- Resilience คือความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัวปรับใจไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคปัญหา เหมือนกับต้นไผ่ลู่ลม เป็นทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบันที่เผชิญกับความปั่นป่วน
- บ้านและโรงเรียนสามารถสร้างทักษะนี้ให้เด็ก ด้วยการปลดแอกพวกเขาจากมายาคติว่าชีวิตเป็นเรื่องง่าย เด็กๆ ควรมีโอกาสฝึกให้สู้ชีวิต มีภูมิต้านทานเข้มแข็งพอที่จะเอาตัวรอดได้กับทุกสถานการณ์
- ความยืดหยุ่นมาจากทัศนคติเชิงบวกและสติปัญญาที่สั่งสม จนพร้อมตั้งรับปรับตัวเมื่อโดนแรงปะทะจากสถานการณ์เลวร้าย หรือตกอยู่ในสภาวะบีบคั้น เป็นตุ๊กตาล้มลุกที่เมื่อผิดหวังหรือล้มเหลวก็ไม่จมกับความทุกข์นาน เอาชนะใจตัวเองลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ และยืดหยุ่นพลิกแพลงตามสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เหมือนหนังสะติ๊ก
Photo by Simon Rae on Unsplash
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับทั้งการระบาดของโควิด-19 โลกเป็นอัมพาต เศรษฐกิจดิ่งลงเหว ไหนจะปัญหาปากท้องตามมาติดๆ นี่เป็นอีกห้วงเวลาที่ทุกบ้านต่างหายใจไม่ทั่วท้องด้วยสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ คงไม่มีวาระไหนจะขับเน้นความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจที่เราควรมีได้เด่นชัดเท่าในตอนนี้
บทความนี้จึงขอพูดถึง Resilience หรือ ความสามารถในการปรับตัวปรับใจไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคปัญหา ยืดหยุ่นทนมรสุมได้เหมือนต้นไผ่ลู่ลม นี่คือหนึ่งในคุณสมบัติจำเป็นยิ่งในโลกที่กำลังเผชิญทั้งวิกฤตการณ์และความผันผวนเช่นนี้
แม้ Resilience หรือเรียกง่ายๆ ว่าความยืดหยุ่นจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และถูกพูดถึงโดยนักจิตวิทยาเชิงบวกอย่างกว้างขวางว่า เป็นคุณสมบัติสำคัญที่เด็กเจนนี้ควรมีติดตัว แต่จากงานวิจัยเรื่องสุขภาวะทางใจของประชากรอังกฤษเมื่อปี 2018 ของ Public Health Wales กลับรายงานสวนทางว่า…
เยาวชนทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะภูมิคุ้มกันปัญหาบกพร่อง โดยเฉพาะประชากรเด็ก 1 ใน 10 จากทั้งหมด 12.5 ล้านคนในอังกฤษ กำลังเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตย่ำแย่และ EQ ต่ำ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาความยืดหยุ่นที่เป็นภูมิคุ้มกันใจนั้น ก็ต่อเมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่ช่วยเขาก้าวข้ามปัญหาชีวิตและสู้กับสภาวการณ์เลวร้ายจนเติบโตไปเป็นคนที่สุขภาพจิตดีได้
เด็กที่ใจขาดภูมิต้านทานส่วนใหญ่มีสาเหตุสำคัญจากการเลี้ยงดูแบบ helicopter หรือ snowplow คือถูกผู้ใหญ่โอ๋จนเคยตัว และไม่เคยได้เจอกับอุปสรรคเลย (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่) เด็กจึงเปราะบางกลายเป็นโรคเสพติดความสุข
แอนนา โรว์ลีย์ (Anna Rowley) นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาฝ่ายบริหารบริษัทไมโครซอฟต์ กล่าวว่าเด็กสมัยนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เพ้อฝันว่าชีวิตจะพบเจอแต่ความสุขมากเกินไป ขนาดมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างสแตนฟอร์ดและเยลยังมีคลาสสอนเรื่องความสุขกันเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งแม้ฟังดูเข้าท่าและผู้เรียนคงสนุกดีไม่น้อย แต่โรว์ลีย์กังขาว่า คลาสสร้างสีสันทางธุรกิจเช่นนี้กำลังทำให้เด็กไขว้เขวจากทักษะรูปธรรมที่ช่วยเอาตัวรอดได้จริงหรือเปล่า (ซึ่งประเด็นนี้เราถกเถียงกับเธอต่อได้ว่าคลาสเรียนเหล่านี้เป็นเพียงการพูดถึงทักษะความสุขแบบลอยๆ หรือเปล่า – กองบรรณาธิการ)
เธอชี้ว่า อย่าลืมว่าชีวิตไม่ได้หยุดที่ตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ยังดำเนินต่อไปพร้อมนานาปัญหาที่เปลี่ยนรูปแบบเข้ามารออยู่ข้างหน้า บ้านและโรงเรียนจึงควรปลดแอกพวกเขาจากมายาคติว่าชีวิตเป็นเรื่องง่าย นี่หมายความว่าเด็กๆ ควรมีโอกาสฝึกให้สู้ชีวิต มีภูมิต้านทานเข้มแข็งพอที่จะเอาตัวรอดได้กับทุกสถานการณ์
ความยืดหยุ่นสร้างได้อย่างไร
ความยืดหยุ่นงอกเงยจากทัศนคติเชิงบวกและสติปัญญาที่สั่งสมจนพร้อมตั้งรับปรับตัวเมื่อโดนแรงปะทะจากสถานการณ์เลวร้ายหรือตกอยู่ในสภาวะบีบคั้น เป็นตุ๊กตาล้มลุกที่เมื่อผิดหวังหรือล้มเหลวก็ไม่จมกับความทุกข์นาน เอาชนะใจตัวเองลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ และยืดหยุ่นพลิกแพลงตามสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เหมือนหนังสะติ๊ก ด้วยเหตุนี้
ความยืดหยุ่นจึงเป็นมวลรวมของทักษะหลากหลาย ทั้งสกิลการแก้ปัญหาและสุขภาวะทางกายใจและอารมณ์ที่ดีของบุคคลนั้น
ในอเมริกา โรงเรียนประถมซิลเวอร์สปริง รัฐแมรีแลนด์มีหลักสูตร Resilience Builder Program ให้เด็กเกรด 5 ฝึกทักษะด้านนี้โดยเฉพาะ แมรี อัลวอร์ด (Mary Alvord) นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้งอธิบายว่า “เด็กจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตเป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุม ซึ่งพวกเขาสามารถดึงพลังในตัวเองออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” ในชั้นเรียนของอัลวอร์ดสอนทักษะการสื่อสาร การจัดการอารมณ์และความเครียด ตลอดจนการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์ผ่านการฝึกโยคะ เล่นปริศนาทายคำ ผลัดกันเล่านิทานให้เพื่อนฟัง
ทั้งนี้ การปูพื้นให้ลูกหลานมีความยืดหยุ่นปรับตัวเป็น พ่อแม่และคุณครูควรให้ความสำคัญกับหัวข้อต่อไปนี้
- Growth Mindset และการคิดบวก
- กิจกรรมและงานที่ยากและท้าทายความสามารถ
- ต้นตอของอารมณ์ลบและสอนวิธีจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม
- ทักษะความคิดนอกกรอบและสร้างสรรค์
- การทำงานร่วมกับผู้อื่น กล้าถาม และขอความช่วยเหลือยามจำเป็น
พร้อมกันนั้น หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้และเป็นเสมือนลมใต้ปีกคอยส่งให้เด็กๆ โบยบินต่อไปได้ยังคงเป็นความรักความเอาใจใส่จากครอบครัวและคนใกล้ชิด
แอน มาสเตน (Ann Masten) ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็ก มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า ติดตามดูชีวิตเด็กร่อนเร่ เด็กในศูนย์อพยพที่หนีสงครามหรือประสบภัยพิบัติเป็นเวลาถึง 20 ปี เพื่อศึกษาปัจจัยที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการเอาตัวรอดของเด็กที่ใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบเหล่านั้น กล่าวว่า “คุณลักษณะพื้นฐานที่จะสร้างความยืดหยุ่นได้เริ่มจากครอบครัวและผู้ใหญ่ใกล้ชิดที่ให้ความรักความอบอุ่น ดึงสติปัญญาเขาออกมา รวมทั้งสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว พ่อแม่และครูอบรมให้เขาแก้ปัญหาและดูแลให้อยู่ในร่องในรอย เหล่านี้คือสิ่งที่ช่วยให้เขาข้ามผ่านเรื่องเลวร้ายได้”
ปัจจัย 10 ข้อที่มาสเตนระบุว่ามีอิทธิพลต่อความสามารถในการการฝ่าฟันวิกฤตปัญหาของเด็กมีดังนี้
- การเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ
- ผู้ใหญ่รอบตัวเอาใจใส่ใกล้ชิด
- มีเพื่อนหรือคนรักที่ไว้ใจพึ่งพาได้
- มีไหวพริบ แก้ปัญหาได้
- รู้จักคุมอารมณ์และมีเป้าหมาย
- แรงจูงใจใฝ่ความสำเร็จ
- รู้จักทักษะ ความเชี่ยวชาญของตัวเองและใช้ประโยชน์เป็น
- มีศรัทธา ความหวัง และเห็นคุณค่าของชีวิต
- โรงเรียนมีคุณภาพ
- สังคมแวดล้อมดี
พลานุภาพของความไม่หวั่นไหว
นอกจากใจที่ยืดหยุ่นจะเสริมภูมิต้านทานวิกฤตชีวิตแล้ว คุณภาพจิตใจและชีวิตก็จะดีตามไปด้วย นี่เป็นสิ่งที่ทฤษฎี Broaden-and Build Theory ของ บาร์บาร่า เฟรดริคสัน (Barbara Fredrickson) บอกไว้ว่า อารมณ์ขั้วบวกเป็นทุนตั้งต้นทางจิตใจ ปัญญา และสังคมของมนุษย์ ดังนั้น การวางใจในแดนบวกจนเป็นนิสัยจึงส่งผลดีถึงสมองและพฤติกรรมของเรา คนที่อารมณ์บวกจะมีมุมมองความคิดกว้างไกล มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การลงมือทำเรื่องสร้างสรรค์เป็นประโยชน์
ลองนึกภาพ อารมณ์สนุกสนานของเด็กนำไปสู่การสำรวจเรียนรู้และสร้างเพื่อนใหม่ และในทางตรงข้าม อารมณ์ลบจะตีกรอบความคิดและจำกัดพฤติกรรมให้แคบลง อย่างเวลาหวาดกลัว เราจะคิดทางออกได้แค่สู้หรือหนีเท่านั้น
ถึงตรงนี้อยากให้ลองฟังมุมมองตัวอย่างของคนสู้ชีวิตที่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้อย่างน่าทึ่ง ฮาริ บุดดา มาการ์ (Hari Budha Magar) นักปีนเขาชาวเนปาลที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสเมื่อปี 2018 ที่ความสูง 19,000 ฟุต สิ่งที่ทำให้ต้องอึ้งไม่ใช่เพียงเพราะเขาทำสถิติได้ มาการ์สูญเสียขาตั้งแต่หัวเข่าลงมาจากการถูกระเบิดในสงครามอัฟกานิสถาน เขาจึงถือเป็นผู้พิการขาขาดทั้งสองข้างคนแรกที่สร้างสถิตินี้
“ใจเรานี่แหละที่สร้างเงื่อนไขขีดจำกัด จะทลายขีดจำกัดก็ต้องทลายที่ใจ พอต้องกลายเป็นคนนั่งรถเข็น ใช้ไม้เท้า ประตูกับห้องน้ำก็ต้องขยับขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่ชีวิตก็คือการปรับตัวนั่นแหละ ถ้าสิ่งที่คิดไม่เป็นดังหวัง เราก็แค่หาทางรับมือกับมันใหม่ก็เท่านั้น”
ที่มา:
Forget happiness, you should be aiming for resilience
Teaching children to be resilient could be key to their future mental health
To make your child more resilient, you need to let her fail
Ann Masten: Children’s natural resilience is nurtured through ‘ordinary magic’
Resilience. (2019). In L. U. Vuorinen, See the Good! (pp. 42-48). Helsinki: Positive Learning Ltd.