บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ ‘ครูเพื่อศิษย์’ ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ
บันทึกที่ 25 เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าสู่อาชีพนี้ เป็นบันทึกสุดท้ายใน 3 บันทึก ภายใต้ชุดความคิดเพื่อความสำเร็จของนักเรียน (graduation mindset) ตีความจาก Chapter 20: Prepare for College or Careers
มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เรียนไม่เก่ง แต่จะเรียนดีขึ้นทันตา หากครูจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติโดยใช้มือ ทำกิจกรรมทางกาย หรือออกไปเรียนนอกห้อง นักเรียนเหล่านี้จะเรียนได้ดีหากมีกิจกรรมฝึกวิชาชีพ เรียนนอกห้อง เรียนโดยทำโครงงาน ทัศนศึกษา เรียนโดยฝึกปฏิบัติ และเรียนรับใช้ชุมชน (service learning)
ให้นักเรียนระดับประถมทำกิจกรรมเหล่านี้ใกล้ๆ โรงเรียน แค่ได้ออกไปทัศนศึกษาใกล้ๆ เด็กก็ตื่นเต้นแล้ว แต่จะให้ได้เรียนรู้มากกว่าต้องให้นักเรียนทำโครงงานเล็กๆ จากกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย และแม้ทำโครงงานเล็กๆ นอกห้องเรียน แต่อยู่ในบริเวณโรงเรียน ก็ช่วยสร้างความตื่นตัวในการเรียนได้มาก
ครูพึงตระหนักว่า นักเรียนเบื่อเมื่ออยู่ในห้องเรียน หรือต้องนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน และมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เบื่อง่ายกว่าคนอื่นๆ ครูพึงเอาใจศิษย์มาใส่ใจตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใจที่นึกถึงอนาคตของตัวเอง เขาแนะนำรายการคำถามต่อไปนี้
คำถามเกี่ยวกับความพร้อมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
นักเรียนมีทักษะชีวิตไปเผชิญชีวิตในมหาวิทยาลัยหรือไม่ นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้วิชาต่างๆ หรือไม่ นักเรียนมีที่ปรึกษาที่ตนใกล้ชิดเอาไว้ปรึกษายามจำเป็นหรือไม่ หากนักเรียนไม่ได้รับทุนการศึกษา จะทำอย่างไร ในบริบทของสหรัฐอเมริกา เขาบอกให้นักเรียนรู้ว่า มีมหาวิทยาลัยที่เรียน online ฟรี ชื่อ The University of the People (https://www.uopeople.edu/) แต่หากต้องการสอบเพื่อรับปริญญามีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,000 เหรียญสหรัฐ
คำถามเกี่ยวกับความพร้อมเข้าสู่อาชีพ
นักเรียนที่เรียนจบออกไปมี resume สำหรับเป็นหลักฐานรับรองสมรรถนะในการทำงานหรือไม่ นักเรียนทุกคนมีทักษะเข้ารับการสัมภาษณ์เข้างาน โดยผ่านการฝึกและได้รับ feedback หรือไม่ นักเรียนแต่ละคนมีงานที่ตอบรับแล้ว หรืออยู่ในรายชื่อรอเรียกเข้าทำงานหรือไม่ นักเรียนแต่ละคนมีที่ปรึกษายามต้องการหรือไม่
หนังสือแนะนำเว็บไซต์ช่วยแนะนำการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ที่ครูควรเข้าไปทำความเข้าใจพร้อมกับนักเรียนเพื่อช่วยทำความเข้าใจ ในสหรัฐอเมริกามีวิทยาลัยชุมชน (community college) ที่สอนวิชาชีพ ครูควรแนะนำ ซึ่งจะตรงกับคำแนะนำของครูชั้นมัธยมต้นของไทย ที่แนะนำให้นักเรียนพิจารณาเข้าเรียนวิทยาลัยอาชีวะ หลังเรียนจบ ม.3 ซึ่งจะเป็นเส้นทางสู่การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในภายหลังได้
ในสองตอนต่อจากนี้ เป็นตัวอย่างที่โรงเรียนคุณภาพสูง ดำเนินการช่วยนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยหรือเข้าสู่อาชีพอย่างได้ผลดี
กลยุทธ์เตรียมนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย และสู่อาชีพ
ต่อไปนี้เป็นวิธีการที่โรงเรียนคุณภาพสูงในสหรัฐอเมริกาใช้ ทั้งโรงเรียนระดับประถมและระดับมัธยม
- ให้มีโอกาสได้ไปเห็นหรือมีประสบการณ์ เช่น ให้นักเรียนชั้น ป.5 จับคู่ ร่วมกันไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอาชีวศึกษาใกล้ๆ และศึกษาข้อมูล เช่น ค่าเล่าเรียน ทุนช่วยเหลือการศึกษา สาขาที่สอน ตำแหน่งที่ตั้ง อายุของนักศึกษา เป็นต้น นำมาทำโปสเตอร์สำหรับนำเสนอต่อนักเรียนชั้น ป.2 ซึ่งผมคิดว่าในกรณีของบริบทไทยสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ เช่น ให้คู่นักเรียนแยกย้ายกันไปศึกษาสถาบันที่อยู่ไม่ไกลโรงเรียนนัก ทีมละ 1 สถาบัน หากจะซ้ำสถาบันก็ให้ซ้ำได้สถาบันละไม่เกิน 3 ทีม นำมาจัดทำโปสเตอร์เสนอต่อเพื่อนๆ ในชั้นหรือในโรงเรียน
หนังสือเอ่ยถึงการให้นักเรียนชั้น ป.4 จับคู่กับเพื่อน ศึกษาอาชีพที่ต้องการวุฒิ ม.3 เช่น ช่างหล่อ ช่างไฟ ช่างก่อสร้าง เจ้าหน้าที่บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น
- เชื่อมโยงพฤติกรรมเข้ากับผลต่อตนเอง ช่วยให้นักเรียนทำกิจกรรมและเชื่อมผลลัพธ์ของงานสู่เป้าหมายในชีวิต “เวลาที่เธอใช้ทำการบ้านจะมีความหมายต่ออนาคตของเธอ มันจะช่วยให้เธอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้”
- เชื่อมโยงสาระวิชาเข้ากับอนาคตการงาน เช่น ในนักเรียนชั้นมัธยม เมื่อเรียนวิชาใด ครูเอ่ยถึงหน้าที่การงานที่ใช้ความรู้และทักษะของวิชานั้นๆ หาทางให้คนในอาชีพนั้นๆ มาแชร์ประสบการณ์กับนักเรียน
- ใช้ถ้อยคำที่ให้ความหวัง เช่น ไม่ใช้คำว่า “ถ้าเธอเรียนจบ” แต่ใช้คำว่า “เมื่อเธอเรียนจบ” ไม่ใช้คำว่า “ถ้าเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย” แต่ใช้คำว่า “เมื่อเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย”
- จัดการเรียนเสริมแก่นักเรียนชั้นมัธยม ดังตัวอย่าง
– จัดติวเตอร์จากมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ๆ มาสอนทุกวันหลังชั้นเรียน เป็นเวลา 45 นาที (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) เพื่อช่วยให้นักเรียนทำการบ้านถูกหมด
– มีครูที่ปรึกษาที่ทำงานเข้มแข็งให้แก่นักเรียนใหม่ทุกคน
– กรณีที่พ่อแม่เด็กเป็นคนต่างชาติที่อพยพเข้าเมือง โรงเรียนจัดบริการแปลภาษาให้
– หาทุนเป็นค่าเดินทางแก่เด็กยากจน
– ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าเรียนชั้นเข้มข้น (honor class) ทางอินเทอร์เน็ต (www.avid.org) เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจ
– นักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 เป็นต้นไปทุกคนต้องเข้าร่วมนิทรรศการของโรงเรียน และร่วมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
– จัดการประชุมปฏิบัติการเรื่อง ‘เมื่อลูกเข้ามหาวิทยาลัย’ ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริมลูกให้ประสบความสำเร็จในการเรียน
เขายกตัวอย่างโรงเรียนที่นักเรียนทุกคนเป็นเด็กยากจน แต่ร้อยละ 90 ของนักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย (หรือวิทยาลัยชุมชน) กิจกรรมตัวอย่างข้างต้นเป็นกิจกรรมในบริบทของสหรัฐอเมริกา โรงเรียนไทยต้องปรับให้เข้ากับบริบทของเรา
กลยุทธ์หนุนสู่อาชีพและอาชีวศึกษา
โรงเรียนต้องไม่มุ่งให้นักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย (หรือวิทยาลัยอาชีวะ) เพียงอย่างเดียว ต้องดำเนินการเตรียมนักเรียนเข้าสู่อาชีพไปพร้อมๆ กันด้วย ตัวอย่างของอาชีพที่ควรให้นักเรียนได้ฝึก ได้แก่
