- หัวใจสำคัญของเด็กวัยอนุบาลอยู่ที่การสร้างร่างกายให้เสร็จสมบูรณ์ เด็กจะเรียนรู้ผ่านทางกายเป็นเรื่องหลัก เล่นแบบเอาตัวเข้าไปคลุกเคล้า และเมื่ออยากเรียนรู้อะไรก็ต้องลงไม้ลงมือทำเอง
- เด็กส่วนใหญ่ที่ถูกเร่งเรียนเขียนอ่านก่อนวัยพร้อมเรียนจะมาถึง เขาอาจจำอะไรได้มากมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ใส่ให้เขา เขายังไม่ได้ใช้มันเพื่อการดำรงชีวิตในเวลานี้ การที่เด็กไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เขาต้องเรียนกับชีวิตในปัจจุบันได้ ทำให้เด็กสับสนและเริ่มต้นไม่ถูกกับเหตุการณ์ต่างๆ กลายเป็นหมดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเอาดื้อๆ
- การเปิดโอกาสให้ลูกเปิดเผยพลังในการเรียนรู้ในตัวเองออกมา พ่อแม่อาจช่วยผ่านการบ่มเพาะ หล่อเลี้ยงพลังแห่งเจตจำนง (will) ของเด็ก ที่อยากจะเรียนรู้และทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จด้วยตัวเอง
เรื่อง: ครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท
“ทำไมลูกอายุ 4 ปีแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก?”
“ทำไมลูกคนอื่นเขียนหนังสือได้แล้ว แต่ลูกเรายังทำไม่ได้”
คำถามที่พ่อแม่หลายๆ คนอาจถามขึ้น เวลาเห็นเด็กคนอื่นๆ อ่านหนังสือออก เขียนได้ แต่ลูกของตัวเองยังทำไม่ได้ จนเกิดความกังวลว่าลูกมีอะไรผิดปกติ ทำไมถึงยังทำแบบลูกคนอื่นไม่ได้ ต้องส่งลูกไปเรียนวิชาการหรือยัง ‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอนุบาลวอลดอร์ฟและผู้อำนวยการอนุบาลบ้านรัก ได้เขียนบทความไขข้อกังวลของพ่อแม่กับปัญหานี้ โดยอธิบายผ่านแนวคิดมนุษยปรัชญา
ลูกอยู่วัยไหนถึงพร้อมเข้าเรียน (School readiness)
การเรียนรู้ของมนุษย์ต้องใช้ทั้ง 3 ส่วน คือ สมอง ความรู้สึก และการลงมือทำ ซึ่งในวัยอนุบาลหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างร่างกายให้เสร็จสมบูรณ์ เด็กจะเรียนรู้ผ่านทางกายเป็นเรื่องหลัก จะเล่นแบบเอาตัวเข้าไปคลุกเคล้า และเมื่ออยากเรียนรู้อะไรก็ต้องลงไม้ลงมือทำเอง เด็กจะลงมือทำด้วยความเบิกบานใจ และหลังจากเขาเพียรพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นในสมองของเค้า เด็กที่ผ่านวัยเด็กมาอย่างสมบูรณ์แบบจึงมีรอยประทับแห่งวัยที่ยากจะลืมเลือนยิ่งนัก
แต่ในเมื่อวัยเด็กไม่ได้เป็นเช่นนั้น เด็กส่วนใหญ่ที่ถูกเร่งเรียนเขียนอ่านก่อนวัยพร้อมเรียน แม้เด็กบางคนก็เรียนไปได้ ดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร และก็ดูเหมือนว่าเขาจดจำอะไรได้มากมาย แต่ก็เป็นความจำในข้อมูลที่ผู้ใหญ่ใส่ให้เขา เขายังไม่ได้ใช้มันเพื่อการดำรงชีวิตในเวลานี้ หมายความว่าการศึกษาที่ให้ไม่ได้มีประโยชน์กับเด็กในปัจจุบัน การเรียนรู้อย่างกลมกลืนทั้ง 3 ส่วน คือ สมอง ความรู้สึก และการลงมือกระทำ ไม่เกิดขึ้น เด็กใช้สมองเพื่อความจำไปกับคำศัพท์และโจทย์เลข เด็กไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เขาต้องเรียนกับชีวิตในปัจจุบันได้ ทำให้เขาสับสนและเริ่มต้นไม่ถูกกับเหตุการณ์ต่างๆ กลายเป็นหมดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเอาดื้อๆ พ่อแม่เองคงไม่มีแรงเข็นลูกให้เรียนไปตลอดชีวิต
การเปิดโอกาสให้ลูกได้เปิดเผยพลังในการเรียนรู้ในตัวเองออกมา พ่อแม่อาจช่วยบ่มเพาะ หล่อเลี้ยงพลังแห่งเจตจำนง (will) ของเด็ก ที่อยากจะเรียนรู้และทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จด้วยตัวเอง พ่อแม่และครูทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าสังเกตเด็กอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้ทราบโดยทันทีว่าเด็กเริ่มเข้าสู่กายที่ 2 แล้ว นั่นคือ กายพลังชีวิต Etheric body
กายพลังชีวิต (Etheric body) ที่ว่านั้นคือ 1 ใน 4 ขั้นการเติบโตของมนุษย์ ซึ่งเป็นคำอธิบายเรื่องการพัฒนามนุษย์ตามวิธีคิดของรูดอร์ฟ สไตร์เนอส (Rudolf Steiner) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้คิดค้นแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ ระบุว่ามนุษย์จะค่อยๆ บ่มเพาะ ทำงาน และพัฒนาอย่างสมบูรณ์เมื่อผ่านกายทั้งหมด 4 องค์ประกอบ โดยการเกิดและพร้อมใช้งานแต่ละกายเป็นไปตามลำดับเวลาทุกๆ 7 ปี จนถึงอายุครบ 21 ปี วิธีคิดเรื่องนี้มีว่า โดยทั่วไปแล้วคนมักมองการเจริญเติบโตเฉพาะส่วนที่เห็นได้ชัดอย่าง ‘ร่างกาย’ หรือ Physical body แต่จริงๆ แล้วมนุษย์ยังมีกายอีก 3 องค์ประกอบที่มองไม่เห็น แต่มีความสำคัญ
กาย 4 ขั้นของมนุษย์ มีดังนี้
- กายที่ 1 Physical body หรือ กายเนื้อ ร่างกาย หรือรูปกาย จะพัฒนาอย่างเต็มที่และค่อยสมบูรณ์ในช่วงวัย 0-7 ปี
- กายที่ 2 Etheric body หรือ กายพลังชีวิต จะถูกบ่มเพาะ ใช้งาน และสำคัญมากๆ ในช่วงวัย 7-14 ปี
อาจอธิบายอย่างนี้ว่า เรามีร่างกายในเชิง body อยู่ก็จริงแต่หากไม่มีพลังชีวิตเราย่อมเดินเหินไม่ได้ เติบโตไม่ได้ เหมือนต้นไม้ที่ไม่สามารถงอกงามได้ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่ครูอย่างเราคุยกันเสมอ เรียกว่าเป็นความสำคัญมากสำหรับวิชาครูเลยก็ว่าได้ คือการสร้างสภาพแวดล้อมของเด็กอย่างไร เพื่อดูแล สร้าง และปกป้องกายพลังชีวิตของเด็กให้คงอยู่ โดยไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายต่อเด็กหรือทำในสิ่งที่เด็กไม่ได้ต้องการ
- กายที่ 3 Astral body (Soul) หรือ ร่างแห่งความรู้สึก เกิดเมื่อ 14-21 ปี จริงอยู่ว่า ‘ความรู้สึก’ ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงก่อนอายุ 14 ปี แต่กายแห่งความรู้สึกนี้จะทำงานเต็มที่และเป็นของเขาจริงๆ ก็เมื่อร่างแห่งความรู้สึกถือกำเนิดในช่วง 14 – 21 ปี
- กายที่ 4 Ego (Self) หรือ กายฉัน ตัวตน เกิดเมื่อ 21 ปีขึ้นไป
เรารู้จักกายทั้ง 4 องค์ประกอบนี้เพื่ออะไร? ก็เพื่อเวลาเราทำงานกับเด็ก หรือหากพบปัญหา เราจะกลับไปตรวจสอบหรือหาร่องรอยได้ว่าปัญหาของเด็กน่าจะมีที่มาในช่วงวัยไหน เช่น หากเด็กมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตใจ เรากลับไปดูในขั้นกายพลังชีวิต หรือ Etheric body ว่าในช่วงนี้เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นไร เขาอยู่ในปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้พลังชีวิตเขาเหือดหายหรือเปล่า
8 ข้อที่บ่งชี้ว่าลูกอยู่ในขั้นที่พร้อมเข้าเรียน
คำตอบสำหรับคำถามที่ว่าเมื่อไรเด็กจึงพร้อมเรียน (School readiness) คือ เมื่อเด็กเข้าสู่กายที่ 2 กายพลังชีวิต (Etheric body) การจะสังเกตว่าเด็กเข้าสู่ช่วงนั้นแล้วหรือยังจะมีตัวบ่งชี้ (Indication) ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเกิดของ Etheric มีอยู่ด้วยกัน 8 ข้อ ที่จะกล่าวต่อไปข้างล่าง แต่ขออธิบายเรื่องกายพลังชีวิตเพิ่มเติมอย่างนี้ว่า เมื่อแรกเกิด จิตวิญญาณของเด็กลงมาจุติและมีร่างกายเนื้ออยู่บนโลก ลงมาเกิดเป็นลูกของพ่อแม่ ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีทั้งอาหารที่ทำให้ร่างกายเติบโตและความรัก และการเกิดครั้งที่ 2 คือ Etheric กายพลังชีวิต เกิดเมื่อเด็กมีอายุราว 7 ปี
ตลอดช่วง 7 ปีแรกของชีวิต หน้าที่อันสำคัญของชีวิตวัยเด็ก คือการสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตซึ่งรวมทั้งอวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด ม้าม ไต ให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต้องอาศัยทั้งอาหารเพื่อช่วยด้านกายเนื้อ และช่วยด้านกายพลังชีวิต แต่เด็กจะได้รับพลังชีวิตผ่านการดูแลจากผู้ใหญ่หรือเรียกว่ามาจากโลกภายนอกตัวเด็ก เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะกำเนิดเกิดขึ้นในตัวเด็ก
การผลักดันให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เกินตัว เช่น การเขียนอ่านก่อนวัยทำให้เด็กต้องดึงกายพลังชีวิต มาจากภายนอก เป็นการใช้กายพลังชีวิตในเรื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตเด็กในขณะนี้
ตัวบ่งชี้ 8 ข้อในมุมวอลดอร์ฟที่บอกว่า เด็กพร้อมเข้าเรียน ได้แก่
1.อายุ (Age)
อายุที่เหมาะสมคือ 6 – 8 ปี เป็นวัยเด็กที่พร้อมเรียน เขาจะสะสมประสบการณ์ต่างๆ ในการดูแลชีวิตของตัวเอง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่ออยู่ชั้นประถม
ตัวอย่างเช่น ในประเทศสวีเดน เด็กเข้าชั้นประถม 1 เมื่ออายุ 8 ปีเนื่องจากเป็นประเทศที่หนาว หิมะตกสูงถึงเข่าทำให้เด็กต้องเดินลุยหิมะไปโรงเรียน เด็กจึงต้องโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องนี้ ส่วนทั่วๆ ไป คือจะเข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 6 ปีขึ้นไป เพื่อดูแลตัวเองและการเรียนได้เองหากต้องเรียนจริงจัง
ในประเทศรัสเซียมีรายงานว่าเด็กที่ถูกเร่งเรียนเขียนอ่านตั้งแต่อายุ 3 ปี เมื่ออายุ 12 ปีพบว่าป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก บางกรณีเด็กที่ถูกเร่งเรียนตั้งแต่ 5 – 6 ปีจะเบื่อการเรียนเมื่ออายุ 9 ปีขึ้นไป และพบว่าเด็กเหล่านี้จะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมภายนอกแต่ชอบหมกมุ่นกับตัวเอง เช่น ไม่ชอบธรรมชาติเมื่อไปเที่ยวข้างนอกกับครอบครัว ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าเด็กถูกดึงพลังชีวิตมาใช้ก่อนวัย ทำให้เด็กไม่สดชื่นร่าเริงอย่างที่ควรเป็น
2.ฟัน (Teeth)
โดยทั่วไปฟันน้ำนมจะหลุดและมีฟันแท้ขึ้นมาเมื่ออายุราว 5 – 9 ปี การที่ฟันน้ำนมซี่แรกหลุดหมายถึงร่างกายและอวัยวะภายในสร้างเสร็จ กระดูกที่สามารถเห็นได้จากภายนอก คือ ‘ฟัน’ ชุดฟันเดิมที่สะสมแคลเซียมตั้งแต่อยู่ในครรถ์มารดาหลุดออกไป เกิดเป็นฟันชุดใหม่ที่มาจากการสะสมแคลเซียมของเด็กเอง และจะผลิตฟันชุดนี้จนเสร็จเมื่ออายุเข้าวัยเจริญพันธุ์ แต่ทั้งนี้ร่างกายของเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุกรรม ทำให้เด็กแต่ละคนอาจฟันหลุดในช่วงอายุที่ต่างกัน
ตัวอย่างเช่น เด็กที่ฟันหลุดก่อน 7 ปี ไม่ได้หมายความว่าเด็กพร้อมที่จะเรียนแล้ว หรือเด็กที่ฟันหลุดช้ากว่า 8 ปี ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะยังขึ้นชั้นประถมไม่ได้ เด็กที่ฟันหลุดช้าหรือเร็วยังขึ้นอยู่กับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูด้วย ขอให้มองดูการหลุดของฟันและตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ ใช้พิจารณาร่วมกับตัวบ่งชี้อื่นๆ
3.สัดส่วน (Proportion)
โดยทั่วไป เราจะเรียกการเจริญเติบโตของเด็กว่า ‘โตขึ้น grow up’ หมายถึงสูงขึ้น แต่สำหรับแนวมนุษยปรัชญาเราเรียกว่า ‘โตลง grow down’ ซึ่งถ้าเปรียบการเติบโตของต้นพืชกับมนุษย์ จะโตในทิศทางตรงข้ามกัน ตัวอย่างเช่น หัวหอมจะโตจากหัวแทงยอดสู่ฟ้า ส่วนมนุษย์จะโตจากหัวเลื่อนลงสู่เท้า (Grow down)
เมื่อแรกคลอด หัวเป็นอวัยวะส่วนที่แข็งแรงที่สุดและเคลื่อนไหวได้มากที่สุด เช่น เด็กจะร้องไห้เมื่อหิว กลอกตามอง จากนั้นก็เลื่อนลงมายังคอ ลำตัว และแขนขา กระทั่งพลิกตัว นั่ง คลาน ตั้งไข่ และเกาะเดิน เช่นเดียวกับการพัฒนาตัวอ่อนของทารกในครรภ์มารดา หัวจะพัฒนาก่อน แล้วก็มือ ต่อจากนั้นก็ลำตัวและขา เมื่อคลอดจากท้องแม่แล้ว แม้มือของเด็กจะพัฒนาขนาดใหญ่ไปตามวัย แต่การควบคุมการใช้งานก็ค่อยเป็นค่อยไป เด็กจะค่อยๆ ยืดมือจนสุดและกางได้สุดแขนเมื่ออายุ 12 ปี
เมื่อยืดมือจนได้สุดแขน หากวัดความยาวของมือที่สุดแขนกับความยาวจากส่วนหัวถึงเท้าจะยาวพอๆกัน แต่บางคนก็อาจจะวัดได้ว่าความยาวจากหัวถึงเท้าจะยาวกว่าความยาวของการยืดสุดแขนเล็กน้อย การทดสอบที่ทำกันมานานในเรื่องพิจารณาสัดส่วนของเด็กว่าพร้อมขึ้นชั้นประถมหรือไม่ คือการที่เด็กนำมือข้างหนึ่งอ้อมศีรษะไปจับหูอีกข้างหนึ่งได้ ถ้าเด็ก 6 ปีจะจับปลายหูด้านบน พอ 9-12 ปีก็จับถึงปลายหูด้านล่างได้ การใช้สัดส่วนวัดเป็นเพียงตัวบ่งชี้หนึ่ง แต่ก็อาจมีเด็กบางคนที่สรีระของเขาไม่เหมือนเด็กในวัยเดียวกัน กล่าวคือแขนสั้นกว่าคนอื่น
ตัวอย่างเช่น ในประเทศแอฟริกามีภาพน่ารักของเด็กๆ มาทดสอบการขึ้นชั้นประถมด้วยการเข้าแถวแล้วเอามือเอื้อมจับหูอีกข้างให้ครูดู น้ำตาก็ไหลเป็นทางเพราะกลัวเอื้อมจับไม่ถึง
4.ความสัมพันธ์ (Coordination)
ประสาทสัมผัสของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 แบบ การรับรู้ระหว่างภายนอกและภายใน เช่น หู ตา จมูก ปาก กายสัมผัส เป็นต้น ประสาทสัมผัสเหล่านี้จะทำงานเชื่อมกับระบบประสาทและสมอง เมื่อเด็กพร้อมเรียนเราจะสังเกตการทำงานเชื่อมกันระหว่างประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ตากับมือ แขนกับขา จนถึงการรับรู้สิ่งที่ตรงข้ามแบบการสะท้อนของกระจก และความเข้าใจเรื่องเส้นแบ่งและจุดตัดกัน ซึ่งโดยทั่วไปเด็กจะรับรู้ได้เมื่ออายุราว 9 – 12 ปี
เด็กเล็กๆ มีการเติบโตไปตามธรรมชาติ ตั้งแต่แรกเกิดจนสามารถยืนได้ ทำให้เห็นชัดว่าทุกขั้นทุกตอนของการเปลี่ยนแปลงจากนอนแบเบาะเป็นพลิกคว่ำ กระดึ๊บคืบคลาน นั่ง เกาะ และเดิน เด็กพยายามหาจุดความสัมพันธ์ในร่างกายของตัวเอง ช่วงกระดึ๊บคืบคลานเด็กใช้มือและแขนเกาะ ปลายเท้าดันพื้นเคลื่อนตัวไปราวกับจิ้งจก และเมื่อยืนได้ ฝ่าเท้าของเด็กจะค่อยมีรอยเว้า หากฝ่าเท้ายังนูนอยู่เด็กจะยังยืนไม่ค่อยดีนัก เมื่อเติบโตขึ้นถึงวัยพร้อมเรียน เด็กจะรู้จักทรงตัวในแนวตั้งตรง เอนทางซ้ายย้ายทางขวา โยกไปด้านหน้าด้านหลังได้โดยไม่เสียหลัก การกระโดดข้ามเส้น เด็กจะกระโดดไปข้างหน้าและกระโดดถอยหลังได้
วิธีช่วยเสริมให้เด็กหาจุดสัมพันธ์ในร่างกาย ครูอนุบาลอาจจะใช้บทกลอน บทคล้องจอง บทเพลงมากมาย หรือเล่นลีลาประกอบจังหวะ โดยนำเอาความสัมพันธ์ในร่างกายต่างๆ ที่เด็กพร้อมเรียนควรทำได้ เช่น การทรงตัว ซ้ายขวา ขึ้นลง โยก กระโดด ยืนด้วยขาข้างเดียว ฯลฯ ครูควรออกแบบลีลาประกอบจังหวะโดยอาศัยพื้นฐานของ From drawing ลีลาเส้นแบบง่ายๆ
5.สังคม (Social)
เด็กในวัยอนุบาลจะมีบทบาทในสังคมแบบพี่น้อง เด็กที่อายุ 3 – 7 ปีจะเล่นด้วยกัน มีการเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบการกระทำของครูและพี่ที่โตกว่า พี่โตจะดูแลน้องได้ จะพาน้องๆ เล่นและพาทำงานในห้องอนุบาลได้ราวกับเป็นผู้ช่วยครู บทบาทของเด็กจะเปลี่ยนไปตามวัย ตัวอย่างเช่น การเข้าชั้นอนุบาลในปีแรกบทบาทจะเป็นน้อง เด็กก็จะมักเฝ้าสังเกตดูการเล่นของพวกพี่ๆ อาจทำตามบ้างหรือยอมเป็นตัวประกอบในการเล่นของพี่ๆ เด็กอนุบาลปีที่ 2 มีบทบาทรับผิดชอบตนเอง และการงานในห้องอนุบาลมากขึ้น อนุบาลปีที่ 3 เด็กมีประสบการณ์ในห้องอนุบาลมาแล้ว 2 ปี เขาจึงทำการงานทุกอย่างๆ เด็กที่รู้เรื่องมาหมดแล้ว ทำตัวเสมือนผู้ช่วยครู มั่นใจ อารมณ์ค่อนข้างสงบ สามารถช่วยครูจัดการ การงานต่างๆ ในห้องอนุบาลได้เแม้กระทั่งจัดการปัญหาการทะเลาะกันของน้องๆ
เด็กที่พร้อมเรียนจะมีพลังเจตจำนง (will) ความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งของเขา เขาต้องการทำให้สำเร็จชัดเจน และการวางตัวได้ดีในบทบาทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุในชั้นอนุบาลทำให้เราทราบว่าเด็กวางตัวได้สมอายุ
6.การเลียนแบบและการเคารพสิทธิ์ (Imitation /Authority)
พัฒนาการการเรียนรู้ตามธรรมชาติของวัยเด็ก มีความชัดเจนว่าเด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ เด็กจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ จากผู้ใหญ่มาเป็นการเล่น เปรียบเสมือนคำพูดที่ว่า ‘ย่อยความรู้จนเป็นความเข้าใจ’ เหมือนดังอาหารที่รับประทานเข้าไปในร่างกายจะต้องผ่านขบวนการย่อยและเปลี่ยนเป็นพลังงานเสียก่อนจึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย การห้ามเด็กไม่ให้เล่นจะทำให้เด็กชะงักจินตนาการ การห้ามไม่ให้เด็กช่วยผู้ใหญ่จะทำให้พลังเจตจำนง (will) ความมุ่งมั่นในวัยเด็กห่อเหี่ยว
ตัวอย่างเช่น เด็กที่ประเทศไต้หวันถูกสอนให้เริ่มเรียนเขียนอ่านตั้งแต่อายุน้อยๆ ในห้องเรียนอนุบาลจะเต็มไปด้วยเก้าอี้ ครูในโรงเรียนนี้จึงตัดสินใจใหม่โดยอนุญาตให้เด็กได้รับการเล่นเช่นเดียวกับอนุบาลวอลดอร์ฟ ครูบอกให้เด็กเล่นอะไรก็ได้แม้แต่โต๊ะเก้าอี้ก็นำมาเล่นได้ ตอนแรกเด็กๆ พากันงงเพราะไม่รู้จะเล่นอะไรดี ผ่านไปประมาณ 3 นาทีเด็กช่วยกันคว่ำโต๊ะลง เอาตัวเข้าไปนั่งตรงกลางแล้วสมมุติเป็นเรือพายพายไปรอบๆ ห้อง
เด็กที่พร้อมเรียนจะมีความสามารถในการเลียนแบบสิ่งที่เห็นได้อย่างลื่นไหล ทั้งออกมาในรูปแบบของการเล่นและการเลียนแบบผู้ใหญ่ทำงาน เสมือนเด็กกำลังทำงานจริงๆ
การเคารพสิทธิ์ เด็กควรได้รับการส่งเสริมเรื่องนี้ในวัยอนุบาล ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติๆ หรือครูเปรียบเป็นผู้ทรงสิทธิ์ เหมือนผ้าคลุมที่คอยปกป้องเด็กให้อบอุ่นและปลอดภัยจากอันตรายภายนอก ผู้ใหญ่ต้องมีสิทธิ์ตัดสินใจให้เด็กว่าเด็กควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร การเป็นผู้ทรงสิทธิ์นั้นต้องทำด้วยความเมตตาและความปรารถนาดี ให้ขอบเขตที่ชัดเจนแก่เด็ก เด็กจะรู้สึกอบอุ่น รักและวางใจในตัวผู้ใหญ่ ดังนั้นในวัยเด็ก การเป็นผู้ทรงสิทธิ์จึงอยู่ที่ผู้ใหญ่ เด็กเป็นผู้เคารพสิทธิ์ เด็กพร้อมเรียนจะยอมรับและเคารพสิทธิ์ในตัวครูได้อย่างน่ารัก
7.ความต่อเนื่องที่ปรากฏในการต่อเรื่องเล่าและการเล่น (Continuation Story & Play)
เด็กวัยอนุบาลจะเป็นวัยที่มีจินตนาการสูงมาก เขาสามารถเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้เป็นสิ่งของที่ต้องการผ่านการสมมติ และนำเอาไปเล่นได้อย่างสนุกสนาน ภาพในใจของเด็กมักผุดขึ้นอย่างมากมายและเปลี่ยนเรื่องราวที่เล่นไปเรื่อยๆ ตามความพอใจ ทุกๆ 10 – 20 นาที เด็กๆ จะพากันเปลี่ยนไปเล่นเรื่องอื่น เนื้อเรื่องของการสมมติเป็นเรื่องต่างๆ ที่เห็นมาจากผู้คนและสิ่งรอบข้าง ซึ่งเด็กที่พร้อมเรียนพวกเขาสามารถเล่นต่อเรื่องเดิมที่เล่นไว้เมื่อวันก่อนได้
เมื่อความต่อเนื่องเกิดขึ้นในตัวเด็ก เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรรับรู้ได้ว่าเด็กเริ่มมีความจำ (Memories) ซึ่งไม่เหมือนกับความจำจากการท่องจำคำศัพท์ในโรงเรียนเร่งเรียน แต่เป็นความจำที่เด็กจำเรื่องที่ตัวเองสร้างได้ เด็กพร้อมเรียน มีภาวะการตื่นมากกว่าเด็กวัยอนุบาลที่อยู่ภวังค์แห่งความฝัน เด็กพร้อมเรียนมีการทำงานของกายวิญญาณเมื่อร่างกายนอนหลับ กายเนื้อ (Physical body) และกายพลังชีวิต (Etheric body (Life)) จะอยู่ในร่างที่เตียงนอน ส่วนกายความรู้สึก (Astral body) และกายฉัน (Ego (Self)) ขึ้นไปทำงานร่วมกับโลกจิตวิญญาณ เด็กจึงได้ย้ำในสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ว่าต้องการจะทำอะไรเมื่อตื่นขึ้น เขาจึงเหมือนคนแบกภาระหน้าที่ทำต่อให้เสร็จดั่งที่ตั้งใจ
ครูจะมองเห็นได้ว่าเด็กเล่นเรื่องเดิมที่ต่อจากวันก่อนได้ บางคนขอร้องครูว่าอย่าเพิ่งเก็บสิ่งที่เขาเล่นไว้ เขาจะกลับมาเล่นต่อในวันรุ่งขึ้น ‘ความต่อเนื่อง’ เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดในตัวบ่งชี้อื่นๆ หากเกิดขึ้นในตัวเด็กก็ยิ่งชี้ชัดว่าเด็กคนนี้พร้อมเรียน
8.การวาดภาพ (Drawing)
พัฒนาการการวาดภาพของเด็กจะเป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับเด็กหัดเดินได้เองโดยไม่มีใครต้องสอน เด็กขีดเขียนลายเส้นต่างๆ โดยสะท้อนสิ่งที่เป็นตัวของเด็กในขณะนั้นออกมา เมื่อมองจากภายนอก เด็กเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างมาก นับจากเด็กแรกเกิดจนถึง 7 ปี เด็กมีพัฒนาการทางกายโตขึ้นเป็นลำดับและอวัยวะภายในก็ค่อยๆ สร้างขึ้นจนสมบูรณ์ทุกส่วน การวาดภาพของเด็กจึงมีลำดับว่าเด็กกำลังทำอะไรกับการสร้างร่างกายของเขา จากลายเส้นไร้ทิศทางจนมาเป็นวงกลม จากภาพวาดของเด็กภาพหนึ่ง
หากบอกว่า ‘วงกลม คือ ใครสักคน’ เขากำลังวาดแค่หัวของคนๆนั้น ใช้เวลาอีกหลายวัน บางคนก็เป็นเดือน บางคนก็เป็นปี จากภาพวาดแค่หัวอย่างเดียวก็มีมือออกไปสัมผัสเรียนรู้โลก ภาพวาดบอกเราได้ว่าเด็กกำลังพาตัวเองออกไปสู่โลกภายนอกคล้ายการสร้างตัวอ่อน จากแขนก็เป็นขา ลำตัวที่ยาวลงมาและมีเส้นขวางคือซี่โครง ภาพวาดของเด็กก็กำลังสะท้อนการทำงานของเขาว่าร่างกายของเขากำลังสร้างกระดูกซี่โครงให้แข็งแรงอยู่ พอเด็กวาดภาพลำตัวได้ ใบหน้าก็จะปรากฏรายละเอียดมี หู ตา จมูก ปาก การวาดแขนนั้นเด็กจะวาดแขนอยู่ใต้คอก่อน จากนั้นแขนจึงออกมาจากลำตัวซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกต้อง ภาพวาดของเด็กจะถูกส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสะท้อนการสร้างร่างกายของเด็กที่สร้างส่วนต่างๆ เสร็จไปตามลำดับ
ซึ่งตัวบ่งชี้ทั้ง 8 ข้อนี้ไม่สามารถวัดได้แค่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่ต้องประกอบกันหลายๆ ตัว ส่วนตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดนั้น คือ ‘การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต่อเนื่องกันได้’ ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเรียน ต้องอาศัยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก ติดตาม สังเกต รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยปกติเด็กที่อายุ 6 ปีกว่าย่างเข้า 7 ปีจะสามารถพบร่องรอยตัวบ่งชี้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่หากยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กพร้อมเรียนหรือไม่ ต้องเป็นเรื่องของนักบำบัดแนวมนุษยปรัชญาเข้ามาช่วยเหลือ นักบำบัดจะทำหน้าที่สังเกตเด็ก และทำงานร่วมกันกับพ่อแม่และครู เราจะร่วมกันทบทวนทุกอย่างที่เกิดกับเด็กคนนี้ หาข้อดีของเขา การทำงานร่วมกันของเราจะไปในทางที่สร้างสรรค์และร่วมมือแก้ไข เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาต่อไปได้