- ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving Skill) เป็นภูมิคุ้มกันต่ออุปสรรค ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กคิด มีความอดทนรับฟัง และไม่คิดแทนเด็ก
- พ่อแม่หรือครูสามารถใช้เกมและกิจกรรมอื่นๆ กระตุ้นให้เด็กแก้ไขปัญหา ชวนคิด ‘ตั้งคำถาม’ กับตัวเอง แล้วสังเกตพฤติกรรมขณะพยายามคิดหาทางออก ในขณะเดียวกันพ่อแม่และครูเองก็ต้องส่งเสริมให้เด็กร่วมคิดแก้ไขปัญหากับเพื่อนในกลุ่มด้วย
- 4 คำถามกระตุ้นการคิดแก้ปัญหา สิ่งที่สำคัญคือเด็กต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่ออารมณ์ของตนเองและไม่กล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นต้นเหตุ
ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving Skill) เป็นภูมิคุ้มกันต่ออุปสรรค และเป็นหนึ่งในทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ช่วยเตรียมความพร้อมเด็กให้สามารถใช้ชีวิตและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสิ่งที่คาดไม่ถึงในโลกภายนอกได้ เด็กควรได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านนี้ตั้งแต่ยังเล็กผ่านประสบการณ์ชีวิตในทุกๆ วัน
มีหลักฐานการวิจัยพบว่าเด็กควรเรียนรู้ทักษะการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ช่วงก่อนวัยเรียน เนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้น พฤติกรรมของพวกเขาจะเปลี่ยนไปและควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ยากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เริ่มแสดงพฤติกรรมงอแงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ หรือการแสดงความโกรธ
ทั้งนี้ การวิจัยพบว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับการติดตั้งทักษะการแก้ไขปัญหาเลยมักมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับเพื่อนและคนรอบข้าง นำมาสู่การถูกทอดทิ้งจนรู้สึกโดดเดี่ยว และมีแนวโน้มถูกชักจูงไปในทางที่ผิดถึงขนาดมีความเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมในอนาคตได้
ในทางกลับกันเด็กที่ใช้ทักษะการแก้ไขปัญหาได้ดี พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรค แก้ไขสถานการณ์บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและไม่ทำร้ายผู้อื่น
คำถามกระตุ้นคิด
พ่อแม่หรือครูสามารถใช้เกมและกิจกรรมอื่นๆ กระตุ้นให้เด็กแก้ไขปัญหา ชวนพวกเขาคิด ‘ตั้งคำถาม’ กับตัวเอง แล้วสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาขณะพยายามคิดหาทางออก ในขณะเดียวกันพ่อแม่และครูเองก็ต้องส่งเสริมให้เด็กร่วมคิดแก้ไขปัญหากับเพื่อนในกลุ่มด้วย
4 คำถามกระตุ้นการคิดแก้ปัญหา เช่น
1. ปัญหาของฉันคืออะไร? ขั้นตอนแรกในขณะที่เด็กกำลังแก้ไขปัญหา ผู้ใหญ่ควรสังเกตอารมณ์ของเด็กและส่งเสริมให้เด็กใช้คำพูดเพื่อแสดงอารมณ์ออกมา อาจใช้การ์ดแสดงรูปภาพอารมณ์หรือคำศัพท์เพื่อสอนให้เด็กจำแนกอารมณ์ของตัวเอง สิ่งที่สำคัญในขั้นตอนนี้คือเด็กต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่ออารมณ์ของตนเองและไม่กล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นต้นเหตุ
คำตอบที่แสดงความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เช่น “ฉันรู้สึกเศร้า”
คำตอบที่กล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นสาเหตุ เช่น “เธอแย่งขนมของฉัน”
สำหรับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน กิจกรรมส่งเสริมการแก้ไขปัญหาควรรวมอยู่ในบทเรียน ผู้สอนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างสถานการณ์ให้เด็กคิด เช่น ผู้สอนอาจถือแอปเปิ้ลมาหนึ่งลูกในห้องเรียนและถามเด็กว่าจะแบ่งแอปเปิ้ลให้เด็กทุกคนกินได้อย่างไร?
