- แม้โลกในฝันของเราทุกคนคือ ทุกคนซื่อสัตย์พูดแต่ความจริง แต่ทักษะเล็กๆ น้อยๆ ในการโกหก ช่วยให้เอาตัวรอดในบริบทสังคมจริงได้ดีกว่า เพราะหลายครั้งการพูดแต่ความจริงก็ทำให้เราตกที่นั่งลำบากได้
- ความจริงแล้วเด็กอายุแค่เพียง 2 ขวบ ราว 30% เริ่มพูดโกหกเป็นแล้ว และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 3 ขวบ ก็จะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อถึง 4 ขวบก็มีอยู่ราว 80% ที่โกหกเป็น!
- ในเด็กวัยรุ่นมักโกหกเพราะอยากเป็นอิสระด้วยความที่เชื่อว่าดูแลตัวเองได้ วัยรุ่นเริ่มคิดว่าตัวเองไม่ใช่เด็กแล้ว และมีความสามารถในการดูแลตัวเองได้แล้วไม่ต่างจากผู้ใหญ่
พ่อแม่หรือครูอาจารย์บางคนอาจแปลกใจ (หรือแม้แต่ตกใจ) ที่รู้ความจริงว่าลูกหรือลูกศิษย์โกหก แต่การที่เด็กๆ โกหกอาจไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไปก็ได้ จำเป็นต้องแยกแยะให้ดี
ความจริงเรื่องหนึ่งที่พบกันก็คือ แม้แต่เด็กอายุแค่เพียง 2 ขวบ ก็อาจแสดงพฤติกรรมการโกหกได้แล้ว โดยพบว่าเด็กวัยนี้ราว 30% เริ่มพูดโกหกเป็นแล้ว และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 3 ขวบ ก็จะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อถึง 4 ขวบก็มีอยู่ราว 80% ที่โกหกเป็น! [1-2]
‘การแต่งเรื่อง’ ของเด็กเล็กเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลใจสักเท่าไหร่ อันที่จริงแล้วในทางจิตวิทยากลับมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า เด็กเริ่มมีพัฒนาการและเริ่มแยกแยะความคิดของตัวเองกับความคิดของคนอื่นออกจากกันได้ ในทางวิชาการบอกว่าเป็นไปตาม ‘Theory of mind’
เวลาเด็กบอกแม่ว่า “พ่อบอกว่าหนูกินไอศกรีมได้” ทั้งที่พ่อไม่ได้บอก จึงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดแทนคนอื่นและเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ความสามารถเช่นนี้สำคัญสำหรับทักษะการเข้าสังคม ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจคนอื่น ร่วมไม้ร่วมมือเป็น และเอาใจใส่คนอื่นได้ในยามที่อีกฝ่ายไม่สบายใจได้
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ แม้โลกในฝันของเราทุกคนคือ ทุกคนซื่อสัตย์พูดแต่ความจริง แต่ทักษะเล็กๆ น้อยๆ ในการโกหก ช่วยให้เอาตัวรอดในบริบทสังคมจริงได้ดีกว่า เพราะหลายครั้งการพูดแต่ความจริงก็ทำให้เราตกที่นั่งลำบากได้
ตัวอย่างที่มักยกกันก็คือ การโกหกด้วยเจตนาดี หรือ “ไวท์ลาย (white lie)” เช่น การขอบคุณย่ายายที่ถักสเวตเตอร์ให้และบอกว่ามันสวยมาก ทั้งที่ในใจเห็นว่ามันน่าเกลียดชะมัด!
เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผู้ใหญ่มักไม่ถือสากับเด็กเล็กที่โกหกก็คือ พ่อหนูน้อยแม่หนูน้อยเหล่านั้นมักจะทำได้ไม่ดีและดูชวนให้ขบขันมากกว่าจะกลุ้มใจ เช่น เด็กคนนั้นอาจจะบอกว่า ไม่ได้แอบกินขนมเค้กทั้งๆ ที่มีเศษขนมเค้กติดปากอยู่ หรือบอกว่าหมาหรือแมวเป็นคนวาดกำแพงบ้านเลอะเทอะ ทั้งที่มือตัวเองเปื้อนเต็มไปหมด
มีการทดลองหนึ่ง [3] ที่ดูตลกดีคือ ผู้ทดลองเอาตุ๊กตา ‘บาร์นีย์’ ที่เป็นไดโนเสาร์สีชมพู ไปวางไว้ข้างหลังเด็กอายุ 3–7 ขวบ แล้วบอกว่าห้ามแอบดูตุ๊กตาปริศนาที่วางอยู่ข้างหลัง ซึ่งเด็กแทบทุกคนในการทดลองนี้ต่างก็อดใจไม่ไหว ต้องหันกลับไปมองด้วยกันแทบทั้งนั้น แล้วพวกหนูน้อยก็มักจะโกหกว่าไม่ได้ทำอีกด้วย
ผลการทดลองทำให้รู้ว่ายิ่งอายุเพิ่มขึ้น จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่โกหกก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
เด็กอายุ 3–5 ขวบ จะทำหน้าตาเฉยๆ เพื่อหลอกได้ดี แต่ก็มักเผลอหลุดปากว่าไม่ได้หันไปดูบาร์นีย์ (อ่านถึงตรงนี้ คุณอาจจะอมยิ้ม) ส่วนอายุมากกว่านั้นจะมีอยู่ครึ่งหนึ่งที่ทำเป็นไม่รู้เรื่องรู้ราว ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือก็หลุดปากชื่อบาร์นีย์ออกมาเช่นกัน
เรื่องที่น่าสังเกตสำหรับเด็กในวัยนี้คือ เด็กที่อายุมากกว่าอาจเริ่มเกิดความรู้สึกไม่ดีตอนที่ตัวเองโกหกบ้างแล้ว
แต่ธรรมชาติของการโกหกในเด็กวัยรุ่นจะแตกต่างออกไปจากเด็กเล็กค่อนข้างมากในหลายเรื่อง
งานวิจัยในวัยรุ่น 490 คนที่ครอบคลุมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรี [4] มีวัยรุ่น 82% ในจำนวนนี้ที่ยอมรับว่า เคยโกหกผู้ปกครองในช่วงปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการเก็บข้อมูลของ ดร.แนนซี ดาร์ลิง (Nancy Darling) ที่ทำวิจัยเรื่องวัยรุ่นกับการโกหกอย่างยาวนานที่ว่า ตัวเลขอาจจะสูงถึง 96% [5] และเป็นกลุ่มช่วงกลุ่มอายุที่โกหกสูงสุด
พูดอีกอย่างคือ หาวัยรุ่นที่ไม่เคยโกหกพ่อแม่ผู้ปกครองตัวเองแทบเจอเลยทีเดียว!
มีการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า ‘พิน็อกคิโอรุ่นเยาว์ถึงเก๋ากึ๊ก (From Junior to Senior Pinocchio)’ [6] ระบุว่ามีวัยรุ่นถึง 3/4 ที่โกหกโดยเฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน และมีมากถึง 60% ที่ระบุว่าโกหกมากถึง 5 ครั้งทุกวัน
ดร.แนนซี สรุปข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวัยรุ่นราว 10,000 คน ครอบคลุมอายุ 10–24 ปี ใน 6 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ชิลี ฟิลิปปินส์ อิตาลี สวีเดน และยูกันดา ทำให้เห็นภาพว่าการโกหกของวัยรุ่นแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 แบบคือ แบบแรกเป็นการโกหกโดยการหลบเลี่ยง พยายามปิดบังบางอย่างที่ไม่อยากพูดถึง ขณะที่แบบที่ 2 เป็นการโกหกโดยการละไว้ ไม่บอกให้หมด
แบบที่ 2 นี่เป็นการโกหกแบบยอดนิยมที่นักการเมืองในโลกนี้ใช้กัน
ส่วนแบบสุดท้าย เป็นการโกหกแบบแต่งเรื่องมาหลอกอย่างจงใจ แบบนี้มักจะพบได้น้อยกว่าอีก 2 แบบแรก อย่างไรก็ตาม การโกหกแบบนี้ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวมากกว่าอีก 2 แบบมาก
ทำไมวัยรุ่นต้องโกหก?
การเป็นวัยรุ่นนี่ ไม่ง่ายจริงๆ และเหตุผลที่ต้องโกหกก็มีการวิจัยกันอย่างจริงๆ จังๆ โดยสถาบันโจเซฟสัน (The Josephson Institute) ในกลุ่มเด็กมัธยมปลายมากถึง 20,000 คน ได้เป็นรายงานออกมาใน ค.ศ. 2012 พอสรุปได้สั้นๆ ว่า มีเหตุผลอยู่มากมายทีเดียว หากจะยกมาเพียงบางส่วนที่พบได้บ่อยก็คงได้แก่ เหตุผลทั้ง 7 ประการนี้คือ
(1) ไม่อยากมีปัญหา
(2) ไปทำอะไรที่อันตรายมาหรือไม่ก็ทำสิ่งที่โดนสั่งห้ามไว้
(3) เชื่อว่ากฎที่พ่อแม่ตั้งไว้ไม่ยุติธรรม
(4) เชื่อว่าสิ่งที่ทำไม่ได้อันตรายสักหน่อย
(5) เพื่อปกป้องความรู้สึกคนอื่นไม่ให้รู้สึกไม่ดี
(6) ต้องการเก็บรักษาความลับบางอย่าง
สุดท้ายซึ่งน่าจะสำคัญที่สุดด้วยคือ เพราะอยากเป็นอิสระด้วยความที่เชื่อว่าดูแลตัวเองได้ วัยรุ่นเริ่มคิดว่าตัวเองไม่ใช่เด็กแล้ว และมีความสามารถในการดูแลตัวเองได้แล้วไม่ต่างจากผู้ใหญ่
หัวเรื่องอะไรที่พวกวัยรุ่นเค้าโกหกกัน?
หัวข้อที่โกหกบ่อยๆ มีหลากหลายทีเดียว ยกตัวอย่าง
(1) ใช้เงินซื้ออะไรไปบ้าง
(2) คบหรือไม่คบใครเป็นเพื่อน
(3) ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติดอะไรบ้างหรือเปล่า
(4) ไปทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
(5) ไปร่วมปาร์ตี้อะไรกับใครบ้างหรือเปล่า
(6) ทำการบ้านหรือยัง
(7) เกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติก—คบใครอยู่บ้างหรือไม่
สรุปโดยหลักๆ ก็คือ โกหกเพราะความอยากมีตัวตนที่ชัดเจน ดูจากรายการข้างต้นแล้ว บางเรื่องก็ดูเล็กน้อย ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ก็มีบางหัวข้อที่อาจเป็นอันตรายได้ ข้อมูลสำคัญบางอย่างก็มักปกปิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสอบที่ต่ำ ความเครียดกังวลใจในการเข้ากลุ่มเพื่อน การแยกตัวออกจากสังคม และการถูกเพื่อนรังแก หลายคนก็เลือกจะไม่บอกกับพ่อแม่
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีผู้ปกครองแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่า ลูกตัวเองแอบไปดื่มมา โดยแม่จะจับสังเกตได้เก่งกว่า (จับผิดได้ถึง 71%) แม้ว่าอาจจะเดาผิดเยอะเหมือนกันคือ 33% ที่จิ้มไปที่ลูกว่าโกหกอยู่แน่ กลับกลายเป็นว่าลูกพูดความจริงอยู่
ดังนั้น ทั้งแม่และพ่อควรตระหนักถึงตัวเลขเหล่านี้ไว้บ้าง จะได้ไม่ไปกล่าวหาลูกง่ายๆ จนเกิดเป็นแผลใจ ไม่ไว้วางใจกันอีกต่อไป เพราะจะทำให้ไม่เล่าเรื่องต่างๆ ให้พ่อแม่ฟังอีกต่อไป
อีกประเด็นที่น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยคือ วัยรุ่นที่โกหกบ่อยๆ มีแนวโน้มเสี่ยงติดแอลกอฮอล์สูงกว่าตามไปด้วย [7] โดยเป็นการศึกษาในเด็กนักเรียนระดับเกรด 7–8 (เทียบกับระบบของไทยคือ ม.1–2) จำนวน 4,000 คน
มีการศึกษาที่พบว่าความอบอุ่นและความเชื่อใจกันในครอบครัว ทำให้วัยรุ่นมีแนวโน้มจะโกหกน้อยลง และทำให้มีแนวโน้มจะติดการดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าไปด้วย
ในทางตรงกันข้าม การจับตามองอย่างเกินสมควรของคนในครอบครัวนั้น ไม่ค่อยได้ผลทั้งเรื่องป้องกันการโกหกและป้องกันการติดสุรา
การสื่อสารกันอย่างเปิดเผยและการให้อิสระกับวัยรุ่นของพ่อแม่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและลดการโกหกและเรื่องสืบเนื่องอื่นๆ ด้วย
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ การแสดงตัวว่าพร้อมจะให้คำปรึกษา ทำตัวเป็นเห็นเป็นแบบอย่าง โดยไม่โกหกเสียเอง อาจตั้งกฎในครอบครัวได้ แต่การทำโทษต้องเหมาะสม ไม่ทำด้วยความโกรธหรือทำโทษอย่างไม่มีขอบเขต
สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในครอบครัวนี่เองที่จะช่วยลดการโกหกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด.
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.cbc.ca/news/health/kids-lying-healthy-ideas-1.3412815
[2] https://theconversation.com/why-do-kids-lie-and-is-it-normal-98948
[3] Intl J Behavioral Dev, Vol. 26, Issue 5. 2002. https://doi.org/10.1080/01650250143000373
[4] J Youth Adolescence, Vol. 33, No. 2. 2004, pp. 101–112. https://doi.org/10.1023/B:JOYO.0000013422.48100.5a
[5] https://www.newportacademy.com/resources/restoring-families/why-do-teenagers-lie/
[6] Acta Psychologica 160 (2015) 58–68. http://dx.doi.org/10.1016/j.actpsy.2015.06.007
[6] Acta Psychologica 160 (2015) 58–68. http://dx.doi.org/10.1016/j.actpsy.2015.06.007
0001-6918
[7] J Adolescence. Vol. 57, Issue 1. June 2017, pp. 99-107. https://doi.org/10.1016/j.adolescence.2017.04.003