- จับประเด็นสำคัญจากวงคุย ‘การศึกษาที่แตกต่าง’ ผ่านคนหลายวงการหลากอาชีพ ร่วมพูดถึง ‘การเรียนรู้’ ในเหลี่ยมมุมอาชีพตัวเอง
- เป็นวงคุยไฮไลต์ในงานครบรอบ 5 ปี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีโจทย์สำคัญคือ การเรียนรู้ที่มีคุณค่า
- และการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ต้องมาจากการศึกษาที่แตกต่าง
หากจำกันได้ เมื่อ 4 ปีก่อนมีพาดหัวข่าวชวนตื่นใจเรื่องหนึ่งคือ โรงเรียนน้องใหม่อย่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศว่าที่นี่ไม่มียูนิฟอร์มนักเรียน มีจุดยืนว่าการเรียนการสอนจะพุ่งเป้าไปที่การหล่อเลี้ยงอัตลักษณ์ ความสร้างสรรค์ และจินตนาการของนักเรียนให้ถึงที่สุด ซึ่งนั่นตามมาด้วยการออกแบบการศึกษาโดยนักการศึกษารุ่นใหม่แบบยกเครื่อง – เวลาผ่านไปไวราวโกหก เพียงพริบตาที่นี่ก็ครบรอบ 4 ปีและกำลังจะเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมเร็วๆ นี้แล้ว
เช่นเดียวกันกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – ในฐานะผู้รับผิดชอบและร่างหลักสูตร และในฐานะหนึ่งในองค์ขับเคลื่อนการศึกษา – ที่วันนี้ครบรอบ 5 ปีอย่างเป็นทางการ ผลิตบัณฑิตทั้งปริญญาตรีและโทแล้วราว 1,000 คน
ในวาระครบรอบ 5 ปี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เปิดบ้านชวนคนทำงานด้านการศึกษามาชุมนุมเปิดห้องเวิร์คช็อป วงคุย และนิทรรศการการศึกษาจากหลากองค์กร โดยหนึ่งในวงคุยน่าสนใจคือวงคุยเปิดงานหัวข้อ ‘การศึกษาที่แตกต่าง’ ผ่านคนหลายวงการหลากอาชีพ ร่วมพูดถึง ‘การเรียนรู้’ ในเหลี่ยมมุมอาชีพตัวเอง ดังนี้
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ Thai PBS
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก
อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) นักคิดนักเขียน
การเรียนรู้ของคุณพ่อที่เป็นครู: พื้นที่ตรงกลางระหว่าง Programming World กับ Emerging World
แม้ ดร.เดชรัต มักถูกแนะนำต่อท้ายชื่อ/นามสกุลว่า ‘อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ แต่ทุกครั้งที่ขึ้นเวทีหรือแนะนำตัว เขามักกล่าวเสมอว่าการเรียนรู้ส่วนใหญ่ของเขามักมาจาก ‘ลูกๆ’ รวมกับประสบการณ์อยู่กับนิสิต/นักศึกษาในยุค disruptive world – เวทีนี้ก็เช่นกัน
ดร.เดชรัต เสนอประเด็นการศึกษาที่แตกต่างในมุมของคุณพ่อและครูว่า การศึกษาในไทยหรือแม้แต่ในระดับโลก กำลังเผชิญกับความแตกต่างของการเรียนรู้ 2 อย่างคือ
การเรียนรู้แบบ programming world หรือการศึกษาที่ถูกกำหนดกรอบ เซ็ตโปรแกรม กำหนดคุณค่าและวิธีการเรียนรู้บางอย่างด้วยวิธีคิดที่ว่า ‘อยากให้ทุกคนคล้ายกัน’ กับ การเรียนรู้แบบ emerging world หรือความเชื่อว่าคนเราแตกต่างหลากหลาย มีความสนใจไม่เหมือนกัน การเรียนรู้ของคนเราควรเป็นแบบปัจเจก
แต่ไม่ว่าจะเป็นโลกอย่าง programming หรือ emerging ดร.เดชรัตเชื่อว่าพื้นที่การเรียนรู้กลางๆ จะมีปัจจัยร่วม 4 อย่าง จาก 4S คือ Scale, Scope, Speed และ Style
- Scale – จำนวนผู้เรียนต่อการเรียนรู้หนึ่งๆ ที่แตกต่าง
- Scope – ขอบเขตการเรียนรู้ที่แตกต่าง
