- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ ๓. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
- การเป็นครูผู้ก่อการ ไม่ได้หมายความว่าครูผู้นั้นเป็นผู้นำต่อครูคนอื่นๆ ครูทุกคนเป็นผู้กำกับงานของตนเอง เป็นผู้ใช้วิจารณญาณ และดุลยพินิจเชิงวิชาชีพ ในการปฏิบัติงานประจำวันของตน
- Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์ มีเป้าหมายใหญ่ เพื่อสร้างขีดความสามารถ 4 ด้าน คือ เป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จ, เป็นบุคคลที่มั่นใจตนเอง, เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ และเป็นผู้ทำประโยชน์แก่สังคม โดยมีลักษณะพิเศษคือโครงสร้างหลักสูตร การเรียน และ บทบาทของครู
- ในด้านบทบาทครู เป้าหมายลึกๆ ของหลักสูตร คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับครูสู่การเป็น “ผู้พัฒนาหลักสูตร” ในระดับโรงเรียน และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วยท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ ๓ นี้ ตีความจาก Introduction : Teacher Agency and Curriculum Change
ที่จริงตอนที่ ๓ นี้น่าจะชื่อ “ครูกับการสร้างการเปลี่ยนแปลง” มากกว่า เพราะจริงๆ แล้วครูผู้ก่อการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ ในงานประจำของตนอยู่เนืองนิตย์ รวมทั้งปรับปรุงรายละเอียดในหลักสูตรที่กำลังใช้อยู่ ให้ส่งผลดีต่อนักเรียนมากยิ่งขึ้น และในหนังสือก็ระบุว่า เป็นนโยบายการศึกษาของสก็อตแลนด์ ที่จะส่งเสริมให้ครูมีส่วนปรับปรุงวิธีทำงานของตนเอง รวมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขของการทำงานด้วย โดยมีการระบุไว้ใน Curriculum for Excellence ที่เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2010 – 2011 อย่างชัดเจน มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า คาดหวังให้ครูทำหน้าที่ครูอย่างใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective practitioner) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อสะท้อนคิด และร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง
เท่ากับระบบการศึกษาของสก็อตแลนด์เปลี่ยนทิศทางนโยบายเกี่ยวกับครูจากนโยบายที่ลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู (โดยไม่ตั้งใจ) ผ่านการทดสอบ (testing) การตรวจสอบ (inspection) และระบบรับผิดรับชอบแนวราชการ (bureaucratic accountability) เปลี่ยนมาสนับสนุนให้ครูมีโอกาสตัดสินใจเชิงวิชาชีพได้เองตามบริบทของงาน เป็นระบบที่ยกย่องและให้เกียรติวิชาชีพครู ซึ่งจะบรรลุผลได้จริง ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ ๓ ประการคือ (๑) โครงสร้างการทำงานของครูต้องเปิดช่อง (หรือพื้นที่) ให้ครูได้แสดงพฤติกรรมเชิงผู้ก่อการ หรือผู้ริเริ่มกระทำการ (๒) ต้องมีการฟื้นวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นปฏิสัมพันธ์แนวราบและ (๓) การพัฒนาขีดความสามารถในการเป็นผู้ก่อการของครูในฐานะปัจเจก และในฐานะทีมงาน
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงเกิดโครงการวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change ดำเนินการโดย University of Stirling ร่วมกับ Scottish Local Authority ในช่วงปี 2011 – 2012 ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือ Teacher Agency เล่มนี้ และสะท้อนการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือหนุนความสำเร็จในการดำเนินการโครงการที่มีความซับซ้อนสูง ซึ่งในกรณีนี้คือการจัดการหลักสูตรใหม่ให้บรรลุผล