คำตอบของนักเรียนไม่มีถูกผิด เพราะสิ่งที่ต้องการคือการพาเด็กเข้าสู่กระบวนการคิดก่อนการแสดงความคิดเห็นของเด็ก
2. หลังจากเกิดปัญหาแล้ว เด็กต้องถามตนเองว่า มีทางออกอะไรบ้าง? ช่วยให้เด็กคิดหาทางออกหลายๆ ทาง เพื่อเป็นแผนสำรอง อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าทางออกหรือทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ทางเดียว จากสถานการณ์แอปเปิ้ล 1 ลูก เมื่อเด็กคิดหาทางออกได้บ้าง ผู้สอนกระตุ้นให้เด็กหาทางออกเพิ่มอีก เช่น “เราได้ทางออกสองข้อแล้ว มาช่วยกันคิดให้ได้สักห้านะ ดูซิ…ทำยังไงได้อีก”
สังเกตต่อเนื่องว่ามีเด็กคนไหนไม่เข้าร่วมกิจกรรมบ้าง เพราะเด็กบางคนอาจเขินอายหรือไม่กล้าพูดคุยกับเพื่อน พ่อแม่และครูผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน
3.เมื่อเด็กคิดหาทางออกได้แล้ว ตั้งคำถามว่า ทางออกดังกล่าวจะส่งผลอะไรบ้าง? ขั้นตอนที่สามนี้สามารถถามเด็กตรงๆ ว่าถ้าแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะส่งผลกับผู้อื่นและตัวเด็กเองอย่างไร ก่อนจะนำมาสู่ขั้นตอนต่อไป
4.เมื่อเด็กเลือกทางออกที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว เด็กควรถูกส่งเสริมให้จำลองสถานการณ์ด้วยทางออกที่เขาคิดขึ้น ในห้องเรียนครูผู้สอนให้เด็กจับกลุ่มแสดงบทบาทสมมุติ เล่าเรื่องราวผ่านตุ๊กตาหรือหุ่นมือ นำเสนอปัญหา วิธีคิดและแนวทางแก้ปัญหา ขณะที่พ่อแม่สามารถสวมบทบาทเป็นผู้รับฟัง ให้ลูกได้จินตนาการเล่าถึงผลกระทบที่ลูกคิดว่าจะเกิดขึ้นหลังแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วเลือกทางออกที่ดีที่สุด
สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ใหญ่สามารถสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปในขั้นตอนนี้ได้ ส่งเสริมให้เด็กแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ไม่เลือกแสดงพฤติกรรมงอแงหรือใช้อารมณ์โกรธเป็นทางออก ยิ่งเด็กสามารถคิดหาทางออกได้หลายทาง เด็กยิ่งพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาที่สร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี
ทักษะการแก้ไขปัญหา ( Problem Solving Skill) เป็นภูมิคุ้มกันต่ออุปสรรค ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กคิด มีความอดทนรับฟัง และไม่คิดแทนเด็ก
สำหรับผู้ปกครองการสร้างสถานการณ์จำลอง การเล่นเกม และทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจความคิดและความรู้สึกของลูกมากขึ้น สำหรับในชั้นเรียนครูสามารถปรับการตั้งคำถามให้เข้ากับความต้องการและพื้นฐานของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กบางคนสมาธิสั้น เด็กบางคนมีปัญหาครอบครัว เด็กบางคนมีความไม่มั่นใจในตัวเองสูง ดังนั้น ครูต้องใช้การสังเกตและให้เวลากับเด็ก เพื่อสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ฝึกทักษะ ฝึกความแข็งแกร่ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้
อ้างอิง
Joseph, G. E., & Strain, P. S. (2010). Teaching young children interpersonal problem-solving skills.
Young Exceptional Children, 13(3), 28–40. https://doi.org/10.1177/1096250610365144.