Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Learning Theory
7 February 2020

RELATIONAL MINDSET: ความสัมพันธ์ครูกับศิษย์ในฐานะมนุษย์ เพราะสัมพันธ์ที่ดีมีผลต่อการเรียนรู้

เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • การที่นักเรียนรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่ รับฟัง ความเห็นอกเห็นใจจากครู นักเรียนจะรู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจที่จะเรียน
  • บันทึกที่ 1 ของชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) จะพูดถึงวิธีการแสดงออกถึงความใส่ใจของครูที่มีต่อนักเรียน เช่น การจำชื่อ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
  • ปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียนช่วยยกระดับการเรียนรู้ ทั้งระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ครูต้องมีวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เพื่อสร้างความคุ้นเคย ความเคารพนับถือ และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน

บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้

บันทึกนี้เป็นบันทึกแรกใน 3 บันทึก ภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) ตีความจากบทนำของ Part One: Why Relational Mindset? และ Chapter 1: Personalize the Learning เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู

ในสภาพที่นักเรียนรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่ รับฟัง เห็นอกเห็นใจจากครู นักเรียนจะรู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจที่จะเรียน ยิ่งกว่านั้นในหลักการของ relational mindset ครูมีความเชื่อว่า ชีวิตของคนเรามีความเชื่อมโยงถึงกัน ครูจะมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นปฐม ส่วนความสัมพันธ์ในฐานะครูกับศิษย์เป็นที่สอง

สรุปอย่างสั้นที่สุดของบันทึกนี้ คือ ครูต้องเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของศิษย์ในทุกด้านทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เอาใจใส่ศิษย์เป็นรายคน แสดงความรักความเอาใจใส่ให้ศิษย์รู้สึก

ข้อมูลหลักฐานที่บอกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดี ช่วยการเรียนรู้ของศิษย์

หนังสือเล่มนี้ทบทวนผลงานวิจัยจากหลายแหล่งและสรุปว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยสามารถมีปฏิสัมพันธ์ห่างออกไปจากตัวได้ถึง 6 ชั้น นักเรียนมีความต้องการใกล้ชิดสนิทสนมกับครูเพื่อให้ช่วยตีความประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียนเข้ากับบทเรียน และเพื่อนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยน รวมทั้งร่วมกิจกรรมการทำงานเป็นทีม

ความสัมพันธ์ที่ดีกับครูจะช่วยการเรียนรู้ของนักเรียน ผลงานวิจัยชี้ชัดว่า นักเรียนจากครอบครัวยากจนขาดแคลนหรือไม่มั่นคง ต้องการความสัมพันธ์นี้มากกว่านักเรียนจากครอบครัวที่ฐานะและสภาพสังคมดี โดยที่ effect size* ของปฏิสัมพันธ์ที่ดีของครูต่อนักเรียน ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เท่ากับ 0.72 สำหรับนักเรียนทั้งหมด ตัวเลขนี้ของนักเรียนชั้นมัธยมสูงถึง 0.87 และมีหลักฐานจากงานวิจัยว่า เมื่อครูสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีอย่างได้ผล นักเรียนจากครอบครัวรายได้ตํ่า มีผลการเรียนรู้เท่าเทียมกันกับนักเรียนกลุ่มรายได้สูง

ผลงานวิจัยบอกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียน ช่วยเพิ่มความเอาใจใส่การเรียนของนักเรียนจากหลายกลไก ได้แก่

  1. ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างศิษย์กับครู
  2. ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกนี้ช่วยให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยในชั้นเรียน ซึ่งจะเพิ่มการแสดงบทบาทในชั้นเรียน
  3. ช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ผ่านปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ และครู

ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าระดับปฏิสัมพันธ์เชิงบวกหรือลบในชั้นเรียนนี้ใช้ทำนายได้ว่านักเรียนแต่ละคนมีโอกาสสูงตํ่าแค่ไหนในการออกจากการเรียนกลางคัน มีความแม่นยำพอๆ กันกับระดับไอคิว และพอๆ กันกับระดับผลการเรียน

จำชื่อศิษย์และเรียกชื่อ

ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนเริ่มจากการรู้จักชื่อ ครูต้องจำชื่อศิษย์และรู้จักศิษย์เป็นรายคน เมื่อครูเรียกชื่อศิษย์ต้องยิ้มให้และมองตา วิธีช่วยให้จำหน้าและชื่อศิษย์ได้มีหลากหลายวิธี เช่น

  • แนะนำตัว ในช่วงต้นของปีการศึกษา ให้นักเรียนแนะนำชื่อของตนเองทุกครั้งที่พูด หากมีนักเรียนในชั้น 30 คน การแนะนำตัวนี้ทำใน 30 วันแรกของชั้นเรียน หากมีนักเรียน 20 คน ก็ให้แนะนำตัวใน 20 วันแรก
  • ป้ายชื่อประจำโต๊ะ ให้นักเรียนทำป้ายชื่อตนเองวางบนโต๊ะ โดยทำจากกระดาษดัชนี (index card) พับสองตามยาว มีกล่องใส่ป้ายชื่อให้นักเรียนไปหยิบมาตั้งที่โต๊ะทุกเช้า และเก็บในตอนเย็น หลัง 2 สัปดาห์ครูซ้อมเอาป้ายชื่อไปวางที่โต๊ะนักเรียนเอง
  • ทดสอบตนเอง เมื่อนักเรียนเข้ามาในห้อง ขานชื่อนักเรียน บอกนักเรียนว่า นักเรียนแต่ละคนจะเข้าห้องได้เมื่อครูขานชื่ออย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น การขานชื่อต้องทำพร้อมกับยิ้มและสบตา ‘สมชาย ครูดีใจที่พบเธอวันนี้’
  • ขานชื่อเมื่อคืนกระดาษคำตอบ ‘สมศรี หนูเขียนตัวสะกดการันต์ถูกทั้งหมด’
  • สัมภาษณ์ จับคู่นักเรียน ให้ใช้เวลา 2-3 นาที สัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อค้นหาสิ่งที่ไม่คาดคิด แล้วให้แนะนำเพื่อนต่อชั้นเรียน โดยใช้เวลาแนะนำคู่ละ 1 นาที

ปฏิสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียนช่วยยกระดับการเรียนรู้ ปฏิสัมพันธ์นี้มีทั้งระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ครูต้องมีวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เพื่อสร้างความคุ้นเคย ความเคารพนับถือ และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน แนะนำให้นักเรียนเรียกชื่อเพื่อน แนะนำต่อนักเรียนว่า เมื่อมีกิจกรรมจับคู่ในชั้นเรียน ให้แนะนำชื่อตนเองโดยสบตาเพื่อน แล้วกล่าวคำทักทาย และจับมือ

สร้าง “กระเป๋าตัวฉัน”

นี่คือเครื่องมือให้นักเรียนรู้จักครู ในหลากหลายแง่มุมของชีวิต และนำไปสะท้อนคิดเชื่อมโยงกับชีวิตของตนเอง ทำโดยครูหาสิ่งของพื้นๆ เช่น กากตั๋ว ภาพถ่าย ใบเสร็จ กุญแจ บันทึก และอื่นๆ ที่บอกเรื่องราวของตัวครู ใส่ในถุงผ้าหรือถุงกระดาษ เอามาใช้เวลา 7-10 นาที เล่าเรื่องของตนเอง

เมื่อนักเรียนที่มีชีวิตยากลำบากได้ฟังประสบการณ์ความยากลำบากของคนอื่น ก็จะใจชื้นว่าตนไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเผชิญความยากลำบาก การแชร์เรื่องราวชีวิตส่วนตัวช่วยทะลายกำแพงกั้นระหว่างบุคคล สิ่งที่ครูแชร์ต้องเป็นเรื่องจริง นักเรียนต้องการครูที่ซื่อสัตย์ และจริงใจ

แลกเปลี่ยนปัญหาประจำวัน

นี่คือกระบวนการไปสู่การทำหน้าที่แบบอย่าง (role model) ให้แก่นักเรียน เด็กๆ ต้องการคนที่ตนนับถือและเชื่อถือ นำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

ครูควรแชร์ประสบการณ์ชีวิตของตนสั้นๆ ราวๆ 3 นาที สัปดาห์ละครั้ง ตามด้วยการให้นักเรียนสะท้อนคิดว่ามันสะท้อนภาพชีวิตของผู้ใหญ่อย่างไร หากเป็นตัวนักเรียนเองจะเผชิญสภาพเช่นนั้นอย่างไร หากเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงสู่บทเรียนของชั้นเรียนได้ยิ่งดี

กิจกรรมนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ 3 ประการ สำหรับนักเรียน หนึ่ง – ชีวิตของคนเราย่อมต้องมีปัญหา เล็กบ้างใหญ่บ้าง สอง – ไม่ว่าปัญหาใหญ่แต่ไหน ย่อมแก้ไขได้เสมอขึ้นอยู่กับวิธีการแก้ปัญหา สาม – ในกระบวนการเล่าวิธีแก้ปัญหาของครู ครูได้แชร์ค่านิยม เจตคติ และวิธีการบรรลุความสำเร็จ

แลกเปลี่ยนเป้าหมายและความก้าวหน้า

การแลกเปลี่ยนเป้าหมายชีวิต เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครูกับศิษย์ ครูจำนวนมากพยายามแยกความสัมพันธ์กับศิษย์ ในฐานะครู-ศิษย์ ออกจากความสัมพันธ์แบบมนุษย์-มนุษย์ แต่นักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนชอบเรื่องราวของเป้าหมาย การที่ครูแชร์เป้าหมายชีวิตของตนจึงเป็นวิธีการที่ทรงพลังมากในการพัฒนาชุดความคิดเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (relational mindset) ทั้งของครูและของศิษย์

แนะนำให้ครูเขียนเป้าหมายชีวิตส่วนตัวของตนและติดประกาศไว้ในชั้นเรียนโดยที่นักเรียนทุกคนก็ทำเช่นเดียวกัน ครูแชร์ความก้าวหน้าสู่เป้าหมายนั้นอย่างสมํ่าเสมอทั้งปี หรือทั้งเทอม และในขณะเดียวกันครูก็ติดประกาศเป้าหมายของชั้นเรียนด้วย

ตัวอย่างของเป้าหมาย ได้แก่

  • เข้าร่วมโครงการของชุมชน
  • เริ่มกินอาหารถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
  • ดำเนินการให้ครบตามรายการพัฒนาการสอน
  • วิ่งออกกำลังให้ได้ ๕ กิโลเมตร
  • ให้คำแนะนำ (mentoring)
  • ทำสวน
  • ฝึกเล่นกีฬา
  • ช่วยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของโรงเรียน

เมื่อเวลาผ่านไป ครูแชร์เรื่องราวความสำเร็จตามเป้าหมายรายทาง เฉลิมฉลองความสำเร็จและแชร์วิธีดำเนินการสู่ความสำเร็จนั้น เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะทำอะไรย่อมมีปัญหาหรืออุปสรรคเสมอ คนเราต้องมุ่งมั่นเผชิญปัญหาและหาทางเอาชนะเพื่อบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กิจกรรมนี้จะเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็นว่า ครูก็กำลังเรียนรู้และเติบโตเช่นเดียวกันกับนักเรียน

อ่านบทความตอนที่ 2 ได้ที่นี่

*ขนาดของผล (effect size) หมายถึง ขนาดของผลที่เกิดขึ้นจากตัวแปรต้นต่อตัวแปรตาม ที่ได้มาจากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ หรือเชิงความสัมพันธ์ ใช้ศึกษาเปรียบเทียบผลของการสอนรูปแบบใหม่ หรือวิธีการใหม่ หรือตามแนวคิดใหม่ว่าได้ผลดีกว่าวิธีการเดิม หรือแนวคิดเดิมหรือไม่ โดยการทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบโดยใช้ Cohen’s standard พบว่าค่าที่ให้ผลมาก คือ มากกว่า 0.5 ขึ้นไป (สุพัฒน์ สุกมลสันต์. (2553). ขนาดของผล: ความมีนัยสำคัญทางปฏิบัติในการวิจัย. ภาษาปริทัศน์ สถาบันภาษา
อ้างอิง:
หนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกองทุนจิตตปัญญาเพื่อครูเพลินพัฒนา

Tags:

เทคนิคการสอนสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลนRelational mindsetความเหลื่อมล้ำศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

Author:

illustrator

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานและมูลนิธิหลายแห่ง

illustrator

ครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์

Illustrator:

illustrator

เพชรลัดดา แก้วจีน

นักวาดภาพประกอบอิสระ มีความสนใจปรากฏการณ์ต่างๆในสังคม ชอบสังเกตผู้คน เขียนบันทึก และอ่านหนังสือ ยามว่างมักใช้เวลาไปกับการดริปกาแฟและเล่นกับแมว

Related Posts

  • Learning Theory
    Positivity Mindset : เปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ สร้างความคิดเชิงบวกให้นักเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ PBL

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    Positivity Mindset : สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้กระตุ้นความหวังและการมองโลกในแง่ดีกับนักเรียน

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    Rich classroom climate mindset: ชวนสร้างบรรยากาศเชิงบวกในห้องเรียน ให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับนับถือจากครูและเพื่อน

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    Relational mindset: ‘ครูแสดงความเอาใจใส่ต่อศิษย์’ เทคนิคที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้น

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Learning Theory
    วิจารณ์ พานิช: เตรียมนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย เข้าสู่อาชีพที่ชอบ ใช่ และเหมาะกับตัวเอง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel