- ในชีวิตจริงไม่มีใครเข้าใจใครได้ทั้งหมด แต่ถ้าต้องทำ ละครเวทีเป็นไฟต์บังคับให้ต้องตีความ เข้าใจ เพื่อสวมบทเป็นชีวิตคนอื่น ‘ให้ถึง’ ไม่ไปไม่ได้ เพราะยังมีทีมงานอีกหลายชีวิตรออยู่
- เบื้องหน้าคือละคร เบื้องหลังคือการทำงานของครู ตั้งแต่เลือกประเด็นที่จะแสดง ชวนเด็กตีความตัวละคร ทำความเข้าใจประเด็นผ่านบริบทสังคม กระทั่งคิดต่อว่าควรจะมอบบทนี้ให้นักแสดงคนไหน ด้วยเงื่อนไขอะไรดี
- ละครเวทีเรื่องนี้คือโปรเจ็คท์จบของนักเรียน ม.1 วิชาสุนทรียะทางศิลปะ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาครบมาเต็มตั้งแต่ทีมนักแสดง ฉาก ดนตรี และทีมคนดู
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
อันที่จริง ‘ละครเวที’ กับนักเรียน ในฐานะกิจกรรมพิเศษไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กับวิชากลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ สุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts) ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ละครเวทีถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรของห้องเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ในวิชาสุนทรียะทางศิลปะ เด็กๆ จะได้เวียนกันเรียน 4 วิชาย่อย คือทัศนศิลป์ ออกแบบ ดนตรี และละคร เมื่อจบภาคเรียน พวกเขาต้องจัดแสดงละครเวที ด้วยการเปิดห้องแสดงจริง แสงสีจริง มีผู้ชมจริง เสียงปรบมือและปฏิกิริยาผู้ชมจริง ทั้งต้องเผชิญหน้ากับความตื่นเต้นในฐานะนักแสดงและทีมงานที่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด… จริงๆ
แต่ศาสตร์ละครเวทีกับการเรียนรู้ในห้องเรียน ไปด้วยกันได้อย่างไร?
ครูแอม-นิธิ จันทรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายและกิจกรรมพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในครูวิชาสุนทรียะทางศิลปะบอกกับเราว่า
“(ละคร) พาเขาเดินทางไปพบมิติความรู้สึกแบบหนึ่งซึ่งในชีวิตจริงเขาอาจจะไม่ยอมไป แต่ละครเป็นไฟต์บังคับที่คุณต้องเป็นตัวละครตัวนี้และต้องพาการแสดงไปให้ถึงให้ได้ เพราะมันเป็นการรับผิดชอบในภาพรวมต่อหมู่คณะ”
ละครจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมพิเศษ แต่คือเครื่องมือการเรียนรู้การเป็นมนุษย์ จำลองความรู้สึกของการเป็น ‘คนอื่น’ แสดงออกมาด้วยการ ‘ตีความ’ ที่อยากจะเข้าใจตัวละครนั้นมากที่สุด ไม่นับว่าระหว่างทางก่อนเปิดเวทีจริง เด็กๆ ต้องผ่านจุดปะทะ ต้องตีความ ต้องสื่อสารกับทีมงานเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วงกันหนักหน่วงขนาดไหน
The Potential ชวนมองประเด็น ละครเวที หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งขอเริ่มจากความคิดฝัน วิธีคิด และประสบการณ์ในการเป็นครูกระบวนกรของครูแอมก่อน จากนั้นชวนเข้าไปเปิดห้องเรียน วิชาสุนทรียะทางศิลปะ ดูว่าในห้องเรียนแบบนี้ สิ่งที่เด็กๆ ได้ (มากกว่า) เรียนรู้ คืออะไร
การเดินทางของ ‘ครูกระบวนกร’
จุดเริ่มต้นของครูแอม ของการเป็น ‘ครูกระบวนกร’ คืออะไร
