- Michael Apple นักการศึกษาสายวิพากษ์ เชื่อมั่นว่า การศึกษาสามารถจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ครูและนักการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็กๆ เขาเชื่อว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่สำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กไม่ว่าทางใด
- การศึกษาเป็นใจกลางสำคัญที่เราจะใช้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เขาไม่เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ที่บอกว่าต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจก่อนถึงจะเปลี่ยนการศึกษาและสังคมได้ นั่นก็เพราะว่า แท้จริงการศึกษาไม่ได้อยู่แยกขาด แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- บทบาทครูจึงสำคัญมาก การสอนสามารถช่วยให้นักเรียนเห็นโลกความเป็นจริงที่ต่างออกไปจากเดิมได้ ด้วยการเชื่อมโยงสู่ความเป็นจริงในชีวิตของผู้คนที่กำลังดิ้นรนภายใต้การถูกกดขี่ ขูดรีด และครอบงำ
การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ ?
เป็นทั้งหัวข้อและคำถามสำคัญที่ Michael Apple นักการศึกษาสายวิพากษ์ แนวนีโอมาร์กซิสต์ (neo-Marxist) ได้นำเสนอมุมมองและชวนแลกเปลี่ยนในการบรรยายพิเศษของเขา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) ในหัวข้อ Can education change society? ซึ่งมีฐานความคิดมาจากหนังสือของเขาในชื่อเดียวกันที่ออกมาในช่วงปี 2012 หรือราว 12 ปีที่แล้ว
หากใครมีโอกาสได้ติดตามงานเขียนสำคัญๆ ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น Official Knowledge Democratic Education in a Conservative Age หรือ Ideology and Curriculum จะเห็นว่าทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายามวิเคราะห์และวิพากษ์การเมืองของความรู้ในหลักสูตร ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมเอาไว้ มากไปกว่านั้น Apple ยังเสนอให้เราทำความเข้าใจพลังของเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) และอนุรักษ์นิยม (neoconservatism) ที่ส่งผลต่อการศึกษาร่วมสมัยในหลากหลายมิติ จุดยืนและวิธีคิดของเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อวงวิชาการทั้งสังคมวิทยาการศึกษา (sociology of education) หลักสูตรศึกษา (curriculum studies) ไปจนถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
เมื่อเราตั้งคำถามว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ ? อาจจะฟังดูเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่สำหรับ Apple นี่เป็นคำถามสำคัญที่เราไม่ควรปฏิเสธที่จะถามและตอบมัน ส่วนหนึ่งของคำถามนี้มาจากประสบการณ์ในช่วงหนึ่งที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่สโลวีเนีย ที่ซึ่งผู้คนจำนวนมากหลบหนีลี้ภัยจากการเข่นฆ่าสังหาร และอพยพเข้ามายังสโลวีเนียในช่วงสงครามยูโกสลาเวีย สภาพค่ายผู้ลี้ภัยมีสภาพทรุดโทรม และมีความเป็นอยู่ไม่ดีนัก แต่ก็พอจะเป็นบ้านหลังเดียวที่พวกเขาได้พักพิง หลังจากเข้าอยู่ในค่ายได้ไม่นานเหล่าผู้ลี้ภัยต้องรีบจัดการแจกจ่ายอาหารและสร้างโรงเรียนขึ้นมาเพื่อลูกหลานของพวกเขาเอง ณ จุดนี้ที่ Apple เริ่มตระหนักได้ว่า สังคมที่เคารพซึ่งกันและกันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีการศึกษาเป็นส่วนช่วยหนุนนำ
คำตอบของ Apple สำหรับคำถามข้างต้น เขาเชื่อมั่นว่า การศึกษาสามารถจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และพวกเราในฐานะครูและนักการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างความแตกต่าง (make a difference) ในชีวิตของเด็กๆ เขาเชื่อว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่สำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กไม่ว่าทางใด
ดังนั้น การสอนจึงไม่ใช่สิ่งกระทำได้โดยง่ายเพียงเดินตามหลักสูตรที่ถูกวางไว้โดยไร้ซึ่งคำถามใดๆ แต่เราจำเป็นต้องคิดให้หนักและถี่ถ้วนถึงอำนาจของการศึกษาที่จะส่งผลต่อตัวเด็กและสังคมไปพร้อมกันด้วย
เขาเสนอว่าเมื่อเราต้องคิดพิจารณาถึงการศึกษา มีสองสิ่งเป็นอย่างน้อยที่ต้องทำควบคู่กันไป อย่างแรก คือ ‘การวิเคราะห์ความสัมพันธ์’ (relational analysis) เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ใช่เพราะมันเป็นเรื่องของคนคนนั้นแบบปัจเจกเพียงลำพัง แต่ล้วนเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ในสังคมที่ส่งผลต่อคนคนหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น ในอเมริกา การที่เด็กได้เรียนอยู่ในโรงเรียนที่แตกต่างกัน ระหว่าง charter/private school และ public school เราควรต้องตั้งคำถามว่าความแตกต่างนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญคือมันทำงานและส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมในมิติชนชั้น เพศ และเชื้อชาติ อย่างไร
อย่างที่สอง ‘การเปลี่ยนตำแหน่งในการมอง’ (repositioning) Apple เปรียบเปรยข้อนี้ง่ายๆ เหมือนกับการที่เราสวมแว่นตาแต่ละแบบ ย่อมทำให้เรามองเห็นโลกที่ต่างกัน เขาวิพากษ์ว่าบ่อยครั้งเรามักจะสวมแว่นของกลุ่มผู้ที่ครอบงำ (dominant group) จนกลายเป็นการผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางสังคมเอาไว้ ซึ่งนั่นคือความผิดพลาด Apple จึงเสนอให้เราเปลี่ยนตำแหน่งในการมอง ด้วยการสวมแว่นเชิงวิพากษ์ลงไป ด้วยการตั้งคำถามถึงการเมืองของความรู้ในหลักสูตร เช่น ความรู้ที่ปรากฏในหลักสูตรเป็นของคนกลุ่มไหน ทำไมมันจึงกลายเป็น ‘ความรู้ทางการ’ (official knowledge) ขึ้นมาได้ มันถูกสอนอย่างไร ใครได้ประโยชน์จากความรู้ที่ถูกทำให้เป็นทางการ และสุดท้ายคือเราจะเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร การเปลี่ยนตำแหน่งในการมองสำหรับ Apple จึงเป็นไปเพื่อวิพากษ์และตอบโต้ความหมายที่ถูกครอบงำด้วย
ด้วยกรอบการมองเช่นนี้ ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘การศึกษาคือเวทีทางการเมือง’ ที่ไม่ได้มีความเป็นกลางแต่อย่างใด ดังที่ Apple ได้ชี้ให้เห็นผ่านงานของเขาว่า ในช่วงเวลานี้การศึกษาตกอยู่ภายใต้อำนาจนำ (hegemony) ของเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อนุรักษ์นิยม (neoconservatism) ประชานิยมอำนาจนิยม (authoritarian populism) และลัทธิการจัดการแบบใหม่ (New Managerialism) ดังที่เราสามารถมองเห็นและตรวจสอบมันได้ผ่าน หลักสูตร การสอน การสอบทดสอบต่างๆ รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำกับโรงเรียนและการทำงานของครูอยู่
โดยเฉพาะวาระของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในระบบทุนนิยมที่ Apple เน้นย้ำเป็นพิเศษ เนื่องจากมันได้ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมรวมถึงการศึกษาตกอยู่ภายใต้ตรรกะของตลาด ที่ซึ่งทุกอย่างสามารถแปรรูปเป็นสินค้าและการแข่งขันกันได้ โดยมีฐานคิดที่ว่าเมื่อโรงเรียนแข่งขันกันย่อมกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค เหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามมา ไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพของตลาดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชน ฯลฯ เกิดขึ้นมาในระยะหลังจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมาพร้อมกับช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ไม่ถ่างกว้างขึ้น และเด็กจำนวนมากก็ยังคงถูกทิ้งให้อยู่กับโรงเรียนรัฐที่มีทรัพยากรอันน้อยนิด Apple วิจารณ์ตรรกะของเสรีนิยมใหม่ที่เหมือนจะอวดอ้างว่านำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคม แต่จริงแล้วกลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสรีนิยมใหม่ในการศึกษาไทยได้ที่ มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้คำว่า ‘การศึกษาเพื่อการมีงานทำ’)
ดังนั้น เพื่อที่จะท้าทายพลังอำนาจที่ครอบงำสังคมอยู่ เราจึงไม่อาจที่ยืนดูอยู่บนระเบียง เป็นผู้ชมที่แสนดี และไม่กระทำการเปลี่ยนแปลงได้ Apple เห็นด้วยกับ Antonio Gramsci นักทฤษฎีการเมืองฝ่ายซ้าย ที่เสนอว่า เราจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด (war of position) ด้วยการสร้างเรื่องเล่าทางเลือกขึ้นมา (alternative narratives) ให้เห็นว่าเรามีสังคมที่ต่างออกไปได้ ไม่ใช่การยอมรับคำตอบที่ชนชั้นนำที่ครอบงำเราอยู่มอบให้ ด้วยเหตุนี้ Apple ได้จัดวางการศึกษาเป็นใจกลางสำคัญที่เราจะใช้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เขาไม่เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ที่บอกว่าต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจก่อนถึงจะเปลี่ยนการศึกษาและสังคมได้ นั่นก็เพราะว่า แท้จริงการศึกษาไม่ได้อยู่แยกขาด แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันเป็นสถาบันหนึ่งเช่นเดียวกันสถานบันอื่นๆ มีความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดขึ้นระหว่างคนกลุ่มต่างๆ มีกลไกลทางวัฒนธรรมในการกำหนดว่าอะไรคือ ‘ความรู้ที่ถูกต้อง’ ในสังคม ที่ผู้คนจำเป็นต้องรู้ ผลิตซ้ำอย่างเป็นระบบจนเกิดเป็นสามัญสำนึก (common sense) ขึ้นมาว่าเราควรมองเห็นโลกใบนี้อย่างไร และทำให้คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากมัน
ในสายตาของ Apple บทบาทครูจึงสำคัญมาก การสอนสามารถช่วยให้นักเรียนเห็นโลกความเป็นจริงที่ต่างออกไปจากเดิมได้ ด้วยการเชื่อมโยงสู่ความเป็นจริงในชีวิตของผู้คนที่กำลังดิ้นรนภายใต้การถูกกดขี่ ขูดรีด และครอบงำ ไม่เพียงเท่านั้น ครูและนักการศึกษา จำเป็นต้องร่วมกันการสร้างพันธมิตรและการเคลื่อนไหวในการลงมือกระทำการเพื่อหยุดอำนาจนำที่ครอบงำสังคมอย่างที่เป็นอยู่