชนาการที่ถูกต้องด้วย เพราะอาหารที่ดีจะสร้างร่างกายที่ดี
“เด็กวัยเรียนมีการเคลื่อนไหวและใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดอยู่เฉยในแต่ละวัน ความต้องการพลังงานของเด็กประมาณ 1,500 แคลอรี่/วัน เด็กวัยเรียนควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใน 6 กลุ่มอาหาร ได้แก่ กลุ่มข้าว – แป้ง กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ กลุ่มเนื้อสัตว์ กลุ่มไขมัน และกลุ่มนม เพื่อได้รับพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วน
การส่งเสริมพัฒนาการในเด็กวัยนี้ควรให้ความสำคัญกับทุกด้าน ไม่ใช่การเน้นเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว ควรเน้นเรื่องร่างกาย เรียนรู้ทักษะชีวิต เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอย่างใจเย็นและไม่กดดัน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ”