- ธรรมชาติการเรียนรู้จริยธรรมของเด็กไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการเรียนในวิชาจริยธรรมหรือศาสนา และไม่จำเป็นต้องเกิดจากการสั่งสอนของผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ในการเข้าสังคม และการรับรู้ข้อมูลทางตรงหรือทางสื่อต่างๆ ด้วย
- จริยธรรมเป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์พยายามกันมานานที่จะหาความจริงหนึ่งเดียว ถกเถียงกันว่าศาสนาใดถูกต้องที่สุด หรือจะยึดหลักทางวิทยาศาสตร์มาตัดสินศีลธรรม แต่แนวคิด “หลังสมัยใหม่” (Postmodernism) มองว่า เรื่องของจริยธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะถูกต้องตายตัว ศีลหรือเกณฑ์ในการบอกว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ดีหรือชั่วนั้นแตกต่างไปตามบริบท
- สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องรู้เกี่ยวกับการสร้างเด็กให้เป็น “คนดี” คือ จริยธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดด้วยการฟังหรือการเรียนในระยะเวลาสั้นๆ กลไกการสร้างจริยธรรมของเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการคาดหวังว่าแค่เข้าค่ายอบรมหรือสอนครั้งสองครั้งแล้วจะได้ผลมันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และการจำกฎหรือศีลได้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนจริยธรรม
หากถามคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านว่า “อยากให้ลูกของท่านเป็นอะไร” คำตอบที่อาจจะได้ยินคือ “เป็นอะไรก็ได้ที่เขามีความสุข” และที่สำคัญคือ “ขอให้เป็นคนดี” วันนี้ผมเลยมาชวนผู้ใหญ่ที่เป็นบุคคลที่สำคัญมากในการสอนให้เด็กเป็นคนดีมาคุยกันเรื่องจริยธรรมกันดีกว่า เพราะเวลาผ่านไปหลายสิ่งก็ต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น และการสอนจริยธรรมให้เด็กเองก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องปรับให้ทันสมัยเช่นกัน
เด็กยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับวิทยาการอย่างอินเทอร์เน็ตนั้นมีสังคมที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้ามากทีเดียวครับ เพราะสังคมของเขาเหมือนโลกที่ไม่มีพรมแดน ข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสาระหรือความบันเทิงจากทุกมุมโลกเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายดาย เหมือนเด็กอยู่ในสังคมขนาดยักษ์ที่สมาชิกของสังคมมีเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และประเด็นเรื่องจริยธรรมนั้นเกี่ยวพันกับสังคมไซเบอร์อย่างเหนียวแน่นเลยล่ะครับ เพราะกิจกรรมบนนั้นไม่ว่าการกด “ไลค์” หรือการแสดงความคิดเห็น มันคือการตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี และนั่นคือเรื่องของจริยธรรมทั้งนั้น เด็กจะได้เรียนรู้ว่าคนในสังคมตัดสินคนอื่นกันอย่างไรผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือด้วยการอ่านคอมเมนต์หรือการดูยอดไลค์ ฟังแบบนี้แล้วอาจทำให้ผู้ใหญ่หลายท่านหนักใจพอสมควรว่า ลูกหลานของตนนั้นจะได้รับการผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่บางครั้งก็ขัดกับความถูกต้องดีงามในสายตาผู้ใหญ่เหลือเกินหรือไม่ และคำตอบก็คือมีแน่นอน
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นสมองมีกลไกในการเรียนรู้จริยธรรมอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีใครสอน เด็กจะเรียนรู้ได้เองว่าสังคมนั้นสิ่งใดที่ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรทำ
ธรรมชาติการเรียนรู้จริยธรรมของเด็กไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการเรียนในวิชาจริยธรรมหรือศาสนา และไม่จำเป็นต้องเกิดจากการสั่งสอนของผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ในการเข้าสังคม และการรับรู้ข้อมูลทางตรงหรือทางสื่อต่างๆ ด้วย
