- การที่ครูเอาใจใส่ ห่วงใย และพยายามเข้าใจความรู้สึกความคิดของนักเรียน ทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ช่วยให้นักเรียนมีความมั่นคงทางอารมณ์ อันเป็นพื้นฐานทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น
- โดยเฉพาะนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ขาดแคลน ยิ่งมีความต้องการดังกล่าวเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับความเครียดและขาดทักษะที่จะใช้จัดการกับมัน มีผลวิจัยรายงานว่า ประสบการณ์ด้านบวกในเรื่องปฏิสัมพันธ์ สามารถลดฮอร์โมนเครียด (คอร์ติซอล Cortisol) เพิ่มฮอร์โมนความสุขคือ ซีโรโทนิน (Serotonin)
- “ครูเสียใจมากที่ได้ยินเรื่องนี้” “เธอเรียบร้อยดีไหม” “เยี่ยมมาก หากครูต้องเผชิญปัญหานี้ ครูไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขได้ดีเท่าเธอ” เริ่มต้นความสัมพันธ์ด้วยประโยคง่ายๆ ที่ช่วยให้เด็กรับรู้ว่าครูใส่ใจพวกเขา
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ เป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้
บันทึกนี้เป็นบันทึกสุดท้ายใน 3 บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) (อ่านบันทึกที่ 2 ได้ที่นี่) ตีความจาก Chapter 3 Show Empathy เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู
ความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) กับการเข้าใจความรู้สึก (empathy) 2 ความรู้สึกนี้แตกต่างกัน ครูควรมีวิธีที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ครูเอาใจใส่ หรือห่วงใยตัวเขา และพยายามเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเขาจริงๆ โดยครูต้องเข้าใจว่านักเรียนที่ขาดแคลน พวกเขาขาดแคลนทั้งทักษะการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ และการรับมือต่อความยากลำบาก
การที่ครูเอาใจใส่ ทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของศิษย์นี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่วิเศษสุดอย่างหนึ่งของตัวครูเอง ช่วยให้ครูได้เติบโตทั้งในด้านความเป็นมนุษย์ และด้านความเป็นครู
ตระหนักว่าเด็กต้องการให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกของตน
เป็นเรื่องปกติที่นักเรียนต้องการอยู่ใกล้กับผู้ใหญ่ที่ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ช่วยให้เขามีความมั่นคงทางอารมณ์ อันเป็นพื้นฐานช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้น ยิ่งเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ขาดแคลน พวกเขายิ่งมีความต้องการดังกล่าวเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับความเครียดและขาดทักษะที่ใช้จัดการกับความเครียดนั้น
ผลงานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) รายงานว่า ความยากจนขาดแคลนส่งผลต่อสมองใน 3 ด้าน คือ ด้านความคิด อารมณ์ และกายภาพของสมอง ทำให้เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนขาดแคลน จะมีสมองส่วนสีขาว (white matter) และส่วนสีเทา (gray matter) รวมทั้งสมองที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ ความจำ และอารมณ์ (hippocampus) เล็กกว่าเด็กปกติ นอกจากนี้ผลงานวิจัยยังบอกอีกว่า การถูกทำร้ายด้วยถ้อยคำในครอบครัว หรือถูกรังแกด้วยการเยาะเย้ยถากถางจากเพื่อนที่โรงเรียน มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและการเชื่อมต่อใยประสาท นั่นคือข่าวร้าย
