เหมือนเราจะ ‘ฟัง’ อยู่ทุกวัน แต่ทำไมยิ่งฟังยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งฟังยิ่งขัดแย้ง ยิ่งฟังยิ่งตัดสิน
ทฤษฎีตัวยู (Theory U) หรือการฟัง 4 ระดับโดยอ็อตโต ชาเมอร์ (Otto Scharmer) อาจารย์บรรยายอาวุโสที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT), และผู้ก่อตั้งสถาบัน Presencing อธิบายทฤษฎีการฟัง ซึ่งเหมือนจะง่ายแต่เราอาจไม่เคยนึกถึง ทั้งซับซ้อนและทำให้เข้าใจว่า ปัญหาของการสื่อสาร อาจเพราะเราฟังแค่ ‘เสียง’ แต่ไม่เคยฟัง ‘น้ำเสียง’ เลย
การฟัง เกี่ยวอะไรกับการศึกษา?
เพราะถ้าตั้งต้นว่า ความรู้ที่เกิดในห้องเรียนไม่เคยแยกขาดจากเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’ ของครูกับศิษย์ พ่อแม่กับลูก พ่อกับแม่ คนในกับคนนอกบ้าน คีย์เวิร์ดหนึ่งที่จะเปลี่ยนได้ คือการรับฟังอย่างมีคุณภาพ เพื่อเข้าใจโดยไม่ตัดสิน
และอินดิเคเตอร์ หรือเครื่องมือวัดประเมินผล (ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่) นี้อาจช่วยได้ อย่างน้อยลองสะกิดเตือนดูว่า เราฟังใครอย่างลึกซึ้งได้ และมักทนไม่ได้กับใครแม้เค้า(เหมือนจะ)เอ่ยคำเพียงแค่คำเพียง
อธิบายความหมายของการฟังทั้ง 4 ระดับโดย ณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรนักจัดการเรียนรู้เพื่อสำรวจโลกภายในตัวเอง
ทฤษฎีตัวยู (Theory U) หรือการฟัง 4 ระดับ
- ระดับแรก Downloading ฟังแบบดาวน์โหลด คือรู้แล้ว เอาความรู้ในอดีตเข้ามาอธิบาย อันนี้อาจจะฟังได้ตื้นที่สุด
- ระดับที่สอง Factual ฟังมากขึ้นหน่อยแต่ก็ยังเช็คกับเหตุผลของตัวเองอยู่ ถูกหรือไม่ถูก ฟังเพื่อโต้แย้ง ฟังเพื่อตอบ ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ เป็นการ debate คือฟังมากขึ้นแต่เต็มไปด้วยเงื่อนไข ถ้าไม่ถูกก็จะโต้กลับและตั้งคำถาม
- ระดับที่สาม Empathetic ฟังลึกลงไปหน่อยแต่จะไม่อยู่กับเหตุผลแล้ว แต่ฟังเพื่อหาความรู้สึก เพราะความรู้สึกสะท้อนสิ่งที่เค้าให้คุณค่า ทำไมเค้าพูดเรื่องนี้ อะไรมันมีคุณค่าสำหรับเค้า
- ระดับที่สี่ Generative ระดับลึกที่สุด การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เหมือนเป็นคนเดียวกัน เข้าไปนั่งอยู่ในใจ สัมผัสได้ เข้าใจถึงสิ่งที่เขาให้คุณค่า ได้รับผลจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เช่น รู้สึกสั่นสะเทือน พองโต ทราบซึ้ง ไม่ได้หมายความว่าเราจมอยู่กับอารมณ์ของใครอีกคน แต่ว่าเข้าใจมากกว่าแค่ความคิด เป็นการฟังเพื่อค้นหาตัวความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตัวตนใหม่ๆ หรือภาพในอนาคตที่ต้องการให้ปรากฏ
บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม คลิก: ‘ณัฐฬส วังวิญญู’ โปรดใช้วิจารณญาณในการฟัง-ถาม-เข้าใจอย่างลึกซึ้ง