- Speed – ความสามารถในการเข้าใจเนื้อหาในระดับที่แตกต่าง
- Style – วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่าง
เมื่อต้องเชื่อมความเข้าใจการเรียนรู้แบบนี้เข้าสู่ ‘Scale’ ห้องเรียน ดร.เดชรัตเสนอแนวคิด ซึ่งยกเครดิตว่าวิธีคิดนี้เขาเรียนรู้จากลูกชายอีกทีหนึ่งว่า การอำนวยการสอนต้องเห็นเป้าหมายว่าจะพาทั้งห้อง/คลาส ไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ รู้ว่าจะมีวิธีพาไปอย่างไร ด้วยวิธีการอะไร และสุดท้าย ต้องดู learning mode หรือบรรยากาศในห้องเรียนหรือผู้เรียนด้วย
การเรียนรู้ของนักการสื่อสาร: เป้าหมายสูงสุดคือทำให้สื่อมวลชนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดร.วิลาสินียกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่ง นำเสนอโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในรายการคิดยกกำลังสองออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ระบุว่าจากผลสำรวจคนไทย 6,000 คนอายุ 15-35 ปี ส่วนใหญ่บอกว่า ความรู้ที่มีอยู่ขณะนี้จะใช้ประโยชน์ได้ราว 14 ปี และความรู้ที่ว่าส่วนใหญ่เห็นว่ามาจากการศึกษาในระบบ ขณะที่คนในประเทศเพื่อนบ้านบอกว่าความรู้ที่มีทุกวันนี้อาจใช้ได้จริงแค่ราว 6 เดือนเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนในประเทศเพื่อนบ้านเห็นว่าความรู้ทุกวันนี้มีอายุสั้นลง และพวกเขาต้องเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา
นี่เป็นสิ่งที่ ดร.วิลาสินี ตั้งคำถามอย่างเป็นกังวลว่า เพราะเหตุใดเราจึงไม่ต้องเรียนรู้? เราไม่กระหายใคร่รู้ตั้งแต่เมื่อไรกัน?
ในฐานะผู้อำนวยการโทรทัศน์สาธารณะ เธอย้ำว่านี่คือเป้าประสงค์ขององค์กรที่ต้องการทำให้สื่อสารมวลชนในปัจจุบันไม่ใช่แค่การรายงานข่าวและเหตุการณ์ในสังคม ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงตลอดหรือที่เราเรียกกันว่าเป็นยุค disruptive world สื่อมวลชนต้องเขยิบตัวเองเพื่อสร้างและสนับสนุนให้คนลุกขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ เป็น inform citizen และท้ายที่สุด ต้องเป็นสื่อที่สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้ชมได้
ต่อประเด็นการเรียนรู้ท่ามกลางความหลากหลายและโลกที่เปลี่ยนเร็วในปัจจุบัน ดร.วิลาสินีให้ความเห็นว่าการศึกษา ไม่ว่าจะในรูปแบบใด การศึกษาในระบบหรือพื้นที่การเรียนรู้อื่นๆ อย่างเช่นสื่อสารมวลชน จำเป็นต้องทำให้ผู้เรียนเกิด soft skill อย่างการรู้จักตัวเอง การทำงานเป็นทีม การพัฒนาคน สำคัญที่สุด ดร.วิลาสีนีเห็นว่าต้องสร้างการเรียนรู้ในแง่ conceptual worker หมายถึง การเห็นภาพรวมทั้งหมด และรู้ว่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างไร
การ (สร้างการ) เรียนรู้ของเด็กๆ ที่ก้าวพลาด: การเรียนรู้ที่ไม่ควรถูกทำเฉพาะตอนปลายน้ำ
คุณทิชา หรือ ป้ามล มักพูดเสมอว่า เด็กที่อยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก – สถานควบคุมเยาวชนชายหลังคำพิพากษาที่ไร้กำแพง ไม่มียูนิฟอร์ม ไม่มีไม้กระบอง ไม่บังคับให้กราบกรานผู้คุม และอื่นๆ ที่คล้ายตรวนล่องหน – เป็นเยาวชนก้าวพลาดที่มาจากสังคมหักพังและระบบการศึกษาที่ล้มเหลว
แม้หลายคนจะบอกว่าเด็กที่อยู่ในสถานควบคุมยากจะกลับตัวหรือไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะกลับตัวและเรียนรู้ได้ แต่ ‘บ้านกาญจนาฯ’ ไม่เชื่อเช่นนั้น ภายใต้คำว่า ‘คุกเด็ก’ ที่นี่สร้างการเรียนรู้ให้เกิดในบ้าน เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ว่า ทุกคนพัฒนาและเรียนรู้ได้
ที่บ้านกาญจนาฯ ทุกวันเด็กๆ ต้องวิเคราะห์ข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือคลิปข่าว พวกเขาต้องดูหนังและวิเคราะห์ตัวละคร โดยหลายครั้งทีมงานตั้งใจเลือกประเด็นทั้งหนังและข่าวให้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุพาให้พวกเขาเข้ามาในบ้าน ปิดท้ายด้วยการเขียนไดอารีก่อนนอนทุกคืนว่าวันนี้พวกเขาทำอะไร และรู้สึกอย่างไรในแต่ละวัน
แค่เฉพาะ 3 ประเด็นข้างต้น นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ได้คิด (อย่างหนัก) วิเคราะห์ทุกเหลี่ยมมุมชีวิตและอธิบายออกมาอย่างเข้าอกเข้าใจ ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ที่ ‘ถูกออกแบบ’ ให้ผู้เรียนทำงานกับความคิดตัวเองอย่างหนัก หมดจด และชัดเจน
“มีครั้งหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยถึง ‘กรณีแพรวา’ เราให้เขาวิเคราะห์ข่าวนี้และนำไปสู่ประเด็นถกเถียงในบ้านอย่างจริงจังมาก เด็กคนนึงพูดเลยว่า ข่าวนี้ทำให้เค้าเข้าใจว่าแม้จะมีเงินทองแค่ไหนแต่ก็ซื้อสิทธิของคนไม่ได้ พอเด็กคนหนึ่งคิดได้ขนาดนี้ นั่นแปลว่าการก่ออาชญากรรมครั้งที่สองของเขาอาจถูกตัดออกไปจากความคิด แต่เป็นการตัดที่มาจากความเข้าใจของเขาเอง” ป้ามลกล่าว
ป้ามลย้ำว่า การออกแบบการเรียนรู้แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะที่บ้านกาญจนาฯ เพราะการทำงานทางความคิดในบ้านหลังนี้ย่อมเจอกับแรงเสียดทานทั้งจากตัวเองและสังคมที่มาก แต่หากโรงเรียนออกแบบการเรียนรู้ที่ที่ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง การเรียนรู้ที่เด็กไม่รู้สึกโง่ เป็นส่วนเกิน หรือรู้สึกว่าไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย การก้าวพลาดของเด็กในสังคมย่อมน้อยลง
การเรียนรู้ของนักจัดการเรียนรู้ พื้นที่ปลอดภัยที่หล่อเลี้ยงชีวิตและความสุขของผู้เรียน
ก่อนที่เจ้าบ้านอย่าง อ.อธิษฐาน์ หรือครูเปิ้ล จะพูดถึงบทบาทของนักจัดการศึกษา ครูเปิ้ลกล่าวต่อจากป้ามลว่า ไม่ใช่แค่เด็กในบ้านกาญจนาฯ ที่เป็นผู้แพ้ในระบบ แม้แต่เด็กที่ยังอยู่ในระบบโรงเรียนก็ยังแพ้เพราะการศึกษาที่เหลื่อมล้ำและสภาพความกดดันแข่งขันในสังคม และยังไม่ใช่แค่เด็กหรือผู้ปกครองที่อึดอัด แต่ตัวครูเองก็ทนไม่ไหวกับระบบที่รัดรึงและรุงรังเช่นนี้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นที่มาแห่งโจทย์ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ‘การเรียนรู้ที่มีค่า’ การบ่มเพาะบุคลากรนักออกแบบการเรียนที่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้ โรงเรียนก็ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะดำรงไว้ซึ่งความสร้างสรรค์ จินตนาการ ความกล้าหาญ ที่ติดตัวมากับเด็กทุกคนไว้ได้
