- การเรียนรู้ที่ชัดแจ้ง คือ การเรียนรู้ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนรู้เป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ แล้วสามารถวัดความเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพธ์จากการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างชัดเจน ไม่มีการเหมารวมว่า…นักเรียนน่าจะเข้าใจ หรือนักเรียนน่าจะทำได้ ด้วยเหตุนี้ครูจึงต้องใส่ใจต่อความคิดเห็นและการตอบสนองของเด็กแต่ละคน
- ครูสามารถสร้างห้องเรียนที่มีเป้าหมายได้ โดยใช้วิธี 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ การเรียนรู้แบบผิวเผิน เพื่อพัฒนาความรู้เดิมของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพขึ้น การเรียนรู้แบบลึกซึ้ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้ลึกขึ้น ผ่านการทำแผนที่ความคิด การอภิปรายและตั้งคำถาม การเรียนรู้แบบพัฒนาต่อยอด เพื่อผู้เรียนจะได้ลองคิดและสร้างประสบการณ์ใหม่ และนำความรู้ใหม่ที่ได้ไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ถ้าบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ลงทุนด้านการศึกษา ความเข้าใจนี้คงไม่ใช่เสียทีเดียวจากการรายงานโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก (World Bank) ที่ได้จัดทำข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษา ปี 2551-2559 พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณลงทุนด้านการศึกษาปี 2559 มากถึง 878,878 ล้านบาท คิดเป็น 6.1 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี สูงกว่าประเทศกลุ่ม OECD ที่ลงทุนเพียง 5.2 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี
มีการวิจัยด้านการศึกษา พบว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา การปรับโครงสร้างการบริหาร หรือการเพิ่มวุฒิการศึกษาให้กับครู ส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนของเด็กและเยาวชนเป็นลำดับรองจาก การที่ครูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก และการสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้สึกมีความสุขและอยากมาโรงเรียน
จอห์น ฮัตตี (John Hattie) นักวิจัยด้านการศึกษา กล่าวถึง การเรียนรู้ที่ชัดแจ้ง หรือ Visible Learning ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถเนรมิตห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ได้
ฮัตตีบอกว่า การเรียนรู้ที่ชัดแจ้ง ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนรู้เป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ แล้วสามารถวัดความเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพธ์จากการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างชัดเจน ไม่มีการเหมารวมว่า…นักเรียนน่าจะเข้าใจ หรือน่าจะทำได้จากการมองเห็นนักเรียนคนใดคนหนึ่งเข้าใจหรือทำได้ ด้วยเหตุนี้ครูจึงต้องใส่ใจต่อความคิดเห็นและการตอบสนองของเด็กแต่ละคน
การเรียนที่มีเป้าหมาย จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ชัดแจ้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับผิวเผิน (surface) ระดับลึกซึ้ง (deep) และ ระดับพัฒนาต่อยอด (transfer)
คำถามตั้งต้นต่อไปนี้สามารถชี้ทางให้ผู้เรียนและผู้สอนรู้เป้าหมายในการเรียนรู้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ชัดแจ้งในห้องเรียนได้
พวกเขากำลังเรียนอะไร?
ทำไมถึงต้องเรียนสิ่งนี้?
พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าได้เรียนรู้เรื่องนั้นแล้ว?
แล้วการเรียนรู้เรื่องนั้นมีความสำคัญอย่างไร?
จากตัวอย่างคำถามเห็นได้ว่า การประเมินผลการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง ตัวชี้วัดต้องมีความเหมาะสมแตกต่างกันตามพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน นอกจากครูแล้ว ฮัตตียังเสนอให้นักเรียนมีโอกาสประเมินผลการเรียนของตัวเองก่อนด้วย (self-reported grades/expectations)
หากยังนึกไม่ออกว่า ครูจะสร้างห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร วิธีต่อไปนี้จะช่วยเนรมิต ‘ห้องแห่งการเรียนรู้’ ที่ชัดแจ้งในแต่ละระดับให้ปรากฏขึ้นได้
การเรียนรู้แบบผิวเผิน (Surface Learning) สามารถสร้างและพัฒนาด้วยการใช้ความรู้เดิมเสริมการเรียนรู้ใหม่ เพราะสิ่งที่รู้อยู่แล้วอาจไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด ครูสร้างการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กคิด ไม่ใช่แค่การท่องแบบอาขยานไปวันๆ เพราะการคิดเป็นคงทนกว่าความรู้
ยกตัวอย่างการเรียนรู้คำศัพท์ มีวิธีการสอนมากมายที่ช่วยกระตุ้นความจำของนักเรียน และสร้างความสนุกสนาน ครูสามารถใช้เทคนิคสร้างการเรียนรู้ผสมผสานกันไป ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น
นีมอนิกส์ (Mnemonics) การใช้เทคนิคช่วยจำ หรือ การใช้การ์ดคำศัพท์ เพื่อเรียนรู้คำ ความหมาย คำตรงข้าม และมีภาพประกอบ เป็นต้น
ในส่วนของการอ่าน ครูสามารถให้นักเรียนเขียนสรุปใจความสำคัญอย่างอิสระ โดยไม่ต้องตั้งโจทย์ หรือใช้เทคนิคการจดเลคเชอร์แบบ คอร์แนล โน้ต (Cornell Note) แบ่งหน้ากระดาษออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนบันทึก (note-taking area) เป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดบนหน้ากระดาษ ใช้จดบันทึกข้อมูลระหว่างฟังครูผู้สอน
ฝั่งซ้าย ใช้บันทึกคำสำคัญ หรือ คำถาม เรียกว่า cue column และ ส่วนสรุป (summary area) บริเวณด้านล่างหน้ากระดาษ ที่เกิดจากการทบทวนด้วยตัวนักเรียนเองเมื่อเวลาผ่านไปอย่างน้อย 1 วัน หรือ 1 อาทิตย์ไปแล้ว
การเรียนรู้แบบลึกซึ้ง (Deep Learning) เป็นการเรียนรู้เพื่อ ‘เข้าใจ’ สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ด้วย การทำแผนที่ความคิด และการอภิปรายและตั้งคำถาม
แผนที่ความคิดช่วยให้นักเรียนจัดระเบียบข้อมูลหรือสิ่งที่เรียนรู้ได้ ทำให้การเขียนรายงานและการเขียนแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องง่าย เนื่องจากนักเรียนสามารถหยิบยกประเด็นสำคัญที่บันทึกลงเป็นแผนที่ความคิดมากล่าวถึงได้อย่างครบถ้วนไม่ตกหล่น
การเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามและการอภิปราย ทำให้ความคิดของผู้เรียนเปิดกว้าง สร้างความเข้าใจต่อเรื่องที่สงสัยได้ทันที แล้วคงอยู่ในความจำระยะยาว นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุผลและเสรี
ฮัตตียังเอ่ยถึง การใช้กลวิธีอภิปัญญา (Metacognitive Strategies) หรือวิธีการที่ใช้ในการควบคุมการคิด และความสามารถในการกำกับตัวเอง รู้ว่าอะไรเหมาะสมกับตนเองในการเรียนรู้ สามารถวางแผน กำกับควบคุม และประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้
ประกอบด้วยกลวิธีย่อย 3 กลวิธี คือ กลวิธีมุ่งความสนใจสู่การเรียนรู้ (centering your learning) กลวิธีการจัดระเบียบและการวางแผนการเรียนรู้ (arranging and planning your learning) และกลวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ (evaluating your learning)
เช่น นักเรียนรู้ว่าจะทำงานนั้นเมื่อไร จะเรียนรู้ด้วยวิธีการไหน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว สามารถอธิบายว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ข้อดีข้อเสีย และสิ่งที่ควรปรับปรุง เป็นต้น
การเรียนรู้แบบพัฒนาต่อยอด (Transfer Learning) เป็นการนำความรู้ไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะมีประสบการณ์จากการทำสิ่งนี้มาก่อนเลยสามารถทำอีกสิ่งหนึ่งได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ได้คิดได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยทำมาก่อน
การเรียนรู้ลักษณะนี้มีทักษะการแก้ปัญหาเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น
แทนที่ครูจะยกสถานการณ์ปัญหา แล้วถามนักเรียนว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ครูสามารถยกสถานการณ์ตัวอย่าง แล้วถามนักเรียนก่อนว่า “ปัญหาคืออะไร?” หลังจากนั้นจึงให้นักเรียนเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น
“เราควรให้ความคุ้มครองและปกป้องผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวหรือไม่?” คำถามนี้ไม่ได้กำหนดจากปัญหาแต่เป็นการถามคำถามจากสถานการณ์ หลังจากนั้นครูจึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผู้อพยพ แล้วให้นักเรียนจับกลุ่มระดมความคิดเพื่อระบุปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหา
จากตัวอย่างทั้งหมดเห็นได้ว่าครูมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียน หน้าที่ของครูไม่ใช่แค่การสอนตามหลักสูตรเหมือนกันวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า แต่คือการปรับประยุกต์วิธีการสอนเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนแต่ละคนได้มากที่สุด นักเรียนบางคนอาจใช้วิธีการเดียวกันได้ แต่บางคนอาจต้องปรับเพิ่มเติมให้ต่างออกไป
หากจุดมุ่งหมายของการศึกษา คือ การสร้างการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กคิดเองทำเองได้อย่างมีเหตุผล ครูสามารถสร้างห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรองบประมาณก้อนโต เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิธีการ สร้างบรรยากาศในห้องเรียนใหม่ ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนได้เห็นๆ