Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Adolescent Brain
21 June 2021

ความรู้และทักษะแบบไหนที่เด็กยุคดิสรัปชันควรเติมก่อนโต พร้อมวิธีฝึกผ่านการทำกิจกรรมในครอบครัว

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ อัคคเดช ดลสุข

  • เด็กรุ่นใหม่ยังจำเป็นต้องมี “ความรู้พื้นฐาน” ที่ดีพอ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะไม่โดนหลอกในเรื่องง่ายๆ รวมไปถึงการรู้ภาษาที่ 2 หรือ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาษาสหประชาชาติ” ที่ครอบคลุมผู้คนจำนวนมาก
  • ทักษะแบบอ่อนหยุ่น (soft skill) มีความจำเป็นมากขึ้น ยกตัวอย่าง ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการทำงานเป็นทีม สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี มีอีคิวสูง รวมไปถึงรู้วิธีการควบคุมและจัดการเวลาของตัวเอง 
  • ทักษะที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ทักษะการคิดแบบต่างๆ ทั้งคิดแก้โจทย์ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน การมีความคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการคิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ในการหาคำตอบในมุมมองใหม่ๆ และสุดท้ายต้องเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา  
  • นอกจาก “ความรู้” ต่างๆ แล้ว เด็กๆ ควรจะรู้วิธีการพักผ่อนหย่อนใจที่เหมาะกับตัวเอง มีงานอดิเรก และมีการออกกำลังกายที่เหมาะกับนิสัยทำอย่างสม่ำเสมอ มีกีฬาและดนตรีที่ชอบและอย่างน้อยพอเล่นได้

ในวงการศึกษามีการพูดคุยถกเถียงกันมาหลายปีแล้วว่า ท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลัง “ดิสรัป” เปลี่ยนแปลงโลกแบบไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม เรามีอะไรสอนเด็กๆ ของเราได้บ้าง เหลืออะไรที่เราจะพอมั่นใจได้ว่าเรียนไปไม่เสียเวลาเปล่า เสียทรัพยากรเปล่า? 

คำถามทำนองนี้ถือว่ายากมากๆ นะครับ เพราะปัญหาที่เราเผชิญอยู่ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหม่เอี่ยมไม่เคยต้องเผชิญมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ดังนั้นไม่ว่าคำแนะนำใดก็ตาม ก็คงต้องรอคอยดูผลว่าจะได้ตามที่คาดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข้อสรุปบางอย่างที่ไม่น่าจะผิด เรื่องแรกคือความจำเป็นที่ต้องเรียนทักษะแบบแข็งตัว (hard skill) น่าจะจำกัดเหลืออยู่ในอาชีพเฉพาะอย่าง (โดยเฉพาะพวกที่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพหรือต้องการความรู้เฉพาะทางมากๆ) ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ 

กระนั้นก็ตามเด็กรุ่นใหม่ยังจำเป็นต้องมี “ความรู้พื้นฐาน” ที่ดีพอ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะไม่โดนหลอกในเรื่องง่ายๆ เช่น การจะฆ่าไวรัสนั้นไม่น่าจะมี “อุปกรณ์ห้อยคอ” รูปแบบต่างๆ ที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะอ้างว่าใช้แสงยูวี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือประจุไฟฟ้า ก็ตาม

สำหรับคณิตศาสตร์ก็เช่นกัน การลงทุนโดยซื้อหุ้นหรือสมัครสมาชิกแล้วได้ปันผลหรือเงินคืนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อเดือนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียทีเดียว คณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษายืนยันเรื่องนี้กับเราได้ ถ้าเราไม่โลภจนเกินไป เพื่อยืนยันเรื่องนี้ จะขอยกข้อมูลผลกำไรเฉลี่ย (ตัวเลขในวงเล็บ) เทียบกับรายได้ทั้งหมดของบางอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา [1] 

โดยคิดจากฐานข้อมูลในปี ค.ศ. 2018 ดังนี้ ก่อสร้าง (5%) ค้าปลีก (5%) โรงแรมและที่พัก (8%) ซ่อมรถยนต์ (12%) ภัตตาคาร (15%) และการขนส่ง (19%) จะเห็นได้ว่า หากคิดกำไรต่อเดือนแล้วยังแค่ไม่ถึง 1% หรือเกิน 1% มาก็เล็กน้อยเท่านั้น  

มีตัวอย่างเรื่องทำนองนี้ให้ยกได้อีกมากมายไม่จบสิ้น (โอกาสถูกหวย, โอกาสถูกฟ้าผ่าหรือเครื่องบินตก, อันตรายจากยาคุมกำเนิดหรือการสูบบุหรี่ ฯลฯ) 

พื้นฐานความรู้แบบนี้บางครั้งก็จำเป็นระดับที่ช่วยให้รอดชีวิตได้ทีเดียว เช่น เมื่อมีผู้โดนฟ้าผ่าก็ไม่มัวเสียเวลาหาแผ่นสังกะสีมารองตัวผู้ป่วยหรือหาทรายมากลบเพื่อลดประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ หรือการรู้จักการปฐมพยาบาล การทำซีพีอาร์  

นอกจากเรื่องความรู้พื้นฐาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์) แล้ว การรู้ภาษาที่ 2 หรือ 3 หรือมากกว่านั้นก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีอย่าง “แอปกูเกิลทรานสเลต” ที่ช่วยแปลเนื้อหาต่างๆ ให้ หรือมีเครื่องแปลภาษาวางขายบ้างแล้ว แต่การรู้ภาษาอื่นดีพอจะสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ก็มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาษาสหประชาชาติ” ที่ครอบคลุมผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจต่างๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีมาก 

ในอีกด้านหนึ่ง ทักษะแบบอ่อนหยุ่น (soft skill) น่าจะมีความจำเป็นมากขึ้น ทักษะกลุ่มนี้อาจมองรวมๆ ได้ว่าเป็นทักษะในการใช้ชีวิตแบบเป็นหมู่เหล่าหรือเพื่อเข้าสังคม ยกตัวอย่าง ความสามารถในการสื่อสาร (รวมทั้งการฟังและจับใจความอย่างตั้งใจ) ความสามารถในการทำงานเป็นทีม สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี มีอีคิวสูง รวมไปถึงรู้วิธีการควบคุมและจัดการเวลาของตัวเอง 

นอกจากนี้ก็ยังมีความสามารถในการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การมีความสามารถในการจูงใจตัวเอง รู้จักบังคับตัวเองให้ทำตามแผนเพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายทั้งในเรื่องที่ชอบหรือไม่ชอบ

ทักษะแบบยืดหยุ่นที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ การใช้ทักษะการคิดแบบต่างๆ ทั้งคิดแก้โจทย์ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน การมีความคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการคิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ในการหาคำตอบในมุมมองใหม่ๆ และสุดท้ายต้องเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ต้องรู้จักแก้ไขสิ่งที่เรียนมาอย่างผิดๆ หรือความรู้ที่ล้าสมัยที่เรียกว่า อันเลิร์น (unlearn) และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จำเป็นเพื่อแทนที่ความรู้เดิมที่ล้าสมัยใช้การไม่ได้ไปแล้วที่เรียกว่า รีเลิร์น (relearn)     

นอกจาก “ความรู้” ต่างๆ ที่ว่าไปแล้ว ยังต้องรู้วิธีการจัดการกับร่างกายและจิตใจด้วยนะครับ 

เด็กๆ ควรจะรู้วิธีการพักผ่อนหย่อนใจที่เหมาะกับตัวเอง มีงานอดิเรก และมีการออกกำลังกายที่เหมาะกับนิสัยทำอย่างสม่ำเสมอ มีกีฬาและดนตรีที่ชอบและอย่างน้อยพอเล่นได้  

อธิบายมาทั้งหมดนี้ ฟังดูเป็น “ทฤษฎี” มากๆ อาจมีผู้ปกครองที่สงสัยว่า แล้วจะ “ฝึกอย่างไร” กันล่ะ มีวิธีการหรือคู่มือ ทำนองเดียวกับสูตรทำอาหารหรือไม่? จะบอกว่าพอมีก็คงได้ครับ แต่เป็นตำราอาหารแบบไทยนะครับ ไม่ใช่ตำราแบบฝรั่งคือ จะบอกว่าต้องใส่ไอ้นั่น “จำนวนหนึ่ง” ไอ้นี่ “ตามเหมาะสม” และไอ้โน่น “ตามใจชอบ” ไม่ใช่ใส่อันนั้นกี่กรัม อันนี้กี่ขีดแบบตำราฝรั่ง

มาดูตัวอย่างวิธีฝึกทักษะการคิดหลายๆ แบบที่มีคนทดลองทำกันและพบว่าได้ผลดีนะครับ [2]  

ทักษะแรกการฝึกแก้ปัญหา (problem-solving) สิ่งที่เด็กๆ ควรจะมีก็คือ ความสามารถในการสังเกต วิเคราะห์ และหาคำตอบ สำหรับคำถามหรือโจทย์ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เจฟฟ์ ชาร์บอนนัว (Jeff Chabonneau) ครูแห่งปี 2013 ของสหรัฐแนะนำว่า “ต้องทำให้เด็กๆ ตั้งคำถาม “ทำไม?” และ “อะไรจะเกิดขึ้นถ้า (what if?) ให้ได้ และต้องคิดอย่างรอบด้านด้วย” 

ตัวอย่างการฝึกหรือกระตุ้นคือ วิธีแรกให้เปลี่ยนจากคำถามเป็นโครงการ (วิจัย) เช่น หากลูกเกิดสงสัยว่า ทำไมจึงเกิดสิว? ทำไมวัยรุ่นเป็นสิวมากกว่าผู้ใหญ่? แทนที่คุณจะเฉลยด้วยคำอธิบายที่ค้นเจอในกูเกิลหรือที่รู้อยู่แล้ว ลองกระตุ้นให้เขาหรือเธอตั้งทฤษฎีขึ้นมาอธิบายก่อน จากนั้นจึงลองค้นข้อมูลดูว่าที่ทายไว้ถูกต้องหรือไม่ 

