- โรงเรียนโอลนีย์ เฟรนด์ส ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เด็กๆ ทุกคนต้องเรียนรู้และจบหลักสูตรการทำฟาร์มก่อนถึงจะสำเร็จการศึกษา
- ยูนิฟอร์มที่นี่จึงเน้นชุดอะไรก็ได้ที่คล่องตัว เปรอะได้ พร้อมคลุกดินคลุกทราย เก็บไข่ไก่ และให้อาหารนก
- เป้าหมายของโรงเรียนคือ ผลิตบุคคลที่รอบรู้ รู้เท่าทันต่อเรื่องการบริโภค และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องเลือกอาชีพเกษตรกร
เรื่อง: ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย, อรสา ศรีดาวเรือง
ฟ้ายังไม่ทันสว่าง เด็กๆ มัธยมปลายที่นี่จะมารวมตัวกันเพื่อเก็บไข่ไก่ ให้อาหารและน้ำกับนกที่เลี้ยงไว้ ก่อนจะแยกย้ายกันไปรับประทานมื้อเช้า
นี่เป็นหลักสูตรหนึ่งของ โรงเรียนโอลนีย์ เฟรนด์ส (Olney Friends School) โรงเรียนที่มีอายุกว่า 180 ปี ตั้งอยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่ขยับการทำฟาร์มและการทำอาหารมาเป็นวิชาสำคัญของเด็กๆ มุ่งเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำงาน มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว
เริ่มที่โรงนา ไปจบที่ห้องเรียน
เริ่มต้นจากโรงนา ต่อไปยังห้องครัว และสรุปองค์ความรู้ในห้องเรียน เน้นให้เด็กๆ ลงมือทำในฐานะกิจกรรรมหนึ่งของการใช้ชีวิต นี่คือพิมพ์เขียวของวิชาฟาร์ม
ดอน กินดอน ผู้จัดการฟาร์มของโรงเรียน เขาเป็นรุ่นสองหลังจากรับไม้ต่อจากพ่อ เขาเองก็วิ่งเล่นอยู่ในฟาร์มนี้มาตั้งแต่จำความได้
งานที่กินดอนดูแล มีทั้งปลูกพืชหมุนเวียน พืชคลุมดิน ไถหน้าดินเตรียมการเพาะปลูก เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ดินถูกกัดเซาะและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ วัตถุดิบสำคัญคือมูลสัตว์ ขยะในครัว และเศษใบไม้ ที่ถูกนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ภายในฟาร์ม
ฟาร์มของโรงเรียนโอลนีย์มีโคเนื้ออยู่ 52 ตัว แพะ 8 ตัว ไก่ไข่ 150 ตัว และไก่เนื้อกว่า 800 ตัว ในแต่ละปีนักเรียนจะต้องมีหน้าที่ขุนหมูให้อ้วนสมบูรณ์ ปลูกหญ้าสต็อกไว้ นอกจากนี้ก็ต้องปลูกผลไม้ ผัก และสมุนไพรหลากหลายชนิด รวมถึงเลี้ยงผึ้ง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 รัง และคาดว่าในอนาคตภายในปลายปีนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5 รัง
ในสัปดาห์เเรกของการเรียน จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำฟาร์มมาบรรยายในคาบเรียนชีววิทยาเกี่ยวกับเรื่องการผสมเทียม และสัปดาห์ถัดไปจะเป็นการลงพื้นที่ไปสำรวจเรือนเพาะปลูก ลองผสมเกสรของต้นมะนาวเพื่อที่จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และต่อมาจะเป็นคาบเรียนวิชาศิลปะ เรียนรู้การออกแบบเรือนเพาะปลูก
หลากหลายในแปลงเดียวกัน
นักเรียนในโรงเรียนโอลนีย์ เฟรนด์ส มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ โดยนักเรียนจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง และประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จะอาศัยอยู่ในหอพักโรงเรียน ซึ่งจะมีโรงอาหารไว้ให้บริการอาหาร 3 มื้อตลอดสัปดาห์ ส่วนประกอบของอาหาร 40 เปอร์เซ็นต์จะนำมาจากผลผลิตในฟาร์มและท้องถิ่น
ยังไม่หยุดแค่นี้ มาร์ค ฮิบเบ็ทท์ (Mark Hibbett) ผู้ช่วยผู้จัดการฟาร์ม กำลังหาลู่ทางกระตุ้นให้ผลผลิตมีจำนวนมากและหลากหลายขึ้น โดยคิดว่าจะนำกะหล่ำปลีจากฟาร์มมาทำกิมจิ นำสตรอเบอร์รีมาทำเป็นแยม และนำไข่มาทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว นอกจากนี้เขายังกำลังมองหาวิธีที่จะให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตในแต่ละขั้นตอนอีกด้วย และทางโรงเรียนได้ปรับตารางเรียนใหม่เพื่อต้องการให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
อิซรา โรซา (Izraa Rosa) ที่เพิ่งเข้าโรงเรียนปีแรก บอกว่าเธอเติบโตมาจากครอบครัวที่กินมังสวิรัติ พ่อแม่ต่างชื่นชอบอาหารจากโรงเรียน เพราะว่าเป็นอาหารจากท้องถิ่นและปลอดสารพิษ สำหรับตัวโรซานั้น การเข้ามาเรียนที่นี่ทำให้เธอข้ามพ้นคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง
“ฉันเติบโตในสังคมเมืองที่ซึ่งตัวฉันและเพื่อนๆ ต่างหวาดระแวงว่ารองเท้าจะเปื้อนหรือสกปรก แต่ตอนนี้ฉันกลับชอบที่มือเปรอะเปื้อน และฉันก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้รับมาก่อน”
เรียนเพื่อรอบรู้
อดัม ไดเออร์ (Adam Dyer) พนักงานคนใหม่ของฟาร์ม เล่าว่า “ทุกครั้งนักเรียนที่นี่จะขยันและช่วยกันทำงาน แม้พวกเขาจะทราบว่างานในแต่ละวันนั้นมากมายขนาดไหน และหลังหกโมงเช้าจะมีคนไปเก็บไข่ไก่มาเพื่อนำเป็นอาหารเช้า”
แม้จุดเด่นของโรงเรียนโอลนีย์ เฟรนด์ส คือ เป็นแหล่งเชี่ยวชาญทางด้านการทำฟาร์ม แต่เป้าหมายของโรงเรียนไม่ได้มุ่งให้นักเรียนที่จบไปแล้วจะต้องเป็นเกษตรกรทุกคน และมีจำนวนน้อยมากที่จบเเล้วไปทำงานเกี่ยวกับการเกษตรหรือเป็นเกษตรกร
“เป้าหมายของเราคือการผลิตบุคคลที่รอบรู้ เป็นผู้รู้เท่าทันเรื่องการบริโภค พร้อมกับมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งยอดเยี่ยมของโรงเรียนแห่งนี้คือเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้บทเรียนอันซับซ้อนที่ยากจะเข้าใจ ให้เข้าใจได้อย่างยั่งยืน” กินดอนเสริม
หนึ่งในวิธีที่นิยมที่สุดในการเรียนรู้บทเรียนที่โรงเรียนโอลนีย์ คือการเลี้ยงแพะ เมื่อลูกแพะเกิดมา นักเรียนจะต้องคอยเฝ้าดูแม่แพะทำความสะอาดลูกๆ ของมัน จากนั้นพวกเขาจะต้องรอให้แน่ใจว่าลูกแพะสามารถขยับตัวและกินนมได้
“เมื่อนักเรียนได้ลงไปเรียนรู้ในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการ พวกเขาจะเข้าใจมันมากขึ้น” กินดอนอธิบายต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้แม่แพะ 6 ตัวได้ให้กำเนิดลูก 13 ตัว และมีนักเรียน 19 คน ได้ฝึกฝนการทำคลอดแพะ โดยผลัดกันเข้าออกโรงนาเพื่อดูสัญญาณการคลอดก่อนกำหนด
แอนโทเนีย ซิกมอน (Antonia Sigmon) รุ่นพี่ที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมภายในฟาร์มมากที่สุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเก็บมันฝรั่งไปจนถึงการตัดกีบแพะ ในช่วงฤดูหนาวปีแรกของเธอ มีลูกแพะหลายตัวเกิดมา นับเป็นช่วงเวลาอันเเสนวิเศษที่ได้เดินอยู่ในหิมะและแสงจันทร์ที่ส่องลงไปยังโรงนา ซึ่งเป็นที่ที่เธอเคยให้อาหารพวกมันในช่วงกลางคืน
“ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ทำงานกับสัตว์นับตั้งแต่นั้นมา” เธอกล่าว “และฉันชอบที่ได้สัมผัสกับผืนดินและทุกสิ่งที่กำลังเจริญเติบโต”