- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ ๖. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
- มีผลงานวิจัยบอกว่าความสัมพันธ์ของครูกับคนในวิชาชีพอื่น รวมทั้งกับคนโดยทั่วไปในชุมชนที่ครูทำงาน มีผลช่วยเพิ่มความเป็นผู้ก่อการด้านวิชาชีพ (professional agency) ของครูอย่างชัดเจน
- ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency มอง PLC เป็นเครือข่ายทางสังคมของครู และหวังว่า จะเป็นกลไกสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่จะทำหน้าที่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการที่ครูจะพัฒนาตนเองเป็นผู้ก่อการ
- วง PLC มีประโยชน์ต่อครูในด้านช่วยเอื้อให้ครูพัฒนาความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพครูยิ่งขึ้น เพิ่มทักษะการสื่อสาร การต่อรอง เปลี่ยนความเชื่อเก่าๆ ที่ล้าสมัยหรือผิดพลาดไปแล้ว เพิ่มทักษะด้านการสานเสวนาเพื่อสร้างสรรค์
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ ๖ นี้ ตีความจากบทที่ 4 The Importance of Relationships
ในบันทึกที่ ๕ ได้กล่าวถึงโครงสร้างเชิงวัฒนธรรมของระบบนิเวศ ที่มีผลต่อความเป็นผู้ก่อการของครู ในบันทึกที่ ๖ นี้จะว่าด้วยโครงสร้างเชิงสังคมหรือเชิงปฏิสัมพันธ์ โดยขอย้ำว่าสองปัจจัยนี้ในทางความเป็นจริงหรือทางปฏิบัติแยกกันไม่ออก คล้ายเส้นด้ายที่ฟั่นเข้าด้วยกันเป็นเกลียวเชือก หรือเกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกัน ที่เรามักพูดกันติดปากว่าปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural) แต่เพื่อความเข้าใจเชิงทฤษฎีทีมวิจัยในโครงการ Teacher Agency and Curriculum Change ได้แยกออกมาพิจารณาทีละด้าน
มีผลงานวิจัยบอกว่าความสัมพันธ์ของครูกับคนในวิชาชีพอื่น รวมทั้งกับคนโดยทั่วไปในชุมชนที่ครูทำงาน มีผลช่วยเพิ่มความเป็นผู้ก่อการด้านวิชาชีพ (professional agency) ของครูอย่างชัดเจน
อีกผลงานวิจัยบอกว่าสมัยที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากรัฐน้อยกว่าสมัยนี้มาก แต่โรงเรียนได้รับแรงบีบคั้นให้ต้องมีผลงานมากและดีกว่าเดิม วัฒนธรรมความร่วมมือช่วยให้โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากสังคม ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ และการสนับสนุนทรัพยากร ทำให้ผมหวนระลึกถึงเรื่องคล้ายกันในวงการศึกษาไทยในปัจจุบัน ที่มีการรวมตัวกันสู้วิกฤติโควิด เพื่อให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้ที่ดีใกล้เคียงกับยามสถานการณ์ปกติ ที่เล่าในเวทีเสวนา ที่จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้ชื่อเวทีว่า ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เสนอโดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งชมรายการยาวเกือบสามชั่วโมงครึ่งได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=6WGfSaVXOGQ
มีผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างเชิงสังคมมากมาย ผู้เขียนหนังสือชอบข้อเสนอว่า โครงสร้างเชิงสังคมประกอบด้วย (๑) ส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกัน (๒) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ เหล่านั้น และ (๓) องค์รวมที่ผุดบังเกิด (emerge) ขึ้น และ (๔) คุณสมบัติที่ผุดบังเกิดขึ้นขององค์รวมนั้น มีข้อสังเกตสำคัญ ๓ ประการเกี่ยวกับโครงสร้างเชิงสังคมตามแนวดังกล่าว คือ
- โครงสร้างเชิงสังคมมีคุณสมบัติที่ผุดบังเกิด เช่น เกิดพลังอำนาจ (power) เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ขึ้นภายในระบบ และที่บางจุดหรือบางสมาชิกของเครือข่าย ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสมาชิก และจุดที่อยู่ของสมาชิกมีผลต่อพฤติกรรม ท่าที และเจตคติของสมาชิกผู้นั้น และของระบบในภาพรวม
- โครงสร้างทางสังคมเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และมีอยู่ก่อนที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้อง มีเครือข่ายความสัมพันธ์ (web of relationship) ที่มีท่าที และผลประโยชน์ของเครือข่าย และส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของสมาชิก หรือกล่าวได้ว่าเป็นบริบทที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคล
- ความสัมพันธ์ (relationships) เป็นเสมือนตัวกลางให้ปัจจัยด้านวัฒนธรรมเข้าไปแทรกหรือกำซาบอยู่ในระบบสังคม ที่เรียกว่า การแพร่กระจายเชิงวัฒนธรรม (cultural diffusion) ซึ่งส่งผลได้หลายแนว เช่นในโรงเรียน การที่ครูมีความสัมพันธ์กับภายนอก อาจส่งผลให้ครูเกิดความไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ในโรงเรียน มีการท้าทายวิธีคิดและวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ หรืออาจเกิดสภาพที่การสานเสวนาอย่างจริงจังในโรงเรียน ช่วยให้ครูทำความเข้าใจความหมายของนโยบายเกี่ยวกับหลักูตรใหม่ หรือในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์แนวดิ่ง และมีลำดับชั้น ในโรงเรียนอาจปิดกั้นการแพร่กระจายของแนวคิดใหม่ๆ
สภาพความเป็นผู้ก่อการของครู จึงน่าจะไม่ได้ขึ้นกับตัวครูเองเท่านั้น แต่มีอิทธิพลจากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเราจะทำความเข้าใจในบันทึกที่ ๖ นี้
เครือข่ายวิชาชีพของครู
นี่คือเรื่อง PLC – Professional Learning Community นั่นเอง แต่เขาตีความสู่ความหมายหรือคุณค่าที่ลึกและกว้างขวางกว่าในบ้านเรามาก โดยคุณค่าที่สำคัญที่สุดคือ การขยายขอบฟ้าของการรับรู้ของครู พูดง่ายๆ ว่า ช่วยให้ครูเป็นคนที่กว้างขึ้น ผ่านโอกาสเข้าถึงความรู้จากแหล่งต่างๆ รวมทั้งช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ระหว่างกันในโรงเรียน แต่ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency ก็บ่นว่ารายงานการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง PLC ไม่ค่อยมีคนโยงเข้าหาความเป็นผู้ก่อการของครู ที่โยงก็อ้อมๆ ผ่านเป้าหมายเพื่อให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผมไม่เคยได้ทราบว่ามีงานวิจัยเชิงลึก จากกิจกรรมนี้ ที่เกิดขึ้นจริงในวงการศึกษาไทยเลย
เอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับกิจกรรม PLC มองตรงกันว่า PLC มีเป้าหมายเพื่อการสร้างคุณค่าร่วม สร้างความรับผิดชอบร่วมกัน การทบทวนสะท้อนคิดตั้งคำถามเชิงวิชาชีพร่วมกัน ความร่วมมือ และการเรียนรู้รายบุคคลและร่วมกันเป็นกลุ่ม จะเห็นว่า เขามองลึกกว่า หรือมองเลยการใช้ PLC เป็นเครื่องมือยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ไปสู่มิติเชิงลึก แต่ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency ก็ยังบ่นว่ายังมองไม่เชื่อมโยงพอ
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency มอง PLC เป็นเครือข่ายทางสังคมของครู และหวังว่า จะเป็นกลไกสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่จะทำหน้าที่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการที่ครูจะพัฒนาตนเองเป็นผู้ก่อการ
แต่ก็มีผู้เตือนว่า ต้องอย่าหลงโมเมว่า PLC จะก่อผลไปทางด้านดี (เกิดการพัฒนาโรงเรียน พัฒนานักเรียน พัฒนาครู) เท่านั้น ในบางกรณีอาจเกิดผลในทางตรงกันข้ามก็ได้ รวมทั้งเคยเกิดกรณีตัวอย่างในอังกฤษ ที่มีวง PLC ของครู ทำให้ครูรวมตัวกันหลีกเลี่ยง ต่อต้าน การปฏิบัติตามข้อกำหนดรายละเอียดบางส่วนในหลักสูตรแห่งชาติ เพราะครูเห็นพ้องกันว่า ข้อกำหนดนั้นก่อผลร้ายต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เรื่องแบบนี้ในประเทศไทยก็น่าจะมี แต่เข้าใจว่าครูคงจะทำกันอย่างลับๆ ไม่เปิดเผย เข้าลักษณะไม่ปฏิบัติตาม แต่ไม่โต้แย้ง ตามวัฒนธรรมไทย
นอกจากนั้น PLC ยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความไม่เห็นพ้อง ในกลุ่มสมาชิก รวมทั้งอาจก่อผลร้ายในลักษณะที่เกิดอาการว่าตามๆ กันหมด เออออตามกันหมด ความเห็นของคนส่วนน้อยไม่ได้รับการรับฟัง ที่เรียกว่า group think ไม่เป็นเครื่องมือให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง
อีกอันตรายหนึ่งของ PLC คือ นำไปสู่ปรากฏการณ์ “วิชาชีพนิยม” หรือ “พวกพ้องนิยม” (occupational ethnocentrism) คือนำไปสู่การคิดเหมือนๆ กันหมด และมุ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ผลด้านลบเหล่านี้เป็นข้อเตือนใจให้ระมัดระวัง ว่าการรวมตัวกันทางสังคมนั้น มีได้ทั้งผลดีและผลร้าย สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยในแง่มุมใดบ้าง ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณเอาเอง
เขาบอกว่า PLC จะก่อคุณค่าแค่ไหน ขึ้นกับคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ภายในเครือข่าย และผมขอเพิ่มว่า ขึ้นกับคุณภาพของคำถาม และข้อมูลจากการปฏิบัติจริง ที่เอามาตีความและใคร่ครวญร่วมกันอย่างประณีตละเอียดลออ โดยมีข้อมูลเชิงทฤษฎีเข้ามาช่วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด
ประเด็นสำคัญยิ่งที่เอ่ยไว้ในหนังสือ Teacher Agency คือ วง PLC ที่มีความไม่เป็นทางการสูง จะประสบความสำเร็จมากกว่าวงที่มีความเป็นทางการสูง ประเด็นนี้ในประเทศไทยเห็นได้ชัดเจน ว่าวง PLC ที่มุ่งทำตามคำสั่งของหน่วยเหนือจะเป็น PLC แห้งๆ ไร้วิญญาณ ไร้ปัญญา ไร้ผล และไม่ต่อเนื่อง เขาบอกว่า โรงเรียนที่มีบรรยากาศไม่เป็นทางการ หรือความสัมพันธ์แนวราบสูง จะมีโอกาสเกิดเครือข่าย PLC ที่มีคุณภาพสูงกว่า หนังสือ Teacher Agency ไปไกลถึงขนาดสรุปว่า การสื่อสารแบบสั่งการจากเบื้องบน และมีขั้นตอนการบังคับบัญชาสูง เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเชิงนโยบาย
โดยสรุป วง PLC มีประโยชน์ต่อครูในด้านช่วยเอื้อให้ครูพัฒนาความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพครูยิ่งขึ้น เพิ่มทักษะการสื่อสาร การต่อรอง การบรรลุข้อตกลง ช่วยให้ครูได้เปลี่ยนความเชื่อเก่าๆ ที่ล้าสมัยหรือผิดพลาดไปแล้ว เพิ่มทักษะด้านการสานเสวนาเพื่อสร้างสรรค์ (generative dialogue) ฝึกการตีความหาความหมายหรือคุณค่า และฝึกพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างซับซ้อนเกี่ยวกับงานของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญสิ่งที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน
สำหรับประเทศไทย เรายังต้องการข้อมูลหลักฐาน ว่า PLC ก่อคุณค่าข้างต้นแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งคำถามว่าการมี PLC มีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของครู การทำงานเป็นทีมของครู ความตั้งใจหรือทุ่มเททำงานของครู หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร นี่คือโจทย์วิจัยที่สำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาไทย
ความสัมพันธ์กับความเป็นผู้ก่อการของครู
เป็นที่รู้กันว่า ความสัมพันธ์มีส่วนสร้างหรือยับยั้งความเป็นผู้ก่อการของบุคคล ในที่นี้เขาศึกษาครูจาก ๒ โรงเรียนมัธยมในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันของสก็อตแลนด์ เพื่อได้เห็นจากเรื่องจริง โดยที่ครูในสองโรงเรียนนี้ไม่แตกต่างกันในมิติด้านอดีตหรือประสบการณ์ชีวิต แต่พฤติกรรมด้านความเป็นผู้ก่อการแตกต่างกันมาก ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมการตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ที่ท้าทาย คือการประกาศใช้หลักสูตรใหม่ (Curriculum for Excellence) แตกต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด โดยที่สภาพทางกายภาพของโรงเรียนคืออาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานของโรงเรียนทั้งสอง เท่าเทียมกัน แต่ที่แตกต่างกันคือความสัมพันธ์ ทั้งภายในโรงเรียนและความสัมพันธ์กับภายนอกโรงเรียน
ครูในทั้งสองโรงเรียนได้รับการร้องขอให้ทำแผนที่ความสัมพันธ์ของตนอย่างละเอียด ทั้งด้านทิศทาง (ทางเดียว หรือสองทาง กลับไปกลับมา) ความถี่ และความแนบแน่น หลังจากเอาแผนที่ความสัมพันธ์มาวิเคราะห์ ทีมวิจัยจะตามไปสัมภาษณ์ครูแต่ละคนเพื่อตรวจสอบข้อค้นพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตรวจสอบว่ามีผลต่อการแสดงบทผู้ก่อการอย่างไร เช่นช่วยให้เข้าถึงทรัพยากรด้านสังคม และด้านวัฒนธรรม
- ความเหมือน (ของครู)
ครูสามในสี่คน เคยทำงานอื่นก่อนมาเป็นครู ซึ่งช่วยให้สามารถดึงประสบการณ์อื่นมาใช้ในการทำหน้าที่ครู ครูทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ครูสูงมาก ใช้เวลาช่วงเย็น และบางกรณีช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เตรียมงานและตรวจการบ้านนักเรียน ทุกคนร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ของโรงเรียนอย่างจริงจัง และในหลากหลายบทบาท ทุกคนเคยทำหน้าที่ผู้นำริเริ่มพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ ทุกคนเคยร่วมกิจกรรมการพัฒนาทั้งโรงเรียน เช่นบ้างด้านของหลักสูตร รวมทั้งเคยเข้าร่วมคณะทำงานระดับชาติเพื่อพัฒนาระบบประเมิน และพัฒนาหลักสูตร
ทุกคนมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นครูสอนในชั้นเรียน ไม่สนใจการเลื่อนไปทำหน้าที่บริหาร ครูคนหนึ่งเคยทำหน้าที่ผู้นำสายวิชาชั่วคราวและพบว่าไม่ชอบ อีกคนหนึ่งอยู่ระหว่างหลีกเลี่ยงการชักชวนให้ไปทำหน้าที่บริหาร ชัดเจนว่าครูทั้งสี่ท่านนี้ชอบปฏิสัมพันธ์กับศิษย์ในชั้นเรียน และสื่อว่าตนชอบทำหน้าที่พัฒนาเด็กอย่างบูรณาการ (whole child) ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้
ครูทุกคนจัดการเรียนการสอนอย่างผสมผสาน นักเรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการเสวนา และเน้นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) ใจของครูทุกคนจดจ่อที่ผลการเรียนของศิษย์ โดยที่ไม่ได้เน้นเฉพาะผลสอบ แต่เน้นการพัฒนาคนทั้งคน หรือทุกด้าน โดยเน้นพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ที่จริงยังมีเรื่องราวด้านดีหรือด้านบวกของครูทั้งสี่อีกมาก ที่อ่านแล้วน้ำตาคลอ แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ
ด้านลบที่ครูทั้งสี่มีเหมือนๆ กันคุ้ยยากหน่อย แต่ทีมวิจัยผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency ที่นำโดยศาสตราจารย์ Mark Priestley ก็บอกว่าครูทั้งสี่ต่างก็ถูกวัฒนธรรมการศึกษาหล่อหลอมในด้านปณิธานและเป้าหมาย เช่น แม้ว่าครูทั้งสี่จะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับความรับผิดรับชอบ (accountability) ผ่านผลสอบ แต่วาทกรรมของครูก็ตกอยู่ในวัฒนธรรมนั้น เช่นมีการให้ความเห็นตรงกันในทั้งสองโรงเรียน ว่าไม่ถูกต้องหากให้นักเรียนเข้าสอบโดยไม่มั่นใจว่าเด็กจะสอบผ่าน เป็นวาทกรรมที่สะท้อนว่าการศึกษาได้เปลี่ยนจากเอาใจใส่ความต้องการ (needs) ของนักเรียน หันไปเอาใจใส่ผลการสอบ (performance) ของนักเรียน และเปลี่ยนจากเน้นให้โรงเรียนทำเพื่อนักเรียน เปลี่ยนเป็นเน้นให้นักเรียนทำเพื่อโรงเรียน ฟังให้ดีๆ จะรู้สึกว่าคุ้นๆ
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency สรุปว่าการตัดสินใจของครูในสองโรงเรียนนี้มีลักษณะเน้นเพื่อความอยู่รอด มากกว่าเน้นปณิธานความมุ่งมั่นระยะยาว โดยที่คำนี้มาจากคำพูดของตัวครูเอง
ความเป็นผู้ก่อการของครูมีพลังมาจาก ๓ มิติ ดังระบุไว้ในบันทึกที่ ๑ คือ (๑) การสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของครู (iterational dimension) (๒) การตัดสินใจลงมือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของครู ณ จุดของการดำเนินการ (practical – evaluative dimension) และ (๓) การมองหรือคาดการณ์ไปในอนาคตของครู (projective dimension) เห็นได้ชัดเจนว่า ครูทั้งสี่ท่านในสองโรงเรียนนี้ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมความรับผิดรับชอบ (accountability) และการเน้นผลงาน (performativity) ทำให้มิติด้านการคาดการณ์อนาคตลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู
ข้อค้นพบของทีมวิจัยคือ ระดับความเป็นผู้ก่อการของครูในสองโรงเรียนนี้แตกต่างกันมาก เราจะได้เรียนรู้สาเหตุจากตอนต่อไปของบันทึกนี้
- โรงเรียนมัธยมเชิงเขา
ในตอนที่แล้วได้เสนอว่าครูในสองโรงเรียนนี้มีปณิธานความมุ่งมั่นทั่วไป (general aspiration) ทั้งด้านบวกและด้านลบเหมือนๆ กัน แต่ผลการวิจัยพบว่ามิติด้านการมองหรือคาดการณ์ไปในอนาคตของครู (projective dimension) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ มิติของความเป็นผู้ก่อการ ทำงานต่างกันในครูของสองโรงเรียนนี้ โดยมีข้อจำกัดในครูของโรงเรียนมัธยมชายเขา เมื่อตีความจากวาทกรรมของครูทั้งสอง
ข้อมูลจากงานวิจัยบอกว่า ผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองโรงเรียนเข้าถึงง่าย และให้การสนับสนุนแก่ครูเป็นอย่างดี และครูทั้งสองก็เป็นคนสู้ความเสี่ยงพอๆ กันกับครูในโรงเรียนมัธยมริมทะเลสาบ และบรรยากาศการทำงานในเรื่องการมีความเสี่ยงก็พอๆ กัน แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ ระบบความสัมพันธ์
ที่โรงเรียนมัธยมเชิงเขา ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ มีลักษณะเป็นแนวดิ่ง ทั้งโดยผู้บริหารและในสาขาวิชา โครงสร้างที่เป็นทางการจัดสะท้อนอยู่ในการประชุมครู และการประชุมหัวหน้าสาขาวิชาทุกสัปดาห์กับฝ่ายบริหาร การประชุมครูทั้งหมดมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารแบบสื่อสารทางเดียว มีโอกาสเสวนากันน้อยมาก การสื่อสารแนวราบระหว่างสาขาวิชามีน้อยมาก และหัวหน้าสาขาวิชามีการประชุมกับฝ่ายบริหารทุกสัปดาห์ในลักษณะรับข้อมูลข่าวสารมาบอกครูอีกต่อหนึ่ง และมักพูดกันเรื่องปัญหาประจำวัน เช่นเรื่องปัญหาความประพฤติของนักเรียน
ที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ กิจกรรมเชิงพัฒนาที่เคยมีในอดีต เช่นการทบทวนงานประจำปี เพื่อหาประเด็นที่ต้องพัฒนา ได้หายไป เพราะไม่มีเวลา โดนงานที่เป็นปัญหาเร่งด่วนเอาเวลาไปหมด ครูทั้งสองคนอึดอัดใจที่ไม่มีโอกาสได้ทำตามปณิธานความมุ่งมั่นส่วนตัวของตน
เมื่อหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence เข้ามา ไม่มีการจัดประชุมเสวนาหาคุณค่าของหลักสูตรใหม่นี้ โดยที่ครูบอกว่าหากครูมีแนวคิดใหม่ๆ ก็ต้องเสนอขึ้นไปตามลำดับขั้น มุมมองของครูเรื่องปฏิสัมพันธ์ภายในโรงเรียนนี้ สนับสนุนโดยวาทกรรมของผู้บริหารที่ได้จากการสัมภาษณ์และตีความลึกๆ
ทีมวิจัยสรุปว่า ครูทั้งสองของโรงเรียนมัธยามเชิงเขามีมิติด้านการสั่งสมประสบการณ์ และด้านการมองหรือคาดการณ์ไปในอนาคต ของความเป็นผู้ก่อการ แต่ไม่สามารถแสดงความเป็นผู้ก่อการได้ เพราะมิติด้านการตัดสินใจลงมือปฏิบัติ ถูกปิดกั้นโดยปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เอื้อ
- โรงเรียนมัธยมริมทะเลสาบ
บรรยากาศการตอบสนองของครูและผู้บริหารของโรงเรียนมัธยมริมทะเลสาบ แตกต่างจากที่โรงเรียนมัธยมเชิงเขาอย่างสิ้นเชิง ที่นี่ทั้งครูและผู้บริหารมีความกระตือรือร้น และความมั่นใจที่จะนำหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence มาใช้ประโยชน์
ที่มาของความเป็นครูผู้ก่อการของครูในโรงเรียนนี้ ตีความได้จากคำบอกเล่าของครูที่สะท้อนวัฒนธรรมส่งเสริมนวัตกรรม และการกล้าเสี่ยงกล้าลอง รวมทั้งวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยน โดยคำบอกเล่าของผู้บริหารก็ช่วยยืนยันว่าเมื่อมีการลองริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่ล้มเหลว ครูไม่ถูกตำหนิหรือลงโทษ แต่ได้รับการสนับสนุนให้ลองใหม่
ครูเล่าว่า ผู้บริหารไม่ทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ทำตัวเป็นเพื่อนร่วมงาน และเป็นครูคนหนึ่ง สะท้อน “วัฒนธรรมเพื่อนร่วมงาน” (collegial culture) ในโรงเรียนนี้ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะจริงๆ แล้วผู้บริหารในโรงเรียนมัธยมเชิงเขาก็เป็นคนที่เข้าถึงง่าย และให้การสนับสนุนในฐานะเพื่อนร่วมงาน และมีจิตวิญญาณเห็นแก่นักเรียน ความแตกต่างอยู่ที่โครงสร้างทางสังคมของโรงเรียน โดยที่จุดเด่นของโรงเรียนมัธยมริมทะเลสาบคือ (๑) ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการในสาขาวิชา และระหว่างสาขาวิชา ก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อกันในระดับสูงมาก (๒) ฝ่ายบริหารจงใจสร้างความสัมพันธ์แบบเอื้อเฟื้อต่อกันระหว่างผู้บริหารกับครู ระหว่างครูกับครู ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกัน
จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือระบบเข้าสังเกตชั้นเรียนซึ่งกันและกัน (peer observation) เพื่อช่วยให้ข้อสังเกตป้อนกลับ ให้เพื่อนครูพัฒนาการสอนขึ้นไปเรื่อยๆ ที่มีการริเริ่มกันขึ้นเองในหมู่ครู เมื่อประมาณ ๕ ปีมาแล้ว มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และผู้บริหารก็เข้าร่วมด้วย ในขณะที่ระบบนี้อ่อนแอลงในโรงเรียนมัธยมเชิงเขา จนแทบไม่มีเลยในช่วงของการวิจัย
อีกจุดแข็งหนึ่งคือความสัมพันธ์กับภายนอกโรงเรียน การที่มีครูออกไปทำงานเชิงพัฒนาบางเรื่องของการศึกษาร่วมกับองค์กรภายนอก ทำให้ครูเหล่านั้นนำเอาความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ กลับมาแลกเปลี่ยนแก่เพื่อนครูในโรงเรียน ผมตีความว่า เป็นการช่วยส่งเสริม growth mindset ภายในโรงเรียนด้วย
สรุป
สาระในตอนนี้ ชี้ให้เห็นอิทธิพลของความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่างๆ ที่มีต่อความเป็นผู้ก่อการของครู โดยที่มิติของความสัมพันธ์ทั้งด้านคุณภาพและความกว้างขวางของความสัมพันธ์มีความสำคัญ เป็นมิติเชิงโครงสร้างของระบบนิเวศ ที่ส่งผลต่อความเป็นผู้ก่อการของครู โดยลักษณะของความสัมพันธ์ที่เอื้อคือความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ และเป็นแนวราบ ที่ช่วยสร้างความไว้วางใจกัน มีความสัมพันธ์แบบเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการสร้างวงเสวนาเพื่อเปิดช่องให้สมาชิกได้ มีโอกาสฝึกและลองความสร้างสรรค์ของตน สู่ความสร้างสรรค์รวมหมู่
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 5 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู – The Potential