- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ 10. โยงสู่บริบทการศึกษาไทย โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เสนอเป็นข้อเรียนรู้ในมิติที่ลึกและซ่อนเร้น 10 ข้อ
- บทบาทของครู ไม่ใช่แค่บทบาทจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่มีอีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือหน้าที่พัฒนาหลักสูตรและพัฒนาระบบการศึกษา
- การให้คุณค่าแก่ผลงานน่าจะเป็นเรื่องดี ตัวผลงานไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ตัวลัทธิบูชาผลงานเป็นผู้ร้าย เพราะมันนำไปสู่พฤติกรรมติดตามประเมินผลที่ผลงานแบบตายตัว ไม่ว่าผลงานนั้นจะเป็นผักชีโรยหน้า หรือสร้างขึ้นชั่วคราวก็ตาม ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์ในระบบการศึกษา เป็นการทำลายโอกาสความเป็นผู้ก่อการของครู
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency: An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ 10 นี้ผมจินตนาการเชื่อมโยงสู่ขบวนการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยเสนอเป็นข้อเรียนรู้ในมิติที่ลึกและซ่อนเร้น 10 ข้อ เป็นการตีความสุดๆ หรือตีความซ้อนตีความ จึงมีข้อผิดพลาดได้ง่าย ท่านผู้อ่านพึงมีสติอยู่กับกาลามสูตรอย่างเต็มที่
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 1
ในสายตาของผม สาระสำคัญที่สุดสำหรับวงการศึกษาไทย ที่หนังสือ Teacher Agency: An Ecological Approach สื่อคือ ระบบการศึกษาเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตสูงยิ่ง การจัดการระบบด้วยกระบวนทัศน์แบบลดทอนความซับซ้อน (reductionism) และความสัมพันธ์แบบกลไก (mechanistic) ด้วยการควบคุมผลอย่างเข้มงวด จะนำไปสู่ความล้มเหลว คือเกิดการลดทอนทั้งคุณภาพผลลัพธ์การศึกษา และลดทอนคุณภาพครู และยิ่งก่อผลร้าย คือจะทำให้ระบบการศึกษาเต็มไปด้วยความไม่ซื่อสัตย์
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 2
มีการสะท้อนจุดอ่อนของหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์ (outcome-based curriculum) ที่เราคิดกันว่าเป็นหลักสูตรที่ดี เพราะเน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน แต่เมื่อมีการวิจัยผลของการประยุกต์ใช้หลักสูตรนี้ ผลที่ออกมาไม่ดีดังคาด เพราะมีจุดอ่อน ๒ ประการ คือ (๑) “ผลลัพธ์” ที่กำหนดมาจากการลดทอนคุณค่าของการศึกษา จากสภาพซับซ้อน มาเป็น “ผลลัพธ์” ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของการศึกษา ถูกละเลย เพราะหลงไปหมกมุ่นกับ “ผลลัพธ์” ที่เป็นผลิตผลของ “ลัทธิลดทอน” (reductionism) ไม่เกิดการพัฒนานักเรียนอย่างเป็นองค์รวม (๒) เกิดระบบติดตามผลที่ “ผลลัพธ์” อย่างเข้มข้นและเข้มงวด หน่วยเหนือของโรงเรียนและครู ดำเนินการติดตามผลแนวควบคุม ไม่ใช่แนวส่งเสริม ทำให้โรงเรียนและครูมุ่งทำงานเพื่อสนองการประเมิน แทนที่จะเน้นสนองนักเรียน
จุดอ่อนประการที่ ๓ ของหลักสูตรเน้นผลลัพธ์ คือ มีผลลดทอนโอกาสพัฒนาความเป็นผู้ก่อการ (agency) ของครู ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ระบบการศึกษาอ่อนแอลงไปอีก
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 3
ระบบการศึกษาที่เลียนแบบระบบธุรกิจ รับเอาอุดมการณ์และวิธีการหลายอย่างของระบบธุรกิจมาใช้ โดยไม่คำนึงว่า บริบทของธุรกิจกับบริบทของการศึกษาแตกต่างกัน จะนำไปสู่ความตกต่ำของระบบการศึกษา
ข้อแตกต่างสำคัญยิ่งคือ ระบบธุรกิจมุ่งสนองความต้องการของลูกค้า ส่วนระบบการศึกษามุ่งสนองความต้องการของผู้เรียน (หรือผู้ใช้บริการ) ลูกค้ามีอำนาจสูง เพราะสามารถบอกความต้องการของตนได้ชัดเจนผ่านช่องทางต่างๆ และองค์กรธุรกิจก็ต้องสนองความต้องการนั้น แต่นักเรียนบอกไม่ได้ว่าตนเองต้องการบรรลุเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของการศึกษา และไม่มีกำลังต่อรองใดๆ เกิดคำถามว่า ใครเล่า ที่เป็นผู้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้บริหารระบบการศึกษา หรือคนอื่น (กลไกอื่น เช่นกลไกตลาด) คำตอบของผมคือครู ครูอยู่ในฐานะที่จะรักษาและสนองผลประโยชน์ของนักเรียนได้ดีที่สุด ความเห็นนี้ต้องถกเถียงกันยาว โดยประเด็นของเรื่องคือ หากครูมีความเป็นผู้ก่อการ ครูจะรักษาผลประโยชน์ของนักเรียนได้ดีกว่า
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 4
ระบบกำกับคุณภาพ และติดตามประเมินผลการศึกษา เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา การกระทำที่เต็มเปี่ยมด้วยเจตนาดีอาจก่อผลร้าย หากมีวิธีดำเนินการที่ผิดพลาด อันเกิดจากกระบวนทัศน์ที่ผิด
กระบวนทัศน์ที่ถูกต้องคือ ระบบดังกล่าวมีไว้สนับสนุนหรือช่วยเหลือฝ่ายปฏิบัติ ไม่ใช่มีไว้ควบคุมฝ่ายปฏิบัติ หรือกล่าวใหม่ว่าต้องดำเนินการแบบเน้นสนับสนุนส่งเสริมมากกว่าควบคุม
แต่ลัทธิบูชาผลงาน (performativity) ชักนำให้ทุกขั้นตอนของระบบการศึกษาต้องมีผลงาน หน่วยเหนือขึ้นไปจึงต้องเรียกร้องผลงานของหน่วยต่ำลงมา เพื่อนำไปรวบรวมเป็นผลงานของตน เกิดความบิดเบี้ยวของระบบกำกับคุณภาพและติดตามประเมินผลการศึกษาในระดับพื้นฐาน คือกลายเป็นมุ่งควบคุม ไม่ใช่มุ่งส่งเสริมสนับสนุน โรงเรียนและครูจึงมีเป้าหมายที่บิดเบี้ยว คือมุ่งสร้างผลงานไว้เสนอหน่วยเหนือ ไม่ได้มุ่งที่ความต้องการหรือเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของนักเรียน
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 5
บทบาทของครู ไม่ใช่แค่บทบาทจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่มีอีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือหน้าที่พัฒนาหลักสูตรและพัฒนาระบบการศึกษา กล่าวใหม่ว่า ในระบบการศึกษาคุณภาพสูง ครูต้องเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาระบบ และพัฒนาหลักสูตร
เพื่อทำหน้าที่ประการหลัง ครูต้องแสดงพฤติกรรมของ “ผู้ก่อการ” (agency) ที่เป็นสาระหลักของหนังสือ Teacher Agency ตลอดเล่ม ที่หลักสูตรสมัยใหม่มักจะเรียกร้อง แต่ระบบบริหารหลักสูตรมักปิดกั้นด้วยความเข้าใจผิดสองประการ ประการแรก เข้าใจว่าจะได้ครูผู้ก่อการ (agentic teacher) ได้โดยการฝึกอบรมเพิ่มความรู้ให้แก่ครู ประการที่สอง ดำเนินการบริหารจัดการแบบควบคุมสั่งการ และเน้นการประเมินผลลงรายละเอียด ทำให้ครูมุ่งปฏิบัติตามรายละเอียดที่จะวัดเหล่านั้น ไม่มีโอกาสได้ตีความเอง คิดเอง หาวิธีทำเอง เรียนรู้เอง ผลที่ตามมาคือ ครูขาดโอกาสเรียนรู้และพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของตนเอง
ครูที่มีความเป็นผู้ก่อการ จะสามารถร่วมกันตีความเป้าหมายอันทรงคุณค่า (purpose) และแนวทาง (process) ที่ระบุไว้กว้างๆ ในหลักสูตรสู่การร่วมกันคิดวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธี ร่วมกันตัดสินใจเลือกวิธีการที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ร่วมกันดำเนินการ แล้วติดตามตรวจสอบผลเอง สำหรับนำมาร่วมกันตีความผล และหมุนวงจรเรียนรู้ของทีมครู ที่เป็นวงจรชั้นเดียว และวงจรสองชั้น ตามที่กล่าวแล้วในบันทึกที่ ๙ ซึ่งผลของวงจรเรียนรู้ของทีมครู จะนำไปสื่อต่อทีมงานของทั้งโรงเรียน ต่อเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารในส่วนกลาง เท่ากับครูได้มีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน และในระดับประเทศ
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 6
ความเป็นผู้ก่อการ (agency) ของครูมีค่ายิ่งต่อคุณภาพของการศึกษา โดยที่ความเป็นผู้ก่อการเป็นพฤติกรรมที่ผุดบังเกิด (emerge) ขึ้นในปัจจุบันขณะ ภายใต้บริบทนั้นๆ ผ่านแรงขับดันเชิงคุณค่า ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ที่สั่งสมมาในอดีต ผสานกับแรงคาดหวังไปในอนาคตในเรื่องนั้นๆ ส่งผลให้มีการตัดสินใจดำเนินการออกมาเป็นพฤติกรรมที่กล้าหาญ และก่อคุณค่า ณ ปัจจุบันขณะ จะเห็นว่าพฤติกรรมเป็นผู้ก่อการมาจากการสั่งสมจากอดีต ที่ระบบนิเวศของการปฏิบัติงานของครูเอื้อให้เกิดการสั่งสม คุณค่า ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ที่เอื้อต่อการเป็นผู้ก่อการ รวมทั้งสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศในการทำงาน ณ ปัจจุบันขณะที่เอื้อการตัดสินใจลงมือปฏิบัติการ