เรียนครูมาโดยตรงที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ตอนเรียนตั้งคำถามกับตัวเองเยอะ ไม่แฮปปี้ ไม่อยากกลับเข้าโรงเรียนอีก แต่คิดว่าจะทำอะไรดีที่ยังได้ทำงานกับเด็กๆ อยู่ จากนั้นก็ได้เข้าไปทำงานอาสาสมัครกับกลุ่มมะขามป้อม รู้สึกว่า โห… มันไม่ใช่แค่ละครเนอะ แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วย เราก็ได้พัฒนาวิทยายุทธ์ ฝึกปรือวิชา มีมุมมองประเด็นสังคมต่างๆ กลายเป็นว่าการทำงานที่มะขามป้อมตอบคำถามที่สงสัยตอนเรียนหนังสือหลายอย่าง
พอเดินทางไปเรื่อยๆ ก็ได้ทำงานกับเด็ก ลงไปจัดกิจกรรม โดยใช้กระบวนการศิลปะการละครและศิลปะอื่นๆ เข้าไปทำงาน จนวันหนึ่งรู้สึกว่าเราเดินทางเยอะเหมือนกันเนอะ ประสบการณ์ของเราน่าจะถูกแบ่งปันไปที่ใดที่หนึ่ง ตอนแรกตั้งใจว่าจะเปิดโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ มีแผนว่าจะทำแล้ว แต่โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์เปิดรับครูกระบวนกรจำนวนหนึ่ง ก็เลยมาสมัคร โดยเห็นว่าเราอาจจะมีอะไรบางอย่างแบ่งปันได้ และโรงเรียนนี้ก็เพิ่งสร้างใหม่ เพราะฉะนั้นมันต้องมีพื้นที่เยอะมากให้เราได้ทดลองอะไรใหม่ๆ หรือทำในสิ่งที่เราเชื่อ
คือพอเรามีฝันจะสร้างโรงเรียน มันก็เลย “เดี๋ยวไปดูก่อนมั้ย” ไปเป็นฟันเฟืองเล็กๆ อยู่สักตัวหนึ่งก่อน ดูว่ามีรายละเอียดอะไรบ้างในคำว่าโรงเรียน ปรากฏว่ามันมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ในรายละเอียดและข้อจำกัดหลายๆ อัน ก็มีพื้นที่ให้ได้ทดลองในฐานะครูเยอะเหมือนกัน
กลุ่มละครมะขามป้อมตอบปัญหาอะไรให้ครูบ้าง
เป็นไปได้มั้ยถ้าเราไม่เรียนอยู่แต่ในโรงเรียน เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ต้องเป็นหมอ พยาบาล ครู หรือประกอบอาชีพทั่วไป ตอนนั้นเราอยากรู้ว่ามันมีอาชีพอะไรบ้างที่ทำงานโดยใช้ทักษะเฉพาะอย่าง เป็นทักษะที่เราชอบ และได้เดินทาง ได้ทำงานที่มีความหมาย ซึ่งตอนเด็กๆ เราคิดแค่ว่าทำอะไรที่มันดูเท่ๆ หน่อยดีมั้ย มันจะเท่มั้ยถ้าทำแบบนี้ (หัวเราะ)
แต่พอมาอยู่ที่มะขามป้อม ซึ่งทำงานหลายประเด็นตั้งแต่ทำให้เด็กรักการอ่านผ่านละครสร้างสรรค์ ทำหนังสือให้มีชีวิตได้ยังไง เท่าทันสื่อ ตั้งคำถามกับสื่อ พาเด็กลงชุมชนแล้วเห็นว่าสื่อถูกสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ไปทำละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็เห็นว่า
ละครมันเลียนแบบตรรกะการเป็นมนุษย์นี่นา ถ้าเราเข้าใจตรรกะการเป็นมนุษย์หรือตัวละครตัวหนึ่ง เราน่าจะมีเครื่องมือเพื่อกลับมาเข้าใจตัวเองเนอะ
หลายคำถามที่เคยสงสัย ถูกทำให้เห็นผ่านกระบวนการที่เราไปเป็นทีมงานทำประเด็นนั้นๆ ในมะขามป้อม น้องๆ ที่ไปค่ายเกิดการเปลี่ยนแปลง มีทักษะ มีคำถามและชวนหาคำตอบไปด้วยกัน เขาสะท้อนบางอย่างออกมามากกว่าสิ่งที่เห็น ไปไกลกว่าการคิดวิเคราะห์ การเข้าใจในเชิงลึก
ทำไมการเรียนรู้ในห้องเรียนจึงไม่ตอบคำถามเหล่านั้น
ห้องเรียนมันไม่เห็นจริง (ตอบทันที) ห้องเรียนเป็นกล่องสี่เหลี่ยมและก็มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น แต่การที่เราได้ไปสัมผัส ได้เห็นคน เห็นชุมชน เห็นเยาวชนจริงๆ น่าจะเป็นจุดที่ตอบคำถามเราได้หลายอย่างว่า จริงๆ มันมีข้อจำกัดแบบหนึ่ง สิ่งที่คิดไว้ สิ่งที่เรียนมา เช่น ศาสตร์ของครูบอกว่าสอนแบบนี้ถึงจะดี แต่พอลงไปแล้วพบว่าวิชาที่เรียนมามันใช้ไม่ได้เลย ลงสนามจริงมันมีเรื่องราวต่างๆ มากมายให้ได้ฝึกฝนตัวเอง
เช่นเรื่องเล็กๆ อย่าง ถ้าสมมุติเด็กๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมปุ๊บ เขานั่งลง เราจะทำยังไงให้เขานั่งลง โฟกัส และเตรียมพร้อมสำหรับการจะเริ่มกิจกรรมต่อไป ถ้าสังเกตจังหวะการเรียนรู้ในเหตุการณ์นี้ดีๆ จะพบว่า อ๋อ… อย่างนี้แปลว่ายังไม่พร้อมในการเรียนรู้ แล้วสังเกตได้จากอะไรบ้าง
ร่างกายยังไม่นิ่งใช่มั้ย ลมหายใจยังไม่ปกติ จะทำให้ลมหายใจสู่ภาวะปกติต้องทำยังไง ต้องดึงดูดความสนใจ ให้มีโฟกัสที่เดียวกัน แล้วเราจะปูเรื่องยังไงจากการใช้น้ำเสียงของเรา เบาลงนิดนึงมั้ย พอเขาไปกับเรามากขึ้น การเรียนรู้ก็ค่อยๆ มากขึ้น
แค่เทคนิคเล็กๆ แบบนี้แต่มันสอนไม่ได้ในชั้นเรียน เทคนิคการเป็นวิทยากร เป็นคนจัดกิจกรรม หรือแม้แต่เทคนิคการเป็นครูก็ตาม เราเรียนครูมา วิธีการสอนในชั้นเรียนก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด มันก็น้อยมากเลยที่เราจะได้มีโอกาสลงไปสัมผัสเด็กๆ การกระโดดลงมาแล้วพาตัวเองไปผจญภัย ก็ทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นในการจะพัฒนาตัวเอง
จากที่เคยได้เดินทาง เปลี่ยนห้องเรียนบ่อยๆ ทำไมจึงตัดสินใจกลับมาสอนห้องเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนไม่มาก
คิดว่าถึงเวลามั้งครับ มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง เดินทางไปเรื่อยๆ มันก็ดีนะ สนุกดี แต่ว่าเราจะดูแลคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราเลือกทำจริงจังแต่สิ่งนั้น มันอาจจะเหนื่อยมากๆ ก็ได้ เลยมองว่าอะไรนะที่เรายังได้ทำในสิ่งที่รัก และเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในช่วงชีวิตเรา โรงเรียนนี้ตั้งต้นด้วยแนวคิดที่น่าสนใจ มีพี่ๆ หลายคนเข้ามาเป็นผู้ร่วมให้ข้อมูลความคิดเรื่องการก่อตั้ง เลยรู้สึกว่าน่าสนใจจังเลย ถ้าถามตัวเองว่าเราจะหยุดเดินทางแล้วมาผจญภัยที่นี่ ก็น่าจะมีเรื่องที่เหนื่อยแต่ลองดู ด้วยจังหวะชีวิตตัวเอง ด้วยความพร้อมและถึงเวลา ที่น่าจะพร้อมส่งต่อให้นักเรียน
ครูสอน ‘วิชาการละคร’
ครูใช้ศาสตร์ละครสอนอย่างไร
เวลาที่เราทำงานภาคสนาม เราเตรียมการไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นการทำงานปลายเปิด เลยหยิบวิธีนี้มาใช้ที่โรงเรียน ลองใช้กลไกปลายเปิดนี้ในการพานักเรียนเดินผ่านประสบการณ์ทางความรู้สึก เช่น เล่นละคร วินาทีที่ซ้อมเป็นแบบหนึ่ง ช่วงก่อนแสดงเป็นแบบหนึ่ง บนเวทีแบบหนึ่ง และเล่นเสร็จแบบหนึ่ง
วิชานี้ เรียนอะไรบ้าง
หลักสูตรของโรงเรียนสาธิต มธ. แบ่งวิชาออกเป็นกลุ่มประสบการณ์ วิชานี้คือกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ สุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts) มี 4 วิชาย่อย คือทัศนศิลป์ ออกแบบ ดนตรี และละคร ตอนที่เราร่างหลักสูตรก็คุยกันว่าจะเริ่มจากทักษะที่ครูมี คือเรามีครูที่สอนทัศนศิลป์ ออกแบบ ครูที่จบทางดนตรี และมีครูละคร
ศิลปะของเราต้องเป็นศิลปะปฏิบัติ เพราะถ้าเราเชื่อในเครื่องมือศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นละคร ดนตรี ทัศนศิลป์ หรือออกแบบ ถึงเวลาศิลปะจะทำงานเอง วิธีคิดแบบนี้อาจจะดูศิลปินไปหน่อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องวางวิธีการเอาไว้เพื่อให้มันไปมากกว่าศิลปะ แต่คือการเรียนรู้การเป็นมนุษย์ในมิตินั้นๆ เพราะละครต้องทำงานร่วมกัน ต้องเอื้อคนอื่น ซัพพอร์ตคนอื่น การที่เราเห็นคนอื่น ทำให้เราเห็นตัวเอง
ละครที่หยิบมาแสดงในวิชานี้คือเรื่องอะไร
เรื่องแรก ‘ติสตู นักปลูกต้นไม้’ (Tistou les pouces verts เขียนโดย โมรีซ ดรูยง) วรรณกรรมเยาวชนที่มีประเด็นพูดถึงเรื่องสงคราม สันติภาพ ผ่านตัวละครหลักที่เป็นเด็กคนหนึ่งมีพ่อเป็นพ่อค้าอาวุธ แต่เด็กคนนี้กลับมีนิ้วหัวแม่มือสีเขียวซึ่งปลูกต้นไม้ได้ สุดท้ายเป็นคนทำให้บริษัทของพ่อเจ๊งเพราะเอาดอกไม้ไปปลูกในปืน ประเด็นจากเรื่องนี้ พอนึกว่าเป็นภาพอย่างไรในละครมันก็ดูตื่นตาตื่นใจและพูดโดยภาพรวมว่าโลกนี้มีสันติภาพน้อยมาก
เรื่องที่สอง ‘ยักษ์ลักเสียง’ เป็นโครงเรื่องจากละครเร่มะขามป้อม ใช้ในเวทีเสวนาเป็นละครเปิดประเด็นเพื่อจะพูดต่อเรื่องเสียงของเด็กว่าพวกเขามีสิทธิในการส่งเสียง การถูกรับฟัง ตั้งคำถามว่าผู้ใหญ่ต้องฟังรึเปล่า และใส่ประเด็นเล็กๆ ในสังคมเข้าไปในเพลง ตั้งคำถามว่ายักษ์นี่คือใครบ้าง เสียงนี่คือเสียงของใคร เสียงอะไร เสียงจริงหรือความเปรียบ แล้วเราก็ถามต่อว่าเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวที่เขาเจอคืออะไร แล้วถ้าเรื่องระดับประเทศหรือระดับโลกล่ะ? มันคือประเด็นอะไร มีใครขโมยเสียงใครเหรอในโลกนี้ เขาขโมยแต่เสียงเด็กหรือเปล่า หรือเป็นเสียงของคนจนที่ถูกขโมย เสียงของคนที่มีอำนาจน้อยกว่า คำถามพวกนี้ถูกตีความในเรื่องราวตอนที่เราทำละคร
ละครอาจไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่มันจุดประกายความคิด ไปกระเพื่อมต่อในความทรงจำของเขา ละครบางเรื่องที่เขาได้ดูหรือได้เล่น มันจะทำให้เขาจำประเด็นนี้ ความรู้สึกนี้ไปตลอด นี่คือการปลูกเมล็ดพันธุ์ ปลูกด้วยประเด็นของเรื่อง ด้วยการทำให้รู้สึก ผ่านเรื่องราวบางอย่างที่ถูกตีความ
ทำไมต้องเลือกประเด็นที่ซับซ้อนและแฝงด้วยสัญลักษณ์ขนาดนี้กับนักเรียนชั้น ม.1
โจทย์สำหรับเด็กๆ ผ่านการเลือกและประเมินจากทีมครู ถ้าโจทย์ง่ายไปเขาก็จะดูถูกบทเรียน ถ้ายากไปเขาก็จะทำไม่ได้ เราเลยเลือกโจทย์ที่ (หยุดคิด) เรียกว่าอะไรดี ‘ตึงมือ’ ตึงมือพอสมควร คือมันไม่ง่ายนะ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินเข้าใจ แต่อาจจะต้องมีกุญแจแบบ ‘อันนี้คืออะไร?’ ครูช่วยไขเป็นคีย์ให้หน่อยๆ พอมีคีย์แล้วเขาก็จะหันมา “โห ครู เขียนบทขนาดนี้เลยเหรอ?”
จริงๆ ดนตรีก็มีการออกแบบและเป็นโจทย์ที่ยาก เราให้โจทย์ที่เป็นนามธรรม เช่น ให้โจทย์เรื่องการเดินทาง การเดินทางต้องทำเสียงยังไง? หรือให้โจทย์ว่านี่คือเมืองมหัศจรรย์ เขาจะตีความเป็นเสียงแล้วถ่ายทอดออกมายังไง หรือแม้แต่โจทย์ทัศนศิลป์ก็ดี เราให้ตีความว่ายักษ์ตัวแดงจะเป็นแบบไหน ให้หาจุดอ้างอิง (reference) มาหน่อย บางคนคิดถึงยักษ์ไทย ยักษ์วัดแจ้ง หรือให้เด็กๆ ทำกำแพงอิฐจากอะไรก็ได้ ทุกคนก็รังสรรค์เต็มที่ มีฝั่งที่เป็นต้นไม้ ป่าไม้ แบบไหนก็ได้ ทุกคนก็เต็มที่และถือว่าตึงมือกันทุกฝ่าย
ละครกับการเรียนรู้ ไปด้วยกันได้อย่างไร
ตัวละครตัวหนึ่ง ย่อมมีความต้องการจะพาตัวเองไปเจออะไร มีความเชื่อเบื้องหลังอะไร ต้องลิงค์กับตัวละครอีกตัว เขาจะได้ขุดค้นความเป็นมนุษย์ว่า การเป็นตัวละครตัวนี้ เขาคิดอะไรอยู่เหรอ เขาเข้ามาในฉากนี้เพื่อความต้องการอะไร อยากจะบอกคนคนนี้ว่าอะไร เศร้ารึเปล่า ดีใจ อำลา หรือที่คือครั้งสุดท้ายที่จะได้เจอกัน ครูประเมินไว้แต่แรกแล้วว่ามีโจทย์ไหนที่น่าจะท้าทายเขา
(ละคร) พาเขาเดินทางไปพบมิติความรู้สึกแบบหนึ่งซึ่งในชีวิตจริงเขาอาจจะไม่ยอมไป แต่ละครเป็นไฟต์บังคับที่คุณต้องเป็นตัวละครตัวนี้และต้องพาการแสดงไปให้ถึงให้ได้ เพราะมันเป็นการรับผิดชอบในภาพรวมต่อหมู่คณะ
ชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง พฤติกรรมที่แสดงออกเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ภายใต้ภูเขานั้นมีความเชื่อ ความต้องการ มีภูมิหลังเยอะแยะ อันนี้คือมนุษย์หนึ่งคน ทีนี้ตัวละครหนึ่งตัวถ้าเทียบกับมนุษย์หนึ่งคน มันก็มีอีกหนึ่งตรรกะ มีอีกหนึ่งภูเขาน้ำแข็ง
เด็กต้องไปเข้าใจภูเขาน้ำแข็งของตัวละครตัวนั้นว่าที่ปรากฏแบบนี้ ตั้งคำถามแบบนี้ ลึกๆ แล้วเขามีความเชื่ออะไร มีความต้องการในชีวิตแบบไหน ถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมแบบไหน
แต่กระบวนการก่อนที่จะพาไปเข้าใจและสวมบทเป็นตัวละครนั้นมันต้องมีแหล่งอ้างอิงบางอย่างที่ต้องอ้างอิงกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งก็ไม่รู้จะอ้างอิงตรงไหนนอกจากตัวเอง มันก็จะสะท้อนซึ่งกันว่ายิ่งนักเรียนเข้าใจ logic การปรากฏของตัวละครนี้และเบื้องหลังของตัวละครมากเท่าไร แปลว่าเขาน่าจะเข้าใจตัวเองในเบื้องลึกมากเท่านั้น
ถ้าละครตั้งคำถามว่า ทำไมตัวละครนี้ถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ แปลว่าเบื้องหลังเขาต้องผ่านประสบการณ์บางอย่างมา สิ่งนั้นมันจะสะท้อนกลับมาสู่ชีวิตเขาเองว่า ถ้าเป็นเราแต่ต้องอยู่ในคาแรคเตอร์นี้ เรามีความเชื่ออะไร ผ่านการเลี้ยงดูแบบไหน ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หรือแม้แต่กับนักเรียนคนอื่นๆ ที่เป็นผู้ชม เขาอาจจะเห็น ได้ไอเดียไปต่อ “อ๋อ… เสียงเดียวมันไม่ดังสินะ ต้องรวมกันหลายเสียงถึงจะมีพลัง” หรือว่า “อ๋อ… จริงๆ แล้วความเศร้าที่สุดของโลกนี้อาจเป็นเรื่องสงครามก็ได้ แล้วความร้ายกาจของสงครามอาจเป็นคนที่ค้าอาวุธสงคราม และความตายก็อาจจะมีมากกว่าการแก่ตาย สงครามอาจทำให้คนตายเร็วขึ้น ทั้งๆ ที่คนต้องตายอยู่แล้วก็ได้” คือมันอาจมีบางคำไปโดนใจเขา
งานศิลปะเป็นปลายเปิดมากๆ ถ้าเราเชื่อว่าศิลปะทำงานกับมนุษย์ มันจะโดนจุดไม่เหมือนกัน ผู้ชม คนดู ผู้เสพงานที่มีเบื้องหลังที่แตกต่าง ถ้านักขับเคลื่อนสังคมมาดูเรื่องนี้ก็จะตีความแบบหนึ่ง ถ้านักเรียนมาดู น้องคนอื่นๆ ที่ดูเรื่องนี้ก็อาจคิดอีกแบบหนึ่งก็ได้
ประเมินอย่างไรว่า ที่ทำอยู่นั้น มาถูกทางแล้ว
ถ้าในเรื่องการตีความ ตอนแรกเราให้เอาบทและเพลงมาอ่านก่อน เราก็แกล้งให้โจทย์เรื่องการตีความเล็กๆ ปรากฏว่าเด็กตีความได้ ก็เลยโอเค… ผ่านละ แปลว่าเราลุยต่อได้ พอลุยต่อ ที่เหลือเป็นเรื่องเทคนิคการละครแล้ว การจัดบล็อกกิ้ง การจำบท เป็นรายละเอียดเชิงเทคนิค ก็ค่อยๆ ฝึกกันไป
ทักษะพัฒนาได้ ส่วนเรื่องแก่นความคิด ถ้าให้อ่านเรื่องแล้วนักเรียนสะท้อนได้ว่าตัวละครเขาคิดแบบนี้นะ เขาเป็นแบบนั้นนะ หรือมีคำถามกับเรื่องแบบนั้นนะ แสดงว่าผ่านละ
หนึ่งปีที่ผ่านมา ประเมินตัวเองอย่างไร
จริงๆ อยู่ในช่วงทดลอง เราก็ไม่รู้ว่าควรเอาเรื่องเบากว่านี้ ซับซ้อนน้อยกว่านี้หรือมากกว่านี้ดี หนึ่งปีแรกนี้ก็เป็นช่วงทดลองของครูเหมือนกัน เราถือว่าเวทีนี้เป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กด้วย หลังจากนี้คุณครูก็ต้องพูดคุยถกเถียงกันว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาเราดำเนินการแบบนี้ ใช้เครื่องมือทางศิลปะแบบนี้ มีประเด็นที่จะพาเขาไปในมิติอื่นๆ ของชีวิตแบบนี้ มันเป็นอย่างไรบ้าง แล้วถ้าปีหน้าจะต้องมีอะไรเพื่อทำซ้ำให้เกิดความเชี่ยวชาญ มีอะไรที่ถ้าไม่เวิร์คก็ควรเอาออกแล้วเราจะปรับเป็นอะไรรึเปล่า ถ้าพูดถึงการเดินทาง คุณครูเองก็กำลังเดินทางด้วยอยู่เหมือนกัน
แต่สิ่งที่อยู่ในใจเราตลอด คือถ้าเป็นครูต้องไม่ผูกขาดความรู้และความจริง จริงในมุมของเรากับของเด็กไม่เหมือนกัน ก็ต้องใช้เวลาดูกันต่อไป ในส่วนการจัดการหลักสูตร ตอนนี้เป็นช่วงไอเดียล้วนๆ ครีเอทีฟล้วนๆ ทดลองล้วนๆ และต้องขอบคุณนักเรียนมากๆ ที่มาทดลองกับครูรุ่นแรก ให้ทดลองและเรียนรู้ไปด้วยกัน