ข่าวดีคือ สมองมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ (brain plasticity) ประสบการณ์ด้านบวกในเรื่องปฏิสัมพันธ์ สามารถเปลี่ยนแปลงสมองให้กลับสู่เส้นทางปกติได้ เมื่อได้รับความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ สมองจะรับรู้และส่งผลไปลดฮอร์โมนเครียด (คอร์ติซอล Cortisol) เพิ่มฮอร์โมนสุขคือ ซีโรโทนิน (Serotonin) และสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) โตขึ้น
ใช้เครื่องมือแสดงว่าเข้าใจความรู้สึกของนักเรียน
การมาโรงเรียน นักเรียนต้องการผู้ใหญ่ที่คอยทำหน้าที่ปกป้องไม่ใช่เป็นผู้ตัดสิน หรือผู้ลงทัณฑ์ เมื่อนักเรียนแจ้งว่ามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น อย่าเอะอะโวยวาย หรือด่วนตัดสิน ให้เริ่มจากทำความเข้าใจความรู้สึกของเขา ครูควรแสดงความใส่ใจของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่แสดงออกทางภาษากายเท่านั้น เจนเซน แนะนำ 5 ประโยคที่ครูสามารถนำไปใช้ เพื่อทำให้นักเรียนรับรู้ความรู้สึกที่ครูเอาใส่ใจพวกเขา
- “ครูเสียใจมากที่ได้ยินเรื่องนี้” (พูดด้วยนํ้าเสียงและสีหน้าเศร้า เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ)
- “เรื่องนี้ทำให้ครูไม่สบายใจ” (แสดงความรู้สึกเศร้าและห่วงใย)
- “เราเป็นห่วงเธอ” พร้อมกับเอ่ยชื่อนักเรียน (บอกว่า มีคนจำนวนมากเป็นห่วงเป็นใยต่อนักเรียนคนนั้น)
- “เธอเรียบร้อยดีไหม” (ถามพร้อมกับตรวจสอบความปลอดภัย และสุขภาวะของนักเรียน)
- “เยี่ยมมาก หากครูต้องเผชิญปัญหานี้ ครูไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขได้ดีเท่าเธอ” (บอกเด็กว่า สิ่งที่เขาเผชิญมามีความยาก ครูแสดงความชื่นชม และเข้าใจความรู้สึกของเขา)
ในขั้นตอนนี้ครูอย่าเพิ่งให้คำแนะนำวิธีแก้ไขปัญหา เน้นลดอาการตื่นตระหนกหรือความรู้สึกโดดเดี่ยวของเด็กก่อน ทำให้เขารู้สึกว่า มีผู้ใหญ่ที่หวังดีอยู่เคียงข้างและพร้อมช่วยเหลือพวกเขา
ในกรณีที่นักเรียนเพิ่งเผชิญกับปัญหาครอบครัว เช่น พ่อแม่หย่าร้างกัน หรือมีคนในครอบครัวถูกยิงเสียชีวิต เป็นต้น ครูสามารถเริ่มด้วยประโยคว่า “ครูเสียใจด้วย หากต้องการความช่วยเหลืออะไรขอให้บอกครู เราพร้อมช่วยเสมอ” จากนั้นก็แจ้งครูแนะแนว (counselor) เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กต่อไป ในสหรัฐอเมริกามีผลการวิจัยรายงานว่า การเพิ่มครูแนะแนว 1 คนในโรงเรียน (และเป็นครูแนะแนวที่ทำงานดี) มีผลทำให้ลดจำนวนเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันได้ร้อยละ 10
ไม่ว่าเด็กจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง หน้าที่แรก (และสำคัญที่สุด) ของครู คือ ต้องทำความเข้าใจเด็ก หาทางทำความเข้าใจและแสดงให้เด็กเห็นว่า ครูพร้อมที่จะทำความเข้าใจและเห็นใจ
ตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนไม่ทำการบ้านมาส่ง ครูไม่ควรดุหรือไม่ลงโทษ แต่ควรพูดกับเด็ก (และให้ทั้งชั้นได้ยิน) ว่า “ครูเสียใจที่เธอไม่ได้ทำการบ้าน บอกครูได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น” หรือถ้าเด็กมาโรงเรียนสาย ครูลองทักเด็กก่อนว่า “สมชาย ครูดีใจที่เธอมาโรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มได้เลย เพื่อนๆ จะช่วยให้เธอตามบทเรียนได้ทัน” เมื่อมีโอกาสคุยกัน 2 คนค่อยถามว่า “เธอไม่เคยมาโรงเรียนสายเลย วันนี้เกิดอะไรขึ้น เธอสบายดีหรือเปล่า”
ไม่มีจำเป็นต้องพรํ่าสอนเรื่องความตรงต่อเวลาให้เด็ก แต่ครูควรแสดงให้เขาเห็นว่า ครูคิดถึงเขา และต้องการให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานและทรงคุณค่าในห้องเรียน จะช่วยส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กมากกว่า ผ่านความสัมพันธ์ความรู้สึกผูกพันไว้เนื้อเชื่อใจกัน
ใช้เครื่องมือเชื่อมสัมพันธ์อย่างเร็ว
ในวันแรกของปีการศึกษา หรือภาคการศึกษา เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของครู เด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็นว่า ครูของพวกเขาเป็นอย่างไร ห่วงใยและให้เกียรติเด็กหรือไม่ ครูควรใช้ช่วงเวลานี้ในการแสดงออกถึงความเอาใจใส่ และเข้าใจความรู้สึกของนักเรียน เจนเซน แนะนำ 3 เครื่องมือง่ายๆ ที่ครูลองเอาไปใช้ได้
ครั้งเดียวจบ
ในช่วง 30 วันแรกของชั้นเรียน ครูลองทำสิ่งที่แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อศิษย์ ที่ทำครั้งเดียวแล้วเขาจดจำได้ ไม่ลืม เช่น ให้นักเรียนแต่ละคนแชร์ความสนใจส่วนตัวของตัวเอง สมมติว่า นักเรียนคนหนึ่งชอบนกมาก ชอบดูและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนก ครูลองกลับไปค้นเรื่องของนกในละแวกโรงเรียนและแถวบ้าน นำมาเล่าในชั้นเรียน เป็นการสนับสนุนความชอบของนักเรียน ในอนาคตเด็กอาจพัฒนาความชอบตัวเองไปสู่สิ่งอื่น เช่น การจัดตั้งชมรมดูนก
สองคนในสิบวัน
เมื่อเริ่มชั้นเรียนครูลองสำรวจนักเรียนประมาณ 1 – 2 คน เป็นคนที่น่าจะต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ อาจสังเกตจากเป็นคนที่ขี้อายมาก ซุกซนมากนั่งนิ่งไม่ได้ ชอบมาป้วนเปี้ยนกับครู หรือขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เมื่อได้นักเรียนครบแล้ว ครูลองจัดเวลาวันละ 2 นาทีทุกวันเป็นเวลา 10 วัน เพื่อพูดคุยกับเด็กสองคนนี้ทีละคน จะคุยเรื่องอะไรก็ได้ เป้าหมายเพื่อสร้างความคุ้นเคยที่จะช่วยให้เด็ก 2 คนนี้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อครูไปตลอดทั้งปี
สามอย่างในสามสิบวัน
ครูลองใช้ช่วงเวลา 30 วันแรกของชั้นเรียน ในการตั้งคำถาม 3 คำถามเกี่ยวกับนักเรียนแต่ละคน และหาคำตอบให้ครบ ตัวอย่างคำถามเช่น สมาชิกในครอบครัวเด็กมีใครบ้าง? เด็กสนใจเรื่องอะไรเมื่ออยู่นอกโรงเรียน เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นักเรียนต้องการเป็นอะไร?
ทั้ง 3 เครื่องมือข้างต้น ครูสามารถใช้ตอนเริ่มต้นภาคเรียน แล้วต่อด้วยเครื่องมืออีก 3 ชิ้น ต่อไปนี้
เชื่อมสัมพันธ์ช่วงเริ่มต้น
ครูลองใช้เวลา 3 – 7 นาทีแรกของชั้นเรียน (หรือก่อนชั้นเรียน) ด้วยการเดินไปรอบๆ ห้อง ทักทายและคุยกับนักเรียน สำรวจอารมณ์ของนักเรียนทั้งชั้น รวมถึงสำรวจว่า มีนักเรียนคนไหนต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เรื่องที่ชวนคุยอาจเลือกเป็นเรื่องที่เด็กสนใจ เช่น ผลการแข่งฟุตบอล ทรงผมใหม่ หรือรองเท้าคู่ใหม่ของนักเรียน
เชื่อมสัมพันธ์ช่วงปลาย
ก่อนที่นักเรียนจะออกจากห้องเรียนหลังเลิกเรียน หรือท้ายคาบเรียน ครูลองสังเกตภาษากายของเด็ก ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนอารมณ์ที่เด็กมี ถ้าเด็กไหนที่ส่อแววว่ามีความกังวลในใจ ครูลองเข้าไปคุยกับเขาแบบสองต่อสอง เช่น “เธอ (เอ่ยชื่อนักเรียน) มีอะไรกังวลใจไหม” “มีอะไรให้ครูช่วยเหลือไหม” เป็นต้น ไม่ว่านักเรียนจะเปิดใจกับครูหรือไม่ ครูได้ทำหน้าที่หยิบยื่นความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ศิษย์แล้ว
เชื่อมสัมพันธ์กับชีวิตที่บ้านของนักเรียน