ทุกครั้งที่เด็กได้พบเจอข้อมูลอะไรก็แล้วแต่เด็กจะนำมาประมวลผลออกมาเป็นกฎเกณฑ์ไว้ใช้ตัดสิน สิ่งที่เด็กจะทำตามคือสิ่งที่คนรอบตัวบอกว่า “ดี” หรือทำแล้ว “ได้รับผลดี” ดังนั้นเด็กอาจจะมี “จริยธรรมในแบบของตนเอง” ซึ่งมันอาจจะตรงหรือไม่ตามคำสอนของผู้ใหญ่หรือตามหลักศาสนาก็ได้
แต่การจะบอกว่าหากเด็กคิดผิดไปจากคำสอน หรือศาสนาต่างๆ มันคือสิ่งที่ “ผิด” หรือไม่ อาจจะตอบได้ยาก เพราะผิดหรือถูกเป็นเรื่องนามธรรม หลายท่านอาจคิดว่าถูกผิดเป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วเพราะศาสนาทุกศาสนากำหนด “ศีล” ไว้ชัดเจนว่าคนดีควรและไม่ควรทำอะไร แต่ปัญหาที่จะตามมาคือแต่ละศาสนาก็จุดที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับสิ่งที่ผู้ใหญ่สอน แต่ละครอบครัวก็คงสอนต่างกันไป และยิ่งไปกว่านั้นในต่างประเทศ ต่างวัฒนธรรม คำสอนต่างๆ ยิ่งหลากหลายเข้าไปอีก ดังนั้นการที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์สอนจริยธรรมเด็กตามหนังสือ หรือคำสอนทางศาสนาที่ตนเองเชื่อหรือนับถือเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้เด็กยุคใหม่พบว่าจริยธรรมแบบนั้นตอบเรื่องความถูกผิดไม่ได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะตอนเด็กเจอกับคนต่างชาติ ต่างศาสนา
บางศาสนาสอนไม่ให้กินเนื้อสัตว์บางอย่าง ส่วนบางศาสนาไม่ห้ามเรื่องนี้เลย บางศาสนาให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพิธีกรรม แต่บางศาสนาห้ามดื่มไม่ว่าตอนไหน ศาสนาบางศาสนามีข้อปฏิบัติเรื่องพิธีกรรม ไปจนถึงการแต่งกายที่แตกต่างกัน เมื่อเด็กเข้าสู่สังคมขนาดใหญ่ เด็กจะพบว่าการใช้หลักของศาสนาเดียวตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิดนั้นอาจทำไม่ได้เสนอไป การสอนจริยธรรมให้เด็กในยุคใหม่จึงอาจจะต้องพัฒนาไปตามความกว้างของสังคมไปด้วย
มีแนวคิดทางจริยธรรมในแง่มุมหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากครับ แนวคิดนี้อยู่ในปรัชญา “หลังสมัยใหม่” (Postmodernism) ก่อนจะรู้จักคำว่า “หลังสมัยใหม่” เราต้องรู้จัก “สมัยใหม่” กันก่อน คำว่าสมัยใหม่หมายถึงยุคที่วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้ามากๆ และทุกอย่างล้วนอธิบายได้ด้วยหลักการ กฎเกณฑ์ สูตรคำนวณ ความจริงนั้นต้องมีหนึ่งเดียวและวิทยาศาสตร์จะตอบคำถามนั้นได้
อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาและนักวิชาการหลายๆ คนก็เริ่มเห็นถึงจุดอ่อนของความเชื่อแบบสมัยใหม่ และพบว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่เราจะหาสูตรหากฎตายตัวได้ หลายอย่างนั้นแตกต่างกันไปตาม “บริบท” หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น วัฒนธรรม พื้นที่ ยุคสมัย สิ่งที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวนั้นอาจไม่มีอยู่จริง เรื่องของจริยธรรมเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์พยายามกันมานานที่จะหาความจริงหนึ่งเดียว ถกเถียงกันว่าศาสนาใดถูกต้องที่สุด หรือจะไปยึดแต่หลักทางวิทยาศาสตร์มาตัดสินศีลธรรมแทนดี แต่แนวคิดหลังสมัยใหม่มองว่า เรื่องของจริยธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะถูกต้องตายตัว ศีลหรือเกณฑ์ในการบอกว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ดีหรือชั่วนั้นแตกต่างไปตามบริบท
ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูนะครับ ทหารที่ฆ่ามนุษย์ด้วยกันในสนามรบเป็นคนดีหรือไม่ คนที่ฉีดยาให้นักโทษประหารเป็นคนดีหรือไม่ แพทย์ที่ช่วยเหลือชีวิตอาชญากรที่ฆ่าคนมหาศาลทำถูกหรือไม่ คนที่ขโมยยาเพราะจะเอามารักษาแม่เป็นคนดีหรือไม่ คนที่โกหกเพื่อไม่ให้คนอื่นเสียใจเป็นคนดีหรือไม่ หากนั่งคิดแล้วเราพอจะเห็นว่าบางสถานการณ์มีข้อยกเว้นหรือมองได้หลายแง่มุม การฆ่าหรือการช่วยชีวิตคนที่น่าจะตัดสินด้วยหลักศีลธรรมได้แน่ๆ กลับตอบได้ยากในบางบริบท และสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิต การที่จริยธรรมไม่ใช่กฎตายตัว แต่ต้องพิจารณาตามสถานการณ์และบุคคลไป จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ
คำถามต่อมาคือหากยอมรับว่าศีลธรรมเปลี่ยนแปลงได้และมีข้อยกเว้น แปลว่าเราไม่ควรสนใจหลักของศาสนา หรือความเชื่อในสังคมที่มี เลยหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่ใช่ครับ” เราไม่ต้องถึงขนาดล้มล้างความถูกต้องและการตีความถูกผิดตามศาสนาของท่าน และยังสอนเด็กๆ ให้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาได้ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมขึ้นมาในการสอนจริยธรรมสมัยใหม่ คือ การยอมรับความแตกต่าง สอนให้เด็กตระหนักว่า สิ่งที่เรามองว่าดี คนในต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมอาจจะมองว่าไม่ดีก็ได้ หรือในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เรามองว่าไม่ดี คนในต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมอาจจะมองว่าดีก็ได้ สิ่งที่ดีในตอนนี้ อาจจะเปลี่ยนในอนาคต สิ่งที่อดีตยอมรับไม่ได้ อนาคตอาจจะยอมรับได้ และถึงจะมีข้อยกเว้นมากมาย แต่มันก็มีบางสิ่งที่ศาสนาและวัฒนธรรมส่วนใหญ่เห็นตรงกันในแง่ของความดี เราเน้นย้ำสิ่งเหล่านั้นเป็นหลักสำคัญได้ เช่น เราไม่ควรเบียดเบียนใคร การเบียดเบียนที่รุนแรงที่สุดคงเป็นการฆ่า การทรมาน และทำร้ายตามลำดับ ทุกสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะทำอย่างยิ่งหากไม่มีเหตุผลคอขาดบาดตาย เช่น เพื่อรักษาชีวิตของตนเอง หากจำเป็นต้องเบียดเบียนจริงๆ จะมีทางไหนที่เบียดเบียนน้อยที่สุด หรือทางไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่สุด
หลักนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้ได้กับสัตว์ เช่น ปศุสัตว์ต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ดีและไม่ถูกฆ่าอย่างทรมาน การไม่เบียดเบียนยังรวมไปถึงขั้นการไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เช่น ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตอื่นๆ บนโลก และหากสังเกตดีๆ คำสอนของหลายๆ ศาสนาต่างพูดถึงสิ่งนี้ตรงกัน
แต่แน่นอนว่าในชีวิตจริง มีหลายเรื่องที่ตีความได้ยากและซับซ้อนกว่านั้น ทักษะหนึ่งที่จะทำให้เด็กรับความคิดด้านความแตกต่างหลากหลายไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด คือการวิเคราะห์ด้วยตนเองว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ไม่ใช่การท่องจำอย่างเดียว เพราะแต่ละกรณีที่ต้องตีความถูกผิดล้วนมีบริบทที่แตกต่างกัน
งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่าการสอนจริยธรรมแบบจดจำว่าต้องทำหรือไม่ทำอะไร ไม่ให้ผลดีต่อการพัฒนาจริยธรรมของเด็กเท่ากับการให้เด็กได้คิดเอง
วิธีที่ผู้ใหญ่ทุกคนใช้ฝึกจริยธรรมให้เด็กได้ เช่น ตอนเล่านิทานให้เด็กฟัง แทนที่จะสอนเด็กตรงๆ ว่านิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไร ควรให้เด็กได้ลองคิดแล้วตอบว่าได้ข้อคิดอะไร สำหรับเด็กโตอาจจะไม่ชอบฟังนิทาน การใช้เรื่องราวจากสื่ออื่นๆ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดในภาพยนตร์ที่ดูด้วยกัน หรือนิยายที่เคยอ่าน หรือแม้แต่ในข่าวมาวิเคราะห์แทนว่าสิ่งที่ตัวละครทำนั้นถือว่าถูกหรือผิดอย่างไร และมีเหตุผลอะไร
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าหากจะสอนจริยธรรมเด็กแล้ว การเน้นผลดีที่ได้จากการทำสิ่งถูกต้อง ได้ผลกว่าการเน้นผลเสียที่ตามมาจากการทำไม่ถูก หรือก็คือ “รางวัลนั้นได้ผลกว่าไม้เรียว” ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยสำคัญซึ่งพบว่าการเลี้ยงลูกแบบเข้าใจได้ผลดีกว่าเลี้ยงแบบเข้มงวด ดังนั้นตอนที่ชวนเด็กวิเคราะห์เรื่องราวควรเน้นก่อนว่าเกิดผลดีอะไรบ้างจากการทำสิ่งที่ถูกต้องแทนที่จะเน้นถึงผลเสียที่ตามมา
สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องรู้เกี่ยวกับการสร้างเด็กให้เป็น “คนดี” คือ จริยธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดด้วยการฟังหรือการเรียนในระยะเวลาสั้นๆ กลไกการสร้างจริยธรรมของเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการคาดหวังว่าแค่เข้าค่ายอบรมหรือสอนครั้งสองครั้งแล้วจะได้ผลมันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และการจำกฎหรือศีลได้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนจริยธรรม
การสร้างวิธีคิดทางจริยธรรมให้เด็กนั้นสำคัญกว่า ดังนั้นพยายามชวนเด็กๆ คุยเรื่องจริยธรรมบ่อยๆ เปิดโอกาสให้เขาได้คิดว่าอะไรที่ถูก ถูกเพราะอะไร เกิดประโยชน์ตรงไหน อะไรที่ผิด ผิดเพราะอะไร เบียดเบียนผู้อื่นตรงไหน และอย่าปิดกั้นความคิดเห็นของเด็กหากมันไม่ตรงกับของผู้ใหญ่เอง หรือเพียงเพราะมันไม่ตรงกับศีลธรรมและความเชื่อในแบบที่ตนยึดถืออยู่ เพราะว่าเมื่อเด็กเข้าสู่สังคมที่กว้างใหญ่ ที่มีคนหลากหลายความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เด็กจะได้พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ตนต้องคิดเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ถูกหรือผิด ควรทำตามหรือไม่ เพราะอะไร
การตัดสินว่าผิดเพราะคิดไม่เหมือนกับตน ไม่ใช่วิธีที่ดีในการอยู่ในสังคมที่เปิดกว้างแบบปัจจุบัน หากผิดเด็กต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าผิดด้วยเหตุใด สิ่งนี้ถูกต้องในวัฒนธรรมหรือศาสนาของเขาหรือเปล่า และมันเกิดผลกระทบที่ดีหรือไม่ดีต่อตัวเขาหรือคนอื่นๆ หรือไม่ ปลูกฝังให้เด็กเคยชินว่าความถูกผิดคือสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ เมื่อคิดไม่ตรงกับคนอื่น เด็กจะรู้ว่าจุดยืนของตนเหมาะสมหรือไม่เพราะอะไร หรือถ้ามีคนมาขัดแย้ง จะสื่อสารกับอีกฝ่ายเพื่อยึดมั่นในจุดยืนของตนเองอย่างไร และเข้าใจอีกฝ่ายอย่างไร
การตีความด้านจริยธรรมในอนาคตของทุกสังคมมีแนวโน้มที่จะมีทิศทางในแนวที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นไม่ได้แปลว่าไม่มีสิ่งใดผิด หรือจะทำอะไรก็ได้ตามใจ อย่างที่เราคุยกันไว้ว่าการทำสิ่งใดต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่เบียดเบียนใคร หากรู้สึกว่าตัดสินใจยาก ลองนึกถึงสุภาษิตของไทยที่ยังใช้ได้ครอบคลุมเสมอในแทบจะทุกสถานการณ์คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก็ได้ครับว่าหากจะตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกไหม ลองมองในมุมมองของทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำให้รอบด้าน สมมติว่าถ้าคนที่ได้รับผลกระทบคือเราเอง เราจะเดือดร้อนหรือไม่ เราจะทุกข์จากการกระทำดังกล่าวแค่ไหน คิดให้ดีและพยายามเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
นอกจากนี้การมีจริยธรรมที่เข้มแข็งไม่ได้ใช้เพื่อห้ามทำอะไรเท่านั้น แต่เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงมือทำ ในอนาคตเด็กจะต้องเจอเหตุการณ์ตัดสินใจได้ยากในชีวิต เหตุการณ์ที่ไม่เคยมีบทเรียนจริยธรรมไหนเคยสอนว่าทางไหนที่ถูกต้อง เหตุการณ์ที่จำเป็นจริงๆ แต่เกิดสิ่งไม่ดีกับคนอื่นโดยเลี่ยงไม่ได้ ทักษะการวิเคราะห์เหตุการณ์ในแง่ของจริยธรรมจะเป็นเหมือนเข็มทิศสำคัญในที่ช่วยให้เด็กเลือกเส้นทางที่ตนคิดว่า “ถูกต้องที่สุด” ณ ขณะนั้นได้อย่างรอบคอบ
แค่ตั้งใจคิดคำนึงถึงคนอื่น ผมว่าแค่นี้ก็คือ “เด็กดี” ในมุมมองสากลแล้วครับ
อ้างอิง
Cushman, F., Kumar, V., & Railton, P. (2017). Moral learning: Psychological and philosophical perspectives. Cognition, 167, 1-10.
Lee, K., Talwar, V., McCarthy, A., Ross, I., Evans, A., & Arruda, C. (2014). Can classic moral stories promote honesty in children?. Psychological science, 25(8), 1630-1636.
Rhodes, M., & Wellman, H. (2017). Moral learning as intuitive theory revision. Cognition, 167, 191-200.
Robinson, D. (2008). Introducing Ethics: A Graphic Guide. London, Icon Books.
Vasile, C. (2019). Learning moral attitudes: children vs parents. Journal of Educational Sciences & Psychology, 9(2).