- ในนิยามของ Coleman นักสังคมวิทยาชาวอเมริกา ทุนประกอบด้วย ทุนทางการเงิน ทุนมนุษย์ และทุนทางสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะสองอย่างหลัง
- ในระบบการศึกษา การที่เด็กคนหนึ่งจะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองหรือประสบผลสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เรื่องของความพยายามของปัจเจกหรือเรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของ ‘ทุน’ ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน
- บทความนี้พาสำรวจแนวคิดเรื่องทุน จากมุมมองสังคมวิทยาการศึกษา ว่า การประสบผลสำเร็จของเด็กคนหนึ่งเป็นเรื่องปัจเจก? หรือแท้จริงมีตุ้นทุนอะไรที่คอยผลักดันสนับสนุนพวกเขาอยู่เบื้องหลัง? แล้วการศึกษาที่เป็นอยู่เป็นธรรมหรือไม่ ?
ในข้อเขียนส่งท้ายปี ผมอยากจะลองเขียนแง่มุมของการศึกษาจากสังคมวิทยาการศึกษา (Sociology of Education) หรือ SOE เพื่อช่วยเป็นอีกเลนส์ให้ครูและนักการศึกษาอย่างเราๆ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา หากถามว่าสังคมวิทยาการศึกษาคืออะไร คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คงเป็น การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘สังคม’ และ ‘การศึกษา’ ในมิติต่างๆ อาทิ หลักสูตร ตำราเรียน การเรียนการสอน ครู นโยบายทางการศึกษา ฯลฯ
นักสังคมวิทยายังเห็นว่า SOE คือการเข้าไปสำรวจพื้นที่ทางสังคมเพื่อเผยให้เห็นนัยยะของความหมาย สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง หรือสิ่งที่ถูกทำให้มองไม่เห็นในความสัมพันธ์นั้นๆ ในทางหนึ่ง กำลังบอกเราว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปความเข้าใจด้วยความคุ้นเคยเดิม (common sense) ที่เรามีต่อสิ่งที่เห็น การประสบผลสำเร็จของเด็กคนหนึ่งเป็นเรื่องปัจเจก? หรือแท้จริงมีตุ้นทุนอะไรที่คอยผลักดันสนับสนุนพวกเขาอยู่เบื้องหลัง? แล้วการศึกษาที่เป็นอยู่เป็นธรรมหรือไม่? ในข้อเขียนนี้จึงอยากพาไปสำรวจผ่าน SOE เพื่อตอบคำถามนี้ดูกัน
ทุนของเธอและฉันที่อาจไม่เท่ากัน
เริ่มต้นด้วยงานศึกษาแนวชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ของ Li ที่ศึกษาครอบครัวชาวจีนอพยพในแคนนาดา โดยจากการศึกษาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี ในช่วง 1998 -1999 เขาสังเกตว่า เด็กจาก 4 ครอบครัวมีระดับความเข้าใจภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สองแตกต่างกัน โดยเด็กจากสองครอบครัวแรก ซึ่งมีพ่อแม่ทำงานด้านวิชาการ สามารถสื่อสารและเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยมกว่าเด็กจากสองครอบครัวหลังที่พ่อแม่เป็นเจ้าของร้านอาหาร Li ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? สภาพแวดล้อมทางบ้าน (home environment) มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ต่อระดับความเข้าใจภาษาอังกฤษของเด็ก
ในนิยามของ Coleman นักสังคมวิทยาชาวอเมริกา ทุนประกอบด้วย ทุนทางการเงิน (financial capital) ทุนมนุษย์ (human capital) และ ทุนทางสังคม (social capital) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะสองอย่างหลัง งานวิจัยของ Li บอกเราว่า
ครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานวิชาการ มีทุนมนุษย์ คือความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการมาโดยตลอด และมีทุนทางสังคม คือ สายใยภายในครอบครัว เวลาที่ใช้ร่วมกัน และเครือข่ายทางสังคม ทำให้เมื่อเด็กอยู่บ้าน พวกเขาจะได้อ่านหนังสือ ดูการ์ตูนภาษาอังกฤษที่พ่อแม่ซื้อหรือยืมจากห้องสมุดในมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้เด็กจะได้รับการสอนเพิ่มเติมตั้งแต่ การอ่าน การเขียน ทำแบบฝึกหัด มีกิจกรรมพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอหลังเลิกเรียนและช่วงเวลาอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งเด็กทั้งสองครอบครัวยังเรียนอยู่ในโรงเรียนและชุมชนที่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางผิวขาวที่พูดภาษาอังกฤษ รวมถึงการที่พ่อแม่พาไปมหาวิทยาลัยบ่อยๆ หรือส่งไปเรียนเพิ่มเติม เช่น คลาสเรียนเปียโน ก็ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสสื่อสารกับคนรอบข้างที่พูดภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา Li เรียกทั้งหมดนี้โดยสรุปว่า ทุนครอบครัว (family capital)
ในทางตรงกันข้าม ครอบครัวที่ทำร้านอาหาร แม้จะมีทุนทางการเงินมากกว่าสองครอบครัวแรก แต่ภูมิหลังด้านการศึกษา (ทุนมนุษย์) ไม่ได้สูงมากนัก และเวลาส่วนใหญ่ของพ่อแม่ทุ่มเทไปกับการทำงานในร้าน เด็กในครอบครัวที่ 3 บ้านและร้านอาหารเป็นสถานที่เดียวกัน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับหนึ่ง จากการช่วยพ่อแม่ทำงาน และได้ลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ร้านช่วยสอนเป็นครั้งคราว แม้ว่าพ่อและแม่จะไม่ได้มีเวลาให้ และไม่ได้หาหนังสือมาให้เขาอ่านมากนัก สำหรับครอบครัวที่ 4 บ้านและร้านอาหารเป็นคนละสถานที่กัน เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ที่บ้านไปกับวีดีโอและการ์ตูน การเข้าถึงหนังสือภาษาอังกฤษนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้หาซื้อมาไว้ให้ และไม่ได้ใช้เวลากับลูกมากนัก อีกทั้งสภาพแวดล้อมของรอบๆ บ้าน (ทุนทางสังคม) คือพื้นที่ย่านอาชญากรรม เด็กจึงถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกไปเล่นนอกบ้านและอย่าไว้ใจผู้คน จึงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะมีเพื่อนและได้สื่อสารภาษาอังกฤษ ส่งผลให้เด็กคนสุดท้องที่กำลังเรียนอยู่ grade 1 ไม่สามารถสื่อสารได้ทั้งสองภาษา และต้องพึ่งพาโปรแกรมการศึกษาพิเศษของโรงเรียน
ความเก่งและความพยายามจะทำให้ประสบผลสำเร็จ?
นัยยะหนึ่ง งานของ Li กำลังบอกเราว่า ในระบบการศึกษา การที่เด็กคนหนึ่งจะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองหรือประสบผลสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เรื่องของความพยายามของปัจเจกหรือเรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของ ‘ทุน’ (capitals) ต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุน ผลักดัน และเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน มากไปกว่านั้น Bourdieu นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ยังเห็นว่า
ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) เช่น ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะบางอย่างที่สังคมให้คุณค่า และทุนทางสัญลักษณ์ (symbolic capital) เช่น ใบปริญญา รางวัล ชื่อเสียง ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี คือ การได้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหรือชั้นนำ หรือการเรียนในสิ่งที่สังคมให้คุณค่า อย่างการเรียนสายวิทย์-คณิต หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งการจะสอบเข้าในสถานบันชั้นนำหรือเรียนในสายวิทย์ได้นั้น ก็เป็นผลมาจากทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital) ที่ครอบครัวยอมจ่ายให้ลูกๆ ของตนเอง เช่น ผ่านการเรียนพิเศษ ซื้อคอร์สติว เป็นต้น ขณะเดียวกันสถาบันชั้นนำต่างก็ได้รับทุนและทรัพยกรที่มากกว่าสถาบันอื่นๆ อีกเช่นกัน ช่วยตอกย้ำและรักษาความได้เปรียบให้เกิดขึ้นในสังคม แน่นอนว่า ทุนต่างๆ เมื่อถูกสะสมก็ยังสามารถแปลงเป็นทุนอย่างอื่นได้เช่นกัน ดังเช่นในงาน Li ที่พ่อแม่ของเด็กจากสองครอบครัวแรกสามารถสะสมทุนทางวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัย และเปลี่ยนมันเป็นทุนมนุษย์ในการสอนลูกๆ ของพวกเขาให้มีความก้าวหน้าทางภาษาซึ่งก็กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมของลูกต่อไป เป็นต้น
หากเราเห็นว่า ทุนต่างๆ มีส่วนสำคัญต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของเด็กคนหนึ่งๆ นั่นก็อาจชวนให้ท้าทายแนวคิดเรื่อง ‘meritocracy’ (แปลเป็นภาษาไทยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ว่า ‘ลัทธิคู่ควรนิยม’) ในระบบการศึกษา แนวคิด meritocracy นี้เชื่อว่า ความสำเร็จเป็นเรื่องของ ‘ความเก่งและความพยายาม’ (intelligence + effort) ของแต่ละคน เป็นเรื่องปัจเจก ยิ่งใครเก่งมากหรือมีความพยายามมากกว่าก็จะยิ่งเปิดประตูสู่โอกาสที่มากขึ้นตามมาด้วย ดังนั้น โรงเรียนจึงทำหน้าที่หลักในการฟูมฟักสั่งสอนและคอยจัดจำแนกนักเรียนด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ว่าใครควรไปอยู่ตรงไหนในสังคม พูดแบบง่ายๆ ใครที่ ‘ดีที่สุดและฉลาดที่สุด’ (best and brightest) จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปสู่ชนชั้นบนของสังคมได้ คนที่ขึ้นไปอยู่ในจุดนั้นจึงเป็นคนที่ ‘คู่ควร’
ในทางกลับกัน มุมมองสังคมวิทยาแบบ Conflict theory ยังได้วิพากษ์ระบบการศึกษาบนฐานคิดแบบ meritocracy ไว้ว่า แท้จริงแล้วชนชั้นทางสังคมไม่ได้เป็นภาพสะท้อนของความเก่งและความพยายามอย่างที่แนวคิดนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมของคนในสังคมให้ดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการป่าวประกาศว่าการมีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น การขยัน การเชื่อฟัง และการเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ดี จะเป็นตั๋วใบสำคัญให้พวกเขาเลื่อนสถานะทางสังคมได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว แนวคิดดังกล่าวเพียงต้องการสร้างเด็กโดยทั่วไปให้เป็นแรงงานรับใช้ที่ดีของบรรดาชนชั้นนำอย่างแนบเนียน ด้วยการมองว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของปัจเจกมากกว่าจะเป็นปัญหาของความไม่เท่าเทียมกัน
แนวคิดเรื่องทุน จากมุมมองสังคมวิทยาการศึกษาในข้อเขียนครั้งนี้จึงเปิดประเด็นคำถามสำคัญที่อยากชวนครูและนักการศึกษาของไทยกลับมาคิดทบทวนอย่างจริงจังว่า หากเราเชื่อว่าความสำเร็จไม่ได้เป็นผลจากความเก่งหรือความพยายามของปัจเจก หากเราต้องการให้เด็ก ‘ทุกคน’ ได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเกิดหรือเติบโตมาในชนชั้นใดของสังคมก็ตาม อะไรบ้างคือทุนที่สังคมต้องร่วมกันสร้าง
การศึกษาฟรี มีคุณภาพ เท่าเทียมและเสมอภาค และไม่ควรมีใครต้องเป็นหนี้เพื่อให้ได้เรียน?
ห้องสมุดสาธารณะ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในทุกชุมชน?
ค่าแรงที่เป็นธรรมและวันหยุดที่เพียงพอให้พ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูก?
……………………….?
เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เป็นธรรม
อ้างอิง
Home environment and second‐language acquisition: the importance of family capital (https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/01425690701252028)
Social Class and Education ใน Multicultural Education: Issues and Perspectives, 10th Edition
สิ่งที่ซ่อนในเงินเดือนหมื่นห้า ว่าด้วยการศึกษาในฐานะทุนทางสังคม(https://thematter.co/social/cultural-capital-is-what-life-coach-cant-see/49198)
โรงเรียนชั้นนำ และโรงเรียนของชนชั้นนำ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ https://www.matichon.co.th/article/news_1640148