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในชั้นเรียนหรือในโรงเรียน สามารถขยายไปสู่ที่บ้าน และในชุมชน เจนเซน แนะนำ ให้ครูทำความรู้จักชีวิตในครอบครัวของเด็ก โดยไม่ตัดสิน ครูอาจไปร่วมกิจกรรมที่เด็กชอบ เช่น ดูกีฬา เดินเที่ยวศูนย์การค้า ชมภาพยนตร์ ดูคอนเสิร์ต ร่วมกิจกรรมในสวนสาธารณะ เป็นต้น เพื่อทำความรู้จักและแสดงความเอาใจใส่ต่อนักเรียน เป็นการลงทุนไม่กี่ชั่วโมง แต่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนไปตลอดทั้งปี หรือตลอดชีวิตของนักเรียน
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศิษย์กับครู เป็นตัวเร่ง (catalyst) ให้เด็กเอาใจใส่การเรียน ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพและรอบด้าน
เปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนการสอน
วาทกรรม คือ ชุดความคิดที่อยู่ในเบื้องลึกของหัวใจ เป็นทั้งตัวกำหนดพฤติกรรมของครู และพฤติกรรมของศิษย์ ครูเป็นแบบอย่าง (role model) ของศิษย์ วาทกรรมจะวนกลับมาเปลี่ยนครูอีกรอบหนึ่ง
ครูควรมีพฤติกรรมที่กำหนดโดย ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) วาทกรรมที่ควรเปลี่ยน “เขาจ้างฉันมาเป็นครูเพราะฉันมีความรู้วิชาการ ฉันไม่มีเวลาพอที่จะเอาใจใส่ทักษะด้านสังคม นั่นมันเรื่องของพ่อแม่” ควรเปลี่ยนไปเป็น “นักเรียนและครูต่างก็มีชีวิตที่เชื่อมโยงกัน เป้าหมายแรกของการเชื่อมโยงระหว่างฉันกับศิษย์คือ ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ ความสัมพันธ์ในฐานะครูกับศิษย์เป็นเป้าหมายรอง” เจนเซน แนะนำ ให้ครูเขียนคำแถลงอุดมการณ์นี้ไว้ในกระดาษ เอามาทบทวนทุกวัน เพื่อให้พฤติกรรมต่อศิษย์ของตนดำเนินไปตามนี้อย่างเป็นอัตโนมัติ
ใคร่ครวญสะท้อนคิด และตัดสินใจ
การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นที่ “กระจก” กระจกที่สะท้อนพฤติกรรมครูคือ “การใคร่ครวญสะท้อนความคิด (reflection)” ครูอาจจะลองตั้งคำถามกับตัวเอง “สิ่งที่ฉันทำสะท้อนความเชื่อว่า ‘นักเรียนและครูต่างก็มีชีวิตที่เชื่อมโยงกัน เป้าหมายแรกของการเชื่อมโยงระหว่างฉันกับศิษย์คือความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ ความสัมพันธ์ในฐานะครูกับศิษย์เป็นเป้าหมายรอง’ หรือไม่” ตามด้วยคำถาม “ฉันจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการเป็นครู สู่การเอื้อให้ศิษย์เรียนจบออกไปพร้อมที่จะทำงาน หรือพร้อมที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรือไม่”
เรื่องเล่าจากห้องเรียน
ณ วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2562 ฉัน ภัคณิจ ชาครบัณฑิต เริ่มทำงานในฐานะครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเพลินพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า ESL teacher โรงเรียนแห่งนี้มีเรื่องที่ทำให้ฉันประหลาดใจมากมาย ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกครูเข้าทำงาน ครูท่านอื่นๆ ชื่อแผนกต่างๆ นักเรียน รูปแบบการทำงาน การเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ความใส่ใจของครูที่มีต่อนักเรียน