ไม่เน้นที่ตัวครู แต่เน้นที่ความเป็นผู้ก่อการหรือกระทำการของครู
หนังสือเล่มนี้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เขาให้นิยามของคำว่า “ความเป็นผู้ก่อการ” (agency) ต่างจากเอกสารวิชาการหรือแหล่งความรู้อื่นๆ คือไม่มองว่าเป็นคุณสมบัติหรือขีดความสามารถภายในคน แต่มองว่าเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่แสดงออกมาของคน โดยนัยนี้ คณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เชื่อว่า “ความเป็นผู้ก่อการของครู” (teacher agency) ไม่ได้ขึ้นกับตัวครูเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับระบบนิเวศในการปฏิบัติงานของครูด้วย
เขาอ้างผลงานวิจัยว่า เพียงร้อยละ ๑๐ – ๒๐ ของผลสำเร็จในการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น ที่เป็นฝีมือของครู หรือการสอนของครู แต่กระนั้นก็ตาม เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา ซึ่งหมายความว่ามีปัจจัยแวดล้อมอื่นอีกมากเข้ามาเกี่ยวข้อง นำไปสู่ประเด็นว่า การมองครูเป็น “ปัจจัย” เป็นมุมมองที่มีปัญหา เพราะเท่ากับมองว่าการศึกษาเป็นระบบที่ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (input) กระบวนการ (process) และผลผลิต (output) ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์เชิงกลไก ในความเป็นจริงการศึกษาเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน (complex) ยิ่ง เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของการสื่อสาร การตีความ และการให้ความหมายร่วมกัน ซึ่งภารกิจสำคัญของครูคือการวินิจฉัย และตัดสินใจ ในกระบวนการที่ช่วยหนุนให้นักเรียนเกิดพัฒนาการครบด้าน
การให้คุณค่าครูในฐานะ “ปัจจัย” (factor) ของกระบวนการผลิตนำไปสู่การให้คุณค่าผลงาน ที่เป็นผลการเรียนของเด็กแบบวัดที่ผลการเรียนวิชาเท่านั้น ละเลยการเรียนรู้ด้านอื่นๆ อีกมากมายที่เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑
นอกจากนั้นเมื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนออกมาไม่ดีดังหวัง ก็โทษครู และออกมาตรการติดตามประเมินผลเคร่งครัดยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครูลงไปอีก ยิ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้ยิ่งอ่อนแอลงไป สภาพเช่นนี้ทำให้ระบบการศึกษาคุณภาพต่ำอย่างเรื้อรัง และไม่มีทางออก
เขาบอกว่า ต้องอย่าสับสนเรื่องความเป็นผู้ก่อการของครู กับความมีอิสระ (autonomy) ของครู และหลงเรียกร้องว่า ความมีอิสระของครูจะแก้ปัญหาการศึกษาทั้งมวลได้
ครูผู้ก่อการทำงานอยู่ในดุลยภาพที่ซับซ้อนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ที่หลากหลาย อันได้แก่ นักเรียน พ่อแม่ รัฐ ผู้จ้างงาน และองค์กรภาคประชาชน โดยที่ครูก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็น active partner ด้วย ครูไม่ใช่เป็นแค่ผู้ดำเนินการตามมาตรการที่มีผู้กำหนดให้
ความเป็นผู้ก่อการของครู ทำงานอยู่ในดุลยภาพที่ซับซ้อนดังกล่าว โดยครูต้องออกความเห็น และตัดสินใจเชิงวิชาชีพ
จึงต้องแยกความเป็นผู้ก่อการของครู ออกจากภาวะผู้นำของครู และแยกออกจากแนวคิดว่าครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การเป็นครูผู้ก่อการ ไม่ได้หมายความว่าครูผู้นั้นเป็นผู้นำต่อครูคนอื่นๆ ที่มีนัยยะของความสัมพันธ์แนวดิ่ง ในขณะที่ความเป็นผู้ก่อการเน้นความสัมพันธ์แนวระนาบ และมุ่งหวังให้ครูทุกคนเป็นผู้ก่อการ ซึ่งหมายความว่า ครูทุกคนเป็นผู้กำกับงานของตนเอง เป็นผู้ใช้วิจารณญาณ และดุลยพินิจเชิงวิชาชีพ ในการปฏิบัติงานประจำวันของตน
