- เด็กๆ กำลังมองเห็นผู้ใหญ่ทำแต่ตัวอย่างที่ไม่ดี เขาจะจดจำภาพการกระทำแย่ๆ ไม่ว่าจะทั้งต่อหน้า ในโลกออนไลน์ หรือจากสื่อก็ตาม
- เด็กส่วนใหญ่รู้ว่าการแสดงความเคารพต่อคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ และรู้ว่าสามารถเคารพอีกฝ่ายได้แม้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
- การเคารพจากการข่มขู่อาจทำให้ปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้สร้างความเคารพต่อกันอย่างแท้จริง และความเคารพต่อกันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อยอมรับคุณค่าภายในและความเท่าเทียม
- 97 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ บอกว่า พวกเขาอยากเห็นผู้ใหญ่เคารพกันมากกว่านี้
งานวิจัยของ Anti-Bullying Alliance มูลนิธิเพื่อการต่อต้านการรังแกในอังกฤษระบุว่า ผลการสำรวจเด็กอายุ 11-16 ปีจำนวน 1,001 คน ชี้ให้เห็นว่า เด็กๆ กำลังมองเห็นผู้ใหญ่ทำแต่ตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งเด็กในปัจจุบันสามารถจดจำภาพการกระทำแย่ๆ เหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะทั้งต่อหน้า ในโลกออนไลน์ หรือจากสื่อก็ตาม
97 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ บอกว่า พวกเขาอยากเห็นผู้ใหญ่เคารพกันมากกว่านี้
งานวิจัยนี้เผยแพร่ใน Anti-Bullying Week งานประจำปีของ Anti-Bullying Alliance โดยเกิดขึ้นหลังจากมีรายงานเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแกในพื้นที่หลายแห่งของประเทศอังกฤษ รวมถึงในตึกรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์
ผู้ใหญ่จ๋า เคารพกันหน่อย
มาร์ธา อีแวนส์ (Martha Evans) ผู้อำนวยการของ Anti-Bullying Alliance บอกว่า “เด็กๆ จะมองดูพ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ เป็นแม่แบบของพฤติกรรมที่ยอมรับและสามารถเลียนแบบได้”
“ถ้าตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่า เด็กๆ มองเห็นผู้ใหญ่ต่างกลั่นแกล้งและไม่เคารพกัน เราคงต้องถามตัวเองแล้วล่ะว่า ผู้ใหญ่จะทำอะไรเป็นแบบอย่างที่ดีให้พวกเขาได้บ้าง”
“การถูกกลั่นแกล้งสามารถพลิกชีวิตของเด็กจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย เราควรสำรวจพฤติกรรมของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเวลาอยู่ใกล้พวกเขา เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำกำลังส่งสารด้านบวกเรื่องความเคารพให้พวกเขาอยู่”
งานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสามของเด็กๆ มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในช่วง 6 เดือนล่าสุด
แต่เด็กๆ 98 เปอร์เซ็นต์บอกว่า การแสดงความเคารพต่อคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ และรู้ว่าสามารถเคารพอีกฝ่ายได้แม้คุณ (พ่อแม่) จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
6 วิธีสอนเด็กๆ เคารพเป็น
เด็กหญิงเคิร์สเตน วัย 10 ปีถูกสั่งห้ามขึ้นรถโรงเรียนสามวันเป็นครั้งที่สองเนื่องจากพฤติกรรมรังแกคนอื่น
แมตต์ ค็อกซ์ พ่อของเธอสั่งให้เธอเดินเป็นระยะ 5 ไมล์ (ราว 8 กม.) ไปโรงเรียนท่ามกลางอากาศหนาว ขณะที่เขาขับรถตามเธอไปและถ่ายวิดีโอไปด้วย
