- Gert Biesta นักการศึกษาผู้โด่งดังจากยุโรป ชี้ให้เห็นถึงสภาพการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าการศึกษาทำงานไม่ต่างจาก ‘เครื่องจักร’ ที่พยายามจะกำกับว่าอะไรที่เราควรเรียนรู้และผลลัพธ์ควรเป็นแบบไหน ราวกับว่าการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดผลลัพธ์สำเร็จรูปล่วงหน้าไว้และให้เราเดินตาม
- Biesta เสนอว่า การศึกษาควรเป็นสิ่งที่พาให้เราเห็นโลกความเป็นจริงจากสายตาของเราเอง ไม่ใช่สายตาของคนอื่น ดังนั้น เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ไม่มีวันที่เราจะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่แม่นยำและคาดการณ์ได้ราวกับเครื่องจักร
- การศึกษาต้องเปิดพื้นที่ให้กับความเสี่ยง ผ่าน 7 มโนทัศน์ทางการศึกษา (educational concepts) ได้แก่ ความสร้างสรรค์ (creativity) การสนทนาร่วม (communication) การสอน (teaching) การเรียนรู้ (learning) การรู้แจ้ง (emancipation) ประชาธิปไตย (democracy) และความพิเศษ (virtuosity)
ในห้วงเวลาที่การศึกษาถูกล็อกด้วยตัวชี้วัดมาตรฐานและสมรรถนะที่ต่างก็พยายามกำหนดทิศทางว่านักเรียนคนหนึ่งควรจะได้เรียนรู้และผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง พร้อมกับค้นหาวิธีการที่จะรับประกันว่าระหว่างที่นักเรียนกำลังไต่บันไดการเรียนรู้ไปทีละขั้นนั้น ความผิดพลาดจะต้องเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด การไม่เดินออกไปจากเส้นทางของการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และปัจจัยใดก็ตามที่รบกวนหรือมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้จะถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ (risk) ที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไป
การศึกษาจึงกลายเป็นแผนการที่คาดการณ์ได้ (predictable) ว่านักเรียนจะเดินไปอย่างไร พร้อมกับสร้างความมั่นคง (secure) และแข็งแรง (strong) ด้วยการสร้างกฎเกณฑ์และหลักฐานที่ชัดแจ้ง (scientific evidence) บางอย่างขึ้นมา เพื่อทำให้เครื่องมือต่างๆ เช่น เทควิธีการสอน การประเมิน ฯลฯ เกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
นี่คือใจความสำคัญตอนหนึ่งของหนังสือ ‘The Beautiful Risk of Education’ ปี 2014 เขียนโดย Gert Biesta นักการศึกษาผู้โด่งดังจากยุโรป เขาได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าการศึกษาทำงานไม่ต่างจาก ‘เครื่องจักร’ ที่พยายามจะกำกับว่าอะไรที่เราควรเรียนรู้และผลลัพธ์ควรเป็นแบบไหน ราวกับว่าการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดผลลัพธ์สำเร็จรูปล่วงหน้าไว้และให้เราเดินตาม ยิ่งเครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากเท่าไรก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่วางไว้ได้มากเท่านั้น
การศึกษาอาจต้องการ ‘ความเสี่ยง’ ไม่ใช่ ‘ความมั่นคง’
ในความคิดของ Biesta หากให้เปรียบเปรย การศึกษาเสมือนได้สร้างวงจำกัดพื้นที่ว่าอะไรคือเส้นเขตแดนที่นักเรียนได้รับอนุญาตให้เดินไป พร้อมกับหาวิธีที่จะทำให้พวกเขาอยู่ในเขตแดนนั้น หากนึกภาพไม่ออก เสมือนเรามีทุ่งหญ้าโล่งสุดสายตาที่เราไม่สามารถจินตนาการถึงขอบเขตของมันได้ แต่การศึกษาได้สร้างรั้วล้อมขึ้นมาในพื้นที่ใดพื้นหนึ่ง เพื่อให้เราดำเนินชีวิตอยู่ภายในนั้น รั้วที่ล้อมจึงต้องเป็นสิ่งที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้คนที่อยู่ในรั้วจะไม่ก้าวออกมา นี่คือวิธีคิดของ ปฏิฐานนิยม (positivism) ในการศึกษาแบบสมัยใหม่ (modern education) ที่พยายามทำให้ทุกสิ่งแคบลงมาเพื่อสามารถกำกับควบคุมและคาดการณ์ได้
