- ครูเองก็หมดไฟ เด็กก็ไม่ฟัง แถมหลายๆ ครั้งพวกเขาส่งเสียงว่า ‘ก็ห้องเรียนมันไม่สนุก’ นี่แค่ปัญหาก้อนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับครู แต่เกิดจริงหลากหลายห้องเรียน
- “หลายครั้งที่ครูปฏิบัติกับผู้เรียนแบบที่ ‘เธอไม่รู้หรอก ชั้นรู้ดีกว่า’ เราไม่ฟังเขามากพอ มันเลยเกิดความขัดแย้ง”
- อาจารย์เปิ้ล-อธิษฐาน์ คงทรัพย์ หัวหน้าโครงการก่อการครูชวนครูกลับมาดูแลหัวใจตัวเองและลูกศิษย์ ด้วยเทคนิคง่ายๆ แต่ทรงพลัง แค่นั่งตรงนั้นเพื่อ ‘ฟังอย่างลึกซึ้ง’ และ ‘ตั้งคำถามไม่รู้จบ’ การเปลี่ยนแปลงระดับลึกก็จะตามมา
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
แค่เอ่ยคำว่า ‘ครู’ หลายคนถึงกับเสียววาบที่สะโพก เสียงหวดไม้เรียวดังขวับขึ้นที่หู ภาพครูไหวใจร้ายปรากฏขึ้นเหมือนฝันกลางวัน ความหมายของครูจึงไม่ใช่แค่ ‘ผู้สอน ผู้ถ่ายทอดความรู้’ แต่นัยหนึ่ง มันให้ความรู้สึกเสียวๆ ทรงอำนาจ นักเรียนต้องเกรงกลัว
ว่ากันตรงๆ เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร ถ้าบรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ตั้งแง่ ไม่เคารพกัน หรือบางครั้ง (มันมีจริงๆ นะ) ลุกลามไปจนถึงความเกลียดชังเคียดแค้นครูบางคน แทนที่ห้องเรียนจะเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา กลับเป็นห้องเรียนที่มีแต่กองเพลิง
อาจจะดู ‘เว่อร์’ ไปนิด แต่เรื่องเล็กน้อยมหาศาลแบบนี้ เกี่ยวพันกับความอยากรู้อยากเรียน พฤติกรรมนักเรียน และการเติบโตของเด็กจริงๆ นะ
ทั้งหมดนี้คือจุดประสงค์หนึ่งของ ‘โครงการก่อการครู’ กลุ่มนักการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงโดยมีเจ้าภาพทางวิชาการคือ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ต้องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ สร้างครูแกนนำที่เปลี่ยนแล้ว ให้กลับไปทำงานต่อในพื้นที่ เพื่อเขย่า ‘กรอบคิด’ ว่าครูคือผู้ถือไม้เรียวอันศักดิ์สิทธิ์หน้ากระดานดำ ไปเป็น ครูก็คือมนุษย์ ที่ทำงานกับมนุษย์ในด้านการศึกษา
ท่ามกลางการทำงานเชิงประเด็นที่หลากหลายของก่อการครู The Potential ชวน อาจารย์เปิ้ล-อธิษฐาน์ คงทรัพย์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. และหัวหน้าโครงการก่อการครู พูดคุยประเด็น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ และทำไม ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ และ ‘การตั้งคำถามไม่รู้จบ’ จึงเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก และการเปลี่ยนอย่างน้อยนิดแต่มหาศาลมันคืออะไร
ในคนทำงาน ‘ก่อการครู’ มีความชอบและวิธีทำงานไม่เหมือนกัน แต่เฉพาะตัวครูเปิ้ลสนใจเรื่องการโค้ชของครู ทำไมต้องเป็นเรื่องนี้