วิธีการคัดเลือกครูเข้าทำงานของที่นี่ ไม่ใช่เพียงแค่สอบสัมภาษณ์กับฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารเท่านั้น แต่เริ่มจากการคัดกรองคุณภาพของครูด้วยข้อสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งยากกว่าข้อสอบ TOEIC หลายเท่าตัว ข้อสอบวัดความเป็นครู สัมภาษณ์กับหัวหน้าฝ่ายประถมปลาย ซึ่งที่โรงเรียนเพลินพัฒนาเรียกกันว่า หัวหน้าช่วงชั้นที่ 2 จากนั้นยังมีสัมภาษณ์อีกหนึ่งรอบกับหัวหน้าฝ่าย ESL และแม้ว่าจะผ่านการสอบข้อเขียน ผ่านการสัมภาษณ์ไปแล้ว ฉันยังต้องเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรม ระบบระเบียบเบื้องต้น สัมผัสประสบการณ์จริงของการทำงานก่อนเป็นเวลา 3 วัน โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทางโรงเรียนใช้ประเมินครูเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ครูได้มีโอกาสไตร่ตรอง ก่อนจะตัดสินใจว่าตัวเองเหมาะกับงานนี้หรือไม่ ยินดีรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ในแบบของโรงเรียนนี้ได้หรือไม่
หลังจากผ่านไป 3 วัน ครูที่ผ่านจะได้เข้ารับการทดสอบขั้นสุดท้าย ซึ่งก็คือการทดลองสอนนักเรียนจริงๆ นั่นเอง จากวิธีการคัดเลือกครูนี้ ทำให้ฉันรับรู้ถึงความใส่ใจของโรงเรียนที่มีต่อนักเรียน ในการเฟ้นหาครูที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ความสามารถในด้านความรู้ หรือการสอนเท่านั้น ยังรวมไปถึงความสามารถในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และความเป็นครูของผู้ที่มาสมัครด้วย ความใส่ใจที่โรงเรียนมียังรวมไปถึงความใส่ใจต่อบุคลากร ด้วยการให้ครูมีโอกาสทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ผ่านการทดลองใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนก่อน ทำให้ครูได้มีโอกาสเตรียมตัว หรือประเมินตัวเองได้ว่า เหมาะกับแนวทางของโรงเรียนหรือไม่ และจะมีความสุขกับการได้ทำงานเป็นครูที่นี่หรือไม่
ฉันพบว่า ครูและบุคลากรในแผนกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคคล ฝ่ายวิชาการ ตลอดจนแม่บ้าน หรือพี่ยามที่ประตูทางเข้า ทุกคนล้วนมีความเป็นมิตรต่อกัน ยิ้มแย้มให้แก่กัน เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ฉันรู้สึกได้ถึงความปรารถนาดี และความเป็นมิตรจากคนรอบข้างได้อย่างชัดเจน คำแนะนำต่างๆ ช่วยให้ฉันพัฒนาตนเอง สร้างความคุ้นเคย และปรับตัวเข้ากับที่แห่งนี้ได้อย่างรวดเร็ว กัลยาณมิตรที่ได้พบถือเป็นความสุขที่สำคัญอย่างหนึ่ง กับโอกาสที่ได้มาใช้ชีวิต ณ โรงเรียนแห่งนี้
“ขออนุญาตเข้าห้องพักครูค่ะ” เสียงนี้ดึงความสนใจของฉันที่นั่งทำงานอยู่ในห้องพักครู ฉันหันไปดูด้วยความสนใจ เสียงนี้มาจากนักเรียนที่มีจำเป็นต้องเดินเข้ามาในห้องพักครู ฉันรู้สึกประหลาดใจมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว เด็กๆ มักจะแค่ยกมือไหว้และกล่าวจุดประสงค์ของตนเองเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนที่มีความสนิทสนมกับครูมากดังเช่นที่นี่ จากนั้นฉันก็สังเกตเห็นว่า นักเรียนทุกคน ไม่ใช่แค่นักเรียนคนนั้น กล่าวเช่นเดียวกันทุกครั้งที่พวกเขาต้องการ หรือมีความจำเป็นต้องเข้ามาในห้องพักครู ฉันชื่นชมเด็กเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง และชื่นชมครูท่านอื่นที่เป็นผู้อบรมเด็กๆ มากยิ่งกว่า… ที่สามารถทำให้เด็กมีความเป็นระเบียบ มีความเกรงใจในฐานะศิษย์กับครู โดยที่ยังมีความสุข
ความสบายใจเหมือนโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง สนิทกับครูราวกับว่าเป็นคนในครอบครัว เห็นได้จากการที่เด็กยิ้มแย้มอย่างมีความสุข และพูดคุยกับครูอย่างเปิดใจ ฉันรู้สึกมีความสุขมาก ความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างครูกับนักเรียน เป็นความสัมพันธ์ในอุดมคติของฉัน ฉันดีใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวนี้
