- การอดนอนหรือนอนไม่พอในเด็กและวัยรุ่น ส่งผลต่อการเรียนรู้ ระบบภูมิคุ้มกัน สุขภาพของหัวใจ ระบบย่อยอาหาร ผิวพรรณ อารมณ์ และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
- การนอนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมีผลให้อารมณ์ดีกว่า เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่า
- เด็กควรนอน 8-10 ชั่วโมง/คืน ถ้าไม่รวมเวลางีบในรถหรือยามว่าง เด็กๆ ได้นอนครบรอบ กี่ชั่วโมงกัน?!
จริงไหมที่คนส่วนใหญ่ต้องตื่นเช้า ไม่ใช่เพราะไม่อยากนอนต่อ แต่เพราะต้องตื่นไปทำงานหรือไปเรียน!
โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนที่ต้องตื่นเช้ากว่าคนวัยทำงานด้วยซ้ำ ยิ่งนักเรียนในเมืองใหญ่ที่ใช้รถเป็นโต๊ะกินข้าว แล้วยังต้องฝ่ารถติดไปเรียน
การต้องตื่นก่อนเวลาอันควร และการนอนไม่หลับ เป็นการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอเรื้อรังดีๆ นี่เอง งานวิจัยทางสมองยืนยันว่า การนอนไม่เพียงพอส่งผลเสียต่อกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะถ้าอยู่ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น เพราะปัญหาเรื่องการนอนสร้างความกังวลและอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้า แถมยังกระทบต่อกลไกทางอารมณ์ในสมองที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทในระยะยาว
เอ๊ะ ชักน่ากลัว เพราะเป็นผลกระทบที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ค่อยๆ สะสมไปพร้อมกับการเติบโตของอายุ และสมอง
การบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘การนอนหลับและความเสี่ยงทางอารมณ์ในเด็ก’ (Sleep and Emotional Risk in Children) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์คารา เอ พาลเมอร์ (Cara A. Palmer) จากคณะจิตวิทยา (Department of Psychology) มหาวิทยาลัยฮุสตัน (University of Houston) จัดโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการเพิ่มพูนและจุดประกายความรู้ทางจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ได้แชร์ประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า…
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในช่วงไม่เกิน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ช่วยให้นักวิจัยสามารถค้นหาความลับในสมองมนุษย์ได้แม่นยำขึ้น และมีหลักฐานเชิงสถิติการันตีความถูกต้องนั้น
พาลเมอร์บอกว่า ชั่วโมงการนอนของลูกเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึง งานวิจัยจากศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Center for Disease Control) ปี 2016 ระบุว่า การนอนหลับไม่เพียงพอเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ยังไม่พอ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูให้มีพฤติกรรมการนอนที่ดี จะมีสภาวะอารมณ์ในเชิงบวกมากกว่า และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ต่ำกว่าเด็กที่ถูกจำกัดการนอน
แต่ถึงอย่างนั้น สภาพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันที่คล้ายกันทั่วโลก ทำให้เรื่องการนอนเป็นปัญหา เพราะเด็กและเยาวชนกำลังเผชิญหน้ากับภาวะ “ชั่วโมงนอนไม่เพียงพอ”
ถ้าอย่างนั้น เด็กและเยาวชนควรใช้เวลาเท่าไรใน 24 ชั่วโมงเพื่อการนอน? คำตอบคือ 8-10 ชั่วโมงต่อคืน
หลับไม่พอ ตื่นขึ้นมาแล้วอารมณ์ไม่ดีจริงหรือ?
พาลเมอร์ ใช้เวลาเก็บข้อมูลและทดลองกว่า 2 ปี เพื่อหาคำตอบว่า จำนวนชั่วโมงของการนอนหลับส่งผลต่อสภาพอารมณ์ของเด็กเมื่อตื่นนอนขึ้นมาจริงหรือไม่?