หนังสือเล่มนี้อาจนับได้ว่าเป็นงานปรัชญาการศึกษาร่วมสมัยในช่วงปัจจุบัน ที่ Biesta ได้พยายามท้าทายวิธีคิดของปฏิฐานนิยม จากมุมมองหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) เขาได้กลับไปพิจารณาถึงสิ่งที่ถูกกีดกันออกไปจากการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม นั่นก็คือ ‘ความอ่อนแอ’ (weakness) ซึ่งเป็นอะไรก็ตามที่ถูกเห็นว่าจะนำมาซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ (risk) ต่อผลลัพธ์ที่วางไว้ สำหรับ Biesta การศึกษาเช่นนี้พยายายามจะรีดเค้นเอาความเสี่ยงออกไปอยู่ตลอดเวลา เพราะความเสี่ยงเป็นสิ่งที่รบกวนปลายทางที่คาดการณ์ไว้ นี่เท่ากับทำให้การศึกษาดูเป็นอะไรที่ทำให้นักเรียนต้องมองเห็นโลกความเป็นจริงให้ใกล้เคียงจากสายตาคนอื่น (ในนามของมาตรฐานบางอย่าง) ให้ได้มากที่สุด หรือสั้นๆ ก็คือ เรารู้อะไร แล้วอะไรที่เด็กยังไม่รู้ ต้องทำให้เด็กรู้ใกล้เคียงกับเรา
Biesta เสนอในสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาเสนอว่าการศึกษาควรเป็นสิ่งที่พาให้เราเห็นโลกความเป็นจริงจากสายตาของเราเอง ไม่ใช่สายตาของคนอื่น ดังนั้น เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ไม่มีวันที่เราจะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่แม่นยำและคาดการณ์ได้ราวกับเครื่องจักร เพราะมนุษย์มีความซับซ้อน ความไม่แน่นอน ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ‘ความเสี่ยง’ เกิดขึ้นเสมอในการศึกษา และเราก็ไม่ควรปฏิเสธมัน ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้รู้ดี’ กับ ‘ผู้ที่ยังไม่รู้ดี’ ที่ต้องคอยเติมช่องว่าระหว่างกันให้เต็ม หรือที่ Biesta เรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เจ้าอาณานิคม’ กับ ‘ผู้อยู่ใต้อาณานิคม’ แต่ความเสี่ยงได้เปิดให้เห็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดคิดล่วงหน้ามาก่อนได้ (สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้) ซึ่งเป็นการไต่ออกจากเส้นขอบเขตที่กำหนดไว้ และตรงนี้เองที่ความเป็นไปได้ต่างๆ จะเกิดขึ้น
ความสร้างสรรค์ การสนทนาร่วม และการรู้แจ้ง
จากจุดยืนเช่นนั้น Biesta เสนอว่าการศึกษาต้องเปิดพื้นที่ให้กับความเสี่ยง ผ่าน 7 มโนทัศน์ทางการศึกษา (educational concepts) ได้แก่ ความสร้างสรรค์ (creativity) การสนทนาร่วม (communication) การสอน (teaching) การเรียนรู้ (learning) การรู้แจ้ง (emancipation) ประชาธิปไตย (democracy) และความพิเศษ (virtuosity) โดยอิทธิพลหลักทางความคิดของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งมาจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เช่น Jacques Derrida Michel Foucault และ Jacques Rancière อย่างไรก็ตามในข้อเขียนนี้จะขอพูดถึงบางมโนทัศน์เท่านั้น
สำหรับ Biesta ‘ความสร้างสรรค์’ (creativity) ไม่ได้หมายถึงการเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ แต่หมายถึงการศึกษาที่เป็นการกระทำอันสร้างสรรค์ (creative act) ที่ก่อให้เกิดอัตวิสัยของมนุษย์ (human subjectivity) ขึ้นมาไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง นั่นคือการที่เราจะเห็นโลกจากสายตาของเราเอง และเปิดทางให้สิ่งใหม่ สิ่งซึ่งไม่เคยมีมาก่อนปรากฏสู่โลก สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเปิดให้มี ‘ความเสี่ยง’ การศึกษาจึงไม่ใช่การควบคุมให้นักเรียนอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้รู้ดี ในทางตรงกันข้าม มันคือการเชื่อมั่น (trust) ในความเสี่ยง ว่าเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเติบโตไปในทางใดทางหนึ่ง ด้วยเหตุผลเช่นนี้ Biesta มองว่าการศึกษาจำเป็นต้องมี ‘การสนทนาร่วม’ (communication) อยู่เสมอ บ่อยครั้งการศึกษาถูกจัดวางให้เป็นการถ่ายทอดข้อมูลจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งอีกแหล่งหนึ่ง จึงมาพร้อมกับใครบางคนที่จะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่า ว่าใครควรรู้หรือไม่รู้อะไร เป็นความสัมพันธ์แบบอาณานิคม ด้วยการที่เราต้องคอยอาศัยให้คนอื่นมายืนยันและบอกเราว่าสิ่งที่เราเห็นและรู้สึกนั้นแท้จริงคืออะไร จากนั้นเราจึงจะสามารถ ‘รู้แจ้ง’ (emancipation) ได้ ผ่านการยืนยันของคนอื่นที่ ‘รู้’ มากกว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาไม่ใช่ความสร้างสรรค์ และไม่ใช่การรู้แจ้ง แต่เป็นการควบคุมให้เรามองเห็นในสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้เห็นตั้งแต่แรก ดังนั้น Biesta จึงเสนอ communication ในฐานะที่เป็นการสนทนาร่วมระหว่างบุคคลกับบุคคลด้วยกัน (จากรากฐานปรัชญาของ Dewey) ซึ่งเป็นกระบวนการแบ่งปันความหมายระหว่างกัน ไม่ใช่การส่งสารให้ได้ความแม่นยำ การแบ่งปันระหว่างความหมายดูเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมนุษย์ได้เผชิญบทสนทนาที่จะสื่อสารร่วมกัน มันเปิดกว้างให้ ‘ความเป็นอื่น’ (other) ที่เคยถูกกีดกันจากการสื่อสารในแบบอาณานิคมได้ปรากฏขึ้น
ในอีกแง่หนึ่ง การศึกษาในฐานะการสนทนาร่วมคือ ‘การพังทลายของฉันทามติ’ (dissensus) ของสิ่งต่างๆ ที่ถูกจัดระเบียบไว้ (police) ให้เรารับรู้ความหมาย พร้อมๆ กับเปิดพื้นที่เพื่อร้อยเรียงและจัดวางมันใหม่ (politics) หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คงคล้ายกับ ‘installation art’ หรือศิลปะจัดวาง ที่เราจะสร้างสรรค์และจัดวางสิ่งต่างๆ ออกไปจากสำนึกเดิมๆ
เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ อาจต้องยอมรับตรงๆ ว่า งานปรัชญาของ Biesta เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก แต่ก็มีคุณูปการสำคัญไม่น้อยที่จะพาให้เรามองย้อนกลับมาถกเถียงถึงความหมายและเป้าหมายของการศึกษา
จริงหรือไม่ที่การศึกษาต้องเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ราวกับเป็นยอดมนุษย์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสมบูรณ์หรือไม่ ใครกันที่บอกเราว่ามนุษย์ควรเป็นเช่นนั้น หรือจริงๆ แล้วมนุษย์มีความซับซ้อน ความบกพร่อง และผิดพลาดเสมอ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จึงดูไม่มีทางเป็นได้ หรือแท้จริงการศึกษาควรให้เขาได้เติบโตในแบบที่เขาสามารถจะเป็นได้ ตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถยกมาพูดคุยได้อย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้ ก็คือ ร่าง พรบ.การศึกษา ที่มีผู้รู้ได้เขียนกำหนดเกณฑ์ที่ควรได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยไว้อย่างถี่ถ้วน พวกเขาคาดหวังไว้ว่านักเรียนจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีคุณลักษณะบางอย่างที่ต้องไปให้ถึง ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็นความเสี่ยงที่กลัวว่าจะไม่เป็นไปตามลักษณะที่วางไว้ ต้องถูกเขียนลงไปในกฎหมายให้มากที่สุด
หากมองจากมุมของ Biesta เราอาจพูดได้ไหมว่านี่คือความพยายามทำให้การศึกษามั่นคง แข็งแกร่ง และคาดการณ์ได้ราวกับเครื่องจักร มากกว่าจะเป็นการกระทำอันสร้างสรรค์