รูปแบบการทำงานของโรงเรียนแห่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจมากที่สุด ฉันไม่เคยรู้ว่ามีวิธีการทำงานเช่นนี้ในโรงเรียนอื่นมาก่อน ชั้นที่ฉันสอน เป็นชั้น ป.6 หรือที่นี่เรียกว่า ชั้น 6 นั้น มีทั้งหมด 4 ห้องๆ ละ 24 คน มีครู ESL 2 คน โดยที่แต่ละคนสอนเพียง 2 ห้องเท่านั้น เพราะโรงเรียนเน้นคุณภาพการสอนของครู ที่มอบให้เด็กได้อย่างเข้มข้นในแต่ละคาบเรียน ครูที่สอนคู่วิชากันในชั้น 6 จะต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ ช่วยกันคิดแผนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่นักเรียน ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบ ปรับปรุงหลายครั้งจากทางคุณครูวิชาการที่ดูแลเฉพาะหน่วยวิชา ESL เพื่อให้ได้แผนการสอนที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนในแต่ละคาบ
นอกจากนี้ครูต้องเข้าสังเกตการสอนของกันและกันเพื่อประเมิน ปรับปรุงแก้ไข และช่วยกันพัฒนาให้แผนการสอนเหมาะสมแก่นักเรียนทุกคนมากที่สุด อีกทั้งต้องคอยดูเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กแต่ละคนบรรลุศักยภาพของเขาซึ่งมีความแตกต่างกันให้ได้มากที่สุดด้วย ในการทำงานจึงมีทั้งการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนในระดับชั้น และการประชุมในทีม ESL เพื่อแก้ไขปัญหา หรือพัฒนา ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงสิ่งต่างๆ อย่างสมํ่าเสมอ วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนอย่างชัดเจนแก่ฉันว่า โรงเรียนนี้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพครูและนักเรียนอย่างยิ่งยวด
การเรียนการสอน ESL* ที่โรงเรียนแห่งนี้ ใช้แนวทางที่เรียกกันว่า HFOA ซึ่งย่อมาจาก High Function Open Approach มีเป้าหมายหลักเพื่อลดบทบาทของครูลง และเพิ่มบทบาทของนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่แค่เพียงรอรับข้อมูลไปเรื่อยๆ เท่านั้น การเรียนรู้ในแต่ละครั้งใช้เวลา 90 นาที โดยเริ่มจากครูทบทวนหรือเกริ่นเข้าเนื้อหา และอธิบายถึงเป้าหมายในแต่ละครั้ง ส่วนนี้ใช้เวลาประมาณ 25 นาที จากนั้นนักเรียนจะได้ลงมือคิด ลงมือทำ หรือปรึกษาหารือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย ใช้เวลาประมาณ 25 นาที ส่วนเวลาที่เหลืออีก 40 นาที เป็นเวลาที่ครูและนักเรียนแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อปรับปรุงผลงานที่ทำในคาบ รวมถึงใช้เวลาช่วงนี้ให้นักเรียนได้สรุปสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ในคาบนั้นๆ ด้วย
*โรงเรียนเพลินพัฒนาวางยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ESL- English as a Second Language) ที่ใช้ทักษะการอ่านเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้ และมีการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า High Function Open Approach ที่เน้นในเรื่อง task-based learning เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และการสื่อสารความคิดความเข้าใจระหว่างกันเป็นสำคัญ |
ฉันรู้สึกประทับใจรูปแบบการเรียนการสอนนี้เป็นอย่างมาก เพราะฉันรู้ดีว่าเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กไทย ที่จะมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะพวกเขาต่างเคยชินกับการถูกป้อนข้อมูลให้ตลอดเวลา จากทั้งที่โรงเรียน และที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ที่มุ่งเน้นแค่ให้เด็กสอบได้คะแนนดีๆ เท่านั้น แต่โรงเรียนแห่งนี้กำลังสอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์เป็น และต่อยอดความรู้เองได้ ฉันรู้สึกยินดีกับเด็กที่มีโอกาสได้เรียนที่นี่ และรู้สึกยินดีที่ตัวเองจะได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเด็กที่มีคุณภาพออกสู่สังคม
ความใส่ใจของครูที่มีต่อนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกดีมากที่สุด ฉันเลือกที่จะเป็นครู เพราะฉันรักและเป็นห่วงเด็กๆ ฉันจึงอยากเป็นครูที่ไม่ได้สนใจแค่ว่าเด็กต้องเก่งทุกวิชา ต้องทำคะแนนให้ดีให้ได้ทุกวิชา โดยไม่สนว่าเด็กจะเป็นอย่างไร ฉันอยากเป็นครูที่รู้และใส่ใจว่า ตอนนี้เด็กรู้สึกอย่างไร มีความสุขดีไหม มีความชอบ สนใจหรือถนัดเรื่องอะไร ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้มีแนวคิดไม่ต่างไปจากฉันเลย
วันหนึ่ง คุณครูใหม่ – วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ได้ยื่นกระดาษจำนวน 4 แผ่นให้ฉัน ในกระดาษเหล่านั้นไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่ฉันต้องสอนเลย มีเพียงเนื้อหาเกี่ยวกับการเชื่อมสัมพันธ์ และการเข้าถึงจิตใจของเด็กเท่านั้น ภายในใจของฉันรู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดฉันก็พบกับคนที่ให้ความสำคัญในสิ่งเดียวกันกับฉันแล้ว ฉันลองนำเนื้อหาของบทความไปทดลองปรับใช้กับนักเรียน เพิ่มเติมขึ้นไปจากแผนการสอนที่ฉันทำอยู่เป็นปกติ ฉันถามพวกเขาถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจ โดยสอดแทรกเข้ากับเนื้อหาที่ฉันสอน ฉันนำมันมาปรับใช้เวลาให้งานพวกเขา ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะโจทย์นี้ทำให้พวกเขาเกิดพลังในการอ่านและแปลข่าวภาษาอังกฤษ มีความตื่นเต้น สนุกสนาน เมื่อได้เห็นว่าข่าวเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ เช่น ข่าวเกี่ยวกับสัตว์ หรือนักร้อง นักกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบ
นอกจากนี้ฉันยังได้พูดคุยเพิ่มเติมนอกเวลาเรียนอย่างสบายๆ กับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่มักจะไม่สนใจเรียน พูดคุยกับเพื่อน หรือวาดรูปเล่นตลอดเวลา ถามไถ่ความรู้สึกพวกเขาในแต่ละวัน ถามถึงปัญหาที่รบกวนจิตใจพวกเขา ถามถึงครอบครัว สัตว์ที่ชอบ หรือเรื่องรอบตัวธรรมดาๆ ให้กำลังใจ แนะนำสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาขึ้นได้อีก ด้วยความหวังดีอย่างจริงใจ สิ่งเหล่านี้แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสอนของฉัน แต่มันได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ…
เด็กๆ ตั้งใจฟังสิ่งที่ฉันสอนมากขึ้น ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามอย่างกระตือรือร้นยิ่งขึ้น ฟังคำแนะนำ คำตักเตือนของฉันอย่างเปิดใจมากขึ้น มีเด็กคนหนึ่งที่ปกติแล้วไม่ชอบภาษาอังกฤษเอามากๆ เพราะรู้สึกว่าไม่เข้าใจเนื้อหาเอาเสียเลย เธอมักจะเอาแต่วาดรูปในคาบวิชา ESL อยู่เสมอ จากนั้นเธอค่อยๆ เปลี่ยนไป ยกมือ ตอบคำถามมากขึ้น ฟังฉันสอนมากขึ้น ยิ้มแย้มมากขึ้น วันหนึ่งเธอเดินเข้ามาพูดกับฉัน “สุดยอดเลย Teacher หนูไม่เคยเข้าใจภาษาอังกฤษมากขนาดนี้เลยในรอบสามปีที่ผ่านมา!!!” เธอพูดอย่างยิ้มแย้ม มีความสุข ฉันก็มีความสุข ความเหน็ดเหนื่อยทั้งหมดสลายหายไปราวกับไม่เคยมีมาก่อน