- ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท แม่ครูอนุบาลผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก ชวนคุยว่า ช่วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม-กักตัวอยู่บ้านเนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) พ่อแม่ทำอะไรได้บ้างเมื่อต้องอยู่บ้านกับลูกและเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้ลูกเองในช่วงเวลาที่อาจทอดเวลาไปอีกนานครั้งนี้
- แม้วิกฤตทำให้เราใจเสีย แต่ในความร้าย(กาจ)เรายังต้องเดินต่อ ในความน่ากลัวย่อมมีความงาม ในความสามัญอย่างงานบ้าน-ครัว-สวน คือขุมพลังแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ และเราเองด้วย ขอให้ปลอดภัย เข้มแข็ง แข็งแรง ไปด้วยกันนะคะ
หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ และ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศมติป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดพื้นที่เสี่ยงบางส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฆล เป็นเวลา 14 วัน (18-31 มี.ค. 63)
กักตัวอยู่บ้าน และ Social Distancing – การรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นสิ่งที่รับรู้ร่วมกันและต้องปฏิบัติตาม
ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบเนื่องจากยังไม่มีมาตรการจากรัฐรับรองว่า เมื่อเด็กๆ และผู้ปกครอง (และในฐานะคนทำงาน) อยู่บ้านแล้วอย่างไรต่อ? ที่เกิดแน่ๆ คือพ่อแม่จะต้องดูแลลูกเต็มเวลาเพราะนำเด็กๆ ไปฝากไว้ที่สถานเลี้ยงเด็กต่างๆ ไม่ได้แล้ว UNESCO เองก็ออกมาให้แสดงความกังวลด้วยว่า การที่พ่อแม่ต้องหยุดงานมาเลี้ยงลูกเองอาจทำให้พ่อแม่ตั้งหลักไม่ทัน อาจเครียดเรื่องปากท้องเพราะชั่วโมงการทำงานที่หายไป
The Potential ขอ(อนุญาต)ช่วยคลี่คลายปัญหาไปทีละเปลาะ เอาเฉพาะข้อแรก ‘อยู่บ้านแล้วทำอย่างไรดี? เราควรตั้งหลักจากอะไรก่อน’ เราต่อสายตรงถึงครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ และ ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก ชวนคุยว่า เราจะคิดกับวิกฤตนี้อย่างไรได้บ้าง มีโอกาสอะไร ทำอะไรได้บ้างเมื่อต้องอยู่บ้านกับลูก
ในฐานะแม่ครูอนุบาล ครูอุ้ยชวนพ่อแม่ตั้งหลัก ใช้วิกฤตนี้สร้างโอกาสที่ผู้ปกครองจะได้ใช้เวลากับลูกอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ตอบด้วยหลักการเรียนรู้แบบมนุษยปรัชญาหรือการศึกษาวอลดอร์ฟ ว่า ขั้นแรก เด็กวัยอนุบาลไม่ได้เรียนรู้การบอกเล่าข้อมูลให้จำ แต่เรียนรู้ผ่านการกระทำ ‘เลียนแบบ’ สิ่งที่เห็น และ ใช้วิกฤตนี้ในการสร้างจังหวะที่ดีให้กับลูก ผ่านงานบ้าน งานครัว(เรือน) และงานสวน
ครูอุ้ยจะมาขยายให้ฟังยาวๆ ว่า วิกฤตที่ทำให้การอยู่บ้านครั้งนี้ จะกลายเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ที่น่ารักของครอบครัวและสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกได้อย่างไร
โอกาสดี: พ่อแม่ได้รู้จัก ‘ลูก’ ในแบบที่เป็นเขาจริงๆ
ครูอุ้ยเริ่มบทสนทนาด้วยการเกริ่นว่า แม้ครอบครัวของครูอุ้ยจะทำอนุบาล (อนุบาลที่ไม่ใช่โรงเรียน และเป็น ‘อนุบาลแบบบ้าน’) แต่ก็เชื่อว่าช่วง 0-7 ปีแรก คนที่เด็กๆ ควรอยู่ด้วยที่สุด คนที่ควรเป็นคนเลี้ยงดูเขาอย่างเต็มเวลาที่สุดก็คือพ่อแม่ แต่สภาพสังคมและเศรษฐกิจทำให้เราต้องฝากเด็กๆ ไว้กับสถานเลี้ยงดู
“เพื่อนชาวจีนคนนึงของครูอุ้ยเคยบอกไว้ว่า ที่บ้านเขาชอบพูดว่า ในช่วง 0-3 ปีแรก เราดูได้ว่าเด็กจะโตขึ้นแบบไหน ในช่วง 3-7 ปี เรารู้ได้ว่าเขาจะแก่ตัวอย่างไร” ครูอุ้ยพูดขึ้นเพื่อชี้ว่า ช่วง 0-7 ปีแรกคือวัยที่สำคัญมากในแง่การสร้างประสบการณ์ การเรียนรู้ และการสร้างจังหวะชีวิตให้เด็กคนนึง
“ในการศึกษาวอลดอร์ฟ บอกว่าระบบชีวิตคือ senses of life หมายถึงว่า ถ้าเด็กคนนี้เป็นคนที่มีจังหวะชีวิตที่ดี พ่อแม่หรือคนเลี้ยงวางระบบระเบียบในชีวิตเขาดี มีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ เราจะพบว่าเขาอยู่ง่ายเลี้ยงง่าย แต่ถ้าระบบชีวิตเค้าสับสน เช่น นอนไม่เป็นนอน กินไม่เป็นกิน พ่อแม่กลับบ้านดึกบ่อยๆ จนไม่ค่อยได้กินข้าวด้วยกัน คาดเดาไม่ได้ กิจวัตรไม่สม่ำเสมอ การเป็นอยู่ของเด็กก็รวนไปด้วย ระบบชีวิตเขาจะสับสน สุขภาวะไม่ดี กิน-อยู่-นอน ไม่ดี”
‘จังหวะชีวิต’ ที่ครูอุ้ยพูดหมายถึงกิจวัตรที่สม่ำเสมอ คาดเดาได้ เช่น ตื่นนอนด้วยเวลาเท่านี้ เสร็จแล้วเก็บที่นอน อาบน้ำ กินข้าว ไปโรงเรียน … เรื่อยไปจนครบวัน ทำกิจกรรมในช่วงเวลาซ้ำเดิมจนครบลูปวัน เป็นเช่นนี้เรื่อยไปอย่างสม่ำเสมอ เด็กจะรู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น รู้เวลา รู้อยู่ คาดเดาได้
จังหวะชีวิตเกี่ยวกับเรื่อง ‘การอยู่บ้าน’ และวิกฤตครั้งนี้อย่างไร?
ครูอุ้ยบอกว่า อยากให้พ่อแม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกวันนี้เรารู้จักจังหวะของลูกดีพอรึยัง หรืออันที่จริงเป็นจังหวะแบบ เร่งๆๆ (กินข้าวเสร็จรึยังลูก ขึ้นรถเร็วลูก รีบลงเร็วลูกรถข้างหลังจ่อท้ายมาแล้ว) รู้จักตัวตนของลูกดีพอรึยัง วิกฤตครั้งนี้ จึงเป็นการได้กลับมารู้จักตัวตนของลูก จังหวะของลูก และถ้าพบว่าจังหวะชีวิตของเขายังไม่สม่ำเสมอ เราใช้โอกาสสร้างจังหวะชีวิตให้เขาได้ ผ่านงานบ้าน งานครัว งานสวน …ง่ายๆ แบบนี้นี่แหละ
โอกาสดี: เด็กๆ เรียนรู้ผ่าน ‘การเลียนแบบ’
“เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ พูดอีกอย่างได้ว่า เขารับความรู้เข้าตัวผ่านการมี ‘แบบอย่าง’ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า imitation การเรียนรู้ของเด็กๆ เกิดเมื่อเด็กๆ เห็นแบบอย่างและทำตามโดยปราศจากความคิด สิ่งดีงามที่เกิดขึ้นกับลูกเรานั่นก็อาจเป็นเพราะลูกเรากำลังเลียนแบบอะไรหรือใครอยู่รึเปล่า
“เช่น ลูกเกิดปลื้มมากเลยที่เห็นครูหรือคนที่เลี้ยงเขากวาดบ้าน เขารู้สึกว่าการกวาดบ้านมันท้าทายและเขาอยากลงมือทำ เค้าจึงจับไม้กวาด เมื่อถึงเวลาที่คนเลี้ยงหรือครูเริ่มลงมือกวาด เขาจะเอาที่โกยผงไปรอ และถ้ามันมีไม้กวาดเหลืออยู่ตรงนั้น เขาจะลงมือกวาดเอง ทีนี้เราก็ตบมือดีใจว่าลูกเราเก่งมากเลย กวาดบ้านอย่างมีความรับผิดชอบ แต่จริงๆ แล้วเขาแค่กำลังเลียนแบบคนๆ นั้นอยู่ กำลังอินกับบุคคลนั้นอยู่ หมายถึงว่า ถ้าโตไปเขาไม่สนจะกวาดบ้านแล้วก็ไม่ต้องไปต่อว่าเขาเพราะมันเป็นคนละอายุกัน เพียงรับรู้ไว้ว่า นี่คือการเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบของเขา ที่เขาสนใจเรื่องกวาดบ้านเพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เขาประทับใจ”
ครูอุ้ยเริ่มเรื่อง ‘การเลียนแบบ’ ก่อนเพื่ออยากให้เข้าใจโลกการเรียนรู้ของเด็กวัยอนุบาล เขาไม่ได้เรียนรู้ผ่านการบอกให้ท่องจำ แต่เรียนรู้ผ่านเรื่องใกล้ตัว ครูย้ำว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอัดวิชามากมายให้เด็กอายุเท่านี้เพราะยังไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นและจะใช้งานในเวลาอันใกล้ แต่เรื่องใกล้ตัวอย่างชีวิตประจำวันของเขาต่างหาก คือสิ่งที่เราควรพูดกัน
และเป็นอีกครั้งที่ครูอุ้ยย้ำว่า สำหรับวัยอนุบาล นี่จึงเป็นโอกาสดีมากๆ ที่พ่อแม่จะใช้เวลานี้เป็นต้นแบบให้เขาเรียนรู้เลียนแบบ และเรื่องใกล้ตัวและเป็นชีวิตของเขาและเราที่สุด ก็คืองานบ้าน งานครัว งานสวน
โอกาสดี: สร้างจังหวะชีวิตที่สม่ำเสมอ ผ่านงานบ้าน
“งานบ้านเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน หากไม่ทำจะมีผลกระทบต่อชีวิต เช่น ถ้าไม่ล้างจานวันนี้ พรุ่งนี้ต้องล้างมากขึ้น เก็บไว้ไม่ล้างหลายๆ วัน ก็ไม่ได้ ชีวิตจะเริ่มลำบาก อยู่ยากซะแล้ว เด็กทำงานบ้านได้เพราะมีผู้ใหญ่ทำให้ดูเป็นแบบอย่างให้เห็นทั้งสถานดูแลหรือสถานศึกษาและที่บ้านของเขาเอง ดูแล้วก็ลงมือทำเลย โดยไม่ได้ผ่านการคิด ทักษะการใช้มือสารพัดรูปแบบนี่ก็มาจากการลงมือทำ
“งานบ้านต้องมีผู้ใหญ่อยู่ตรงนั้น เราแค่บอกให้เขาทำไม่ได้ เช่น “ไปล้างจานนะลูก” แต่สุดท้ายเขาไม่ได้ทำแล้วเราก็จะถามเขาว่า “ทำไมไม่ทำละลูก” ไม่ได้หรอก เพราะเด็กจะทำเมื่อมีเราอยู่ตรงนั้น เขาแค่อยากให้เราอยู่เพื่อเลียนแบบกันไปสนุกสนาน
“ครูอุ้ยขอยกตัวอย่างเรื่องการกวาดบ้านเพราะครูอุ้ยชอบ (ยิ้ม) บ้านคนเราจะมีมุมฉาก เวลาผู้ใหญ่กวาดตรงมุม เราจะเซาะไม้กวาดไปที่มุมนั้นแล้วกวาดเอาขี้ผงออกมา โอ้โหว… แค่การแซะขี้ผงออกจากมุมบ้านก็คือโอกาสที่เขาจะได้รู้จักรูปทรงต่างๆ ในธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องหา ไม่ต้องจัด ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์การสอนเลยแต่มีอยู่แล้วในทุกๆ วัน เด็กเคยเห็นรูปทรงต่างๆ ในกระดาษ แต่ในชีวิตจริง มันอยู่ตรงนั้นแล้ว เราก็อยู่ในรูปทรงนั้น เราอยู่กับรูปทรงต่างๆ ในชีวิตจริง บ้านเราทรงโค้งเราก็กวาดบ้านในลักษณะโค้ง
ครูอุ้ยขยายเรื่องการเรียนรู้ที่เด็กๆ ได้จากงานบ้านต่อว่า งานบ้านไม่ใช่แค่การกระทำ แต่มันคือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างกิจวัตรนั้นกับตัวเอง’ เป็นเรื่องเดียวกับ สุขศึกษา สุขนิสัย ระเบียบวินัย สารพัดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ และ ‘งานบ้าน’ ต้องไม่ใช่แค่เด็กได้รู้จักโลกผ่านการเลียนแบบผู้ใหญ่จากกิจกรรมที่ทำในบ้าน แต่ตัวผู้ใหญ่เองต้องเป็นบุคคลนั้น ทำสิ่งนั้นให้เขาเลียนแบบด้วย
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขัดกับหัวใจของผู้ใหญ่หลายคนทุกยุคทุกสมัย คือเรามักคิดว่างานบ้านเป็นเรื่องของเด็กที่โตแล้วระดับนึง เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องรับผิดชอบดูแล
“มันเป็นความเคยชินของวัฒนธรรมแบบบ้านเรารึเปล่าที่ผู้ใหญ่จะเข้าไปช่วยเด็กเรื่องการจัดการตัวเอง เราจะพบว่าเด็กจะมีคนถือกระเป๋าให้ แต่งตัวให้ ใส่ถุงเท้าให้ และเขายินดีทำด้วยนะ ก็เพราะรักอะ แต่ในวัฒนธรรมประเทศอื่น ‘เรื่องของตัวเธอ เธอควรจะดูแลด้วยตัวของเธอเอง’ ”
อีกหนึ่งข้อดีที่เราจะได้มีเวลาอยู่บ้านนานขึ้นอีกหน่อย คือการ ‘รีเซ็ต’ จังหวะชีวิตในทุกๆ กิจกรรมของเรา
“แต่ก่อนอาจจะแบบ ‘ตื่นรึยังลูก เร็วลูกเร็วๆ’ แต่ตื่นขึ้นมาวันนี้เราไม่ต้องรีบเร่งแล้ว ละเอียดกับทุกๆ ช่วงเวลาได้ จัดเวลาให้ดี เราจะตื่นกี่โมง ตื่นแล้วมีโอกาสพับผ้าปูที่นอนได้ มีโอกาสเก็บเสื้อผ้าที่วางระเกะระกะ ใช้ช่วงเวลานี้สร้างแบบฝึกหัดเลย ตื่นแล้วเราจะทำอะไรต่อ พับผ้าปูที่นอนนะลูก ถอดเสื้อใส่ตะกร้าแล้วจะถูกนำไปไว้ตรงไหนต่อ”
เป็นอีกครั้งที่ครูอุ้ยย้ำเรื่อง ‘จังหวะชีวิต’ และบอกว่า อันที่จริงเราเองต่างก็อาจมีจังหวะชีวิตที่คาดเดาไม่ได้มาเป็นเวลานาน วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสดีที่เราจะลองเซ็ตจังหวะชีวิตของเราใหม่ ปรับระบบระเบียบที่บ้านใหม่ ทำกิจวัตรให้สม่ำเสมอหนึ่งอย่างที่พ่อแม่กังวลคือ เมื่ออยู่บ้านแล้วลูกๆ ติด ‘หน้าจอ’ มาก ทำอย่างไรดี ตรงนี้ครูอุ้ยย้ำว่า เราปรับได้ด้วยการจัดปรับจังหวะชีวิตเช่นกัน
“ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปล่อยให้เขาทำเป็นเวลา สร้างจังหวะให้เขา กำหนดเวลาหยุดพักให้ชัดเจนว่าเวลานี้ดูไม่ได้แล้วนะเธอต้องไปทำอย่างอื่นแล้ว หมดเวลาแล้ว”
โอกาสดี: เชื่อมตัวเองผ่านชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ฤดูกาล กับ ‘งานครัว(เรือน)’
ถ้าบอกว่างานบ้าน คือการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับเรื่องรอบตัว งานครัว จะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับชุมชน
ครูอุ้ยแยกคำว่า ‘งานครัว’ ออกเป็นสองระดับคือ งานครัว ที่เป็นงานครัวจริงๆ เช่น การทำอาหาร ทำครัวที่บ้าน กับ งานครัวเรือน ในเชิงสิ่งประดิษฐ์เพื่อการค้าขายในระดับชุมชน
“ครัวเรือนไม่ได้หมายความแค่การทำอาหารในครัว แต่รวมไปถึงครัวเรือนในระดับชุมชน ระดับหมู่บ้าน เราจะพบว่าเวลาเราอยู่รวมเป็นชุมชน จะมีของดีของเด่นที่เป็นไฮไลต์ของตัวเอง เป็นงานศิลปะของชุมชนนั้นๆ เช่น บ้านนี้ทอผ้าสวย บ้านนี้ปั้นปูนเก่ง คือถ้าเราได้เดินดูตามหมู่บ้านเราจะพบว่าเรามีอาชีพหลากหลายเลย งานเหล่านี้เป็นงานที่ทำให้เราต้องอยู่กับตัวเอง อาศัยความสร้างสรรค์และละเอียดลออ คือถ้าได้ลองทำงานเหล่านี้ จะรู้เลยว่าต้องใช้สัมผัสรู้ในตัวเรา ยกระดับจิตใจเราให้ละเอียดลออขึ้น
“แต่ในสถานการณ์ที่เราออกไปไหนไม่ได้ เราอาจจะชวนกันมาทำงานฝีมือเหล่านี้ที่บ้าน เช่น ชวนกันเย็บปักถักร้อย ระบายสี ปั้นดินอะไรสักอย่าง เราเอางานเหล่านี้เข้ามาในบ้านและดูว่าความสามารถเด็กทำได้แค่ไหน ถ้าเด็กเล็กอยู่ก็วางงานที่ง่ายหน่อยให้เขาทำ โตหน่อยก็วางงานที่ยากขึ้น ซึ่งมันเป็นความท้าทายกับเด็กมาก ไม่ต้องพูดถึงการสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่เลย ได้แน่นอน”
กลับมาที่งานครัวในความหมายของการเข้าครัวจริงๆ ครูอุ้ยอธิบายว่า นี่ก็เป็นการกลับไปที่งานบ้านอีกครั้ง เพราะงานครัวจะทำให้เกิดงานบ้าน ถือเป็นหนึ่งในการสร้างจังหวะชีวิตให้กับลูกได้ เช่น ในช่วงเวลานี้ของวันเราจะมาทำอาหารกัน เมื่อทำเสร็จแล้วเก็บล้าง เตรียมกินข้าว กินเสร็จแล้วล้างจาน มีเวลาเหลือนิดหน่อยหน่อยให้นั่งเล่นกัน … และกิจกรรมอื่นๆ จนถึงช่วงเวลานอน ทำซ้ำเช่นนี้เรื่อยไปทุกวัน
“งานครัวเรือน เด็กจะรู้ว่าเค้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ หนูทำงานเหมือนป้าคนนี้เลย ในสถานการณ์แบบนี้ที่เราต้องอยู่บ้าน พอทำกับข้าวเสร็จแล้วแจกบ้านคุณป้าใกล้ๆ ‘วันนี้ป้าทำอะไรกินคะ แต่เอ๊ะ… ป้าจะกลัวเรามั้ยนะ (หัวเราะ) ป้าไม่ต้องกลัวหนูนะ วันนี้หนูทำแกงส้มป้าจะเอามั้ยคะ’ คือเป็นโอกาสดีนะ ได้พบปะคนใกล้เคียงที่ปกติเราอาจไม่ได้พูดคุยมาก
“งานครัวเรือนยังเกี่ยวกับชุมชนและวัฒนธรรม ช่วงนี้เราควรกินอะไร ข้าวเหนียวมะม่วงมั้ยเพราะเป็นหน้ามะม่วงแล้ว ช่วงนี้เขากวนกาละแมกันมั้ย อาจจะไม่เพราะมะพร้าวไม่ค่อยมี การกินอยู่ในครัวเรือนเราก็ทำให้เข้าใจเรื่องวัฒนธรรม ฤดูกาล ประเพณี รู้ว่าเราควรกินหรือไม่กินอะไรหน้าไหน หมายถึงสุขภาวะของเราเรื่องการกินด้วย”
โอกาสดี: เชื่อมตัวเองกับธรรมชาติ โลก และจักรวาลด้วย ‘งานสวน’
งานครัวผูกพันกับงานบ้านในเชิง ‘กิจวัตรประจำวัน’ แล้ว ยังผูกพันกับงานสวนในแง่วัตถุดิบที่จะนำมาปรุงด้วย มากกว่านั้น งานครัวยังเชื่อมตัวเราให้เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ โลก และจักรวาลด้วย และเป็นพลังชีวิตให้กับเราด้วย
“ไม่แน่ใจว่าเราจะต้องอยู่บ้านกันนานเท่าไร แต่อย่างน้อยลองโยนเมล็ดผักบุ้งหรือกวางตุ้งลงไปในดิน นับไป 20 วันเราก็กินได้แล้วนะ ไม่ถึง 1 เดือนเลย การที่เด็กๆ ได้ออกมาอยู่กับธรรมชาติ รับผิดชอบรดน้ำต้นไม้ มองเห็นการเติบโต นี่มันเป็นพลังงานในตัวเขาที่ดีมากๆ เลย
“การทำสวนยังสอนเราเรื่องอะไรอีก? คิดง่ายๆ ถ้าเราปลูกพืชที่ต้องการน้ำเยอะแต่ไปปลูกในหน้าหนาว มันก็อาจไม่สำเร็จ ตัวครูอุ้ยเองก็ยังทดลองไปเรื่อยๆ เหมือนกัน ไม่ได้เชี่ยวชาญเหมือนกันนะ แต่ที่จะบอกคือ แค่การปลูกต้นไม้ก็เหมือนเราต้องเข้าใจโลกทั้งใบแล้วนะ เราต้องหาความรู้ว่าที่ฤดูกาลต่างๆ เป็นแบบนี้เพราะเกิดจากอะไร โลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากน้อยมีผลต่อการเติบโตของพืชยังไง การปลูกพืชในแง่นี้ มันคือความเข้าใจเรื่องความสอดคล้อง ความเป็นไปของการเปลี่ยนแปลงโลก”
แต่กับเด็กตัวเล็กแค่นี้ เราจำเป็นต้องให้ภาพใหญ่ ความสัมพันธ์ของโลกกับดวงอาทิตย์จนเกิดเป็นฤดูกาล เช่นนั้นจริงๆ หรือ?
“จำเป็น ในการศึกษาสายมนุษยปรัญชา บอกว่ามนุษย์ด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง มีส่วนหนึ่งเป็นหิน ดิน แร่ ในร่างกาย มีส่วนที่เป็นพืช มีส่วนที่เป็นสัญชาตญาณสัตว์ และเราก็มีตัวตนสำนึกของมนุษย์ในโลกนี้ การได้เรียนรู้ว่าโลกเราเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง ถือเป็นเรื่องที่น่าจะให้เด็กได้คุ้นเคย การได้ปลูกและกินพืชผักที่เราปลูกเอง มันเป็นพลังชีวิตที่ดีนะ พลังชีวิตที่เด็กได้จากการกินอาหารดีๆ กับเด็กที่ไม่มีพลังชีวิตแบบนี้ ต่างกันนะ
“สัญชาตญาณของสัตว์ก็เหมือนกัน เราอยู่ในบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงมั้ย อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มั้ย เช่น เราได้ยินเสียงนกในสวน ได้เคยโปรยข้าวให้นกมั้ย เคยเห็นกระรอกมาเก็บกินผลไม้ในสวนมั้ย เราก็ชี้ชวนกันดูสิ่งเหล่านี้ในบ้าน
“พลังชีวิตที่เราได้ปลูกพืช กินอาหารจากพืชที่ปลูก มีสัตว์เลี้ยงและได้ดูแลเขา รักเขาและเขาก็ให้ความรักกับเรา โหย… แค่นี้เรามีพลังปราณเต็มที่เลยเลยนะ”
งานสวนในที่นี้จึงไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่หมายถึงการเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกและจักรวาล ลึกเข้าไปยังเป็นพลังงานดีๆ ที่ได้รับจากอาหารที่ดีและเป็นความชื่นใจที่ปลูกเอง
ก่อนจากกันไป ครูอุ้ยย้ำว่า งานบ้าน งานครัว งานสวน ไอเดียของมันไม่ใช่อะไรแต่คือตัวตน คือความมั่นใจที่มาจากการรู้จักตัวตนของตัวเอง มั่นใจว่าตัวเองดูแลตัวเองได้ สำคัญที่สุด จังหวะชีวิตที่เกิดขึ้นในบ้านเหล่านี้คือการได้กลับมา ‘รู้จักตัวตน’ ของกันและกัน รู้จริงๆ ว่า ณ วันนี้ ลูกเรามีจังหวะอย่างไร
อีกเรื่องที่ครูอุ้ยย้ำคือ เด็กๆ ไม่ได้เรียนรู้ผ่านการท่องจำอ่านเขียน แต่ผ่านการ ‘เลียนแบบ’ ในคำว่าเลียนแบบคือการสร้างแรงบันดาลใจที่มาจากเนื้อตัวของเด็กเอง และนี่คือความอยากเรียนรู้ที่ดีที่สุดในโลก อยากรู้อยากเลียนแบบแล้ว เขาจะลงมือทำ
แม้วิกฤตทำให้เราใจเสีย แต่ในความร้ายยังมีความงาม ในความสามัญอย่างงานบ้าน งานครัว งานสวน คือขุมพลังแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ และเราเองด้วย …และ ขอให้ปลอดภัย เข้มแข็ง แข็งแรง ไปด้วยกันนะคะ