- การลงโค้ดคอมพิวเตอร์ และพัฒนาซอฟต์แวร์
- ช่างอุตสาหกรรม (ช่างเชื่อม, ช่างก่อสร้าง, ช่างประปา)
- ช่างบริการวิทยุ โทรทัศน์ ช่างเทคโนโลยีการสื่อสาร ช่างระบบข้อมูล
- นักวิทยาศาสตร์การอาหาร เชฟ
- นักการตลาด นักธุรกิจ
- นักการเกษตร
- เทคนิคและธุรกิจการเลี้ยงสัตว์
- กิจการด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ
- กิจการรักษาความปลอดภัย และบังคับใช้กฎหมาย
ตัวอย่างข้างบนเป็นบริบทสหรัฐอเมริกา โรงเรียนไทยพึงปรับตามบริบทไทย และท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่
เขาแนะนำให้โรงเรียนจัดโปรแกรมการสอนทักษะอาชีพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่แค่เป็นกิจกรรมให้นักเรียนเลือกเรียนนอกเวลาเรียนหรือเป็นวิชาเลือก กิจกรรมนี้จำเป็นมากสำหรับโรงเรียนในเขตยากจน กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กวัยรุ่นลงอย่างมากมายและทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน
เขาแนะนำโมเดลการดำเนินการของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเสตส์ ที่ดำเนินการได้ผลดีมีชื่อเสียงมาก โดยร้อยละ 96 ของนักเรียนสอบผ่านการสอบชั้น ม.ปลาย ที่เข้มงวดของรัฐ โดยโมเดลดังกล่าวมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ
- ติดต่อกระทรวงศึกษาธิการของรัฐ เพื่อปรึกษาว่ามีลู่ทางผสมผสานการศึกษาเพื่ออาชีพ และการศึกษาเชิงเทคนิคเข้ากับกิจกรรมในโรงเรียนอย่างไรบ้าง
- เริ่มช้าๆ เพิ่มปีละ 1 โปรแกรม
- จัดมินิโปรแกรมที่ใช้เวลาน้อยกว่า ดังตัวอย่าง
– นักเรียนค้นคว้าและดำเนินการฝึกซ้อม กรณีเกิดเพลิงไหม้ จับตัวประกัน น้ำท่วม หรือมีการรังแกกัน
– นักเรียนพัฒนาความสัมพันธ์กับธุรกิจในท้องถิ่นเพื่อการฝึกงาน
– นักเรียนพัฒนาการดูงานภายในโรงเรียนเพื่อเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ เรียนรู้เรื่องต้นไม้ และการออกแบบสถาปัตยกรรม
– นักเรียนจัดทัวร์สถานประกอบการในท้องถิ่น ในช่วงที่มีการเรียนน้อย เช่น วันหยุดหรือในสัปดาห์ที่ไม่มีการสอบ
– นักเรียนจัดกิจกรรมร่วมกับองค์การลูกเสือ เนตรนารี หรือกิจกรรมเดินป่าในท้องถิ่น
เขาแนะนำว่า อย่าพยายามผลักดันนักเรียนทุกคนไปสู่เส้นทางเข้ามหาวิทยาลัย สำหรับนักเรียนที่ไม่พร้อมหรือไม่อยากเข้ามหาวิทยาลัย เขาแนะนำแหล่งความรู้สำหรับเด็กเหล่านั้นคือ
- หนังสือ Better than College: How to Build a Successful Life Without a Four-Year Degree by Blake Boles
- หนังสือ 40 Alternatives to College by James Altucher
- TED และ TEDx Talk แนะนำอาชีพ ค้นในกลุ่ม education
หน้าที่ของครูคือ ให้ศิษย์ได้เห็นลู่ทางอาชีพที่หลากหลายสำหรับเลือกตามที่ตนชอบและเหมาะต่อตัวเอง โดยครูไทยพึงปรับคำแนะนำเหล่านี้ให้เหมาะต่อบริบทไทย และบริบทท้องถิ่นของศิษย์
จะสมาทานชุดความคิด “ฉันได้พยายามคิดบวกแล้ว แต่เด็กเหล่านี้มาจากสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ฉันไม่คิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต” หรือ “ฉันเอาใจใส่เรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้ศิษย์เข้ามหาวิทยาลัยได้หรือพร้อมทำงาน”
หมายเหตุ: อ่านบทความ วิจารณ์ พานิช สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ตอน 1 และ ตอน 2