เราสนใจเรื่องการทำงานกับคน การสร้างการเติบโตให้กับคน ก่อนหน้านี้ก็ไปศึกษาเครื่องมือหลายชิ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารอย่างสันติ การบำบัดในแบบต่างๆ แล้วก็มาพบว่า โค้ชเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างหนึ่ง การทำงานของโค้ชไม่ได้ทำงานแค่ตัวทักษะ แต่ทำงานกับความเชื่อข้างใน ความเชื่อพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ มีปัญญา หน้าที่ของโค้ชคือการไปตั้งคำถาม เพื่อให้เจ้าตัวกลับไป connect หรือเห็นปัญญาที่มีแล้วหามันออกมาได้ด้วยตัวเอง
เรารู้สึกว่าเครื่องมือนี้มันทรงพลังมาก เริ่มจากพื้นฐานการเคารพคน เคารพตัวเอง ไว้วางใจคน ไว้วางใจตัวเอง ซึ่งถ้าครูเห็นตรงนี้ ครูจะทำงานได้อย่าง… เขาเรียกว่าอะไร (นิ่งคิด) มันจะมีความสุขขึ้น เพราะครูจะไม่ได้มองว่าเด็กโง่ หรือเด็กไม่รู้ แต่วางใจว่าเด็กทุกคนมีปัญญาภายใน เด็กอาจไม่รู้ข้อมูลบางอย่าง แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะเดี๋ยวนี้การค้นหาคำตอบมันมีอยู่ทั่วไป
แต่ความเชื่อนี้มันสำคัญมากๆ เวลาที่ครูเห็นเด็กคนหนึ่งแล้วมองเด็กคนนั้นด้วยความมั่นใจว่า “เธอน่ะ มีศักยภาพนะ ครูรู้ว่าเธอมีความสามารถ” มันช่วยให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงมากกว่าการมองแบบตัดสิน
ความสัมพันธ์ หรือการเห็นศักยภาพ สำคัญอย่างไรกับการเติบโตของเด็ก
สำคัญมาก มันเป็นจุดเปลี่ยนหลายอย่างในชั้นเรียน ยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นที่เข้าไปวิจัยผลการสอบของเด็กแล้วพบว่าโรงเรียนต่างจังหวัดโรงเรียนหนึ่ง ทำไมผลสอบจึงดีกว่าที่อื่น พอเข้าไปศึกษาจริงๆ พบว่า เพราะครูในโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ กับเด็ก ดูแลใส่ใจ ให้การสนับสนุนเต็มที่ พอความสัมพันธ์เปลี่ยน เขาก็มีความกระหายอยากจะเติบโต นั่นคืออย่างหนึ่ง
แต่ที่เจอในชั้นเรียนตัวเองคือนักศึกษาปริญญาตรีและโท พบว่าเด็กหรือนักศึกษา เวลาที่เขาเรียนรู้ ถ้าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เขาจะไม่รู้สึกว่าเขาถูกรับฟัง มองเห็น หรือได้ยิน เขาจะหดตัว ไม่กล้าเอาศักยภาพข้างในของตัวเองออกมา ไม่กล้าตอบคำถามครู กลัวผิด กลัวถูกทำโทษ ถูกมอง ถูกล้อเลียน
แต่ถ้าเขาเห็นว่านี่คือพื้นที่แห่งการรับฟัง เป็นที่ให้เขากล้าลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากการทำผิดถูกไปด้วยกันกับเพื่อน ความสัมพันธ์ที่เคารพและไว้วางใจกันตรงนี้จะช่วยให้เขาเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่กับครู แต่เป็นเรียนรู้ระหว่างกันและกันเอง
เรายังพบว่าถ้าครูสร้าง space ให้เกิดขึ้นได้ เขาจะไม่เหนื่อยเลย เพราะเพื่อนในชั้นเรียนจะช่วยหนุนเสริมกันให้ทุกคนได้เรียนรู้ เสียงสะท้อนหนึ่งจากนักเรียนคือ เขาพบว่าทุกคนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่าง มนุษย์มีความหลากหลาย เราบังคับให้คนทุกคนคิดเหมือนกันไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากความแตกต่างของเพื่อนและทำให้เขาอ่อนน้อมถ่อมตนขึ้น ขณะเดียวกันก็ใส่ใจกับผู้คนมากขึ้น ยังคงมี passion ที่แต่ละคนจะเติบโตในวิถีของตัวเอง
ครูจะมีสายตาแบบนั้น ต้องมีเครื่องมือหรือต้องคิดอย่างไร
ครูต้องเห็นตัวเองก่อน เห็นว่าเขาเองก็มีศักยภาพเหมือนกัน ในกระบวนการโค้ชที่เราใช้ จะเน้นประสบการณ์ตรง (experiential learning) คือเขาต้องทำ ต้องมีประสบการณ์จริง นาทีที่เขาเจอคำถามที่ทรงพลังแล้วพาให้เขากลับไปเจอคำตอบข้างในตัวเอง มันจะเจ๋งขนาดไหน ทำให้เขามั่นใจว่าไม่ว่าปัญหาข้างหน้ามันจะดูยากหรือมองไม่เห็นทางออก ถ้าเรามีความสามารถจะ ‘ฟัง’ ได้เพียงพอ และมี ‘คำถาม’ ที่ดีพอ มันจะช่วยให้เขาเจอคำตอบตรงนี้ได้
กล่าวได้มั้ยว่า เครื่องมือหนึ่งคือ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ และ ‘การตั้งคำถามไม่รู้จบ’
ถือเป็นเครื่องมือได้ แต่จริงๆ ทักษะของโค้ชมีมากกว่านั้น และแต่ละสำนักก็มีเครื่องมือเป็นของตัวเอง แต่โดยระดับพื้นฐานร่วมก็คือการฟังและตั้งคำถาม และจะเป็นพื้นฐานที่จะอยู่ไปตลอด แต่อีกอย่างคือการ acknowledge หรือการเห็นคุณค่าและจุดแข็งในตัวคนคนนั้น จนสามารถบอกออกมาได้ว่าจุดแข็งของเขาคืออะไร และก็ท้าทายให้เขาไปที่เส้นขอบความสามารถและการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ด้วย
เพราะถ้าเราเติบโตอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก็จะไม่ค่อยโต เราต้องผลักเขาไปที่ขอบให้ได้ แต่มันจะมีสกิลอยู่ว่าคุณจะผลักเขายังไงโดยไม่ทำให้เขารู้สึกตื่นกลัวและวิ่งหนีไป แต่ค่อยๆ พาเขาไปที่ขอบการเรียนรู้ของเขา
ทำไมเครื่องมือสำคัญของการเป็นโค้ช เป็นครู คือ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ และ ‘การตั้งคำถาม’ ทั้งๆ ที่มันเป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ปัญหาเดิมของครู หรือการเรียนการสอนในห้องเรียนคืออะไร
เราพบว่าครูส่วนใหญ่ถูกฝึกมาในระบบที่ว่า ครูต้องเป็นผู้บอก ผู้สอน ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร คำว่าครูคือผู้บอก ผู้สอน เราจะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้แต่มันก็คงมีหลายนิยาม แต่มุมหนึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ คือ
ครูมักคิดว่าคนตรงหน้าไม่รู้ ครูต้องรู้มากกว่า ต้องบอกเขา มันมีลักษณะของความไม่เท่าเทียมกันอยู่ หลายครั้งที่ครูปฏิบัติกับผู้เรียนในแบบที่ “เธอไม่รู้หรอก ชั้นรู้ดีกว่า” เราไม่ฟังเขามากพอ มันเลยเกิดความขัดแย้ง
ทั้งที่การบอกการสอนแบบเดิมอาจจะไม่เวิร์คกับผู้เรียนหรือการเรียนรู้ในปัจจุบันนี้แล้วก็ได้ เคยเจอเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาบางคนมาบอกว่า สิ่งที่เรียนอยู่ในห้องเรียน ที่จริงแล้วเขารู้มากกว่านั้นอีก แต่เข้าห้องเรียนไปอย่างนั้นหรือเข้าไปเพื่อเก็บเกรด การเข้าห้องเรียนอาจไม่ได้มีความหมายอะไร เดี๋ยวนี้เขาหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง บางทีอาจรู้มากกว่าครูผู้สอนอีก เราก็แบบ… เออ ก็จริงนะ ถ้าไปคุยกับเด็กที่สนใจเรื่องบางเรื่องอย่างจริงจัง เขารู้ลึก รู้มากกว่าเรา เก่งกว่าเราอีก
แต่สิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ คือคนที่ตั้งคำถาม กระตุ้น จุดประกายเขาเพื่อไปแสวงหาความรู้เหล่านั้นต่อได้ด้วยตัวเอง มันจะเป็นการเดินทางของการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ครูไม่ต้องเหนื่อยไปบอกไปสอนแล้วกลับมาบ่นว่า ทำไมเด็กไม่ฟัง
เพราะเด็กก็ไม่อยากจะฟังการสั่งการสอน ถามว่าถ้ามีคนมาสั่งมาสอนตัวครู ครูก็ไม่ชอบ แต่ถ้ามีคนเข้ามานั่งฟังคุณและตั้งคำถามอย่างเคารพและไว้วางใจว่า คุณมีศักยภาพเพียงพอที่คุณจะหาคำตอบด้วยตัวเอง มันเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ก่อการครู สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มาจากการฟังและตั้งคำถามอย่างไร
มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ชวนให้เขากลับมาสำรวจตัวเองว่าเขาคือใคร เป็นวงให้ได้ฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง มีบางกิจกรรมที่ไปเขย่าเรื่องคุณค่า บางคนทำงานอย่างอัตโนมัติแต่ไม่เคยกลับมาดูว่าที่เขาเลือกหรือทำแบบนั้น จริงๆ แล้วเขากำลังตอบโจทย์คุณค่าบางอย่างในตัวเองอยู่ พอได้มาเจอก็ อ้าว… ตายแล้ว ชั้นเชื่อเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่เคยรู้ว่าที่ทำไปเพราะเชื่อเรื่องนี้ เหมือนกับการตระหนักรู้ พอตระหนักรู้ว่าทำไปทำไม เพราะอะไร มันตัดสินใจเลือกได้ ว่าเขาอยากจะเลือกมั้ย
อย่างแรกเราจะเชื้อเชิญให้คุณครูได้มารู้จักการฟังก่อน การฟังมีหลายระดับมาก ให้ครูเห็นว่าการฟังแต่ละระดับมันส่งผลกระทบกับตัวผู้ที่ถูกรับฟังอย่างไร และส่งต่อคนที่รับฟังอย่างไร เราจะพาเขาเดินทางไปสำรวจวิธีการแบบนั้น หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ให้เครื่องมือ ให้รู้จักกรอบคิด (mindset) ของการโค้ช คนที่ทำโค้ชชิ่งแล้วมีพลัง เขามีพลังหรือความเชื่อเบื้องลึกว่าอย่างไร ต่อให้คนคนนั้นไม่ได้พูดหรือตั้งคำถามอะไร แค่อยู่ตรงนั้นด้วยความเชื่อแบบนั้นจริงๆ แล้วดูว่ามันส่งผลต่อคนข้างหน้าอย่างไรบ้าง จากนั้นอาจจะมีเครื่องมือการตั้งคำถามแบบต่างๆ ให้ได้ลองฝึก มีทักษะพื้นฐานประมาณ 4-5 อย่างให้ได้ลองทำ เช่น การรักษาความเงียบ การใช้ภาพอุปมาอุปไมย การใช้การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณ (intuition) การสะท้อนคิด และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าภายในคนคนนั้น
ครูก็จะได้ฝึกกับเพื่อนที่มาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน ฝึกเป็นคู่ เป็นกลุ่ม แล้วแต่ว่ากิจกรรมมันคืออะไร สิ่งที่เราเจอคือ พอได้ฝึก ได้เปิดใจที่จะคุย มิตรภาพมันเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ต้องไปบังคับว่าคุณคือเพื่อนกันนะ แต่การที่พาให้เขาได้มานั่งทำงานด้วยกัน ก็คือการกลับไปสร้างคุณค่าในตัวนั่นแหละ คือการสร้างพื้นฐานความไว้วางใจอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ
เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเด็กและครูบ้าง
ครูจำนวน 84 คนที่ผ่านโมดูล 1 ไป สะท้อนว่าอยากจะกลับไปเปลี่ยนชั้นเรียนตัวเอง ทั้งที่เขายังไม่ได้มีเครื่องมืออื่นเลยนะ นี่แค่เครื่องมือเดียวที่ได้มาเจอตัวเอง มาฟัง มาพบสิ่งที่อยู่ข้างในตัว แค่นั้นเอง เขาบอกว่าอยากจะกลับไปฟังเด็กมากขึ้น อยากสร้างชั้นเรียนที่ทำให้เด็กๆ ได้มาเจอสิ่งที่เขาเจอด้วย
ครูที่มาแปดสิบกว่าคนวันนั้นพลังดีมาก (เน้นเสียง) คืนแรกที่มาอาจจะแบบ “อะไรนี่ โครงการนี้” บางคนสมัครเพราะเพื่อนชวน กลัวว่าจะเป็นการอบรมแบบเดิมมั้ย เพราะเขาก็ถูกอบรมกันมาจนเกรียมละ หลายๆ คน ได้ยินการอบรมนี่เป็นอะไรที่เบื่อมาก แต่วันที่สอง ที่สาม โห… พลังในห้องเปลี่ยนไปเลย ประกายตาครูเปลี่ยน ครูลุกขึ้นมาบอกว่าอยากทำนู่นทำนี่ โดยที่เราไม่ได้จัดไม่ได้ทำอะไรเลย ทันทีที่ไฟถูกจุด เขาไปต่อได้
ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก ก็มีครูที่แบ่งปันเรื่องเล่ากับเรา ว่าได้เอากิจกรรมนี้ไปทดลองกับเด็ก ตอนแรกเด็กก็งงว่าคุณครูทำอะไร มาชวนหนูทำอะไร แต่พอจบกิจกรรม เด็กๆ มีความสุข เบิกบาน บอกว่า “คุณครู วันหลังเอาแบบนี้อีกนะ อยากเรียนแบบนี้อีก” อย่างนี้เป็นต้น ครูก็มีความสุข ครูดีใจจังเลย นักเรียนอยากเรียนรู้ เด็กเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาเอง ประมาณนี้ แต่ก็ยังไม่ได้ตามลึกๆ ว่าเขาเปลี่ยนไปขนาดไหน
ครูหลายท่านอาจมีคำถามว่า แต่ครูไทยไม่เคยทำงานสอนแค่อย่างเดียว มีภาระหน้าที่ทั้งในและนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการทำประเมิน ปัญหาสังคมในชุมชนที่กระทบกับชีวิตเด็ก ครูเองก็มีปัญหาส่วนตัวและทุกภาระเป็นความทุกข์จริง การสอนด้วยวิธีนี้ซึ่งใช้พลังเยอะมาก จะเพิ่มภาระให้คนเป็นครูมากขึ้นหรือเปล่า
กรณีที่ครูรู้สึกว่าท่วมท้นกับสภาวะหรือภาระทั้งหลายทั้งมวล (overwhelm) แบบ ชั้นไม่มีเวลาแล้วนะ ไม่อยากจะฟังเด็กแล้ว เขาก็อาจไม่ไปด้วยกับหลักการนี้ แต่อันหนึ่งที่คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนหรือสิ่งที่เราอยากจะเชื้อเชิญให้คุณครูมาเรียนรู้ร่วมกัน คือการพาคุณครูกลับมาดูแลตัวเอง
ก่อนที่ครูจะไปดูแลคนอื่นได้ ตัวเขาต้องได้รับการดูแลก่อน และมันจะเป็นเครื่องมือให้เขากลับมาดูแลตัวเองเช่นกัน
ครูดูแลตัวเองได้สำเร็จ ต่อไปคือกลุ่มเพื่อนครูที่ช่วยดูแลกัน เราพบว่าไม่ว่าโลกข้างนอกจะหนักขนาดไหน แต่ถ้าใจมีพลัง ใจมีทิศทาง มีคำตอบ มันไปได้ค่ะ แต่ถ้าใจไม่เจอคำตอบ ไม่มีทิศทาง ปัญหานิดเดียวมันก็พัง มันอยู่ที่ข้างในเนอะ