กว่า 63,000 ความเห็นต่อวิดีโอนี้ในเฟซบุ๊คของค็อกซ์ มีทั้งชื่นชมและตั้งคำถามว่า เธอกำลังถูกพ่อรังแกอีกทอดหนึ่งผ่านการประจานลงเฟซบุ๊คหรือเปล่า
ศาสตราจารย์โดโรธี เอสเปเลจ (Dorothy Espelage) จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา นักวิจัยด้านจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการรังแกในเยาวชน กล่าวว่า อย่างน้อยพ่อของเธอก็ทำสิ่งที่ถูกคือการยอมรับว่าสิ่งที่ลูกสาวทำเป็นเรื่องผิดจริงๆ เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่จะไม่ค่อยยอมรับกันนัก
“แต่ฉันคงแนะนำวิธีอื่นแทนที่จะเป็นการให้เดินท่ามกลางอากาศหนาวเย็น” เธอบอก “อย่างไรก็ตาม ฉันก็ดีใจที่หลายคอมเมนต์ใต้วิดีโอนั้นต้องการรู้รายละเอียดของการรังแกที่เกิดขึ้น”
ถ้าอย่างนั้นจะสอนลูกให้รู้จักการเคารพอย่างไรดี? เรามี 6 วิธีมาแนะนำ
- ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งวู่วามโมโห เพราะเด็กๆ อาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำไปคือการไม่เคารพกัน
- สอนให้เด็กๆ รู้จักชื่อของความต้องการและอารมณ์รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้น แทนการดุด่า
- เคารพให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถือเป็นการปล่อยให้พวกเขาได้มีอิสระในการตัดสินใจเองด้วย
- ใช้วินัยเชิงบวกแทนการลงโทษให้หลาบจำ สร้างแนวคิดเรื่องการเคารพแม้กับคนที่ทำผิด เพราะเราต่างผิดพลาดกันได้และไม่ต้องโหดร้ายต่อกัน
- อย่า ‘สั่ง’ ให้เคารพ แค่เป็นพ่อแม่ไม่ได้แปลว่าจะสั่งได้ทุกเรื่อง
- ขอโทษเมื่อทำผิด แสดงให้เห็นว่า คนที่ควรได้รับการเคารพต้องรับผิดชอบเมื่อทำผิดเสมอ
7 วิธีให้ผู้ใหญ่เป็นต้นแบบ
นิสัยให้ความเคารพก็เหมือนหลายๆ อย่าง – อยากได้ต้องให้ก่อน ดร.จอห์น ปีเตอร์สัน (John Petersen) นักจิตวิทยาครอบครัว ได้แนะนำ 7 วิธีในเว็บไซต์ Psychologytoday ให้บรรดาผู้ใหญ่ได้ลองทำ
- ร่วมมือกับเด็กๆ โดยสมัครใจ ให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น
- สิ่งไหนที่เด็กทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นมือช่วย ยิ่งทำแทนยิ่งแสดงถึงความไม่เคารพกัน
- ทำอารมณ์ให้คงที่ ไม่อย่างนั้นเด็กๆ จะรับรู้ว่าอารมณ์ของตัวเองสำคัญกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว
- เน้นที่ ‘เกิดอะไร’ ไม่ใช่ ‘ใครทำ’ แล้วค่อยมาหาทางแก้ร่วมกัน
- พูดน้อยๆ แต่ชัดเจนและหมายความตามที่พูด เมื่อเคารพกันมากพอก็จะรู้ว่าเด็กๆ เข้าใจได้โดยไม่ต้องพูดซ้ำ
- ทำให้เด็กๆ มองว่าปัญหาเกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วให้เขาลองเสนอทางออกเช่น “ตอนลูกสองคนทะเลาะกันในรถ แม่รู้สึกไม่อยากพาลูกๆ ออกมาด้วยอีกแล้ว เราจะทำอย่างไรกันดี”
- แสดงความรู้สึกจริงๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำเสียงเล็กเสียงน้อยแบบการ์ตูน
ปีเตอร์สัน ยังเขียนไว้ว่า “การเคารพจากการข่มขู่อาจทำให้ปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้สร้างความเคารพต่อกันอย่างแท้จริง และความเคารพต่อกันจะเกิดขึ้นจากการยอมรับคุณค่าภายในและความเท่าเทียม”