- โครงการ Word of the Week เป็นตัวอย่างโมเดลการเรียนการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่วิชาเรียนแต่ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีให้นักเรียนควบคู่กันไป
- ผู้ปกครองเป็นส่วนประกอบหลักในกระบวนการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก ความร่วมมือกับระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียนจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เกิดขึ้นได้จริงและรวดเร็วขึ้น
- นอกจากโรงเรียนและผู้ปกครองแล้ว ชุมชนก็ต้องสนับสนุนในแนวทางเดียวกันด้วย เพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่าพวกเขามีคุณค่ากับชุมชน ทำให้พวกเขารู้ว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของพวกเขาทั้งในโรงเรียนและในชีวิตจริง
ในปี 1989 โรงเรียนประถมศึกษาอัลเลน (Allen Elementary School) เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ (Dayton, Ohio) สหรัฐอเมริกา ได้รับการจัดอันดับการศึกษา วัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ลำดับที่ 28 จาก 33 โรงเรียนในเขตการศึกษา ติดอันดับโรงเรียนที่มีนักเรียนขาดเรียนสูงสุด มีนักเรียนกว่า 150 คนถูกรายงานความประพฤติ และนักเรียนที่ทำการบ้านส่งครูเป็นประจำมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องกุมขมับ แต่ผลลัพธ์ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลังโรงเรียนนำแนวคิดเรื่อง ‘การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education)’ มาใช้ เริ่มจากในโรงเรียน แล้วสร้างการมีส่วนร่วมไปถึงผู้ปกครองกับชุมชน
เดล เฟรเดอริค (Dale Frederick) เป็นผู้อำนวยการเขตโรงเรียน เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา หลายปีก่อนสมัยยังเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ที่นั่นเขาสังเกตเห็นผลลัพธ์เชิงบวกด้านการพัฒนาเด็กหลังโรงเรียนนำแนวคิดการสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงามซึ่งพัฒนาโดยบริษัทยัวร์ เอนไวรอลเมนท์ (Your Environment Inc.) มาใช้ บริษัทมีที่ตั้งอยู่ในเมืองกลาสพอร์ท (Glassport) รัฐเพนซิลเวเนีย
เฟรเดอริคประทับใจพัฒนาการของนักเรียน จากโรงเรียนหลายแห่งในเมืองเดย์ตันที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งด้านพฤติกรรม ด้านการเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน เขาจึงนำแนวคิดการสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงามนี้มาใช้พัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเมืองพิตต์สเบิร์กหลังจากย้ายมาเข้ารับตำแหน่งใหม่
ท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาไทยว่า บทบาทของโรงเรียนในปัจจุบันเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างพื้นที่เรียนรู้กับโรงงานผลิตเด็กลงแข่งขันในสนามสอบ
แวดวงการศึกษาระดับสากลก็กำลังตั้งคำถามเช่นกันว่า ครูมีหน้าที่แค่สอนหรือให้ความรู้เท่านั้นหรือ? บทบาทในการส่งเสริมให้เด็กเป็นคนดี…เป็นหน้าที่ของใคร? แล้วถ้าทำสองอย่างควบคู่กันไปจะได้ไหม?
สิ่งที่เฟรเดอริคริเริ่มในเขตการศึกษาของเขา แสดงให้เห็นว่า โรงเรียนมีส่วนช่วยและต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างเด็กให้เป็นคนดี ผ่านการบูรณาการความรู้และคุณธรรมจริยธรรมเข้ากับบทเรียนและการทำกิจกรรมในห้องเรียน
ให้เด็กได้คิดและฝึกฝนจนคุณลักษณะที่ดีหรือคาแรคเตอร์ที่ดีซึมซับไปอยู่ในตัวพวกเขา
การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม ทำอย่างไร?
แนวคิดนี้ทดลองใช้นำร่องในพิตต์สเบิร์กที่โรงเรียน โฮเรซ มันน์ (Horace Mann) ลิเบอร์ตี้อินเตอร์เนชันแนล (Liberty International) รีเจนท์ สแควร์ (Regent Square) เชฟเฟอร์ (Schaeffer) และ วูลสไลร์ ( Woolslair) ทั้งหมดเป็นโรงเรียนประถมที่ขึ้นอยู่กับโครงการ Word of the Week ภายใต้การดูแลของบริษัทยัวร์ เอนไวรอลเมนท์
ในแต่ละสัปดาห์โรงเรียนไฮไลท์คำที่เกี่ยวข้องกับคาแรคเตอร์ที่ดีขึ้นมาเป็นโจทย์ กิจกรรมในโรงเรียนและห้องเรียนจะมุ่งไปสู่การพัฒนาให้นักเรียนเข้าใจและพัฒนาคาแรคเตอร์นั้น
ครูทำหน้าที่เป็นผู้จัดสรรเวลา โดยมีคู่มือประกอบเป็นตัวช่วยให้ครูออกแบบกิจกรรมแต่ละวันได้ตามความเหมาะสม เป้าหมายคือ โอกาสในการหยิบยกคาแรคเตอร์ประจำสัปดาห์มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียน ให้ได้วันละ 10-15 นาที
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวหรือเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเกี่ยวข้องของคาแรคเตอร์กับตัวนักเรียน เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน คำแนะนำเพื่อสร้างวงสนทนาแลกเปลี่ยนในกลุ่มนักเรียน คำพูดสร้างแรงบันดาลใจ แนวทางการให้การบ้านหรือการทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน รวมทั้งคู่มือหนังสือที่เกี่ยวข้องสำหรับให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น
ที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ โปรแกรมเน้นย้ำว่า ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียนต้องมีความเข้าใจและนำวิธีการเหล่านี้มาใช้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดความสับสน
ดึงพ่อแม่มาช่วยปั้น
โครงการ Word of the Week ไม่ได้หยุดแค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้ปกครอง เพราะมองว่าผู้ปกครองเป็นส่วนประกอบหลักที่ขาดไม่ได้เลยในกระบวนการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก
ความร่วมมือของผู้ปกครองจะช่วยหนุนให้การทำกิจกรรมในโรงเรียนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เกิดขึ้นได้จริงและรวดเร็วขึ้น โครงการได้จัดโปรแกรมฝึกอบรมที่ออกแบบมาช่วยผู้ปกครองโดยเฉพาะ แต่ละครอบครัวจะได้รับหนังสือคู่มือพ่อแม่ที่ล้อไปกับคาแรคเตอร์แต่ละสัปดาห์ในโรงเรียน คำอธิบายถึงความหมายของคาแรคเตอร์ รวมทั้งเรื่องราว กิจกรรม และหัวข้อที่นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ในครอบครัว
ชุมชนต้องมีเอี่ยว
จุดที่โดดเด่นอีกจุดของโครงการ Word of the Week เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย คือ ความร่วมมือกันขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สื่อ การท่าเรือ เจ้าของสินค้าแบรนด์ท้องถิ่น และองค์กรปกครองท้องถิ่น
การท่าเรือมีส่วนร่วมด้วยการช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ Word of the Week บนบัตรโดยสารของรถประจำทาง สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ท้องถิ่น หยิบยกการทำงานของโครงการไปพูดถึง แม้แต่นมยี่ห้อชไนเดอร์ (Schneider) ผลิตภัณฑ์นมของเมืองก็ยังมีการโฆษณาเรื่องนี้ด้านข้างกล่อง ทีมเบสบอลพิตต์สเบิร์ก ไพเรตส์ (Pittsburgh Pirates) เข้าไปเยี่ยมนักเรียนและพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างคาแรคเตอร์แบบตัวต่อตัว
ทั้งหมดนี้เพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่าพวกเขาได้รับความรักและมีคุณค่ากับชุมชน ทำให้พวกเขารู้ว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของพวกเขาทั้งในโรงเรียนและในชีวิตจริง
สำหรับโครงการ Word of the Week ที่เฟรเดอริคนำมาริเริ่มในเมืองพิตต์สเบิร์ก อาจยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนอย่างชัดเจนนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปต้นทางที่โรงเรียนประถมศึกษาอัลเลน เมืองดาร์ตัน สถานที่จุดประกายความคิดของเขา ในปี 1995 โรงเรียนประถมศึกษาอัลเลน สอบวัดมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้เป็นลำดับหนึ่งในเขตการศึกษา สถิตินักเรียนขาดเรียนลดลงต่ำสุดในเขต มีนักเรียนแค่ 8 คนเท่านั้น จากเดิม 150 คนที่ถูกรายงานความประพฤติ และมีนักเรียน 87 เปอร์เซ็นต์ ทำการบ้านส่งครูเป็นประจำ
โครงการ Word of the Week เป็นตัวอย่างโมเดลการเรียนการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่วิชาเรียนแต่ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีให้นักเรียนควบคู่กันไป กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกจากสร้างคาแรคเตอร์ที่ดีให้นักเรียนแล้ว ยังมีผลต่อผลการเรียน และพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดว่านักเรียนมีระเบียบวินัยและปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน
ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในเชิงปฏิบัติมากกว่าแค่การรับรู้ ครูมีกำลังใจในการทำงานเนื่องจากเห็นผลลัพธ์ด้านพัฒนาการของนักเรียน จากการประเมินพบว่าการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งหมดนี้ ทำให้นักเรียนมีความเสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการใช้ความรุนแรงน้อยลง
ไม่มีใครปฏิเสธว่าโรงเรียนเป็นสถานศึกษา บทบาทหน้าที่หลักของโรงเรียนคือการให้ความรู้แก่นักเรียน แต่โรงเรียนไม่ใช่โรงงานผลิตเด็กเข้าลงแข่งในสนามสอบ โรงเรียนไม่ใช่โรงงานสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ระบบประมวลผลลอกเลียนแบบจากสมอง แต่ไม่ได้ใช้หัวใจในการดำรงชีวิต
สังคมโลกยังคงต้องการคนเก่ง มีความสามารถและมีความดีงามอยู่ในตัว เพราะความดีงามจะช่วยให้มนุษย์ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นจะปั้นเด็กทั้งทีมาปั้นให้เด็กทั้งเก่งและดีกันเถอะ…
“Academics is the cornerstone of education, but character is the building block of life.”
Dale Frederick, District Superintendent of Schools, Pittsburgh, Pennsylvania
“วิชาการเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษา แต่คาแรคเตอร์เป็นก้อนอิฐในการสร้างชีวิต”
เดล เฟรเดอริค ผู้อำนวยการเขตโรงเรียน เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา กล่าว