เมื่ออ่านทำความเข้าใจแล้ว ลองให้เด็กๆ อธิบายให้คุณฟังตามความเข้าใจของพวกเขา ด้วยวิธีการเช่นนี้ เด็กๆ จะเข้าใจวิธีตั้งสมมุติฐาน หาข้อมูล สรุปใจความสำคัญ และเล่าเรื่องสื่อสารได้  

วิธีฝึกแบบที่สองเป็นการฝึกสร้างภาพ 3 มิติในหัว 

ในการเรียนแบบสะเต็ม (STEM) ที่มีคณิตศาสตร์เป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่ง (ตัว M หรือ Mathematics) นอกจากการบวกลบคูณหารยกกำลังที่เป็นความรู้พื้นฐานสำคัญที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยที่สุดแล้ว ก็มีการวาดภาพในหัวแบบนี้แหละที่สำคัญรองลงมา 

หลายคนอาจไม่รู้ว่าการคิดจินตนาการภาพเป็น 3 มิติแบบนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเราตั้งแต่การเลือกเส้นทางการเดินทางไปยังเป้าหมาย การเรียนเรื่องแผนที่และภูมิศาสตร์ ไปจนถึงการใช้ในงานสาขาอาชีพสถาปัตยกรรม การผ่าตัด หรือแม้แต่การออกแบบแฟชั่น ฯลฯ!

การฝึกทักษะแบบนี้ก็มีตั้งแต่การให้เล่นตัวต่อ 3 มิติ ซึ่งแน่นอนว่าที่ดังที่สุดย่อมต้องเป็นตัวต่อเลโก้ การให้เด็กๆ ออกแบบและปั้นตามแบบด้วยดินน้ำมันก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง การให้ลองหยุดใช้กูเกิลแมปสักวัน แล้วเดินทางด้วยแผนที่ในสมอง ก็เป็นการทดลองที่กระตุ้นการใช้ความคิดแบบนี้เช่นกัน 

วิดีโอเกมแบบสร้างเมืองแบบ 3 มิติก็ไม่เลวเช่นกัน 

หากเป็นเด็กเล็ก เช่น อายุ 3-4 ขวบ ก็อาจดัดแปลงวิธีการสร้างภาพ 3 มิติในหัว โดยทำให้เป็นเกมล่าสมบัติได้ [3] โดยการวางแผนที่แบบง่ายๆ เพื่อให้เด็กๆ ไปตามหาสมบัติดังกล่าว เกมนี้คุณพ่อคุณแม่อาจต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าสักเล็กน้อย เช่น การนำตุ๊กตาหมีไปแอบไว้ที่มุมสวนหลังบ้านหรือในตู้กับข่าว 

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยอาจพาไปตามพิพิธภัณฑ์หรือสวนสัตว์ แล้วให้เด็กดูแผนที่เองและสมมุติตัวเองเป็นไกด์นำทาง อ่านแผนที่และพาคุณพ่อคุณแม่ไปยังกรงลิงหรือห้องอวกาศ ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนุกไม่น้อยเช่นกัน 

ที่ว่ามาเป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยที่ทำได้เท่านั้น ท่านที่อยากได้ตัวอย่างเพิ่ม ลองดูในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 2 และ 3 นะครับ แต่ผมว่าพ่อแม่หรือครูที่ช่างคิดและช่างสังเกตอาจคิดและใช้เกมหรือการละเล่นต่างๆ เป็นตัวสร้างอุปนิสัยที่น่าปรารถนาและมีประโยชน์สำหรับลูกได้ 

คีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับการสร้าง “ทักษะ” ที่จำเป็นในยุคที่ความรู้เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงอาจจะสรุปได้ว่าเป็นการฝึกคิดและฝึกการสื่อสารผ่านทางการเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในครอบครัวนั่นเอง

อ้างอิง

[1] https://www.caminofinancial.com/profit-margin-by-industry/ 

[2] https://www.scholastic.com/parents/family-life/creativity-and-critical-thinking/learning-skills-for-kids/6-life-skills-kids-need-future.html  

[3] https://www.parents.com/parenting/better-parenting/advice/10-life-skills-to-teach-your-child-by-age-10/

Tags:

ภาษาทักษะแบบอ่อนหยุ่น (soft skill)ความรู้พื้นฐานเด็กยุคดิสครัปชันทักษะการฝึกแก้ปัญหา (problem-solving)

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

อัคคเดช ดลสุข

Related Posts

  • 041-Novels & Poems-nologo
    Character building
    อ่านนิยาย ร่ายบทกวี ไม่มีเสียเปล่า

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • How to enjoy life
    อ่านอะไร อ่านเท่าไร อ่านอย่างไร: วิธีสะสมต้นทุนชีวิตด้วยหนังสือ

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Space
    Civilization: เรียนสังคมและประวัติศาสตร์ด้วยเกม

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Space
    ‘ปีนป่าย ข้ามน้ำ มุดอุโมงค์’ ค่ายเยาวชนที่ออกแบบ Soft Skill ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นและอยู่ร่วมกัน: ดร.เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • 21st Century skills
    พลังแห่ง Soft Skill ทักษะที่จะช่วยให้เด็กเข้าใกล้ความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel