- การประกวด การแข่งขัน และรางวัล กลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาของแทบจะทั่วโลก ผู้เปรียบเทียบย่อมต้องการให้เด็กๆ ที่มีผลงานดี เกิดความภาคภูมิใจ จนโน้มนำให้เกิดความพยายามทำผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ หรือกล้ายอมรับความท้าทาย ทำสิ่งที่ยากกว่าเดิม แต่การให้รางวัลทำนองนี้ ทำให้เกิด “ผู้ชนะ” จำนวนน้อยนิด แต่ “ผู้แพ้” จำนวนมาก
- นักวิจัยเชื่อกันว่าตัวเลือกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ ชมแบบเปรียบเทียบตัวเด็กคนนั้นในตอนนี้กับก่อนหน้านี้ เรียกว่า Temporal Comparison โดยไม่ต้องไปใส่ใจกับผลที่คนอื่นทำได้ การเปรียบเทียบแบบนี้จึงเป็น “การแข่งขันกับตัวเอง” อย่างแท้จริง
เรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากคือ จะชมลูกอย่างไร แค่ไหนจึงจะพอดี คือทำให้เกิดความภาคภูมิใจ แต่ไม่เหลิงจนเสียคน หรือก่อปัญหาคาดไม่ถึงในภายหลัง?
ไม่ง่ายเลยจริงๆ นะครับ
ผู้ปกครองมักจะถามพวกเด็กๆ ว่า “ได้เกรดเท่าไหร่?” ซึ่งก็มักจะตามด้วยคำถามต่อมาว่า “ใครได้คะแนนสูงสุดในห้อง?” การเปรียบเทียบทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วโลกจนเป็นเรื่องสามัญมากๆ นะครับ การเปรียบเทียบลักษณะนี้ในทางวิชาการเรียกว่าเป็น การเปรียบเทียบเชิงสังคม (social comparison) ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า ส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ได้รับการเปรียบเทียบแบบนี้เป็นอย่างมาก
มีครูอาจารย์และโรงเรียนจำนวนมากที่ใช้วิธีประกาศ “นักเรียนดีเด่น” ทั้งแบบเรียนดีหรือกีฬาเด่น ทั้งแบบหน้าห้องเรียนหรือในหอประชุมท่ามกลางนักเรียนทั้งโรงเรียน พวกพ่อแม่ก็มักจะยกย่องลูกๆ ด้วยความปราบปลื้มใจเวลาผลการเรียนเหนือกว่าเพื่อนๆ ในชั้น
การประกวด การแข่งขัน และรางวัล กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของการศึกษาในระบบการศึกษาของแทบจะทั่วทั้งโลกไปแล้ว บางครั้งรางวัลก็ใหญ่มาก อย่างเช่น การแข่งขันสะกดคำที่ชื่อ Scripps National Spelling Bee มีเงินรางวัลสูงถึง 50,000 เหรียญ (ราว 1.5 ล้านบาท) พร้อมถ้วยรางวัล
แน่นอนว่าการเปรียบเทียบแบบนี้ ผู้เปรียบเทียบย่อมมีจุดมุ่งหมายหรือความตั้งใจดี คือ ต้องการให้เด็กๆ ที่มีผลงานดี เกิดความภาคภูมิใจ จนโน้มนำให้เกิดความพยายามที่จะทำผลงานดีขึ้นไปเรื่อยๆ หรือกล้าจะยอมรับความท้าทาย ทำสิ่งที่ยากกว่าเดิมขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่การให้รางวัลทำนองนี้ ทำให้เกิด “ผู้ชนะ” จำนวนน้อยนิด แต่ “ผู้แพ้” จำนวนมาก
ข้อเสียสำคัญนอกเหนือจากเรื่องคนได้มีน้อย คนเสียมีเยอะแล้ว ยังวิจัยพบกันอีกด้วยว่า วิธีการแบบนี้ส่งผลเสียกับตัวเด็กที่ได้รับคำชมเชยได้ด้วยเช่นกัน คือไปกระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบกับคนอื่นรอบตัวตลอดเวลา จนเสพติดการแข่งขัน ราวกับติดอยู่ในกับดักที่เป็น “วงจรอุบาทว์” แบบหนึ่ง
ผลกระทบอาจจะรุนแรงมากขึ้นไปอีกในกรณีที่เด็กเก่งมากๆ และแทบไม่เคยแพ้ใครเลย จนวันหนึ่งเกิดแพ้การแข่งขัน ก็อาจเป็นเรื่องยากในการยอมรับผลลัพธ์เช่นนั้น อาจถึงกับถอดใจหรือเลวร้ายกว่านั้นคือ ถึงกับฆ่าตัวตาย…ก็เคยมีมาแล้ว
ทุกคนชนะ และทุกคนต้องได้รางวัล?