ความเป็นผู้ก่อการของครู จึงไม่ใช่ขึ้นกับตัวครูเท่านั้น แต่มีปัจจัยด้านระบบนิเวศของการทำงาน เป็นองค์ประกอบด้วย ระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์แนวดิ่ง หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ปิดกั้นพฤติกรรมผู้ก่อการของครู
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 7
ไม่ว่าหลักสูตรใหม่จะได้รับการออกแบบมาดีแค่ไหนก็ตาม ไม่มีวันประสบความสำเร็จ หากระบบการศึกษาไม่เป็น “ระบบที่ฉลาด” (intelligent systems) ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ในองคาพยพต่างๆ ของระบบ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในระดับปฏิบัติ และระดับบริหารจัดการ โดยข้อเรียนรู้จากแต่ละจุดในระบบ ต้องได้รับการสื่อสารไปทั่วทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลกระตุ้นการปรับตัวของระบบ
นี่คือความเป็นจริงสำหรับระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive systems) ระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อนยิ่ง และมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอย่างเข้มข้น จึงเป็นระบบที่หวังให้การเปลี่ยนแปลงเกิดจากการสั่งการจากเบื้องบนเท่านั้นไม่ได้ เพราะจะไม่สำเร็จ เบื้องบนไม่มีข้อมูลที่ซับซ้อน และเป็นปัจจุบัน (real time) เพียงพอสำหรับการตัดสินใจและสั่งการที่ถูกต้อง จึงต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ของระบบมีการสื่อสารกันเองได้อย่างอิสระด้วย
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 8
การให้คุณค่าแก่ผลงานน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในบันทึกชุดนี้เอ่ยถึง “ลัทธิบูชาผลงาน” (performativity) ในทำนองเป็นผู้ร้าย โปรดสังเกตให้ดีว่า ตัวผลงานไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ตัวลัทธิบูชาผลงานเป็นผู้ร้าย เพราะมันนำไปสู่พฤติกรรมติดตามประเมินผลที่ผลงานแบบตายตัว ด้วยท่าทีของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมี “ผลงาน” แบบตายตัวให้ตรวจสอบ ไม่ว่า “ผลงาน” นั้นจะเป็นผักชีโรยหน้า หรือสร้างขึ้นชั่วคราวก็ตาม ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์ในระบบการศึกษา เป็นการทำลายโอกาสที่ครูจะร่วมกันจรรโลงศักดิ์ศรีวิชาชีพ และความเป็นผู้ก่อการของครู
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 9
กิจกรรมด้านการศึกษาขึ้นกับบริบท ต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบท มีการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องในแต่ละบริบท กิจกรรมการศึกษาจึงไม่มีทางดำเนินการได้ผลดีตามมาตรฐานเดียว ตัวชี้วัดเดียว บริบทในที่นี้แจงย่อยลงไปเป็นภาค จังหวัด เขตการศึกษา โรงเรียน และห้องเรียน และแจงย่อยตามเวลาด้วย ห้องเรียน ป. ๔/๓ ของโรงเรียน ก ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ ก็มีบริบทแตกต่างจากในปีการศึกษา ๒๕๖๔ เพราะลักษณะของนักเรียนอาจแตกต่างกันมาก หรืออาจเปลี่ยนตัวครูประจำชั้น หรือเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการโรงเรียน
ในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว แต่ละส่วนย่อยต้องเรียนรู้ปรับตัวตามบริบทของตน โดยยึดมั่นเป้าหมายสูงส่ง (purpose) ร่วมกัน ระบบการศึกษาจึงต้องมีการตีความทำความชัดเจนต่อเป้าหมายที่สูงส่งอยู่เสมอ ในสถานการณ์ต่างๆ สำหรับใช้ยึดถือร่วมกันในทุกภาคส่วนของระบบ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ต้องเปิดโอกาสให้แต่ละภาคส่วนตีความ ตั้งเป้าหมายเพื่อการดำเนินการ และกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินการของส่วนย่อยนั้นๆ ได้ เพื่อร่วมกันดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษาในส่วนย่อยของตน ในลักษณะของการทำงานไปเรียนรู้ไป สร้างนวัตกรรมไป และส่งสัญญาณข้อมูลการเรียนรู้ออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับระบบใหญ่อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารระบบการศึกษาของประเทศ ต้องจัดให้มีการพัฒนาระบบข้อมูล และระบบการสื่อสารเพื่อสื่อสารการค้นพบนวัตกรรมของแต่ละส่วนย่อย ในลักษณะของการสื่อสารอิสระ แต่มีกลไกกรองความเท็จและการโอ้อวดเกินจริง รวมทั้งกรองการโอดครวญด้วยเจตคติเชิงลบ เจตคติกล่าวโทษผู้อื่น ออกไป ให้ระบบสื่อสารเน้นสื่อสารความพยายาม และความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่ มีการประมวลนวัตกรรมเล็กๆ ดังกล่าว เพื่อส่งสัญญาณและทรัพยากรสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์เล็กๆ ณ จุดปฏิบัติเหล่านั้น
นำไปสู่การบริหารการเปลี่ยนแปลงแนวใหม่ แนวส่งเสริมการสร้างสรรค์ ณ จุดปฏิบัติ ผมอยากเห็นแนวทางจัดการหลักสูตรฐานนวัตกรรมในแนวนี้
ข้อเรียนรู้ข้อที่ 10
“ความไว้วางใจ” (trust) เป็น สินทรัพย์ ที่มีค่ายิ่งในระบบการศึกษา การจัดการระบบการศึกษาไทยพึงเอาใจใส่การใช้พลังของสินทรัพย์นี้ โดยจัดการให้ “ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” (mutual trust) เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการศึกษา และขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
โดยต้องมีการจัดการให้ระบบการศึกษาเป็นระบบที่มีความไว้วางใจเป็นเจ้าเรือน อย่าปล่อยให้ความไม่ไว้วางใจเข้ามาครองระบบ โดยต้องจัดการให้เกิดความสัมพันธ์แนวราบเป็นความสัมพันธ์หลักในระบบการศึกษา ลดทอนความสัมพันธ์แนวดิ่ง หรือแนวบังคับบัญชาลงไป
โดยต้องมีระบบข้อมูล และระบบการจัดการที่ส่งเสริม “ความจริง” และ “ข้อมูลหลักฐาน” จาก “การปฏิบัติจริง” เพื่อส่งเสริมความมีวิจารณญาณของสมาชิกในระบบการศึกษา และส่งเสริมความสุจริตในหมู่สมาชิก รวมทั้งหาทางขจัดความไม่จริงใจ ความไม่สุจริต ออกไปจากระบบ ทั้งนี้ โดยยึดมั่นในคุณค่าสูงส่งของระบบการศึกษาต่อสังคมส่วนรวมหรือต่อบ้านเมืองเป็นเป้าหมายหลัก
ระบบข้อมูล และระบบสื่อสารดังกล่าว จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกันในหมู่ครูผู้ก่อการ และนำไปสู่พลังสร้างสรรค์ในวงการการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฏิบัติ ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของระบบการศึกษา
ผมเริ่มเขียนบันทึกชุดนี้ในสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ และเขียนเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน คือใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนในการอ่านหนังสือ Teacher Agency: An Ecological Approach หลายเที่ยว หลายแบบ เพื่อตีความเข้าสู่บริบทไทย โดยมุ่งตีความในระดับคุณค่า มุ่งทำความเข้าใจความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในระบบการศึกษา เอามานำเสนอเพื่อให้สมาชิกของระบบการศึกษาไทยได้พิจารณา ผมไม่ยืนยันว่าการตีความและข้อคิดเห็นที่ผมสอดใส่เข้าไปเกินจากที่หนังสือระบุ จะถูกต้องทั้งหมด ที่ยืนยันได้คือความไม่ครบถ้วน ผมเน้นการเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ท่านผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณของท่าน สิ่งที่ผมใฝ่ฝันให้เกิดคือ ความเป็นผู้ก่อการของท่านทั้งหลาย ร่วมกันก่อการเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทย ภายใต้เป้าหมายที่ทรงคุณค่าคือคุณภาพของพลเมืองไทยในอนาคต ที่เปี่ยมสมรรถนะการเป็น “พลเมืองผู้ก่อการ” (agentic citizen)
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 9 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์ – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 7. ลัทธิบูชาผลงาน – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู – The Potential