อีกอันที่พบคือ วิธีการแบบนี้ใช้พลังงานและใช้เวลาเยอะในช่วงแรกกับการที่คุณจะฟังใครสักคนจริงๆ แต่เราพบว่ามันส่งผลในระยะยาว ครูอาจเหนื่อยในช่วงแรก แต่ระยะยาว มันคือการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ที่แข็งแรง เป็นศักยภาพที่สำคัญมากๆ กับตัวผู้เรียน การแสวงหาคำตอบด้วยตัวเอง ไว้วางใจในศักยภาพ มั่นใจในคุณค่าตัวเอง อันนี้เป็นรากฐานของคนที่จะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ยอมเหนื่อยในช่วงแรก แล้วช่วงปลาย คุณจะสร้างคนแบบนี้ได้มากมาย เราเห็นตรงนี้นะ
ช่วงเริ่มต้นที่ครูอยากจะเปลี่ยนห้องเรียนด้วยวิธีนี้ แต่มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงกับเด็ก เพื่อนครูด้วยกันก็ไม่เอาด้วย เราจะจัดการกับภาวะเริ่มต้นที่มองไม่เห็นเส้นชัยอย่างไรดี
อย่าคาดหวังว่าใครจะมาเชื่อเราว่าอันนี้ดี อันนี้ถูก เพราะเขาก็มีทางเลือกของเขา แต่ให้มองกลับมาที่ตัวเองก่อนเลยว่าเส้นทางที่เลือก คำตอบที่อยากพาตัวเองไปถึงมันคืออะไร มีโอกาสหรือช่องทางไหนบ้างที่จะช่วยให้เราเดินไปถึงตรงนั้น และคำตอบหรือโอกาสอาจจะไม่ได้อยู่ที่เพื่อนครูในโรงเรียนหรือร่วมชั้นเรียน แต่อาจเป็นเพื่อนครูต่างโรงเรียนที่อยู่ในแวดวงการพัฒนามนุษย์ และถ้าครูมีประสบการณ์ตรง ครูได้กลับมาเชื่อมโยงกับความงดงามภายในตัวเอง คำถามพวกนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะครูรู้ว่าครูอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร ครูอยากทำอะไร
เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่มีผลมากคือ ความสัมพันธ์ที่ความเท่าเทียม ไม่มีใครมีอำนาจมากกว่า แต่ในวัฒนธรรมไทย มันมีเรื่องอำนาจ พ่อแม่กับลูก ครูกับลูกศิษย์ เจ้านายกับลูกน้อง การเปลี่ยนแปลงแบบเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
มันทำได้แต่ไม่ได้สวยหรู ในเชิงอุดมคติมันสวยหรูเนอะ แต่ทางปฏิบัติมันไม่สวยเลยนะ คุณจะเปลี่ยนได้แปลว่าคุณต้องฝ่าด่านความเจ็บปวดและความทุกข์ในใจไปหลายขั้นมาก และด่านนี้มันไม่มีวันสิ้นสุดด้วย แต่ทุกๆ ขั้นที่ผ่านไปได้ มันเหมือนได้พลังชีวิตกลับคืนมาและจะมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนตามเก็บความเป็นตัวเองกลับมา ไม่ได้เป็นอะไรที่โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน คุณจะเจอกับความกลัวในตัวเอง เจอกับมุมมืดที่ตัวเองไม่ยอมมองแล้วต้องไปมองมัน
เปลี่ยนตัวเองก็ยากแล้วนะ แล้วถ้าจะมองในเชิงโครงสร้าง แน่นอนว่าเราเปลี่ยนใครไม่ได้ คนข้างนอกก็เป็นอย่างที่เขาเป็น โครงสร้างมันเป็นอย่างที่เป็น แต่เราพบว่า ถ้าคนคนหนึ่งเปลี่ยน พลังของการเปลี่ยนแปลงในคนนั้น มันจะเป็นแรงบันดาลใจ จุดประกาย มีอิมแพคกับคนรอบข้าง แล้วถ้าคนรอบข้างค่อยๆ เปลี่ยน เดี๋ยวมันจะไปเขย่าระบบเอง แต่ไม่ได้แปลว่าเราเพิกเฉยกับระบบนะ คือระบบกับคน มันมีความสัมพันธ์ที่เป็น dynamic หรือการกระทบกันไปมาตลอดเวลา แต่เราเชื่อว่าเรายังไปทำงานกับระบบไม่ได้ด้วยศักยภาพของเราตอนนี้ เพราะระบบมันใหญ่มาก
แต่อย่างน้อยเราทำงานกับคน ให้คนอยู่ได้ในระบบที่แย่แต่ใจยังดี ใจยังมีความสุข เราจะทำตรงนั้นได้ยังไง แล้วถ้าเกิดคนคนนี้เข้มแข็งพอ มีศักยภาพพอ เติบโตพอ เขาจะส่งเสียงบางอย่างเพื่อเปลี่ยนระบบได้ เพราะระบบมันเกิดจากคน ถ้าคนไม่เปลี่ยน ระบบก็ไม่เปลี่ยนนะ แต่ถ้าคนเริ่มเปลี่ยน เริ่มเห็นมุมที่ต่าง เริ่มรู้ว่ามันมีคำตอบที่ดีกว่าแบบเดิม มันก็จะสร้างระบบแบบใหม่ที่จะตอบตัวเองได้มากขึ้น แล้วมันจะมาแทนที่ระบบเก่าเอง มันไม่มีอะไรที่อยู่กับที่อยู่แล้ว
การศึกษาไทยยังมีความหวัง?
มี เราเห็นครูดีๆ เยอะ เจอว่าคุณครูที่เก่งๆ ที่รักเด็ก ที่มีแพชชั่นอยากช่วยให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ มี มาก (เน้นเสียง) มายทั่วประเทศ แต่เขาเข้าถึงเครื่องมือ ปัจจัย สิ่งที่มันเกื้อหนุนเขามั้ย อันนั้นคือโจทย์อีกอัน และเราเชื่อว่า ถ้าครูเหล่านี้เข้าถึง แล้วตัวเขาเข้าถึง จริงๆ เขาตื่นแล้วแหละ เพราะเขามีแพชชั่นจะช่วย มันจะไปอีกไกลมาก เราเลยเชื่อว่าเราต้องทำงานกับครู เพราะครูคือหัวใจของการศึกษา
ก่อการครูต้องทำอะไรต่อ
ยังมี เฟสสอง และสาม เฟสที่สองกำลังจะเริ่มขึ้นก็คือตลาดวิชา เราชวนเพื่อนๆ ในเครือข่ายมาเปิดวิชาที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนในมุมที่แตกต่างหลากหลาย วิชาที่ตัวเองเปิด ก็คือเรื่องการโค้ช ทักษะเบื้องต้นการโค้ช ทางมะขามป้อมเปิดเรื่องสื่อสร้างสรรค์ บางคนเปิดเรื่องห้องเรียนแห่งความสุข บางคนพูดเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM) มีเรื่องสมองกับการเรียนรู้ อะไรแบบนี้เป็นต้น และเป็นช่วงที่เติมมุมมองความรู้ความเข้าใจ deepening มุมมองความรู้ความเข้าใจของเขา
เฟสสาม ชวนเขามาฝึกการเป็นกระบวนการ facilitator เราเชื่อว่าการศึกษาเปลี่ยนโฉมไป ครูไม่ใช่ผู้บอก ผู้สอนหนังสือ แต่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ เฟสสามเป็นเฟสที่ให้เขามาเรียนรู้เรื่องนี้ในตัวทักษะ ให้ความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเป็นผู้อำนวยความรู้ (facilitator)โดยจะจัดสองรอบ รอบแรกให้พื้นฐาน พอฝึกเสร็จเขาต้องลงไปในพื้นที่ มีข้อเรียกร้องว่า พอเรียนจบ คุณต้องลงไปจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนหรือในห้องเรียนตัวเองก็ได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นให้กลับมาแชร์กันว่าพอลงไปทำกิจกรรมจริงแล้วมีอะไรเกิดขึ้น มีบทเรียนอะไรที่เจอ หรือเจอเครื่องมืออะไรใหม่ๆ ที่คุณไปสร้างสรรค์แล้วเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง ก็ให้มา celebrate ตรงนั้น