จึงอาจกล่าวในภาษาไทยง่ายๆ ได้ว่า teacher agency หมายถึงการที่ครูมีพฤติกรรมรับผิดชอบสูงต่องานของตน เป็นผู้กำกับงานของตนเอง มีพฤติกรรมใช้ดุลยพินิจและการตัดสินใจเชิงวิชาชีพในงานประจำวัน และเราคาดหวังคุณสมบัตินี้จากครูทุกคน
Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์
หลักสูตรนี้ใช้เวลาพัฒนาถึง ๘ ปี ก่อนจะประยุกต์ใช้ในปีการศึกษา 2010 – 2011 มีขั้นตอนการพัฒนาที่ผ่านการปรึกษาหารือและโต้เถียงมากมาย มีเอกสารให้ค้นมาอ่านได้มากมาย สรุปได้ว่ามีเป้าหมายใหญ่ เพื่อสร้างขีดความสามารถ (capacity) ๔ ด้าน คือ (๑) เป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จ (successful learner) ที่ผมตีความว่าเป็นผู้มีฉันทะและทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (๒) เป็นบุคคลที่มั่นใจตนเอง (confident individual) (๓) เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (responsible citizen) และ (๔) เป็นผู้ทำประโยชน์แก่สังคม (effective contributor) อาจกล่าวได้ว่า ๔ ประการนี้คือ เป้าหมายใหญ่ (purpose) ของหลักสูตร
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง ประกอบด้วย ๘ หมวด (domain) คือ (๑) สุขภาพและสุขภาวะ (health and well-being) (๒) ภาษา (languages) (๓) คณิตศาสตร์ (mathematics) (๔) วิทยาศาสตร์ (science) (๕) สังคมศาสตร์ (social studies) (๖) ศิลปะ (expressive arts) (๗) เทคโนโลยี (technologies) (๘) ศาสนาและศีลธรรม (religious and moral education)
ลักษณะพิเศษของ Curriculum for Excellence มี ๓ ด้านคือโครงสร้างหลักสูตร การเรียน และ บทบาทของครู
- โครงสร้างหลักสูตร
ผมตีความว่า หลักสูตรนี้ เป็น “หลักสูตรฐานคุณค่า” (value-based curriculum) ต่างจากหลักสูตรก่อนหน้านี้ของสก็อตแลนด์ ที่เป็นหลักสูตรฐานสาระ (content-based) คุณค่าต่อผู้เรียนคือขีดความสามารถ ๔ ด้าน ที่กล่าวแล้ว
ในเรื่องผลลัพธ์ (outcomes) ของการเรียนรู้ มีข้อแตกต่างสำคัญจากหลักสูตรก่อน ๒ ประการคือ (๑) เขียนอย่างกว้างๆ ไม่ระบุอย่างจำเพาะ (๒) ใช้คำควบ “ประสบการณ์การเรียนรู้และผลลัพธ์” (experiences and outcomes)
- การเรียน
การเรียนในหลักสูตร Curriculum for Excellence นี้ มีลักษณะเด่น ๒ ประการคือ (๑) ให้น้ำหนักความรู้กับทักษะเท่าๆ กัน (ซึ่งผมเถียงว่า ต้องให้น้ำหนักเจตคติและคุณค่าด้วย) (๒) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนั้น ยังเน้นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) และเน้นให้นักเรียนร่วมมือกันเรียน (cooperative learning)
มีข้อถกเถียงมากมายในวงการศึกษาของสก็อตแลนด์ที่ผู้เขียนหนังสือนำมาเล่า แต่ผมจะละไว้เพื่อไม่ให้บันทึกยืดยาวเกินไป แต่มีประเด็นที่น่าสนใจที่ควรเอ่ยถึงคือ การแยกระหว่างความรู้กับทักษะว่าเป็นสองสิ่งแยกกันนั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วความรู้กับทักษะมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน
- บทบาทของครู