วิธีการแบบหนึ่งที่ใช้แก้ไขผลเสียแบบนี้ และรู้จักกันอย่างกว้างขวางได้มาจากหนังสือเด็กเล่มโด่งดังที่ลูอิส แครอลล์ แต่งคือ การผจญภัยของอลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventure in Wonderland) ที่ตัวโดโด้ นกยักษ์ กล่าวว่า “ทุกคนชนะ และทุกคนต้องได้รางวัล”
อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการนี้เองก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาแบบนี้ได้ทั้งหมด ต่อให้เด็กๆ ได้รับถ้วยรางวัลกันทุกวัน แต่ละคนก็ยังมีความรู้สึกที่ “ไว” พอจะรู้สึกเปรียบเทียบกันเองอยู่ดีว่า ใครทำได้ดีกว่าใครในกลุ่มเดียวกัน
เด็กที่ทำได้ดีมากๆ จะรู้สึกว่า ไม่ยุติธรรมกับตัวเองที่ได้รับรางวัลเดียวกันกับเด็กที่ทำได้ไม่ดีเท่าหรือทำได้แย่กว่ามาก ในสถานที่ทำงาน คนที่ทุ่มเทมากๆ แต่ผลการประเมินได้แทบไม่ต่างจากคนอื่นในทีม จะห่อเหี่ยวจนอาจจะอยากเปลี่ยนที่ทำงานได้
กลับมาที่เด็กๆ อีกที เด็กกลุ่มแรกมักจะมองเด็กกลุ่มหลังอย่างดูถูก และยังรู้สึกว่าตัวเองควรได้รับการยกย่องและชื่นชมมากกว่านั้น หนักยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้รับคำชมบ่อยๆ มีแนวโน้มจะเกิดอาการหลงตัวเองได้มาก จนบางคนเสพติดความคิดแบบนี้เลยทีเดียว
คำถามสำคัญจึงเป็นว่า จะชมอย่างไรให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง กระตุ้นให้ก้าวหน้าไปอย่างดี แต่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียข้างเคียงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น?
Temporal Comparison ชมเพื่อให้แข่งขันกับตัวเอง
ปัจจุบันนักวิจัยเชื่อกันว่าตัวเลือกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ ชมแบบเปรียบเทียบตัวเด็กคนนั้นในตอนนี้กับก่อนหน้านี้ครับ (เรียกว่า temporal comparison) โดยไม่ต้องไปใส่ใจกับผลที่คนอื่นทำได้ การเปรียบเทียบแบบนี้จึงเป็น “การแข่งขันกับตัวเอง” อย่างแท้จริง
คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม [1] ทดสอบวิธีการแบบนี้และพบว่า มีประสิทธิภาพดี วิธีการที่พวกเขาทำก็คือ หาอาสาสมัครที่เป็นเด็กมาได้ 583 คน อายุเฉลี่ย 11.7 ปี โดยเป็นเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนต่างๆ
เขานำเด็กๆ มาทดลองทำแบบฝึกหัดการอ่านและการเขียน โดยออกแบบมาเป็นพิเศษตามวัตถุประสงค์คือ จะใช้เปรียบเทียบเชิงสังคม ใช้เปรียบเทียบกับตัวเองแบบก่อนและหลัง และไม่เปรียบเทียบใดๆ เลย โดยกลุ่มหลังสุดนี้ใช้เป็นกลุ่มควบคุม เอาไว้ช่วยแปลผล
สิ่งที่พบจากการทดลองคือ พวกที่เปรียบเทียบกับคนอื่นหรือกับตัวเอง จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ แต่เฉพาะพวกหลังเท่านั้นที่ไม่ไปไกลถึงขนาดทำให้รู้สึก “เหนือกว่าคนอื่น” ตามมา หากเปรียบเทียบกันแล้ว พวกที่เปรียบเทียบกับตัวเองจะเกิดความรู้สึกรับรู้เรื่องความก้าวหน้าของตนเองมากกว่า อันนี้ก็ตรงไปตรงมานะครับ
แต่ที่น่าสนใจคือ ยังมีความคิดในลักษณะที่มองไปข้างหน้าหรือคิดถึงอนาคตมากกว่า
ขอยกตัวอย่างที่พบในการทดลอง เช่น ในกรณีของการเปรียบเทียบเชิงสังคม มีเด็กผู้หญิงอายุ 9 ขวบคนหนึ่งเขียนว่า “หนูร้องเพลงเก่งกว่าเพื่อน หนูร้องเพลงได้ แต่คนอื่นร้องไม่ได้ หนูว่าหนูเป็นคนสำคัญมาก หนูชอบร้องเพลง หนูจะร้องเพลงไปเรื่อยๆ เพราะหนูเก่งที่สุด”
ในทางตรงกันข้าม เด็กหญิงอายุ 13 ปีคนหนึ่งที่ใช้วิธีเปรียบเทียบกับตัวเองเขียนว่า “ตอนแรก หนูไม่มีเพื่อนมากนัก แต่ถึงจุดหนึ่ง หนูก็มีเพื่อนเยอะขึ้น หนูเริ่มจากไปนั่งข้างเพื่อนที่ไม่รู้จักสักคน แล้วสุดท้ายแต่ละคนก็จะกลายมาเป็นเพื่อนรักของหนู ตอนนี้หนูมีเพื่อนเยอะแยะเลย หนูรู้สึกดีและมีความมั่นใจ”
กล่าวโดยสรุปแล้ว งานวิจัยนี้ชี้ว่าเด็กๆ ที่โตมากับการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือเปรียบเทียบเฉพาะกับตัวเองในอดีต ต่างก็แสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวเองเหมือนๆ กัน
อย่างไรก็ตาม การได้รับคำชมแบบเปรียบเทียบกับคนรอบข้าง อาจส่งผลเสียคือทำให้เกิดความต้องการจะทำตัวเหนือกว่าเพื่อนๆ ในขณะที่พวกที่เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต ไม่เกิดความต้องการทำนองนี้ เพราะจะขยับเป้าหมายไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยไม่เอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จึงไม่เกิดผลเสียข้างเคียงดังกล่าว
เรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์น่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?
นักวิจัยเชื่อว่าทั้งพ่อแม่และครูอาจารย์สามารถชมเชยเด็กๆ ได้ เพื่อให้พวกเขาพัฒนาตนเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ และเดินหน้าไปอย่างถูกทิศถูกทาง
แต่ที่สำคัญคือ คุณครูอาจใช้เครื่องมือหรือเทคนิคที่คอยติดตามความก้าวหน้าหรือพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กแต่ละคนได้ และใช้ข้อมูลจากวิธีการดังกล่าวมาคอยกระตุ้นให้เด็กๆ ท้าทายตัวเอง โดยไม่เอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
ความก้าวหน้าแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ควรค่าแก่การชมเชยในกรณีนี้ เพราะไม่มีผลข้างเคียงในทางลบใดๆ
วิธีการนี้ไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล” และเราไม่ควรผลักดันเด็กๆ ให้เอาชนะตัวเองอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน เพราะการจะก้าวหน้าได้ ย่อมต้องเอาชนะความยากลำบากบางอย่างเสมอ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะล้มเหลวและไปต่อไม่ได้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว
การดูแลให้เด็กๆ มีแนวคิดว่า “ความล้มเหลว” เป็นเรื่องปกติ จึงเป็นเรื่องดีและควรทำควบคู่ไปด้วยเสมอ คราวนี้ก็รู้แล้วนะครับว่า จะชมลูกหรือลูกศิษย์อย่างไรให้พอเหมาะ พอดี
เอกสารอ้างอิง
1. Gürel, Ç., Brummelman, E., Sedikides, C., & Overbeek, G. (2020). Better than my past self: Temporal comparison raises children’s pride without triggering superiority goals. Journal of Experimental Psychology: General, 149(8), 1554–1566. https://doi.org/10.1037/xge0000733