- อัพเดทเรื่องเพศศึกษาในตำราเรียน วันนี้เด็กๆ หันกลับมาหาความรู้เรื่องนี้จากห้องเรียนได้หรือยัง
- ปลายทางอย่างคุณแม่วัยใส อาจเป็นหนึ่งในความล้มเหลวของการเรียนการสอน เพราะเด็กๆ ยังไม่ถูกสอนหรือแม้กระทั่งได้ทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Sexuality Education (เพศวิถีรอบด้าน หรือเพศวิถีศึกษา) สักที
- ข่าวดีคือ ตอนนี้ หนังสือเรียนที่กำลังพัฒนาและบรรจุอยู่ในหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หนึ่งในนั้นคือบทที่บอกว่าสามารถ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ได้และมันไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้าย
คงไม่ช้าเกินไปหากจะย้อนกลับไปพูดประเด็น Sex Education ภาพยนตร์สตรีมมิ่งของ Netflix ที่จุดกระแสการพูดเรื่อง ‘เพศ’ ในประเทศไทย ยิ่งคึกคักและถูกตั้งคำถามมากขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อพรรคพลเมืองไทยและกลุ่มพลังหญิงเพื่อพลเมืองไทย ร้องต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ปลดป้ายภาพยนตร์ชุดดังกล่าวจำนวน 2 จุดในเขตกรุงเทพมหานครลง
หากพยายามทำความเข้าใจ ‘ผู้ใหญ่’ ในบ้านเมือง คงเป็นความห่วงกังวลว่าเด็กและเยาวชนจะ ‘หัวนอก’ เกินไป ไม่อยากให้ไทยครองสถิติคุณแม่วัยใสอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ติดต่อไปอีกหลายปี ขณะที่ข้อถกเถียงอีกด้านตั้งคำถามที่น่าสนใจเช่นกันว่า… แล้วการปิดกั้นไม่ให้ข้อมูล ไม่สร้างความเข้าใจ ไม่มอบทางเลือก – อันมาจากความเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดแล้วหรือ?
ที่สุดแล้ว สถิติคุณแม่วัยใสประเทศไทยที่สูงติดอันดับตลอดหลายปีจะถูกใช้เป็นหลักฐานได้หรือยังว่า ระบบการเรียนการสอนเรื่องเพศโดยเฉพาะในบ้านและโรงเรียน ถึงเวลาต้อง ‘ชำระ’ กันเสียที?
The Potential ชวน แสงจันทร์ เมธาตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต มูลนิธิ Path2Health ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมเพศวิถีศึกษา และหนึ่งในคณะทำเนื้อหาหนังสือวิชาสุขศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และเป็นคณะกรรมการปรับเนื้อหาวิชาสุขศึกษากับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อคุยเรื่อง Sex Education กันอย่างจริงๆ จังๆ
บทความชิ้นนี้ตั้งต้นที่คำว่า Sex Education (เพศศึกษา) VS Sexuality Education (เพศวิถีรอบด้าน หรือเพศวิถีศึกษา) ทำความเข้าใจว่า คำที่เหมือนจะคล้าย แท้จริงแล้วให้ความหมายในระดับมุมมองความคิด ไปจนถึงวิถีปฏิบัติทางสังคมที่ต่าง, เนื้อหาของวิชาเพศวิถีรอบด้านคืออะไร มีอะไรบ้าง?, สิ่งที่ได้และเสียไปจากการตัดตอน ปิดปากไม่พูดเรื่องเพศ ทำอะไรกับสังคมบ้าง และ สำคัญที่สุด เนื้อหาเหล่านี้ ถูกนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในหนังสือเรียนได้จริงไหม ถ้าได้ รูปร่างหน้าตาของมันเป็นอย่างไร คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?
Sex VS Sexuality Education แตกต่างกันอย่างไร
ในสังคมไทย เราไม่ค่อยพูดเรื่องเพศอย่างเป็นทางการ แต่ในวิถีชีวิตประจำวันเราพูดถึงมาเนิ่นนาน เช่น ในหมู่เพื่อน คนสนิทใกล้ตัว มีล้อ แซว คุยกันในเรื่องทางเพศ ทั้งนี้ทั้งนั้น เทอมการจัดการศึกษาเดิมก็ไม่มีคำว่าเพศอย่างจริงจังในระบบ แต่เริ่มมีขึ้นในช่วงสงครามโลกจากประเด็นกามโรค อันเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและทำให้เกิดโรคติดต่อ หลังจากนั้นจึงมีการจัดการศึกษาให้เข้าใจเรื่องกามโรค ต่อมาจึงเป็นการศึกษาเรื่องชีวิตและครอบครัว เรื่องการแต่งงาน
คำว่า ‘เพศ’ (sex) เริ่มมาในระยะหลังและมาพร้อมกับความเป็นวิทยาศาสตร์ในแง่สรีระร่างกาย คำว่า Sex Education จึงค่อนข้างผูกติดกับเรื่องสรีระร่างกาย หน้าที่ของอวัยวะสืบพันธ์ุ หรือโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และสมัยนั้นก็ยังไม่มีคำอื่นนอกไปจากคำนี้ (Sex Education) ความเข้าใจเรื่องเพศ (sex) จึงจำกัดอยู่แค่นั้น
ด้วยความเข้าใจแบบนั้น คำว่า sex จึงผูกกับคำว่า ‘เพศสัมพันธ์’ ?
กรอบนี้มันติดอยู่ในหัวคนมาตลอดว่า เพศ คือ เพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจู๋ จิ๋ม หน้าอก สะโพก นม เราเชื่อมโยงความเข้าใจไปในทางนั้น และเพราะความเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดโรค วิชาเพศศึกษาเดิมจึงผูกโยงความเข้าใจในเทอมนั้น Sex Education หรือเพศศึกษา ยังพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัว การแต่งงาน การป้องกันโรค การคุมกำเนิด พัฒนาการร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และความต้องการเรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศในแง่มุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคน
แต่ในระยะหลัง โลกเปลี่ยนไป วิถีชีวิตคนเปลี่ยน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพศวิถีรอบด้าน หรือ Comprehensive Sexuality Education จึงเป็นความรู้อีกชุดที่มองไปยังพฤติกรรมมนุษย์ เช่น เมื่อคนเราโตขึ้นแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดความสนใจเรื่องเพศจึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศ เช่น ความรู้สึก ความต้องการ ตัวตนทางเพศของตนเองว่าเราเป็นเพศอะไร มีเรื่องความรื่นรมย์ทางเพศ มีคุณค่าทางสังคมหรือค่านิยมเข้ามาร่วมด้วย เช่น บทบาททางเพศ การปฏิบัติตัวของเพศต่างๆ กรอบเรื่องเพศวิถีรอบด้านจึงกว้างขึ้นมาก กินความหมายถึงความเข้าใจตัวเอง การเติบโต ความสนใจเรื่องเพศ แรงดึงดูด และการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมพันธภาพ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีความหลากหลายทางเพศและในวิถีทางเพศ
มิติต่างๆ ที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศเป็นอย่างไร
เอาเข้าจริงแล้วเพศมีอยู่ทุกที่แม้แต่ในวัด วัดมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอยู่ในนั้น หรือข้อกำกับต่างๆ ของแต่ละเพศ เรื่องเพศในแง่มุมที่เป็นแรงบันดาลใจเชิงศิลปะ เรื่องเพศที่สอดแทรกในโฆษณา เช่น การใช้แรงขับทางเพศเป็นจุดขาย เครื่องสำอาง ก๊อกน้ำ แชมพู ยาสระผม การเอาเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในทุกมุมของชีวิต เช่น การประกอบอาชีพ กฎหมาย สิทธิและความเสมอภาคทางสังคม การเข้าถึงและได้รับบริการทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ุ คำว่าเพศวิถีรอบด้านจึงเป็นการเรียนรู้แง่มุมเรื่องเพศที่อยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งในแง่ตัวเอง
แต่เดิม Sex Education พูดถึงแค่การเห็นอวัยวะภายนอก จู๋ กับ จิ๋ม มนุษย์จึงมีแค่สองเพศ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เรามีเพศหลากหลายมาก ความเป็นเพศมาจากข้างในตัวคน เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของคนนั้นว่าเขาจะเป็นเกย์ ทอม เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และอื่นๆ คำว่า Sexuality Education เพศวิถีศึกษา หรือ Comprehensive Sexuality Education เพศวิถีรอบด้าน จึงเป็นการศึกษาแง่มุมการดำเนินชีวิตที่มีเพศเข้ามาเกี่ยวข้องและมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ กรอบการเรียนรู้ทั้งสองเรื่องเลยต่างกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งประเด็นนี้ก็กลับมาท้าทายความคิดของคนในสังคม
คนมักบอกว่าประเทศไทยเปิดกว้างทางเพศ เรามีเพื่อนเป็นคนหลากหลายทางเพศ เห็นพวกเขาในโทรทัศน์ และเป็นผู้นำหลายเรื่องโดยเฉพาะด้านบันเทิง แต่อีกด้าน เรายังได้ยินคำศัพท์ ‘ซ่อมทอม’ , คิดว่ากะเทยทุกคนชอบลวนลาม, กะเทยหรือเกย์ต้องเป็นคนตลก และอื่นๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเราไม่มีความเข้าใจเรื่องเพศรอบด้านอย่างแท้จริง พูดได้ไหมว่านี่คือหนึ่งในความแตกต่างระหว่างวิชา เพศศึกษา กับ เพศวิถีศึกษา ทำความเข้าใจเพศวิถีแตกต่างมากขึ้น?
คือแม้ว่าคนบางกลุ่มจะพูดเรื่องเพศอย่างสะดวกใจ หยอกเอินเรื่องเพศกันได้ แต่ถ้าต้องพูดกันอย่างจริงจัง เราก็อึดอัดไม่สะดวกใจที่จะพูดออกไปอย่างเป็นเรื่องธรรมดาทั้งที่มันเป็นปกติ เพราะเราไม่ได้จัดการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและหลายแง่มุมว่ามันสัมพันธ์กับวิธีคิดและการให้คุณค่าในสังคม ซึ่งทั้งที่สังคมไทยแต่ก่อน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เลยนะ เราก็เปลือยอก เสื้อผ้าไม่ต้องแยกชายหญิงและเด็กกับผู้ใหญ่ใส่เหมือนกันหมด อยู่ก่อนแต่งก็มี เพศสัมพันธ์นอกสมรสก็มี แต่พอมีวัฒนธรรมวิคตอเรียนซึ่งมาจากฐานคิดแบบคริสเตียนเข้ามาที่ต้องการสร้างประเทศให้ศิวิไลซ์ ความคิดชุดนี้จึงกลับมาเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศในสังคมไทย
หรืออย่างเช่น การแต่งงานสมัยก่อนไม่ใช่แค่ความโรแมนติก แต่เพื่อครอบครัว เพื่อเศรษฐกิจ แต่พอสังคมเปลี่ยน สังคมให้คุณค่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวเพียงเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนยุคสมัยนี้ก็แต่งงานช้าลง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้น การพูดถึงเรื่องเพศที่เป็นชีวิตมันก็ต้องมีมุมของความรื่นรมย์ คนเรามีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่แค่เพื่อมีลูกแต่เพื่อผ่อนคลาย เพื่อตอบสนองความต้องการปลดปล่อยของแต่ละคน แต่เราจะมีอย่างไรและอย่างรับผิดชอบ แต่ผู้ใหญ่อาจยอมรับไม่ได้และไม่ยอมที่จะมองเรื่องเพศในแง่มุมเช่นนี้ ไม่สะดวกใจจะพูดเรื่องการใช้ถุงยางในห้องเรียน เรื่องการช่วยตัวเอง
การสื่อสารเรื่องเพศจึงควรทำให้เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ทุกคนควรเรียนรู้เพื่อเลือกได้ว่าตัวเองจะจัดการชีวิตของตัวเองแบบไหน มันเป็นความอึดอัดที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด และพยายามจะปฏิเสธมัน
วิชาเพศศึกษาไม่ได้พูดเรื่องเพศสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวอย่างเดียว แต่ให้คุณค่าเฉพาะเพศชายด้วย วิชาเพศวิถีรอบด้าน จะทำความเข้าใจเรื่องชายเป็นใหญ่ใหม่ด้วยหรือเปล่า
ภายใต้กรอบวัฒนธรรมที่บอกว่าเป็นไทย ในเรื่องเพศแล้วมองว่าผู้ชายเป็นคนที่เหนือกว่า ได้เปรียบกว่า ไม่มีใครกำหนดว่าผู้ชายควรมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่อไร อยากเรียนรู้ก็ไปกับเพื่อนได้ แต่ถ้าผู้หญิงคือทำไม่ได้ ไม่มีข้อห้ามหรือการกำกับเรื่องนี้กับเพศชายซึ่งเราเห็นได้ในหนังสือแบบเรียนชัดเจนมาก มันเป็นแนวคิดเรื่องหญิงชายที่กำกับควบคุมและมีผลต่อผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย ฉะนั้นหากผู้หญิงแสดงออกในเรื่องเพศ เปลี่ยนคู่หลายคน อยู่ก่อนแต่งจะถูกมองเสียหาย เพราะฉะนั้นการพูดถึงความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าแนวคิดชายเป็นใหญ่ส่งผลอย่างไร กับใคร ซึ่งไม่เฉพาะเพศหญิง แต่รวมถึงเพศอื่นๆ เพราะทุกคนต่างมีคุณค่าในตัวเอง มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ความเข้าใจต่อเนื้อหาวิชาเพศวิถีรอบด้านที่กล่าวไป เข้าไปอยู่ในหนังสือเรียนแล้วหรือยัง
เฉพาะหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเราเริ่มทำเมื่อปี 51 52 ได้ประชาสัมพันธ์และแจกจ่ายไปยังโรงเรียนภาคีที่ทำงานด้วย บางที่ เช่น อบจ. อบต. บางแห่งที่มีงบก็จะซื้อไปพิมพ์เองและแจกในโรงเรียน และยังมีหนังสือสุขศึกษาใหม่ที่ สพฐ. กำลังจะนำไปใช้กับโรงเรียนกว่า 200 โรง เป็นการยกร่างเนื้อหาขึ้นใหม่ ดูว่าควรมีเนื้อหายังไงเพื่อให้ตอบโจทย์กับวัยรุ่นในยุคนี้
เฉพาะหนังสืออ่านเพิ่มเติม และหลักสูตรอบรมครู มีให้ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งหมดที่เว็บไซต์ Path2Health
ความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาฯ มีความหวังแค่ไหนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เนื้อหาที่กว้างขึ้นและในมุม Sexuality Education ไม่ใช่แค่ Sex Education
เขาเริ่มปรับแล้ว มีการรีวิวหนังสือสุขศึกษาของเอกชนทั้งหมดในเรื่อง เพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ ว่ามันถูกเขียนไว้อย่างไรแล้วจึงให้สำนักพิมพ์เอกชนปรับแก้ไข ปีการศึกษาใหม่ก็จะถูกปรับในระดับหนึ่ง บางอย่างต้องปรับใหม่ทั้งหมดเพราะมันยังมีเนื้อหาที่อยู่บนฐานคุณค่าการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เช่น ความคิด “อย่านุ่งสั้นนะเดี๋ยวจะถูกข่มขืน” อะไรแบบนี้ต้องเอาออกไปหมด กระทรวงศึกษาฯ เองก็ต้องปรับตัวชี้วัดด้วย แต่ว่ามันอาจจะยังไม่เร็วๆ นี้ ต้องอาศัยเวลาอีกสักพักหนึ่ง
เนื้อหาในหนังสือสุขศึกษาจาก สพฐ. ที่กำลังปรับปรุงเนื้อหาเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นเล่มที่เราทำ เราจะใส่แนวคิดแบบใหม่ที่มองเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม การได้รับความยินยอมพร้อมใจ (consent) ในการดำเนินความสัมพันธ์ การไม่ละเมิดคนอื่นด้วยวิธีการต่างๆ หรือการคุกคามคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม นี่ถือเป็นเรื่องที่ผิด ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรทำต่อกันทั้งสิ้น เป็นแนวคิดที่เราต้องปลูกฝัง
ทั้งยังเป็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศ แต่ละคนก็ควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านแล้วตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น เรื่องการป้องกันท้องในวัยรุ่น ก็ต้องให้ข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิด การมีเพศสัมพันธ์ที่ยินยอมและรับผิดชอบ รวมทั้งการอยู่ร่วมกับคนอื่นโดยไม่ตัดสินคุณค่า เคารพให้เกียรติ แต่สร้างความสัมพันธ์ด้วยการยอมรับความแตกต่าง นี่เป็นหัวใจสำคัญของหนังสือที่เราออกแบบไว้
ตั้งแต่วิชาเพศศึกษาเดิม สู่การทำความเข้าใจเรื่องเพศวิถีรอบด้าน สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดคือความเห็น ความอึดอัด ความไม่สบายใจของผู้สอน ในฐานะที่คุณทำงานกับครูมากว่า 10 ปี เล่าให้ฟังได้ไหมว่าคุณครูอึดอัดใจเรื่องอะไร ส่งผลต่อการทำงานสร้างความรู้เรื่องเพศอย่างไร
ค่อนข้างยาก ต้องเข้าใจว่าตลอดชีวิต 40 50 ปี เขาถูกหล่อหลอมปลูกฝังมาแบบนั้น การรับรู้เทอมการศึกษาเพศวิถีรอบด้านมันไปขัดกับค่านิยมของเขา อีกส่วนหนึ่งคือ เราต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้มีครูรุ่นใหม่เยอะมากที่ไม่ได้มองพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นเป็นเรื่องด้านลบเพียงอย่างเดียว และมุมมองที่เปิดกว้างต่อพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลายขึ้น แต่เมื่อเข้าไปในระบบที่ยังมีวัฒนธรรมเชิงอำนาจอยู่ เราต้องยอมรับความจริงว่าวัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อวิธีสอนและการเปลี่ยนความเชื่อ
เวลาอบรมครูรุ่นใหม่ เขาบอกเลย “ใช่เลย แบบนี้แหละ” แต่ครูผู้ใหญ่บอกว่า “ไม่ได้นะ เธอจะมาพูด สอนแบบนี้ไม่ได้” ฉะนั้นครูรุ่นใหม่ก็จะสอนอะไรเยอะไม่ได้ จะสอนเรื่องถุงยางแล้วเอามาสาธิตให้เห็น… เพราะถ้าจะใช้จริงมันต้องสาธิตก่อนใช่มั้ย? แต่จะถูกบอก “ไม่ได้นะ” ถ้าครูรุ่นใหม่อยากทำแต่ผ่านครูผู้ใหญ่ไม่ได้ เขาก็ต้องหยุด ซึ่งเราเข้าใจนะ มันเปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ ในระบบใหญ่ แต่เราก็ยังมีความหวังว่าระบบการศึกษาจะยังเปลี่ยนได้อยู่นะ
เรื่องคลาสสิกที่สุดของวิชาเพศวิถีรอบด้านที่ไม่ฟังก์ชั่น คือเรื่อง ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น สุดท้ายนักเรียนที่ท้องถูกบีบให้ออกจากโรงเรียน
ในภาพความเป็นโรงเรียน สังคมตั้งภาพหวังไว้อย่างหนึ่งว่าต้องเป็นที่อยู่ของคนดี คนดีในที่นี้หมายถึงคนที่อยู่ในกรอบ เชื่อฟังครู ไม่ทำผิดพลาด คนไม่ดีออกไป “ออกไปจากระบบถ้าเธอมีครอบครัว มีแฟน เธอก็ต้องออกไปจากโรงเรียน” จึงมีบางแห่งที่ไม่ยอมให้อภัยกับความผิดพลาดของเด็ก การบีบเด็กให้ออกจากโรงเรียน มันไม่ใช่การให้โอกาสและเข้าใจว่า “วัยรุ่นมีถูกมีผิดบ้าง ครูพร้อมจะช่วยถ้าเธอเจอปัญหา แต่ครูจะพยายามเข้าใจและทำให้เห็นว่าก็ยังเรียนได้นะ ออกจากโรงเรียนตอนนี้อนาคตจะเป็นยังไง” แต่เรื่องนี้กลับไปเกี่ยวข้องกับหน้าตาชื่อเสียงของโรงเรียนเสียมากกว่า และละเลยในบทบาทของโรงเรียนที่มองว่าการป้องกันปัญหาท้องวัยรุ่น ครูควรจะพูดถึงความพร้อมในการตัดสินใจการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าการห้ามเพียงอย่างเดียว หรือการสอนเรื่องทางเลือกหากเกิดความผิดพลาดตั้งท้องขึ้นมาในวัยเรียน การยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งได้ถ้าไม่พร้อมจริงๆ อะไรแบบนี้ การสอนเรื่องเพศในโรงเรียน ณ ตอนนี้ คือมันไม่ได้สร้างการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตจริง
ท้องไม่พร้อมเกี่ยวกับสองอย่าง หนึ่ง-ท้องแล้วเรียนต่อได้มั้ย? สอง-เมื่อท้องไม่พร้อม จะมีทางเลือกอะไรเพื่อ inform เด็ก อย่างน้อยครูไม่เข้าใจ แต่เด็กมีความรู้เพื่อทำงานกับตัวเองต่อ
กฎหมายมีความก้าวหน้านะ อย่างเรื่องการยุติการตั้งครรภ์มันเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง แม้เราจะพูดว่ามันไม่ถูกกฎหมาย แต่มันมีเงื่อนไขของการยุติการตั้งครรภ์ได้ถ้าการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ ยังมีรายละเอียดอื่นอีกเช่น อายุต่ำกว่า 15 ปียุติการตั้งครรภ์ได้เลยถ้าผู้ปกครองยินยอม มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง ในทางกฎหมายมันมีโอกาสทำได้โดยถูกต้อง แต่ต้องยอมรับว่า นอกจากแนวคิดเรื่องการคำนึงถึงการตัดสินใจเลือกของผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นหลัก ยังมีแง่มุมความคิดเรื่องศาสนา บาปบุญคุณโทษเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสองฝ่ายนี้ก็ไม่มีใครผิดถูก โดยเฉพาะอย่างหลังที่เป็นความเชื่อ
แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงมากคือ ถ้าเธอเกิดท้องขึ้นมา ทุกคนจะบอกว่า “เก็บไว้ๆ พ่อแม่เธอจะช่วยดูแลให้” หรือ “เธอทำได้ก็ต้องยอมรับได้สิ” พยายามไปบอกทางเลือกให้กับคนตั้งครรภ์โดยใช้เหตุผลทางศาสนาเพราะกลัวบาป ไม่ดี กล่อมเกลาให้ท้องต่อโดยไม่ได้นึกถึงปัญหาที่ตามมาว่าคืออะไร แต่เทอมการศึกษาที่อยากพูดถึง จะสร้างมุมมองที่กลับมายังตัวผู้หญิงด้วย เพราะเขาจะเป็นคนที่รับผิดชอบไปตลอดชีวิต เขาควรจะเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เลือกตัดสินใจเองตั้งแต่เบื้องต้น
เนื้อหาท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมาย อยู่ในเนื้อหาส่วนไหน ช่วงชั้นไหน
อยู่ในหนังสือเรียนที่กำลังพัฒนา จะบรรจุในหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้ความรู้ว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้และมันไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้าย ไม่ใช่อย่างที่ได้ยินมา เช่น เอามีดมาขูดมดลูกนี่นั่น แต่มันมียาสอดที่ทำได้และปลอดภัย
จะมีเสียงตั้งแง่ว่า หนังสือเรียนแนะนำให้เขามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรรึเปล่า
ทุกคนมีสิทธิเลือกและตัดสินใจในชีวิตตัวเอง ถ้าเขาอยากรู้ว่าแหล่งยุติอยู่ตรงไหนก็ต้องให้ได้ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือไม่ให้ข้อมูล ไม่ยุ่งเกี่ยว และซ้ำเติม มันคือการกระทำซ้ำ เขาต้องการทางเลือกแต่เราไม่ให้ข้อมูล ไม่สนับสนุน และกีดกันไม่อยากให้เขาเลือกทางนี้ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไร
คนตัดสินใจคือคนที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเขาควรเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบตัวเอง ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์แสดงว่าคุณต้องป้องกันตัวเองให้ได้นะ ถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิดเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง แต่การยุติก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเราไม่ควรไปตัดสินใจแทนคนที่ตั้งครรภ์ว่าควรตั้งครรภ์ต่อหรือยังไง อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ตัวเขาเอง
ถามว่าชี้โพรงให้กระรอกรึเปล่า? ก็กลับไปประเด็นเรื่องเพศกับความย้อนแย้งในวิธีคิด เราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และเราจะไม่ยุ่งเกี่ยว นักเรียนก็ขาดโอกาสเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะเรื่องเพศคือเรื่องของตัวเราเอง เป็นอารมณ์ ความรู้สึก การจัดการตัวเอง เด็กก็ขาดโอกาส
หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เลี้ยงลูกไม่ไหวแน่ๆ เพราะแฟนตัวเองไปไหนก็ไม่รู้ ไปเป็นของคนอื่นแล้ว ตั้งท้องก็ไม่อยู่ดูแล พ่อแม่ก็รับไม่ได้ เราก็เลี้ยงเองไม่ได้ แล้วผู้ใหญ่ก็บอก “ไม่ เธอทำเองเธอต้องรับผิดชอบลูกในท้อง” แล้วเด็กจะต้องทำยังไงต่อไป?
เพศวิถีศึกษาจึงไม่ใช่แค่การสื่อสารเรื่องเพศกับเด็ก แต่คือการบอกให้ทุกคนเคารพในการตัดสินใจ คือการพูดเรื่องความเสมอภาค?
เราควรเคารพในกันและกัน เคารพในเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น เคารพในการตัดสินใจของคนอื่น เราเชื่อว่าคนอื่นตัดสินใจได้ถ้าเขาได้ข้อมูลที่เพียงพอและรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับตัวเขาเอง เด็กก็เช่นกัน ผู้ใหญ่ในบ้านหรือในโรงเรียนก็ต้องทำให้เด็กได้รับการฝึกฝนในเรื่องนี้ การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เด็กควรได้รับการปฏิบัติต่อกันแบบนี้
เราต้องทำความเข้าใจเรื่องความเสมอภาค แต่เด็กก็ต้องทำตามผู้ใหญ่อยู่ดี อย่างคำว่า เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด, ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน
เราอยู่ในโครงสร้างการนิยมอำนาจ เราไม่ได้มองเด็กและเยาวชนเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมซึ่งต้องการการเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้า และเขาต้องฝึกรับผิดชอบตัวเขาเองเพราะเงื่อนไขการใช้ชีวิตคนแต่ละคนต่างกัน
แต่มันก็เป็นมุมของความรักและหวังดีของผู้ใหญ่เนอะ แต่เราไม่มองว่าเด็กควรได้ฝึกตัดสินใจและควรรับผิดชอบตัวเองในเรื่องของเขา เขามีโอกาสลองผิดลองถูกได้ แต่เรามักไปกำกับชีวิตเขาว่าต้องทำแบบนี้ๆ ซึ่งมันก็ขัดแย้งกับเรื่องที่เราพูดว่า เราต้องการเด็กที่คิดเป็นทำเป็น รับผิดชอบตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากการได้ลองทำ มีบทเรียน เขาถึงจะรู้จักตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง
การจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาจึงอยู่พื้นฐานการมองเด็กหรือเยาวชนในเชิงบวก ยอมรับพลังและความสามารถในตัวเด็ก ให้โอกาสเรียนรู้ และเลือกตัดสินใจอย่างรอบคอบ ประเมินทางเลือกที่ตระหนักรู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และพร้อมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้เลือก
ในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า สิ่งต่างๆ เข้ามาในชีวิตรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น ช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง เราจำเป็นต้องฝึกเด็กให้รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมมากขึ้น ดังนั้น เราต้องมองเห็นศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ว่าเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องทำหน้าที่สนับสนุนโดยการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริง หรือช่วยเหลือในสิ่งที่เขาร้องขอ