เป้าหมายลึกๆ ของหลักสูตร Curriculum for Excellence คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับครูสู่การเป็น “ผู้พัฒนาหลักสูตร” (curriculum developer) ในระดับโรงเรียน และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลสก็อตแลนด์เอาจริงเอาจังเรื่องนี้มาก มีการตั้งคณะทำงานทบทวนบทบาทหรือการทำงานของครูถึง ๒ คณะ ผู้เขียนบอกว่านโยบายส่งเสริมบทบาทครูมีปัญหา เพราะมองประเด็นเกี่ยวข้องไม่ครบ หลงดำเนินการเฉพาะขีดความสามารถของครู ไม่ได้เอาใจใส่เปลี่ยนแปลงในมิติเชิงโครงสร้าง และเชิงวัฒนธรรมในโรงเรียนและระบบการศึกษา จึงเกิดคำถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งเสริมหรือปิดกั้นการทำหน้าที่ของครูตามที่คาดหวังไว้ในหลักสูตร เป็นที่มาของโครงการวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change
โครงการวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change
โครงการนี้ดำเนินการในปี ค.ศ. 2011 – 2012 ใช้เวลา ๑๕ เดือน โดยมีเป้าหมายหลัก ๓ ประการคือ (๑) ค้นหาปัจจัยด้านประวัติชีวิตของครู และด้านระบบนิเวศในการปฏิบัติงานของครู ที่มีอิทธิพลต่อ teacher agency ในการประยุกต์ใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence ในต่างบริบทของระบบการศึกษาของสก็อตแลนด์ (๒) เพื่อนำสู่ทฤษฎีเปลี่ยนแปลงการศึกษา ที่ใช้บทบาทที่ซับซ้อนของ teacher agency (๓) เพื่อเผยแพร่แก่วงการพัฒนาหลักสูตร และเปลี่ยนแปลงการศึกษา ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ
มีคำถามวิจัย ๔ ข้อคือ (๑) ครูในโรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยม มีความเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence อย่างไรบ้าง (๒) บริบทสำคัญๆ ของการประยุกต์ใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence คืออะไร (๓) ปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการเป็นผู้ก่อการของครู ในการใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence (๔) ความเป็นผู้ก่อการของครูมิติใดบ้างที่เกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence
วิธีวิทยาการวิจัย ใช้วิธีชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic approach) ดำเนินการในโรงเรียนของสก็อตแลนด์ ๓ โรงเรียน เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ๑ โรงเรียน มัธยมศึกษา ๒ โรงเรียน แต่ละโรงเรียนสัมภาษณ์ครู ๒ คนและผู้บริหารอาวุโส ๑ คน อย่างน้อยคนละ ๑ ครั้ง แต่ส่วนใหญ่สัมภาษณ์ ๓ ครั้งหรือมากกว่า เก็บข้อมูลใน ๓ ช่วง โดยใช้ข้อมูลจากช่วงก่อนมาใช้ออกแบบการเก็บข้อมูลช่วงต่อไป เก็บข้อมูลผ่าน (๑) การสังเกต (๒) การสัมภาษณ์รายคน (๓) การสัมภาษณ์กลุ่ม (๔) การสัมภาษณ์ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงานของแต่ละคนในช่วงต้นโครงการ (๕) การวิเคราะห์เอกสารเชิงนโยบาย และ (๖) การทำแผนที่ความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายระหว่างครู รวมเวลาที่ทีมวิจัยใช้ในแต่ละโรงเรียนสองสามสัปดาห์ ในช่วงเวลานี้ครูที่เป็นผู้ให้ข้อมูลทั้ง ๖ คนทำหน้าที่อย่างดียิ่ง โดยร่วมอภิปรายเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยความเป็นผู้ก่อการ และว่าด้วยวิธีวิทยาการวิจัยด้วย
- โรงเรียน
ในสก็อตแลนด์มีโรงเรียนประถมราวๆ ๒,๐๐๐ โรงเรียน โรงเรียนมัธยมราวๆ ๓๕๐ แห่ง ชั้นประถมมี ป. ๑ – ป. ๗ ชั้นมัธยมมี ม. ๑ – ม. ๖ เป็นการศึกษาภาคบังคับจนถึงอายุ ๑๖ ปี หรือ ม. ๔
โรงเรียน ๓ แห่งที่ไปศึกษานี้ อยู่ในเขตการศึกษาเดียวกัน โรงเรียนมัธยมทั้งสองแห่งเพิ่งย้ายไปยังสถานที่สร้างใหม่ โดยใช้ทุนจากภาคเอกชน เพื่อให้เป็นอาคารที่สร้างให้เหมาะสมต่อการเป็นโรงเรียนสมัยใหม่ที่พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ โรงเรียนมัธยมในสก็อตแลนด์อยู่ในสภาพนี้ทั้งหมด
โรงเรียนมัธยมทั้งสองแห่งมีนักเรียนเท่าๆ กัน คือราวๆ ๑,๐๐๐ คน และสอนชั้น ม. ๑ – ม. ๖ แห่งหนึ่งขอเรียกว่า “โรงเรียนริมทะเลสาบ” นักเรียนมาจาก ๒ หมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งคนฐานะดี อีกหมู่บ้านหนึ่งคนฐานะด้อยกว่า อีกแห่งหนึ่งขอเรียกชื่อว่า “โรงเรียนชายเขา” นักเรียนมาจากครอบครัวที่ฐานะด้อยกว่า ส่วนโรงเรียนประถมขอเรียกว่า “โรงเรียนประถมในเมือง” อยู่กลางหมู่บ้านบริเวณที่อยู่อาศัย มีนักเรียนราวๆ ๒๕๐ คน อาคารเก่าหลายสิบปี และอยู่แยกกันเป็น ๓ พื้นที่ โดยที่ครูก็สอนแยกกัน ทำให้โอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูมีน้อย นักเรียนจากโรงเรียนนี้มักไปเรียนต่อที่โรงเรียนชายเขา
- ครู
โครงการวิจัยเปิดให้ครูอาสาเข้าร่วมโครงการโรงเรียนละ ๒ คน โดยผู้บริหารโรงเรียนแนะนำรายชื่อจากครูที่มีประสบการณ์สูงและผลงานดีให้ทีมวิจัยเลือก เป็นครูผู้หญิงทั้งหมด ที่เลือกครูแบบนี้เข้าร่วมโครงการก็เพราะทีมวิจัยเชื่อว่า หากต้องการศึกษาครูที่มีคุณลักษณะเป็นผู้ก่อการก็ต้องเลือกครูที่มีลักษณะดังกล่าว หลังจบโครงการครูเหล่านี้บอกว่า การเข้าร่วมโครงการให้ประโยชน์มาก ช่วยให้ได้ใคร่ครวญลึกซึ้งเกี่ยวกับการสอนของตน และเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในโรงเรียน
ที่โรงเรียนริมทะเลสาบ ครูทั้งสองมาจากสาขาสังคมศาสตร์เหมือนกันเป็นสาขาของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงว่าทำงานเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง และทำงานอย่างมีนวัตกรรม ครูทั้งสองบอกตรงกันว่า ความสัมพันธ์ของครูในห้องพักครูแน่นแฟ้นมาก และครูมีความเอาใจใส่นักเรียน ครูซาร่า (ชื่อสมมติ) เป็นครูมา ๑๐ ปี สอนที่โรงเรียนนี้ที่เดียว เป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย และใฝ่ฝันที่จะเป็นครูมาแต่เด็ก เธอมีความสุขและพอใจในชีวิตการทำงานที่นี่ ห้องเรียนที่เธอสอนได้ชื่อว่ามีความสนุกสนานและได้ผลดี เธอมีส่วนเป็นแกนนำพัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียน และใฝ่ฝันที่จะยกระดับตำแหน่งหน้าที่เป็นครูแกนนำ (เขาเรียก PT – Principal Teacher) ครูซูซาน มีความกระตือรือร้นต่อการเรียนการสอนเช่นเดียวกัน ก่อนมาเป็นครูได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม และเรียนจบปริญญาโทสาขาการจัดการ ระหว่างทำหน้าที่ครูได้เข้าร่วมงานนอกโรงเรียน เช่น Learning and Teaching Scotland และ Scottish Qualification Authority (SQA) เธอเป็นคนชอบความท้าทาย เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence เธอจึงเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านสังคมวิทยาในระดับชาติ และนำมาทดลองพัฒนาในชั้นเรียนของตนเอง ซึ่งรวมทั้งการพัฒนาวิธีประเมินพัฒนาการของการเรียนรู้
ที่โรงเรียนชายเขา ครูเคท สอนวิชา STEM ตั้งแต่เด็กเธอใฝ่ฝันอยากเป็นครูเหมือนพ่อ แต่พ่ออยากให้มีอาชีพที่ดีกว่า เธอจึงได้เรียนสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเริ่มงานในบริษัทเอกชน และทำงานด้านการพัฒนาบุคลากร ที่เธอมีโอกาสเดินทางบ่อย และเงินเดือนสูงกว่าเพื่อนที่เป็นครูมาก แต่หลัง ๑๐ ปี เธอเปลี่ยนใจสมัครเป็นครู และทำหน้าที่ครูมาแล้ว ๑๕ ปี โดยไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยที่เปลี่ยนอาชีพ เธอมีความสนใจส่วนตัวด้านสุขภาพและกีฬา จึงมีกิจกรรมนอกหลักสูตรด้วย ครั้งหนึ่งเธอได้สมัครตำแหน่ง PT แต่ไม่ผ่าน เธอชอบงานสอน ไม่สนใจงานบริหาร เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence เธอไม่คิดว่ามีอะไรใหม่ เพราะเธอสอนแนวนี้อยู่แล้ว ครูโมนิกา เป็นครูสาขามนุษยศาสตร์ ทำงานอื่นก่อนเปลี่ยนมาเป็นครูเช่นเดียวกัน หลังจบชั้นมัธยมเธอเรียนอนุปริญญาด้านศิลปะและการออกแบบ แล้วทำงานในศูนย์ศิลปะชุมชนเป็นเวลา ๑๐ ปี เมื่อรู้สึกจำเจจึงลาออก ไปทำงานในศูนย์ดูแลเด็กหลังเวลาเรียน และเรียนต่อระดับปริญญา ระหว่างนั้นเธอสมัครเป็นครูประถมแต่ไม่สำเร็จ ต้องมาเป็นครูมัธยม และพบว่างานสนุก เธอเรียนต่อจนจบปริญญาตรี และทำงานเป็นครูที่นี่เรื่อยมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว สองปีหลังมาทำงานที่นี่ เธอได้รับการขอร้องให้ทำหน้าที่ PT ชั่วคราวเป็นเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจึงสนใจสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เมื่อเริ่มหลักสูตร Curriculum for Excellence เธอได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ PT อีก แต่ไม่ชอบ และระหว่างนั้นได้เรียนต่อปริญญาโท และมีความสนใจการสอนสหสาขาวิชา
ที่โรงเรียนประถมในเมือง เมื่อเริ่มโครงการวิจัย ครูที่เข้าร่วมทั้งสองสอนชั้น ป. ๗ แต่ภายหลังคนหนึ่งย้ายไปสอน ป. ๑ และอีกคนหนึ่งย้ายไปสอน ป. ๖ ทั้งสองคนสนิทกันและร่วมมือกันในการทำหน้าที่ครู ครูไอดิด อาวุโสกว่า และทำหน้าที่คล้ายเป็นพี่เลี้ยง (mentor) แก่ครูราเชล ที่เพิ่งเข้ามาเป็นครู และรู้สึกว่าตนได้เรียนรู้จากครูราเชลมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และแนวคิดใหม่ๆ ครูไอดิดไม่มีวุฒิครู และไม่มีปริญญา โดยเข้าสู่วิชาชีพครูผ่านการมีประสบการณ์มาก เมื่อโครงการวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change เข้าไปที่โรงเรียน ครูไอดิดเป็นครูมาแล้ว ๓๐ ปี และเห็นว่าหลักสูตร Curriculum for Excellence ไม่ใช่ของใหม่ โดยที่ตนเองได้ปฏิบัติตามแนวนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยหลักสูตรเก่า เธอมองว่าหลักสูตร Curriculum for Excellence จะช่วยให้ครูได้พัฒนาการสอนของตน และได้ริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ให้ความเห็นว่า ไม่มีแนวทางให้ครูปฏิบัติ จึงอาจมีผลให้ครูแต่ละคนต่างก็ตีความเอาเอง ครูราเชล เพิ่งเข้ามาเป็นครูที่โรงเรียนนี้ได้ ๕ ปี จึงเป็นครูที่อ่อนอาวุโสที่สุดในครู ๖ คนในโครงการวิจัยนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครู และได้รับการยอมรับนับถือในกลุ่มเพื่อนครูว่าเป็นคนมีความคิดก้าวหน้า เธอมองหลักสูตร Curriculum for Excellence ในเชิงบวก ว่าจะช่วยให้การเรียนรู้มีความหมายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจต่อการเรียน เมื่อหลักสูตรใหม่เข้ามา เธอได้เข้าไปทำหน้าที่ร่วมเป็นแกนนำ และคิดว่าได้เกิดผลดีบ้างแล้ว เธอต้องการมีอาชีพครูต่อไป โดยอาจย้ายไปทำงานที่โรงเรียนอื่น และในหน้าที่อื่นบ้าง
สรุป
บันทึกนี้แนะนำให้รู้จักหลักสูตร Curriculum for Excellence และโครงการวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change เพื่อปูพื้นสู่การทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ครูมีพฤติกรรมรับผิดชอบสูงต่องานของตน เป็นผู้กำกับงานของตนเอง มีพฤติกรรมใช้ดุลยพินิจและการตัดสินใจเชิงวิชาชีพในงานประจำวัน ที่เรียกว่า Teacher Agency
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential