- Scaffolding วิธีการเรียนรู้ที่ครูเปรียบเหมือน ‘นั่งร้าน’ ที่เป็น ‘ตัวช่วย’ ให้เด็กๆ ก่อร่างสร้างตึกของตัวเองระหว่างที่โครงสร้างตึกยังไม่ถูกวาง หรือ ในวันที่เขายังไม่รู้ว่าจะเรียนยังไง ไปถึงความรู้นั้นอย่างไร
- ‘นั่งร้าน’ จัดวางตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่าง ‘การเรียนรู้ที่ง่าย’ กับ ‘การเรียนรู้ที่ยาก’ เพราะพื้นที่กลางๆ แบบนี้ จะยิ่งช่วย ‘บูสต์’ หรือผลักดันให้ผู้เรียนพัฒนาหรือขับเคลื่อนตัวเองไปสู่จุดหมายได้
- ครู ผู้เป็นนั่งร้าน ต้องช่วยลดความกังวล บรรเทาความท้อแท้ หรือความรู้สึกด้านลบขณะเด็กๆ ต้องเผชิญหน้ากับการเรียนรู้ที่พวกเขารู้สึกยากลำบาก มองให้ทะลุว่าเด็กๆ ต้องการตัวช่วยอะไรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
Scaffolding วิธีการเรียนรู้ที่ครูเปรียบเหมือน ‘นั่งร้าน’ ที่เป็น ‘ตัวช่วย’ ให้เด็กๆ ก่อร่างสร้างตึกของตัวเองระหว่างที่โครงสร้างตึกยังไม่ถูกวาง หรือ ในวันที่เขายังไม่รู้ว่าจะเรียนยังไง ไปถึงความรู้นั้นอย่างไร และเมื่อโครงสร้างแข็งแรงดีแล้ว นั่งร้านจะถูกถอดออก และต่อไปเด็กๆ จะเรียนรู้ต่อเนื่องได้ด้วยตัวเอง
‘นั่งร้าน’ ต้องมอบบทเรียนที่ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป เพื่อท้าทายให้ผู้เรียนยังไปต่อและไม่ล้มเลิกกลางทาง หัวใจของ Scaffolding ยังต้องช่วยลดความกังวลหรือความรู้สึกด้านลบขณะเด็กๆ เผชิญหน้ากับการเรียนรู้ที่รู้สึกว่ายากลำบาก ครูรู้ว่าเด็กๆ ต้องการตัวช่วยอะไรเพื่อให้เขาไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
ในระหว่างการเรียนรู้ เด็กๆ อาจผ่านช่วง ‘การเรียนรู้ที่ง่าย’ เป็น comfort zone ในขณะที่บางช่วงต้องผ่าน ‘การเรียนรู้ที่ยาก’ หรือ stress zone ซึ่งเป็นช่วงที่เขาขยายขอบเขตความรู้ตัวเองไม่ได้ ณ จังหวะนี้เขาต้องการครู ผู้เป็น ‘นั่งร้าน’ ช่วยสนับสนุนให้เขาข้ามผ่านการเรียนรู้ที่ยาก ยกระดับการเรียนรู้ของตัวเองขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้ เรียกกระบวนการนี้ว่า Scaffolding
‘นั่งร้าน’ จึงจัดวางตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่าง ‘การเรียนรู้ที่ง่าย’ กับ ‘การเรียนรู้ที่ยาก’
The Zone of Proximal Development ระยะทางระหว่างความรู้เดิม กับ ความรู้ที่มากขึ้นหลังถูกพัฒนา
เพื่อขยายความและยกตัวอย่างวิธีการทำ Scaffolding จำเป็นต้องอธิบายแนวคิดเบื้องหลังของคำ นั่นคือมโนทัศน์การเรียนรู้เรื่อง The Zone of Proximal Development หรือ ZPD พัฒนาโดย วีกอตสกี (Lev Vygotsky, 1896-1934) นักจิตวิทยาชาวรัสเซียกลุ่มพุทธิปัญญานิยม
ZPD ว่าด้วย ‘ระยะทาง’ ระหว่างความรู้เดิมที่ตัวเด็กมี (level of independent development) กับ ความรู้ที่เด็กๆ จะถูกพัฒนาก็ต่อเมื่อได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุน (level of potential development) จากครู สังคม เพื่อน หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในรูปแบบต่างๆ วีกอตสกีเชื่อว่าเด็กที่อยู่ในระยะ ZPD ควรได้รับความช่วยเหลือด้วยบทเรียนที่ไม่ยากเกินไปจนเด็กๆ สับสน ท้อจนอยากล้มเลิก (stress zone) แต่ต้องไม่ง่ายเกินไปจนทำให้เด็กๆ ติดอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone)
‘พื้นที่กลางๆ’ แบบนี้ จะยิ่งช่วย ‘บูสต์’ หรือผลักดันให้ผู้เรียนพัฒนาหรือขับเคลื่อนตัวเองไปสู่จุดหมายได้
โดยระยะการเรียนรู้ของ ZPD เด็กๆ จะพัฒนาได้ด้วยปัจจัยการเรียนรู้ 3 ปัจจัย ดังนี้
- A More Knowledgeable Other: การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงในด้านนั้นๆ
- Social Interactions: เรียนรู้ผ่านปัจจัยหรือบริบททางสังคม
- Scaffolding: วิธีสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กๆ ผ่านระยะ ZPD ไปได้
แม้ Scaffolding จะเป็นหนึ่งในปัจจัยการเรียนรู้ที่พูดถึงโดยวีกอตสกี แต่ต้องขีดเส้นใต้ว่าผู้ที่ใช้คำว่า ‘นั่งร้าน’ เป็นที่แรกคืองานของ David Wood, Jerome S. Bruner และ Gail Ross ในปี 1976
Scaffolding: หากไม่มี ‘นั่งร้าน’ ผู้เรียนไม่อาจพัฒนาความรู้ไปถึงจุดหมายได้
สรุปอีกครั้ง Scaffolding คือวิธีการ ‘หลากหลาย’ ที่เป็น ‘ตัวช่วย’ หรือ ‘หน้าที่สนับสนุน’ ให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาความรู้ความสามารถ ‘ในจุดที่ตัวเองยืนอยู่’ ไปจนถึงจุด level of potential development และเป็นการทำหน้าที่ของครูในวันที่เด็กไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นอย่างไร
เปรียบวิธีการที่ครูเป็น ‘นั่งร้าน’ ที่ช่วยให้เด็กๆ ก่อร่างสร้างตึกของตัวเองระหว่างที่โครงสร้างยังไม่ถูกวาง (ยังไม่รู้ว่าจะเรียนยังไง ไปถึงความรู้นั้นได้อย่างไร) เป็นจุดการเรียนรู้ที่ ถ้าเด็กๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว ก็คงไปยังจุดหมายนั้นหรือผ่านพื้นที่ ZPD ไม่ได้ และเมื่อโครงสร้างแข็งแรงดีแล้ว นั่งร้านจะถูกถอดออก และเด็กๆ จะเรียนรู้ต่อเนื่องไปได้ด้วยตัวเอง เมื่อถึงตอนนั้น หน้างานของครูจะค่อยๆ ลดลง
เพื่อกลับไปอธิบายว่า Scaffolding เป็นทางสายกลางของการสอนได้อย่างไร อยากอธิบายด้วยงานวิจัยของ Wood โดยเขาทำงานกับคุณแม่จำนวนหนึ่งในปีนั้น โดยให้คุณแม่ช่วยเด็กๆ สร้างโมเดลจำลอง 3 มิติ จัดกลุ่มการดูแลของคุณแม่ส่วนใหญ่ 3 แบบดังนี้
- การสนับสนุนทั่วไป เช่น “ตอนนี้ลูกต้องทำต่อแล้วนะ”
- สนับสนุนโดยลงรายละเอียด เช่น “ลองใช้บล็อก 4 ตัวนี้ดู”
- อธิบายวิธีการภาพรวม เช่น แสดงให้เห็นว่าการต่อชิ้นส่วนเข้าด้วยกันทำยังไง
ผลวิจัยแสดงว่า วิธีที่ทำให้เด็กๆ สร้างโมเดลจำลองสำเร็จนั้นไม่ตายตัวและไม่ได้ใช้แค่วิธีใดวิธีหนึ่ง คุณแม่ที่ประสบความสำเร็จมักใช้วิธีหลากหลายตามแต่สถานการณ์ที่เด็กๆ กำลังเจอ เช่น เมื่อเด็กๆ กำลังทำได้ดี คุณแม่จะให้คำแนะนำ อย่างน้อยที่สุด เมื่อเด็กๆ ติดขัด คุณแม่จะให้คำแนะนำที่ลงรายละเอียดกระทั่งเด็กๆ ไม่สับสนและทำต่อได้ กล่าวได้ว่า Scaffolding ก็คือการสนับสนุนเด็กๆ เมื่อถึงช่วงที่พวกเขาต้องการและทำอย่างถูกจุด – บทเรียนไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้รับ เด็กๆ อาจไปไม่ถึงจุดที่ตั้งใจไว้ได้
อีกหนึ่งคำอธิบายโดย ดร.แคโรล ทอมลินสัน (Dr.Carol Ann Tomlinson) และ เจย์ แมคทิค (Jay McTighe) สองนักการศึกษาในประเด็น Scaffolding เสนอวิธีการ Scaffolding ไว้ดังนี้
- ความชัดเจน: งานหรือโปรเจ็คท์ที่ครูให้ต้องชัดเจน รวมถึงการทำงานย่อยแต่ละโปรเจ็คท์ก็ต้องมีฟังก์ชั่นของมันชัดเจน และรู้ว่างานแต่ละชิ้นจะไปจบหรือรวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์อะไร
- ความเหมาะสม: งานหรือโปรเจ็คท์นั้นต้องยากและท้าทายพอ วิธีคิดของครูในการออกงานหรือโปรเจ็คท์นั้นต้องคิดไว้เสมอว่า ลำพังเด็กคนเดียวอาจทำไม่สำเร็จ แต่ต้องพึ่งการสนับสนุนบางอย่างจากครู
- โครงสร้าง: ครูอธิบายโครงสร้างและปัญหาให้ผู้เรียนเห็นก่อนอย่างแจ่มชัด
- ความร่วมมือ: หน้าที่ของครูไม่ใช่การประเมินหรือให้คะแนน แต่เป็นการให้ความร่วมมือ และครูควรตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนักเรียนให้ช่วยอะไรก็ตาม ครูควรช่วยก็ต่อเมื่อเด็กๆ กำลังพยายามแก้ปัญหาอยู่
- การฝังหรือผนึกความรู้: นั่งร้านจะถูกรื้อออก ก็ต่อเมื่อครูเห็นแล้วว่าเด็กๆ ฝังหรือผนึกความรู้ลงไปในเนื้อในตัวของพวกเขาแล้ว
นั่งร้านต้องทำหน้าที่สร้างความอุ่นใจ
ขีดเส้นใต้ว่า หนึ่งในเป้าหมายของ Scaffolding ครู ผู้เป็นนั่งร้าน ต้องช่วยลดความกังวล บรรเทาความท้อแท้ หรือความรู้สึกด้านลบขณะเด็กๆ ต้องเผชิญหน้ากับการเรียนรู้ที่พวกเขารู้สึกยากลำบาก มองให้ทะลุว่าในช่วงเวลานี้ เด็กๆ ต้องการตัวช่วยอะไรเพื่อให้เขาไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
และให้อย่าง ‘พอดี’ อาจเรียกว่านี่คือความท้าทายสูงสุดของ Scaffolding
โดย Wood ให้คำนิยามเฉพาะของ Scaffolding ไว้ว่า ผู้สอนจะต้อง…
- เพิ่มเติมหรือรักษาความอยากรู้อยากลองของเด็กๆ ในการพัฒนาศักยภาพหรือขณะการเรียนรู้
- ช่วยคลี่คลายสถานการณ์การเรียนรู้หรือทำให้มันง่ายขึ้นได้
- เจาะจงรายละเอียดหรือให้คำแนะนำที่ถูกจุดและชัดเจน
- ช่วยคลี่คลายความกังวลของเด็กๆ
- อธิบาย ‘ภาพรวม’ วิธีการหรือปัญหาที่เขากำลังเจอให้เห็นภาพ
ตัวอย่างวิธีการ Scaffolding
อันที่จริง Scaffolding มีหลากหลายวิธี อย่างที่กล่าวไปว่ามันคือการรวบรวมวิธีการสนับสนุนหลายอย่างตามแต่สิ่งที่ผู้เรียนต้องการขณะนั้น
แต่วิธีคิดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในภาพรวม Scaffolding มีไอเดียใหญ่ๆ ว่า มันคือการตัดย่อยเนื้อหาในภาพรวม ดึงเนื้อหาออกเป็นก้อนเล็กๆ ให้เด็กเรียนรู้ จากนั้นจึงช่วยสนับสนุนให้เรียนรู้ด้วยวิธีคิดแบบ Scaffolding ในแต่ละพาร์ท ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพการ Scaffolding ดังนี้
1. เริ่มต้นบทเรียนด้วยเวอร์ชั่นง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แล้วค่อยเพิ่มความซับซ้อนของเนื้อหาเมื่อเห็นว่าเด็กๆ พร้อมเรียนรู้ขั้นตอนถัดไปแล้ว
ตัวช่วยคือ ครูซอยเนื้อหาออกเป็นส่วนๆ หรือคิดง่ายๆ ว่า ซอยเนื้อหาที่เป็น ‘ซีรีส์’ ให้เป็น ‘มินิซีรีส์’ เพื่อช่วยให้เด็กๆ ไต่ระดับการเรียนรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ และการเรียนรู้แต่ละมินิซีรีส์ ผู้สอนคอยเช็คว่าเด็กๆ เข้าใจคอนเซ็ปต์แต่ละก้อนไหม ให้เวลาเด็กๆ เพื่อฝึกหรือพัฒนาความคิดกับเนื้อหาในมินิซีรีส์นั้นๆ และหากเจออุปสรรค ครูอธิบายภาพรวมว่าแก้ได้อย่างไร และอธิบายด้วยว่า ทักษะที่เด็กๆ ฝึกฝนอยู่นั้นนำไปใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไร
2. ผู้สอนอธิบายคอนเซ็ปต์เรื่องที่จะสอนให้เห็นภาพ เห็นปัญหา เห็นทางเลือกต่อวิธีแก้ปัญหาให้เด็กๆ เลือกหยิบไปใช้ได้
วิธีการนี้เหมือนการ overview ให้เห็นภาพก่อนสอน อาจใช้สไลด์ กราฟิก อธิบายปากเปล่า หรือวิธีการใดๆ เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพ สังเกตว่าในข้อนี้คือการ ‘ถ่ายทอดความรู้’ วิธีคลาสสิกที่ครูหลายคนยังเลือกหยิบกลับมาใช้ได้
3. ให้ตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม
ก่อนปฏิบัติหรือทดลองแต่ละครั้ง ผู้สอนให้ตัวอย่างรูปธรรม และอธิบายว่าตัวแปรแต่ละอย่างสำคัญอย่างไร หากเป็นการทดลองวิทยาศาสตร์ ครูอาจทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อนได้ วิธีคิดในข้อนี้เพื่อทำให้นักเรียนเห็นภาพรวม
4. ก่อนการสอน ครูอธิบายคำศัพท์ยากๆ ที่นักเรียนจะเจอจากบทเรียน
ครูลิสต์คำศัพท์ที่นักเรียนจะเจอในบทเรียนและคิดว่าเป็นคำที่พวกเขาจะสงสัยกับมันแน่ๆ ครูอาจชวนพูดคุยถึงความหมาย พูดคุยเกี่ยวกับบริบทในคำศัพท์นั้นๆ เวลาเด็กๆ ต้องทำงานหรือหาความรู้ในเรื่องนั้น พวกเขาจะมั่นใจและคุ้นเคยกับประเด็น เมื่ออ่านไม่ติดขัด ก็ยิ่งช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องที่ศึกษาได้ดีขึ้น
5. ครูอธิบายเป้าหมายการเรียนรู้แต่ละซีรีส์และมินิซีรีส์
นอกจากอธิบายเป้าหมาย ครูต้องอธิบายขั้นตอนการเรียนรู้ที่วางไว้ทีละขั้นให้เด็กๆ เข้าใจ อธิบายวิธีการให้คะแนนและประเมินผล เมื่อเด็กๆ รู้เหตุผล รู้วิธีการเรียน รู้วิธีการประเมิน พวกเขาจะเข้าใจเหตุผลที่ครูให้งานแต่ละครั้ง วิธีการนี้สำคัญในแง่การลดความกังวลของเด็กๆ จากความไม่รู้ว่ากำลังเรียนอะไร จะประสบความสำเร็จในวิชานี้ต้องมีวิธีการอะไรบ้าง ขั้นตอนนี้ทำให้พวกเขาเห็นภาพรวม รู้และวางแผนตัวเองได้
6. ทุกครั้งที่จะเริ่มซีรีส์หรือมินิซีรีส์ของบทเรียนใหม่ ครูอธิบายว่าบทเรียนที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับบทเรียนใหม่อย่างไร
นอกจากนี้ควรอธิบายว่าทักษะที่นักเรียนได้จากบทเรียนที่ผ่านมา จะมีผลหรือนำไปใช้กับบทเรียนต่อไปหรืองานครั้งต่อไปได้อย่างไร