- เราจะเปลี่ยนโลกที่เราไม่รู้ให้เป็นโลกที่เรารู้ทุกอย่างได้อย่างไร ส่วนหนึ่งจากการพูดในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย” โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ณ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา
- 3 จุดเปลี่ยนของโลกนั่นคือ โควิด-19, เทคโนโลยี เเละทัศนคติของคนต่อระบบการศึกษาไทย เป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่ต่างจากการล้มของแถวโดมิโน เมื่อจุดหนึ่งล้มลง ก็ต่างกระทบกระแทกต่อกันไปเป็นทอดๆ
- ชวนหาคำตอบว่า ทักษะของผู้เรียนเเบบไหนที่การศึกษาควรเข้าไปเติมเต็มให้พวกเขาอยู่รอดได้ในโลกที่ไม่เเน่นอนเเบบนี้
โควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทรนด์ของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยอยู่เเล้วถูกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินชีวิตเเละพฤติกรรมของคนที่ต่างจากเดิม ทำให้คนรับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางใหม่ๆ หลากหลายเเพลตฟอร์ม ส่งอิทธิพลต่อความคิดของมนุษย์ต่อปรากฏการณ์ทางสังคม
ทำให้เราเดินมาอยู่ในจุดที่คำถามส่วนใหญ่ของมนุษย์ยุคนี้ไม่ได้มองว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนเเปลงอย่างไร เเต่กำลังจินตนาการว่าถ้าโลกเปลี่ยนไป พวกเขาจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดบนความเปลี่ยนเเปลงนี้
นี่คือมุมมองของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บนเวที TEP@Rayong2020 ในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย” ณ หอประชุม 40 ปี โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา
ดร.สมเกียรติ มองว่าผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากโควิด-19 ได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีจนส่งผลต่อความคิดของผู้คน กล่าวคือ วาระของโลกไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราเท่านั้น เเต่มีผลต่อการจัดการศึกษาที่จะต้องเปลี่ยนเเละปรับตัวไม่ต่างจากมนุษย์คนหนึ่ง
ตลอดการเสวนา ดร.สมเกียรติ ทำให้เห็นว่า 3 จุดเปลี่ยนของโลก คือ โควิด-19, เทคโนโลยี เเละทัศนคติของคนต่อระบบการศึกษาไทย เป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่ต่างจากการล้มของแถวโดมิโน เมื่อจุดหนึ่งล้มลง ก็ต่างกระทบกระแทกต่อกันไปเป็นทอดๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน ภาคพลังงาน เเละภาคการศึกษา พร้อมชวนหาคำตอบว่า ทักษะของผู้เรียนเเบบไหนที่การศึกษาควรเข้าไปเติมเต็มให้พวกเขาอยู่รอดได้ในโลกที่ไม่เเน่นอนเเบบนี้
จุดเปลี่ยนที่1 โควิด-19: ทดลอง สังเกต ตั้งคำถาม เครื่องมือรู้ทันโลกหลังโควิด 19
“โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของมนุษยชาติ ซึ่งระบบการศึกษาและการเรียนก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปด้วย”
ดร.สมเกียรติ เปรียบเทียบจุดเปลี่ยนที่ 1 คือ เจ้าโควิด-19 ว่าเป็นการกำเนิดของศักราชใหม่ เพราะโควิด 19 จะเปลี่ยนโลกของเราไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเเง่โรคระบาด เศรษฐกิจที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนเเปลงพฤติกรรมเเละวิถีชีวิตของเรา ใครจะไปคิดว่าในปี 2020 เราจะต้องใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ทั้งยังเปลี่ยนเเปลงสังคม การเมือง เเละทัศนคติของคนในสังคมจากที่มีอยู่เเล้วให้เกิดเร็วขึ้น
“โควิดเร่งการเปลี่ยนเเปลงหรือเทรนด์ที่มีอยู่เเล้วให้เกิดเร็วขึ้นกว่าเดิม ที่เห็นได้ชัดก็คือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การประชุมหรือการเรียนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เราไม่เคยคิดว่าต้องทำ เเต่ต้องทำเมื่อเกิดโควิด”
โรคโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงโลกที่ผลิกผันซึ่งคุณลักษณะของมันสามารถย่อได้เป็น VUCA ย่อมาจาก Volatility (เปลี่ยนไว) Uncertainty (ไม่แน่นอน) Complex (ซับซ้อน) Ambiguity (คุมเครือ) เป็นโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ว่าคืออะไร หรือ Unknown Unknown ซึ่งเราจะอยู่กับโลกแบบนี้อย่างไร และระบบการศึกษาจะช่วยให้เราอยู่กับโลกแบบนี้ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำให้ Unknown Unknown (สิ่งที่เราไม่รู้ว่าคืออะไร) กลายเป็น Known Unknown (รู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร)ได้ ผ่านการสังเกต ทดลอง เช่น ถ้าเราไม่รู้ว่าวัคซีนจะออกมาเมื่อไร สิ่งที่เราทำได้คือติดตามข่าวสารในโลก ถ้าเราอยากรู้ว่าการศึกษาในโลกจะเปลี่ยนไปหลังโควิดอย่างไรเราอาจจะดูว่าประเทศจีนหรือฟินแลนด์จัดการศึกษาอย่างไร ลองตั้งสมมติฐานว่าถ้าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงจุดที่เป็น Known Unknown เราจะรู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร
ทั้งนี้ เราสามารถเปลี่ยน Known Unknown ให้กลายเป็น Known Known ได้ ผ่านการเปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นอีกหนึ่งทักษะในการช่วยประเมินความเป็นไปได้ที่มีอยู่หลายทางให้เเคบลง เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
สามารถเปลี่ยน Unknown Known ให้กลับมาเป็น Known Known ได้ผ่านการจัดการความรู้ (Knowledge Management)
ทักษะทั้งหมดนี้คือสิ่งที่โควิดกำลังบอกว่า หากโลกเปลี่ยน ทักษะของคนทำงานเเละการเรียนรู้ในอนาคตก็จะต้องเปลี่ยนตาม เพราะทุกคนต่างจะยืนอยู่บนสิ่งที่เรา ‘รู้’ มากกว่า ‘ความไม่รู้’
จุดเปลี่ยนที่ 2 เทคโนโลยี: เทคโนโลยีการเรียน และ ปัญญาประดิษฐ์
จุดเปลี่ยนที่ 2 ในมุมมองของ ดร.สมเกียรติ ที่เป็นผลจากโควิด-19 นั่นก็คือ การเปลี่ยนเเปลงด้านเทคโนโลยีที่ถูกกระตุ้นให้เกิดเร็วขึ้นเนื่องจากตอนนี้นักเรียนไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนก็สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ เพราะมีทั้งการเรียนที่โรงเรียน (On ground หรือ On Site) เรียนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ (On Air) เเละเรียนจากที่ไหนก็ได้ เเต่ยังคงโต้ตอบเเละมีปฏิสัมพันธ์เหมือนอยู่ในห้องเรียนได้ (Online)
รวมถึงอิทธิพลจากความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง เช่น OpenAI ของ Elon Musk สามารถทำคำสั่งซับซ้อนได้ อย่างเช่น การใช้แขนหุ่นยนต์แก้ปัญหารูบิคได้ เล่นเกมซ่อนหา เข้ามาต่อเติมภาพที่ขาดหายไป ไม่ต่างจากการทำงานของมนุษย์คนหนึ่งเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีตอบโจทย์การเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
ดร.สมเกียรติเชื่อว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเเค่ไหน เเต่เรายังคงต้องการทักษะของคนที่มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ
- A – Attitude : ทัศนคติในการใฝ่หาความรู้ มีความใคร่รู้ อดทน เเละมีความรับผิดชอบ
- S – Skill: ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร เเละการทำงานเป็นทีม
- K – Knowledge: ความรู้ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
“การเรียงลำดับตัวอักษร เอา A – Atiitude หรือทัศนคติขึ้นมาก่อนเพราะทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญต่อโลกที่เปลี่ยนไว ไม่เเน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ รองลงมา คือ S-Skill หรือทักษะต่างๆ เพื่อใช้ในการทำงาน เเละสุดท้ายคือ K-Knowledge ความรู้ เเต่การศึกษาในปัจจุบันสอนเรื่องทัศนคติกับทักษะน้อยเกินไป เเละสอนความรู้มากเกินไป”
จุดเปลี่ยนที่ 2.1 ทักษะศตวรรษที่ 21 ++
นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังมองว่าทักษะศตวรรษที่ 21 เเบบเดิมอาจไม่เพียงพอ เขาจึงเสนอการต่อยอดทักษะเดิมไปอีกหนึ่งขั้น หรือทักษะศตวรรษที่ 21 ++ ที่จะทำให้นักเรียนมีทักษะที่ตอบโจทย์ปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยีเเละโควิด-19 ได้ กล่าวคือ นอกจากทัศนคติ (Attitude) ของผู้เรียนที่จะชอบเรียนรู้เเล้ว ต้องมีจิตใจเปิดกว้างมองว่าความไม่เเน่นอนเป็นเรื่องปกติ เปิดใจรับสิ่งใหม่เสมอ กล้าทดลองเเละยอมรับความล้มเหลว
“คนที่มี Fix mindset จะไม่สามารถอยู่ได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การกล้าทดลองและยอมรับความล้มเหลวคือจุดสำคัญ ทุกวันนี้โรงเรียนเเละระบบการศึกษาของเรายอมรับให้มีการทดลอง ยอมรับให้มีการล้มเหลวได้หรือไม่”
ส่วนของการเติมเต็มทักษะ (Skill) เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การมองภาพใหญ่โดยใช้ร่วมกับทักษะการสังเกต ทดลองเเละการตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้น
“การอาศัยทักษะต่างๆ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการภาพโลกที่เราไม่รู้ให้เราเห็นภาพว่า ถ้าในอนาคตโลกเป็นเเบบนี้ เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร”
สุดท้ายคือการให้ความรู้ (Knowledge) เเต่ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนเเต่เป็นการเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก เพราะตอนนี้โลกเชื่อมต่อกันโดยอาศัยเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลก
เมื่อโลกเปลี่ยน การศึกษาจะผลิตทักษะศตวรรษที่ 21++ ให้กับผู้เรียนอย่างไร นับเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทยว่าจะใช้เวลานานเท่าไรในการต่อสู้กับเเนวคิดเเละกรอบการศึกษาเเบบเดิมกว่าจะนำไปสู่การพลิกหน้าระบบการศึกษาไทยที่จะทำให้นักเรียนไทยอยู่รอดบนเส้นความเปลี่ยนเเปลงเเละความไม่เเน่นอนที่เกิดขึ้นครั้งนี้
จุดเปลี่ยนที่ 3 ทัศนคติ: ปรากฏการณ์ม็อบนักเรียนที่ทำให้เราต้องก้าวทันความคิด(คนใน)ระบบการศึกษา
“โรงเรียนไทยเปลี่ยนไม่ทันเพราะยังติดกับความคิดเเบบเดิมอยู่ เช่น เเม้จะออกกฏหมายห้ามลงโทษนักเรียนที่ถือเป็นการหักไม้เรียวเเต่ทุกวันนี้การใช้ไม้เรียวยังเกิดทั่วไป ทำให้ยังมีการคุกคามนักเรียนในสถานศึกษาจนเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของม็อบนักเรียนที่เกิดขึ้นอยู่ นี่คือปัญหาที่โลกเเละกติกาเปลี่ยนไปเเล้ว เเต่การศึกษาตามไม่ทัน”’
ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ม็อบนักเรียนเเละพูดถึงข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเเต่งกาย ทรงผม หรือหลักสูตรการเรียนที่ทำให้นักเรียนคิดว่าระบบการศึกษาไทยยังล้าหลังเเละก้าวไม่ทันความเปลี่ยนเเปลงของโลก
“ข้อเรียกร้องของนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี่คือจุดเปลี่ยนการศึกษาในโรงเรียนว่า การศึกษาตามทันเเละความเข้าใจข้อเรียกร้องของนักเรียนได้หรือไม่ หรือการศึกษาจะอยู่ที่เดิม”
เขายังชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เเค่โควิด-19 เเละการเปลี่ยนเเปลงทางด้านเทคโนโลยีที่การศึกษาจะต้องตามให้ทัน เเต่จะต้องเท่าทันทัศนคติของนักเรียนเเละผู้ปกครองที่เปลี่ยนไปเช่นกัน กล่าวคือทัศนคติของนักเรียนที่กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญมากขึ้นเเละการเลี้ยงดูของพ่อเเม่ที่เรียนรู้ว่าสิ่งไหนจะเหมาะสมกับลูกมากที่สุด
“10 ปีที่ผ่านมาพ่อเเม่รู้เเล้วว่า ถ้าต้องการให้ลูกมีเเรงบันดาลใจภายในตนเอง การบังคับเหมือนระบบการศึกษาเเบบเดิมใช้ไม่ได้เเล้ว ปรากฏการณ์ม็อบนักเรียนคือความท้าทายของระบบโรงเรียนเเละการศึกษาว่า นักเรียนเเละพ่อเเม่เปลี่ยนไปมากเเล้ว เเล้วโรงเรียนเปลี่ยนหรือยัง”
ทั้ง 3 จุดเปลี่ยนสะท้อนให้เห็นว่า หากระบบการศึกษาต้องการจะยืนอยู่บนยอดเขาเพื่อให้เห็นภาพรวมของความเปลี่ยนเเปลง เพื่อที่จะได้วางเเผนการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกที่มีการเปลี่ยนเเปลง ระบบการศึกษาจะต้องเดินออกจากกรอบเดิม เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ เเละเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน