- เคยสงสัยไหมว่าทำไมจึงมีคนชอบทำอะไรเสี่ยงๆ? บางคนชอบกิจกรรมสุดอันตราย ไม่ว่าจะปีนเขา เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม หรือลงทุนเสี่ยงสูง ซึ่งคำตอบอาจซ่อนอยู่ในปัจจัยทางชีวภาพ ที่หล่อหลอมให้หลายๆ คนกลายเป็นคนรักการผจญภัยและแสวงหาความเร้าใจ
- คนกลุ่มที่มีบุคลิกภาพรักความตื่นเต้นนั้นมีอะดรีนาลีนและโดพามีนสูง ทำให้รู้สึกสนุกกับสถานการณ์เสี่ยง แต่ในปัจจุบัน ลักษณะนิสัยนี้อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ด้วย
- จริงอยู่ที่ความตื่นเต้นเป็นสีสันของชีวิต แต่การปล่อยให้ความชอบความเสี่ยงครอบงำ อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในชีวิต การฝึกสติและการควบคุมอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุล และหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบจากการแสวงหาความตื่นเต้นที่มากเกินไป
วันที่ 14 ตุลาคม 2012 มีผู้ชายคนหนึ่งกระโดดดิ่งพสุธาลงมาจากบอลลูนที่ความสูงเกือบ 39 กิโลเมตร (ตัวเลขที่วัดได้จริงคือ 38,969.4 เมตร) ความสูงขนาดนี้คือสูงกว่าระดับที่เครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปบินอยู่ราว 3 เท่าครึ่ง เพราะปกติเครื่องบินที่เราใช้บริการกันมักบินอยู่ที่ราวความสูง 30,000–35,000 ฟุต (9.1–10.7 กิโลเมตร)
เรื่องนี้ใช้เวลาเตรียมการนานถึง 5 ปีและใช้เงินมากถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐในโครงการที่มีชื่อว่า เรดบูลสตราโตสโปรเจ็กต์ (Red Bull Stratos Project) และทำให้นักดิ่งพสุธาชาวออสเตรีย เฟลิกซ์ โบมการ์ตเนอร์ (Felix Baumgartner) กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ “ดิ่งอวกาศ (space diving)” จนทำความเร็วทะลุระดับความเร็วเสียงได้เป็นคนแรกของโลก [1]
ความเร็วสูงสุดที่เฟลิกซ์ทำได้คือ 1,357.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นความเร็วเกิน 2 เท่าของความเร็วของรถไฟหัวกระสุนที่ครองสถิติความเร็วสูงสุดในปัจจุบันคือ เซี่ยงไฮ้แม็กเลฟ (Shanghai Maglev) ที่ทำสถิตความเร็วสูงสุดได้ 501 กิโลเมตร/ชั่วโมง! [2]
อย่างไรก็ตาม แม้สื่อมวลชนมักจะพาดหัวว่าเป็น space diving ก็ตาม แต่ความจริงแล้วก็อาจจะยังนับไม่นับเป็นการ ‘ดิ่งอวกาศ’ ที่แท้จริง เพราะขอบเขตอวกาศตามเส้นสมมุติที่ใช้นิยามขอบเขตการออกสู่อวกาศที่เรียกว่า เส้นคาร์แมน (Karman Line) อยู่ที่ความสูง 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล [3] แต่หากใครเคยเห็นรูป ก็จะเห็นว่าที่ระดับความสูงนี้มองเห็นเส้นโค้งขอบโลกแล้ว
กระนั้นก็ตามยังต้องถือว่าเป็นการท้าความตายอย่างน่าหวาดเสียวกับการดิ่งพสุธาลงมาในชุดป้องกันเพียงชุดเดียวและร่มชูชีพที่ติดมากับชุดเพียงหนึ่งคัน
อะไรทำให้คุณโบมาการ์ตเนอร์และทีมงานคิดทำอะไรที่บ้าบิ่นเสี่ยงตายขนาดนี้?
ที่น่าประหลาดใจไม่แพ้กันก็คือ เรื่องนี้อาจมีความเกี่ยวพันกับเรื่องน่าหวาดเสียวอย่างกีฬาเอกซ์ตรีมทั้งหลาย การขับรถแข่ง ดิ่งพสุธา เล่นสตันต์ พายเรือล่องแก่ง กระโดดลงถ้ำลึก (cave-diving) ดำน้ำลึกแบบไม่ใช้อุปกรณ์ช่วย โดดบันจี้จัมป์ นั่งรถไฟเหาะตีลังกา ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ปีนยอดตึกเพื่อถ่ายเซลฟีด้วย และอาจจะเกี่ยวกับแม้แต่กับเด็กแว้น เด็กติดยา หรือช่างกลตีกัน…ก็ได้ด้วยเช่นกัน!
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ทำไมจึงมีคนชอบทำอะไรเสี่ยงๆ? ทำไมจึงมีคนที่ชอบอะไรที่ท้าทายระดับเอาชีวิตเข้าแลก?
คำตอบอาจจะอยู่ในสายเลือด อยู่ในดีเอ็นเอ และอยู่ในสมองของเรานี่เองครับ
หากสังเกตคนรอบตัวก็จะพบว่า ในด้านหนึ่งก็อาจมีคนที่ชอบทำอะไรสุ่มเสี่ยงชนิดที่ดูแล้วเหมือนจะไม่ค่อยยั้งคิด กับอีกด้านหนึ่งก็มีคนที่ไม่กล้าทำอะไรหรือไม่ชอบทำอะไรหลายอย่าง แม้เสี่ยงแค่เพียงเล็กน้อย เรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับทางปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมาด้วยครับ
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960 มีนักจิตวิทยาชื่อ มาร์วิน ซักเคอร์แมน (Marvin Zuckerman) ที่พบว่าลักษณะนิสัยแบบเสาะหาความตื่นเต้นเร้าใจที่เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกลักษณะนั้นมีรากฐานมาจากเรื่องพันธุกรรมด้วย แต่บางคนก็จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกมากกว่า
เขาพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นเรียกว่า Sensation Seeking Scale (มาตราส่วนความต้องการความรับรู้สัมผัส) หรือเรียกย่อว่า SSS ซึ่งใช้บอกได้ว่า แต่ละคนต้องการหรือมองหาสิ่งกระตุ้นมากน้อยเพียงใดหรือเป็นพวกเป็นพวกหนีโลก ไม่หือไม่อือไม่สนใจอะไรนัก ไม่ค่อยรู้สึกว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจ [4]
เมื่อให้แต่ละคนทำแบบทดสอบ SSS ก็ทำให้รู้ว่าสามารถแบ่งคนออกตามลักษณะนิสัยตามความชื่นชอบความตื่นเต้นน่าสะพรึงได้แบบคร่าวๆ เป็น 4 แบบคือ
(1) พวกที่มองหาความตื่นเต้นและการผจญภัยตลอดเวลา
(2) พวกที่อยากลองอะไรแค่เพื่อเป็นประสบการณ์
(3) พวกหุนหันพลันแล่นหรือขาดความยับยั้งชั่งใจ (disinhibition) (4) พวกเบื่ออะไรต่อมิอะไรรอบตัวได้ง่ายเสียเหลือเกิน
พวกกลุ่มแรกนี่แหละครับที่เข้าข่ายเป็นพวกกล้าบ้าบิ่น ทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างที่เราเกริ่นไว้ข้างต้น พวกนี้จะมองหาตัวกระตุ้นจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ขณะที่พวกอยากลองในกลุ่ม 2 นี่ หนักไปทางลองอะไรแปลกๆ ที่ส่งผลต่อจิตใจภายในหรือประสาทสัมผัสแบบต่างๆ ชอบชิม ดม สัมผัส ฯลฯ
ส่วนกลุ่ม 3 นี่ ก็อาจเป็นพวกห้ามใจไม่ค่อยอยู่ ชอบไปร่วมงานปาร์ตี้หน้ากากหรือพิธีกรรมห่ามๆ รวมไปถึงเป็นกลุ่มคนที่กล้ารับคำท้าชนแก้วไม่หยุดหย่อน อันนี้อันตรายมากนะครับ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ ทำให้เสียชีวิตได้ หลีกเลี่ยงได้ก็จะดี
ขณะที่กลุ่มสุดท้ายเป็นพวกไม่ชอบทำอะไรซ้ำซาก ไม่ชอบเข้าใกล้คนทำตัวน่าเบื่อหน่าย หรือไม่ชอบเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่รู้ผลลัพธ์ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว และทนไม่ได้เอาทีเดียวหากจะไม่ได้ลองทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ บ้างเลย คนส่วนใหญ่มักจะไม่สุดโต่งไปในแบบใดแบบหนึ่ง แต่จะมีลักษณะผสมๆ ทั้ง 4 แบบ แต่บางคนก็อาจจะแสดงลักษณะแบบใดแบบหนึ่งชัดเจนมากเป็นพิเศษ [4]
งานวิจัยในยุคต่อๆ มาแสดงให้เห็นว่า ลักษณะนิสัยมองหาความตื่นเต้นเร้าใจแบบนี้จะเพิ่มสูงสุดเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หลังจากนั้นก็จะคงที่หรือลดลงจากปัจจัยทางสังคม เช่น การแต่งงานหรือมีลูก
เรื่องที่น่าสนใจคือกลุ่มคนที่ทำอะไรสุ่มเสี่ยงมากที่สุดคือ พวกผู้ชายหลังจากการหย่า!
พอไปดูเรื่องสรีรวิทยาก็พบว่า ลักษณะนิสัยที่แสดงออกเป็นไปตามปริมาณของฮอร์โมนหลายชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอะดรีนาลีน โดพามีน เอ็นดอร์ฟิน คอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) รวมไปถึงเทสโทสเทอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย)
การศึกษาด้วยเครื่อง MRI ทำให้รู้ว่า คนที่ชอบทำอะไรสุ่มเสี่ยงมักจะมีสมองส่วนควบคุมอารมณ์ความรู้สึกคือ อะมิกดาลา (amygdala) ที่ตอบสนองต่ำในยามที่ตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดและระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลก็ต่ำด้วยเทียบกับคนทั่วไป แต่กลับมีอะดรีนาลินและโดพามีนสูง ฮอร์โมนตัวหลังสุดนี่มักหลั่งออกมาเมื่อเรามีความเพลิดเพลินจำเริญใจ
ผลลัพธ์ก็คือในขณะที่คนทั่วไปที่เผชิญกับสถานการณ์กดดันจะรู้สึกตึงเครียดและไม่ชอบ คนกลุ่มนี้กลับสบายดี เครียดน้อยกว่า อะดรีนาลินก็ทำให้เลือดลมสูบฉีดมากขึ้น มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองทำให้ตื่นตัวมากกว่าปกติ
แต่ที่สำคัญคือ โดพามีนที่เพิ่มขึ้นยังอาจทำให้รู้สึก ‘สนุก’ ไปกับสถานการณ์พวกนั้นด้วยซ้ำ [4]
วงจรฮอร์โมนแบบนี้อาจทำให้คนพวกกล้าบ้าบิ่นเหล่านี้ ‘เสพติด’ สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ได้ จึงไม่น่าแปลใจที่พวกเขาจะวนเวียนกลับมาหาเรื่องพวกนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
อุปนิสัยสุ่มเสี่ยงแบบนี้มีประโยชน์อะไร ทำไมวิวัฒนาการจึงเก็บพฤติกรรมพวกนี้เอาไว้ในดีเอ็นเอของคนกลุ่มนี้ ทั้งที่น่าจะส่งผลร้ายทำให้คนเหล่านี้ตายไปเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น?
ซักเคอร์แมนอธิบายว่าลักษณะนิสัยแบบนี้ฝังอยู่ในยีนและระบบประสาทของมนุษย์ทุกคน บรรพบุรุษสมัยโบราณของเราต้องอาศัยมันเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคที่ยังหาของป่าล่าสัตว์อยู่ การล่าสัตว์ต้องอาศัยความกล้าเสี่ยง โดยเฉพาะในกรณีของการล่าสัตวเลี้ยงลูกด้วยนมที่ร่างกายใหญ่โต เช่น ช้างหรือแรด
ความแตกต่างสำคัญก็คือ ในยุคนั้นความกล้าบ้าบิ่นใช้ไปกับการเอาตัวรอดและการบุกป่าฝ่าฟันไปยังพื้นที่ใหม่ๆ แต่ในโลกปัจจุบันกลับลดรูปเหลือแค่เพียงเพื่อความพึงพอใจส่วนบุคคลเท่านั้น แม้ว่าการปลดปล่อยแบบนี้จะทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกคลายเครียด สบายใจ และสุขสมก็ตาม หากดูแลควบคุมให้ดีเรื่องทำนองนี้ก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับคนยุคนี้มากนัก แต่หากเกินเลยไปก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงเกินควบคุมได้
ผลลัพธ์ที่เห็นในวัยรุ่นนั้นอยู่ในรูปของการชกต่อย ยกพวกตีกัน พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศต่างๆ การติดสารเสพติด การติดการพนัน และการแข่งรถไปตามท้องถนนยามค่ำคืนราวกับเสียสติ และบางคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง ต้องรอจนถึงใกล้เดดไลน์จึงจะลงมือทำอะไรสักอย่างได้นั้น อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมแบบนี้ได้ด้วยเช่นกัน [4]
โดยเป็นการสร้างสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่มีความเครียดเพื่อกดดันตัวเอง โดยรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าตัวเองเรียนหรือทำงานได้ดีที่สุดภายใต้ความกดดันเช่นนั้น
ดังนั้นจึงควรลดละเลิกพฤติกรรมแบบนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื้อรังที่จะตามมา อย่างการมีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือปัญหาหลอดเลือดสมอง การฝึกการผ่อนคลายด้วยการควบคุมลมหายใจ การทำสมาธิ สร้างสติ ตลอดไปจนถึงการฝึกโยคะหรือไท้เก๊ก ก็ช่วยได้เช่นกัน
ความตื่นเต้นเล็กๆ น้อยๆ คงไม่สร้างปัญหาอะไร แต่หากเคยชินจนเป็นพฤติกรรมติดตัวและทำอย่างหนักหนาสาหัสอยู่ซ้ำๆ คงก่อให้เกิดปัญหาได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงครับ
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.guinnessworldrecords.com/records/hall-of-fame/felix-baumgartner-first-person-to-break-sound-barrier-in-freefall เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 ธ.ค. 2024
[2] https://www.railway-technology.com/features/the-10-fastest-high-speed-trains-in-the-world/?cf-view เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 ธ.ค. 2024
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Space_diving เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 ธ.ค. 2024
[4] Emma Green. Going in For the Thrill. Psychology Now 2023; 7: 44–47