ครูเปิ้ลเล่าว่า ที่ผ่านมาคณะฯ ไม่ได้ทำงานแค่ผลิตบัณฑิตในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ยังมีโครงการที่ทำงานกับเครือข่ายข้างนอก เช่น โครงการก่อการครู ที่ตั้งต้นด้วยความปรารถนาสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่สร้างสมรรถนะของครูและผู้เรียน แต่มุ่งไปสู่การพาคนกลับมาพบคุณค่าความหมายของตัวเอง และรู้ว่าคุณค่าและความหมายที่ตัวเองมีจะส่งต่อหรือสร้างสรรค์ให้ผู้อื่นอย่างไร
แต่ครูเปิ้ลย้ำว่าการจะทำทั้งหมดนี้ได้ ครูเองก็ต้อง ‘ส่งเสียง’ ได้อย่างเป็นอิสระ ซึ่งเท่ากับว่าโครงสร้างการศึกษาต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครูด้วยเช่นกัน
การเรียนรู้ของนักเขียน
ปิดท้ายด้วยคุณสราวุธ หรือ ‘นิ้วกลม’ ด้วยเรื่องเล่าเรื่องการเรียนรู้ของตัวเองตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน
เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่โตมากับการล่อหลอกให้ ‘กลัว’ ของครู เขาเคยกลัวการตอบคำถามผิดและรู้สึกว่าการเรียนรู้คือ ‘การเดาใจครู’ แต่วันหนึ่งในคาบศิลปะซึ่งเรียนกับครูฝึกสอน แม้ว่าคาบนั้นเพื่อนของเขาจะบอกว่าการลงสีของเขาจะไม่สวยและไม่เหมือนเพื่อน แต่ครูคนนั้นกลับไม่ว่าและบอกว่าเขาใช้วิธีเดียวกับ ‘ปิกัสโซ่’ เลย นั่นเป็นจังหวะแรกที่ทำให้เขายิ้มกริ่มและบอกตัวเองในใจว่า ‘ปิกัสโซ่นี่ใครวะ?’ แต่อย่างไรก็ตาม…
“การเรียนมันอิสระได้นะ และไม่จำเป็นต้องเดาใจครูเลย”
การเรียนรู้ฉบับเปลี่ยน ‘ความเข้าใจต่อการเรียนรู้’ ของเขายังมีอีกหลายเรื่องและหลายจุดเวลา เช่น การเข้าเป็นนิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่ทำให้ได้เรียนรู้ท่ามกลางบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์ การเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่ทำให้ได้พบหนังสือมากมายและทำให้เข้าใจว่า ‘ความจริงมีหลายรูปแบบ’ หรือ การเดินทางไปอินเดีย ที่ได้พบกับ รูป รส กลิ่น เสียง และชีวิตคนจริงๆ นั่นก็คือการเรียนรู้ให้หมกมุ่นกับตัวเองน้อยลงและอยู่กับชีวิตคนอื่นให้มากขึ้น และอีกหลากการเรียนรู้ แม้การจีบใครสักคนราว 7 ปีแต่ไม่ได้รับรักตอบ นี่ก็เป็นบทเรียนเรื่องการ ‘เปลี่ยน หรือ ไม่เปลี่ยนใจ’ ที่ทำให้อัตตาของเขาลดลง
ภายใต้เรื่องเล่าอบอุ่นและเคล้าเสียงหัวเราะ นิ้วกลมตบประเด็นการเรียนรู้ในความเห็นของเขาว่า เขาขอแยกการเรียนรู้อย่างหยาบเป็น 2 ประเด็น นั่นคือการเรียนรู้ที่มาจาก สมอง และการเรียนรู้ที่มาจาก หัวใจ
‘สมอง’ อาจทำให้เราหมกมุ่นและอยู่กับตัวเอง แต่ ‘หัวใจ’ ทำให้เราใจกว้าง เข้าใจและเห็นความทุกข์คนอื่น เมื่อเห็นความทุกคนอื่น อาจสะท้อนกลับให้เราเข้าใจความหมายของตัวเองเพื่อที่จะทบทวนว่าเราอาจใช้ความสามารถของตัวเองกลับไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น
ก่อนจะวางไมค์จริงๆ เขาเห็นว่าความน่าสนใจของการเรียนรู้คือเส้นบางๆ ระหว่าง ‘ความรู้’ กับ ‘ปัญญา’ ขึ้นอยู่กับใครจะให้น้ำหนักกับอะไร แต่เขาให้น้ำหนักคำหลัง หากการศึกษาที่สร้าง ‘ปัญญา’ ให้เกิดแก่มนุษย์ได้ เราคงเป็นคนที่มี ‘หัวใจ’ เข้าใจและใจกว้างที่จะใช้ปัญญาของเรากับผู้อื่นมากขึ้น