ทดลองสุ่มตัวอย่างนักเรียน 55 คน ช่วงอายุ 5-11 ปี การเก็บข้อมูลแต่ละครั้งใช้เวลาราว 2 อาทิตย์ เริ่มจากบันทึกพื้นฐานทางสรีรวิทยาบนใบหน้าของเด็กก่อน แล้วกำหนดไทม์ไลน์การนอนให้เด็กได้นอนเต็มอิ่มทุกคืน คืนละ 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 อาทิตย์ แล้วประเมินผลทางอารมณ์ครั้งที่ 1 หลังจากนั้นอาทิตย์ต่อไปปรับชั่วโมงการนอนให้เหลือ 8-10 ชั่วโมง 7 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ตามลำดับ แล้วจึงประเมินผลทางอารมณ์อีกครั้ง
การประเมินมีทั้งส่วนที่ให้เด็กประเมินอารมณ์ตัวเอง (self-reported reactivity) พร้อมๆ กับใช้โปรแกรมวิเคราะห์เข้ามาจับการเคลื่อนไหวบนใบหน้าของแต่ละคน การวิเคราะห์ตัวเองใช้วิธีให้เด็กกากบาทเลือกสีหน้าของตัวการ์ตูนบนกระดาษที่ตรงกับอารมณ์ของตัวเองมากที่สุดในขณะนั้น ส่วนการทำงานของโปรแกรมจะวัดตำแหน่งการยกของกล้ามเนื้อบนใบหน้า
เช่น การเคลื่อนไหวของใบหน้าขณะกำลังยิ้ม แสดงถึงภาวะอารมณ์เชิงบวก หรือ การเคลื่อนไหวของใบหน้าเวลาตกใจกลัว โกรธ เศร้า หรือทำหน้าขยะแขยง แสดงถึงภาวะอารมณ์ในเชิงลบ การวิเคราะห์จะรายงานออกมาเป็น ผลกระทบเชิงบวก (Positive Affect: PA) ผลกระทบเชิงลบ (Negative Affect: NA) และระดับความกังวล (State Anxiety: STAI-C) โดยทั้งสองวิธีจะประเมินขณะให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอที่สื่ออารมณ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบหลังจากตื่นนอน
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า การนอนไม่เพียงพอส่งผลต่อสภาพอารมณ์ของเด็กเมื่อตื่นขึ้น ทำให้อารมณ์เชิงบวก เช่น ความสดใส ร่าเริงของเด็กลดลง และมีความกังวลมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ เห็นได้จากท่าทีฉุนเฉียว การนิ่งเฉยหรือการแสดงสีหน้าไม่พอใจหากไม่สบอารมณ์กับอะไรบางอย่าง (จากการทดลองคือเมื่อเห็นภาพหรือวิดีโอเชิงลบ) สิ่งที่เด็กแสดงออกนี้ คือพฤติกรรมเสี่ยง เพราะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขันในชีวิตจริง เด็กอาจตกอยู่ในภาวะที่มีความหุนหันพลันแล่นจนคิดทำอะไรได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ยิ่งกว่านั้น พาลเมอร์ บอกว่า การอดนอนหรือนอนไม่พอในวัยเด็กและวัยรุ่น ส่งผลต่อการสร้างระบบการทำงานของร่างกายและสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น
- ลดความสามารถในการเรียนรู้ (cognitive function) ลองนึกถึงสภาพเวลานอนไม่พอแล้วตื่นขึ้นมารู้สึกงัวเงีย มึนเบลอ ไม่มีสมาธิเพราะสมองไม่เปิดรับ
- ลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (immune system)
- สุขภาพของหัวใจ (heart health) ระบบย่อยอาหาร (appetite and metabolism)
- ความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง (cancer risk) ทำให้ป่วยเป็นโรคได้ง่าย
- ผิวพรรณ (skin)
เรียกว่า กระทบระบบการทำงานของร่างกายตั้งแต่ภายในยันภายนอก รู้แบบนี้แล้วใครว่าเรื่องนอนเป็นเรื่องเล่นๆ เป็นแค่การพักผ่อนชิลๆ คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ให้เรื่องนอนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจริงจังให้มากขึ้น
เมื่อถามถึงวิธีการแก้ปัญหา พาลเมอร์ ให้คำตอบที่ง่ายที่สุดแต่เหมือนกำปั้นทุบดินมากที่สุดเช่นกัน ก็คือ “นอนให้มากขึ้น”
ส่วนจะทำได้แค่ไหน ท่ามกลางวิถีชีวิตและค่านิยมเรื่องการเรียนในปัจจุบัน ถือว่าเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ที่ผู้ปกครองและระบบสังคมต้องช่วยกันแก้ ขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่ของไทยทุกวันนี้ ไม่เพียงแค่ต้องตื่นเช้า แต่ใช้เวลากว่า 2 ใน 3 อยู่ในห้องเรียนทั้งในโรงเรียนและสถาบันกวดวิชาตั้งแต่วัยอนุบาล
แล้วจะดีไหมนะ ถ้าแบ่งเวลามานอนให้มากขึ้น!