- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
- สาระในบันทึกนี้เสนอแนะการดำเนินการเพื่อเอื้อให้เกิดความเป็นผู้ก่อการของครู รวมทั้งเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาของตัวระบบการศึกษาเองด้วย (ในด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และขีดความสามารถ) โดยเสนอแนะการดำเนินการใน ๓ ระดับคือ ระดับนโยบายภาพใหญ่ของหลักสูตร ระดับการจัดการการดำเนินการหลักสูตร และระดับการประยุกต์ใช้หลักสูตร
- การดำเนินการระดับมหภาคในการกำหนดนโยบายของหลักสูตร ควรกำหนดกว้างๆ ในลักษณะกรอบแนวทาง (guiding framework) เปิดโอกาสให้ครูร่วมกันใช้วิจารณญาณ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ทั้งผลงานที่สอดคล้องตามบริบทความเป็นจริง และครูได้พัฒนาความเป็นผู้ก่อการ
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency: An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ ๙ นี้ ตีความจาก Conclusions: Fostering Teacher Agency
โปรดสังเกตว่า ความเป็นผู้ก่อการของครูเป็นเครื่องมือ (means) หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง (journey) ไม่ใช่เป้าหมายของการเดินทาง โดยที่เป้าหมาย (end/goal) คือระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง เป็นระบบที่ฉลาดหรือเรียนรู้ นำสู่เป้าหมายสุดท้ายคือการสร้างพลเมืองในอนาคตที่เป็นคนเต็มคน พัฒนาเต็มศักยภาพ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ เป็นผู้สร้างสรรค์สังคม ไม่ใช่เรียนเพียงเพื่อสอบผ่าน หรือเพื่อเป็นบันไดสู่การศึกษาขั้นสูงขึ้น
หากไม่ระวัง ระบบการศึกษาหลงทางได้ง่าย เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต การจัดการระบบการศึกษาจึงหลงไปจับหรือเน้นที่ผลลัพธ์ที่มองเห็นง่าย ซึ่งมักจะเป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของเป้าหมายที่แท้จริง หรือเป้าหมายที่ทรงคุณค่า ที่พอจะส่งมอบผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และแนวทางนั้น คือแนวทางของลัทธิบูชาผลงาน และระบบควบคุมติดตามผลงานแบบตายตัว ที่ตัวของมันเองมีส่วนปิดกั้นหรือลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู เพราะมันสร้างระบบนิเวศของการทำงานที่ปิดกั้นความเป็นตัวของตัวเองของครู ปิดกั้นทางเลือกในการปฏิบัติงานของครู ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ความเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ฉลาดหรือไม่มีการเรียนรู้ เพราะขาดปัจจัยสำคัญคือครูผู้ก่อการ ที่ทำงานเชิงสร้างสรรค์จากหน้างาน ส่งสัญญาณขึ้นมายังระบบภาพใหญ่ให้เป็นระบบที่ฉลาดหรือเรียนรู้ ขาดบทบาทครูผู้ก่อการเสียแล้ว ระบบการศึกษาไม่มีทางเป็นระบบที่ฉลาดและเรียนรู้ได้ และไม่มีทางบรรลุเป้าหมายสูงส่งของการศึกษาได้
สาระในบันทึกนี้เสนอแนะการดำเนินการเพื่อเอื้อให้เกิดความเป็นผู้ก่อการของครู รวมทั้งเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาของตัวระบบการศึกษาเองด้วย (ในด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และขีดความสามารถ) โดยเสนอแนะการดำเนินการใน ๓ ระดับคือ ระดับนโยบายภาพใหญ่ของหลักสูตร ระดับการจัดการการดำเนินการหลักสูตร และระดับการประยุกต์ใช้หลักสูตร
การดำเนินการระดับมหภาค (Macro level) ในการกำหนดนโยบายของหลักสูตร
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency เริ่มด้วยคำถามว่า หน้าที่ของนโยบายระดับสูงของหลักสูตรคืออะไร คำตอบคือที่ผ่านมา มักทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดยิบ ตั้งแต่เป้าหมาย เนื้อหา และวิธีการ จนถึงกับมีคำพูดเสียดสีว่าเป็นหลักสูตร “กันครูเข้าไปเกี่ยวข้อง” (teacher-proof curriculum) คือไม่เปิดโอกาสให้ครูได้คิด ใคร่ครวญสะท้อนคิด และใช้วิจารณญาณของตนเพื่อเลือกเป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสม ในการบรรลุเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของการศึกษา เขาบอกว่าในบางกรณีฝ่ายนโยบายไม่พอใจด้วยซ้ำ หากครูแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งที่จริงเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนความเป็นผู้ก่อการของครู
การดำเนินการระดับมหภาคในการกำหนดนโยบายของหลักสูตร ควรกำหนดกว้างๆ ในลักษณะกรอบแนวทาง (guiding framework) เปิดโอกาสให้ครูร่วมกันใช้วิจารณญาณ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ทั้งผลงานที่สอดคล้องตามบริบทความเป็นจริง และครูได้พัฒนาความเป็นผู้ก่อการ
วาทกรรมทางการศึกษาระดับโลกที่เริ่มมานานและดำรงอยู่จนปัจจุบัน คือ “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (learning outcome) และหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based curriculum) ที่หากไม่ใช้อย่างสมดุล ก็ก่อผลเสียได้ คือเน้นเฉพาะผลลัพธ์ส่วนที่ชัดเจนและวัดได้ จนละเลยผลลัพธ์ส่วนอื่นๆ และกำหนดวิธีวัดลงรายละเอียด และมีกลไกตรวจสอบเข้มงวด ก็ตกหลุมลัทธิบูชาผลงาน (performativity)
หนังสือจึงแนะนำให้กำหนด “ผลลัพธ์กว้างๆ” (generic outcome) เพื่อบอกทิศทาง (direction) และเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) อย่างชัดเจน รวมทั้งระบุเกี่ยวกับสาระ (content) แนวทางจัดการเรียนรู้ (pedagogy) และแนวทางวัดผล (assessment) อย่างกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียด โดยขอย้ำว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษาต้องครบ ๓ มิติอย่างมีดุลยภาพ ดังระบุไว้ในบันทึกที่แล้ว ที่ขอนำมาย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งคือ (๑) ด้านคุณวุฒิ (qualification) (๒) ด้านพัฒนาการเชิงสังคมและอารมณ์ และ (๓) ด้านความเป็นมนุษย์ ที่มีความคิดอิสระ มีวิจารณญาณและพฤติกรรมที่เปี่ยมศีลธรรม ต้องอย่าหลงดำเนินการแบบมุ่งมิติที่ ๑ เท่านั้น
ถึงยุคนี้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency-based curriculum) กำลังเข้าไปแทนที่หลักสูตรเน้นผลลัพธ์ และไทยเราก็กำลังยกร่างและทดลองใช้หลักสูตรนี้ เราจึงควรรับฟังข้อเสนอแนะในย่อหน้าบน เพื่อเปิดช่องให้ความเป็นผู้ก่อการของครูได้มีพื้นที่กระทำการ ซึ่งจะเป็นวงจรป้อนกลับไปช่วยเอื้อการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู เกิดวงจรเสริมพลังแบบต่อเนื่องไม่รู้จบ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา
การดำเนินการระดับกลาง (Meso level) ของการพัฒนาหลักสูตร
นี่คือหน้าที่ของหน่วยงานระดับตีความหลักสูตรออกให้คำแนะนำแก่ครูและโรงเรียน และทำหน้าที่กำกับการใช้หลักสูตรและติดตามประเมินผล มีทั้งหน่วยงานส่วนกลางของประเทศ และเขตพื้นที่การศึกษา ที่มักตกหลุมพรางสองหลุมคือ หลุมกำหนดปัจจัยนำเข้า (input regulation) กับหลุมกำหนดปัจจัยขาออกหรือผลลัพธ์ (output regulation) ที่กำหนดลงรายละเอียดยิบในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดกลไกการตรวจสอบติดตามผลอย่างเข้มงวดจริงจัง แทนที่จะมุ่งทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน
หนังสือแนะนำวิธีทำงานของกลไกระดับกลางที่ก่อผลดีในภาพรวม ของคุณภาพการศึกษาตามเป้าหมายของหลักสูตร และมีผลส่งเสริม หรือเอื้อต่อการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครูด้วย (ซึ่งจะมีผลป้อนกลับมาส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาในระยะยาว ดังได้กล่าวมาแล้วตลอดบันทึกชุดนี้) จึงขอนำมาเล่า เพื่อสนับสนุนการทำงานพัฒนาและทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศไทย เขาแนะนำว่า
- อย่ามุ่งตีความหลักสูตรอย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุมแทนครู อย่าแนะนำวิธีดำเนินการอย่างละเอียด จนไม่เหลืออะไรไว้ให้ครูตีความเองเลย หากทำเช่นนี้ครูก็จะไม่มีทางเลือกให้ร่วมกันคิดและตัดสินใจในการลงมือทำ และตรวจสอบผลเพื่อการเรียนรู้ของครู จงเปิดช่องให้ครูได้คิด ตัดสินใจ และตรวจสอบผล เพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่โดยมีวงจรเรียนรู้สองชั้น (Double-loop learning)
- ให้มุ่งส่งเสริมให้ครูได้ตีความหาความหมายจากหลักสูตรด้วยตนเอง หรือร่วมกันกับเพื่อนครู โดยทำความเข้าใจหลักการสำคัญ (core principles) และเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของหลักสูตร ในหลักสูตร Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์ มีหลักการสำคัญเชิงเป้าหมายต่อผู้เรียน ๔ ข้อคือ (๑) เป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จ (successful learner) (๒) เป็นบุคคลที่มั่นใจตนเอง (confident individual) (๓) เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (responsible citizen) และ (๔) เป็นผู้ทำประโยชน์แก่สังคม (effective contributor) ต้องหาทางส่งเสริมให้ครูตีความหลักการสำคัญเหล่านั้นออกเป็นสิ่งที่ครูพึงปฏิบัติ (หรือไม่ปฏิบัติ) สอดแทรกอยู่ในการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับศิษย์
- หน่วยงานระดับกลางเองก็ต้องมีกลไกตรวจสอบตนเอง ว่าในการตีความหลักสูตรโยงเข้าสู่บริบทต่างๆ นั้น มีส่วนที่เผลอหรือหลงตีความเพี้ยนไปจากความหมายเดิมหรือไม่ หากพบให้รีบแก้โดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดความสับสน หนังสือบอกว่า เรื่องแบบนี้ได้เกิดขึ้นในสก็อตแลนด์ ในการประยุกต์ใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence
- ให้ระวังอย่างที่สุด ไม่ให้การดำเนินการในระดับนี้ ทำให้หลักสูตรใหม่ กลายเป็น “หลักสูตรที่ขับเคลื่อนโดยการประเมิน” (assessment-driven curriculum)
- พึงหลีกเลี่ยงการใช้สถิติเชิงเปรียบเทียบ หรือจัดอันดับโรงเรียน เพราะจะมีผลก่อความบิดเบี้ยวขึ้นในพฤติกรรมของโรงเรียนและของครู
- ระบุให้ชัดเจนว่า เขตพื้นที่การศึกษามีหน้าที่หลักด้านการสนับสนุนส่งเสริม ไม่ใช่ควบคุมบังคับบัญชา โดยหน่วยเหนือต้องตรวจสอบปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเหนือกับเขตพื้นที่การศึกษาเสียใหม่ด้วย
- เปลี่ยนทีมนิเทศโรงเรียน ให้มีครูที่คุ้นเคยกับบริบทของโรงเรียนนั้นๆ และเข้าใจหลักสูตรใหม่อย่างดีในระดับปฏิบัติเข้าอยู่ในทีมนิเทศ คือเน้นใช้การประเมินโดยเพื่อนครู (peer evaluation) และการประเมินตนเอง (self-evaluation) เน้นการนิเทศแบบต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แทนที่การประเมินเฉพาะคราวอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งให้การนิเทศนั้นมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู
- ส่งเสริมให้ครูได้มีส่วนร่วมดำเนินการวิจัย เพื่อขยายโลกทัศน์ และพัฒนามุมมองเชิงลึกด้านการศึกษา ผ่านการตั้งคำถามเชิงวิชาชีพ (professional inquiry) เรื่องนี้หนังสือ Teacher Agency อ้างรายงานการวิจัยที่ใช้คำตำหนิวงการศึกษารุนแรงมาก ด้วยคำว่า anti-intellectualism – ต่อต้านกระบวนการทางปัญญา ด้วยการเน้นประเมินคุณภาพ และผลลัพธ์ โดยละเลยมิติด้านเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) และกระบวนการ (process) ผมขอย้ำว่า การส่งเสริมให้ครูตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา และร่วมกันสานเสวนา (dialogue) ทำความเข้าใจสมุฏฐานของสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในส่วนใกล้ตัว ที่กลุ่มตนอยู่ในฐานะที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ แล้วดำเนินการโดยมีการเก็บข้อมูลและใช้ในการป้อนกลับเพื่อปรับปรุงวิธีดำเนินการ ก็จะเกิดวงจรเรียนรู้หนึ่งชั้น (single-loop learning) หากพบแนวทางที่จะขยายเป้าหมายของการดำเนินการ ก็เท่ากับเกิดการเรียนรู้สองชั้น (double-loop learning) จะส่งผลพัฒนาความเป็นครูผู้ก่อการได้สูงมาก โดยควรมีที่ปรึกษาที่คอยให้สติว่า ให้ดำเนินการอย่างสุภาพไม่ก้าวร้าว ไม่มุ่งตำหนิติเตียนใครหรือวงการหรือหน่วยงานใดทั้งสิ้น หากมีที่ปรึกษาช่วยแนะนำการเหลาโจทย์ให้คมชัด ใช้วิธีวิทยา และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำน่าเชื่อถือ ก็จะเป็นผลงานวิจัยที่นำไปเผยแพร่ได้ ยิ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ครู
สรุปว่า กลไกระดับกลาง มุ่งเอื้อหรือส่งเสริมให้ครูได้ตีความหลักสูตรใหม่เข้ากับบริบทของตนเอง เพื่อให้ครูสามารถสร้างผลงานพัฒนาศิษย์ได้ตรงตามเป้าหมายสูงส่งของหลักสูตร ซึ่งจะมีผลช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครูด้วย
การดำเนินการระดับจุลภาค (Micro level) การประยุกต์ใช้หลักสูตร
เขาบอกว่า หลักสูตรที่บอกรายละเอียดให้ครูทำ และติดตามประเมินผลตามนั้น ส่งผลให้ครูคิดเองไม่เป็น และไม่กล้าคิด เขาคัดลอกวลีของครู “ขอให้บอกชัดๆ ว่าจะให้ทำอะไรบ้าง” มาลงไว้ นี่คือคำพูดของครูที่ไม่มีความเป็นผู้ก่อการ
การดำเนินการประยุกต์ใช้หลักสูตรในระดับโรงเรียนต้องประยุกต์แบบ “ทำไปเรียนรู้ไป” และ “เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (interactive learning through action) โดยหน่วยเหนือต้องเปิดช่อง และสนับสนุนให้โรงเรียนและครูมีโอกาสตีความและทดลองดำเนินการหลักสูตรตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับบริบทของตน ซึ่งที่จริงระบบโรงเรียนก็มีเครื่องมือ PLC – Professional Learning Community อยู่แล้ว โดยเขาแนะนำวิธีส่งเสริมให้ PLC มีพลังดังต่อไปนี้
- ผู้นำต้องนำด้วยเป้าหมายที่ทรงคุณค่า เป้าหมายระยะยาว และด้วยท่าทีปกป้องการลงมือทดลองดำเนินการในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จ
- มีการทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมหรือปิดกั้นการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมกับการทำงานร่วมกัน ทำอย่างไรจึงจะเกิดโครงสร้างและวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ
- ร่วมกันทำความชัดเจนเรื่องเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) และกระบวนการปฏิบัติงาน (process) สำหรับเป็นประทีปนำทางสู่การสร้างระบบความเชื่อของครู วาทกรรมของครู และความรู้เชิงวิชาชีพของครู ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในวิชาชีพ และในการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู
อย่าลืมว่าปฏิสัมพันธ์เชิงวิชาชีพในแนวราบ (collegial relationship) ที่ก่อความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างครู และระหว่างครูกับผู้บริหาร เป็นพลังสำคัญยิ่งต่อกิจกรรม PLC และต่อการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู
เพื่อความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ไม่เฉพาะครูเท่านั้นที่ต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้ก่อการ เราต้องการพฤติกรรมนี้ในผู้ปฏิบัติงานในระบบการศึกษาทุกระดับ
สรุป
การเกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการ มีหลักการสำคัญคือ หลีกเลี่ยงการคิดแทนครู ให้เปิดช่องให้ครูคิดเองมากที่สุด ซึ่งหมายความว่า เปิดช่องให้ครูมีทางเลือกดำเนินการ เพื่อให้ครูได้มีโอกาสร่วมกันตัดสินใจและทดลองดำเนินการ ตามด้วยการเก็บข้อมูลนำมาร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิดว่าได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนตรงตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงหรือไม่ ผลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางของเป้าหมายที่ทรงคุณค่าตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือไม่ และร่วมกันหาทางปรับปรุงวิธีการดำเนินการในรอบใหม่ เท่ากับครูได้ร่วมกันหมุนวงจรการเรียนรู้หนึ่งชั้น (single-loop learning) แต่หากบังเอิญพบว่าเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สูงส่งกว่าที่คิดไว้ ก็นำเอาผลลัพธ์ที่ค้นพบเป็นเป้าหมายใหม่ และร่วมกันคิดวิธีดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่นั้นในการดำเนินการรอบใหม่ เท่ากับครูได้ร่วมกันหมุนวงจรเรียนรู้สองชั้น (double-loop learning) การเปิดช่องให้ครูมีโอกาสกำกับตนเองได้เช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการของครู
การกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรในลักษณะ เป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) และกำหนดกระบวนการ (process) ของการดำเนินการของหลักสูตรไว้อย่างกว้างๆ จะเป็นการเอื้อให้ครูพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของตนเอง
พึงเปลี่ยนเป้าหมายของการประเมินติดตามผล จากเพื่อควบคุม ไปเป็นประเมินเพื่อส่งเสริมสนับสนุน และเพื่อการเรียนรู้
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 8 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์ – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 7. ลัทธิบูชาผลงาน – The Potential