- พื้นที่นวัตกรรม โครงการนำร่องแห่งการปฏิรูปการศึกษา ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เป็นอิสระ บริหารจัดการตัวเอง เป็นการร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและชุมชน ร่วมกันออกแบบการศึกษาเพื่อทำให้ความหลากหลายของการศึกษาปรากฏตัว
- พื้นที่นำร่องมี 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)
- แลกเปลี่ยนความคืบหน้าแต่ละพื้นที่บนเวที TEP Forum 2019 ในหัวข้อ ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’ ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ วันที่ 8-9 มิถุนายน 2562
ภาพ: พัชริดา จูจรูญ, ศิริลักษณ์ พรมภักดี
หลายคนบอกว่า การศึกษาไทย แก้ไม่ได้ในชาตินี้ ตราบใดที่…
- หลักสูตรยังรวมศูนย์ชนิด ‘หนังสือหนึ่งเล่ม เรียนทั้งประเทศชาติ’
- โรงเรียนไม่มีอิสระจัดการศึกษา คงความหลากหลายของพื้นที่พื้นถิ่นไว้ไม่ได้
- องค์ความรู้เฉพาะของท้องถิ่นไม่เคยอยู่ในห้องเรียน เมื่อไม่อยู่ ความรู้เหล่านั้นก็กลายเป็นสิ่งประหลาด
- ครูถูกบังเหียนที่ชื่อ ‘กฎกระทรวง’ ผูกรัด ดิ้นไม่หลุด ทำให้งานในห้องเรียนมีมากพอๆ กับงานเอกสาร
- พ่อแม่ ชุมชน เอกชน และองค์กรธรรมชาติในพื้นที่ เป็นคนนอก ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบการศึกษา
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนทำงานทางการศึกษาทั้งถอดบทเรียน พูด และทำงานเพื่อขอสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่คนในได้เป็นคนจัดการศึกษาเอง และปลดล็อคพันธนาการต่างๆ ที่รัดรึง ปัญหาไม่ใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงกำลังก่อเกิดขึ้นจริง และตั้งต้นออกแบบการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวไปโดยตรง
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น และเริ่มทำงานจริงมาแล้วราว 1 ปี
เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และถอดบทเรียนว่าตลอดการทำงาน 1 ปี แต่ละพื้นที่มีองค์ความรู้อะไร เปิดพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบและเล่าสภาพปัญหา และสื่อสารงานออกไปในสาธารณะ วงคุยสาธารณะจึงจัดขึ้นในงาน TEP Forum 2019 ในหัวข้อ ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’ ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ วันที่ 8-9 มิถุนายน 2562
ดำเนินรายการโดย รัตนา กิติกร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล หนึ่งในภาคีหลักร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คืออะไร
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือพื้นที่ ‘นำร่อง’ ให้โรงเรียนได้ออกแบบปรับเปลี่ยนการศึกษาด้วยตัวเองร่วมกับภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ พื้นที่นำร่องมี 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)
ปรัชญาของพื้นที่นวัตกรรมคือ การเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เน้นความเป็นอิสระ บริหารจัดการตัวเอง ต้องเป็นการเปลี่ยนจาก ‘คนใน’ ทั้งโรงเรียน ภาคีเครือข่าย และชุมชน ร่วมกันออกแบบการศึกษาเพื่อทำให้ความหลากหลายของการศึกษาปรากฏตัว และเป็นการทำงานเพื่อคิด ค้น ขยายผลนวัตกรรมการศึกษาที่สร้างคุณภาพการศึกษาและส่งผลต่อผู้เรียนจริง โดยหัวใจ 3 ข้อแห่งการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นวัตกรรม คือ
- เปลี่ยนการสอนด้วย นวัตกรรมการศึกษาและพัฒนาบุคคล
- เปลี่ยนรูปแบบงาน บูรณาการการทำงานของหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ และเพิ่มอำนาจตัดสินใจในพื้นที่
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เสียงของประชาชน ผู้ประกอบการชุมชน ได้ร่วมออกแบบและสร้างพื้นที่นวัตกรรม
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา เขียนรับรองการขับเคลื่อนการทำงานและให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการไว้ 3 ระดับ ได้แก่
- คณะกรรมการนโยบาย ในการตัดสินใจระดับประเทศ, ปลดล็อคกฎระเบียบใหญ่ๆ, ทำงานข้ามส่วนระหว่างหน่วยงาน และอื่นๆ
- คณะกรรมการขับเคลื่อน เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ในการตัดสินใจ คิดวิธีการทำงาน สร้างการมีส่วนร่วมและการรับรู้คนในพื้นที่
- โรงเรียนนำร่อง ตัดสินใจระดับโรงเรียน เพิ่มอิสระเรื่องวิชาการ บริหารโครงการ งบประมาณ
โรงเรียนบ้านตะเคียนราม จังหวัดศรีสะเกษ
ดร.อำนวย มีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนราม จังหวัดศรีสะเกษ เล่าปัญหาเดิมให้ฟังว่า เพราะโรงเรียนอยู่ห่างไกลจากพื้นที่พัฒนา นักเรียนส่วนใหญ่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดและหนีเรียน ไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการ แต่ทักษะการใช้ชีวิตบางอย่างเช่น ทักษะการสื่อสาร คิดวิเคราะห์เพื่อสื่อสารในเชิงตรรกะ ก็ยังมีปัญหาด้วย
“เรารู้ว่าการเปลี่ยนต้องเริ่มที่ครู เราเองก็อยากเปลี่ยน แต่ไม่รู้จะทำยังไง ขณะนั้นครูหลายคนก็ถอดใจ บอกว่า ‘มันก็เป็นแบบนี้แหละ’ ” ดร.อำนวยอธิบายปัญหาเดิม
วิธีแก้ปัญหาที่ ดร.อำนวยทำ ก่อนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม คือการพาครูไปดูงานหลายโรงเรียนทั้งในและนอกพื้นที่ แต่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกัน เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
แรงบันดาลใจและตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงมีแล้ว แต่ในการเปลี่ยนครั้งแรก ยากเสมอ ครูหลายท่านยังเชื่อในคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’
“ตอนนั้นมีครูหลายคนที่อยากทำ แต่คิดว่าเปลี่ยนไม่ได้ แต่เราบอกเพื่อนครูว่า ถ้าไม่เปลี่ยน มันก็จะเหมือนเดิม มติในที่ประชุมคือต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอน และต้องเริ่มทำพร้อมกันทุกสายชั้น ครูทั้ง 30 คนต้องทำพร้อมกันทั้งหมดเลย ‘ตายเป็นตาย’ คิดแบบนั้นเลย ปรับตามเขาไป เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง ก็ลองปรับลองเปลี่ยน”
จากวันที่มีมติ ‘ตายเป็นตาย’ ถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 5 ปี และถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงชัด อย่างที่ ดร.อำนวย สรุปให้ฟังว่า ขณะนี้มีเด็กขาดเรียนเหลือประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์, ออกกลางคันเหลือประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนครูก็มีการวางแผนการเรียนการสอนที่ดีขึ้น สื่อ อุปกรณ์ในการสอนเปลี่ยนไป ที่ชัดเจนคือ ครูกระตือรือร้นและรับผิดชอบมากขึ้น
“เริ่มต้น เราพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการโฟกัสมาที่ครู แต่เราจะมองแต่ครูอย่างเดียวไม่ได้ การให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง เรียนรู้ด้วยตัวเองจริง พาเด็กออกไปเรียนรู้นอกชุมชน รวมทั้งสร้างการรับรู้กับชุมชน ให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ
“สิ่งสำคัญในโครงการ คือการเปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ได้รับการเติมเต็ม ได้รับเครื่องมือ วิธีการ โอกาสในการฝึกฝนเพิ่มมากขึ้น”
โรงเรียนบ้านไผ่หนองแคม จังหวัดศรีสะเกษ
จังหวัดเดียวกันแต่ต่างพื้นที่ เพชร วงพรมมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไผ่หนองแคม จังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่าสถานการณ์ที่โรงเรียนใกล้เคียงกัน คือแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 167 คนต่อครู 9 คน และแม้ในปี 2557 โรงเรียนบ้านไผ่หนองแคมจะถูกให้เข้าโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน แต่ตัวชี้วัดทั้ง 3 ด้าน อย่าง เด็ก, ครู และ ฝ่ายบริหาร ยังไม่เข้าเกณฑ์ดี
กล่าวคือ เด็กๆ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกเกณฑ์ประเมิน ครูไม่มีนวัตกรรมทางการสอน สอนตามหนังสือเรียน ขณะที่ฝ่ายบริหารเอง ผอ. ยอมรับว่ายังอ่อนด้านการนิเทศ หัวใจสำคัญในการปลุกทัพและสร้างองค์ความรู้ให้ครู
วิธีแก้ปัญหาของโรงเรียนบ้านหนองแคม เลือกใช้วิธีการเรียนการสอนโดยใช้องค์ความรู้เรื่องสมองมาใช้เป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่เรียกว่า BBL (Brain-based Learning) และผลักดันให้ครูในโรงเรียนเรียนต่อด้านการศึกษาในระดับปริญญาโททุกคน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนการเรียนรู้หลังการสอน หรือ AAR (After Action Review) อย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ ผลประเมิน O-Net ของนักเรียนอยู่ในระดับประเทศติดต่อกัน 5 ปี และเด็กๆ อ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์
เคล็ดลับที่ ผอ.เพชรเห็นว่าสำคัญที่สุดในการหานวัตกรรมการศึกษา คือการสร้างเครือข่ายทั้งจากภายในและนอกพื้นที่ เปิดโอกาสให้ครูได้เรียนรู้เทคนิคจากเครือข่าย และการผลักดันให้ครูในโรงเรียนไปเป็นวิทยากรทั้งในบ้านและนอกบ้าน นี่คือวิธีการฝึกและสร้างทักษะการนิเทศ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการติดอาวุธครูและผู้บริหารอย่างดีที่สุด
เมื่อถูกถามว่า อะไรคือสิ่งที่อยากผลักดันและฝากไปถึงเครือข่ายอื่นๆ ผอ. เสนอ 2 เรื่องคือ
หนึ่ง-การปลดล็อคการจัดจ้างครู ให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจจัดหาและพิจารณารับครูด้วยตัวเอง สอง-ปลดล็อคเรื่องการจัดซื้อจัดหาหนังสือให้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง สามารถจัดสรรงบประมาณได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะถูกนำไปแก้ไขตามที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562 ให้อำนาจการจัดการแก่คนในพื้นที่ต่อไป
โรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูล
หลายคนรู้จักโรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูลจากชิ้นข่าวในปี 2559 เมื่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ค้นพบแหล่งฟอสซิลแห่งใหม่ ที่ค้นพบได้ก็เพราะกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยใช้วิถีวิจัยนำการเรียนรู้ ทำให้ภายนอก คนอาจมองว่าโรงเรียนอนุบาลสตูลมีความเข้มแข็งทางการศึกษาอยู่ก่อนแล้ว
แต่ สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล กลับยืนยันว่า ในการทำงาน เขามีปัญหาทางโครงสร้างไม่ต่างจากที่อื่น
“เราไม่มีที่ยืนในการทำงาน แม้จะเป็นผู้อำนวยการแต่ก็ต้องทำตามคำสั่ง เหมือนเขียนงานตามคำบอก เราถูกคนอื่นสั่งงานหมด แน่ล่ะว่ามันเป็นการทำงานวิถีราชการ แต่มองว่าเป็นการเสียโอกาสมากที่ต้องฟังคำสั่งอย่างเดียว” ผอ.สุทธิกล่าว
นอกจากนี้ ผอ.สุทธิยังชี้ปัญหาอีก 2 อย่างซึ่งเป็นปัญหาหนักหนาไม่แพ้กัน นั่นคือ การที่นักเรียนถูกบังคับให้เรียนด้วยความทุกข์ ทั้งที่เด็กๆ ควรมีโอกาสได้เรียนรู้โลกกว้างมากกว่าแค่ในตำรา และทั้งที่ชุมชนมีปรัชญาการเรียนรู้และวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่มีโอกาสเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ให้กับลูกหลานของตัวเองเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่อง นายสุทธิ จึงกล่าวยืนยันว่า เขาจะใช้โอกาสนี้ขอจัดพื้นที่การศึกษาด้วยคนในพื้นที่เอง โดยแบ่งสูตรการเรียนรู้ออกเป็น 3 ส่วน คือ 40 : 30 : 30 ดังนี้
- 40 : บทบาทของสถาบันครอบครัว ผู้ปกครอง
- 30 : บทบาทของโรงเรียน
- 30 : บทบาทของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ
และโรงเรียนอนุบาลสตูล อาสาเป็นหัวหอก ทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่อีก 9 โรง และตั้งใจสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานต่อไป
ก่อนจากกัน ผอ.สุทธิยืนยันว่า ตัวเองเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่กำลังทำ แต่ยังไม่เชื่อว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการปลดล็อคระเบียบราชการต่างๆ เช่น ระเบียบการรับนักเรียนเข้าเรียนที่ไม่สมจริง เช่น ลูกของคุณหมอท่านหนึ่งในพื้นที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานตรงข้ามกับโรงเรียน แต่ไม่สามารถให้ลูกเรียนที่โรงเรียนอนุบาลสตูลได้เนื่องจากย้ายสำมะโนครัวเข้ามาในพื้นที่ไม่ถึงปี
“ทั้งที่แต่ก่อนโรงเรียนสามารถทำได้ บริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง จะรับนักเรียน 200 คนก็สามารถทำได้หากเห็นแล้วว่าบริหารจัดการได้ไหว แต่ปัจจุบันถ้าไม่ทำตามที่กำหนดก็จะถูก ปปช. ตรวจสอบ นี่จึงเป็นสิ่งที่ไม่เชื่อมั่นถึงแม้จะมี พ.ร.บ. เป็นตัวกำหนดก็ตาม อย่างแรกจึงต้องเริ่มต้นด้วยการให้อิสระกับโรงเรียนแต่ละพื้นที่ในการออกแบบการจัดการ การเรียนรู้ต่างๆ ด้วยตัวเอง” ผอ.สุทธิกล่าว
โรงเรียนบ้านสมานมิตร จังหวัดระยอง
ปิดท้ายวงสนทนาด้วยประสบการณ์จากโรงเรียนบ้านสมานมิตร จังหวัดระยอง โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนจำนวน 97 คน ครู 5 คน และครูอัตราจ้าง 1 คน โดย เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเล่าให้เห็นภาพก่อนว่า แม้จังหวัดระยองจะเป็นจังหวัดที่การเติบโตของ GDP สูงสุดในประเทศ คล้ายว่าเป็นจังหวัดที่ร่ำรวย คึกคักด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหนักเบา แต่กับโรงเรียนบ้านสมานมิตร กลับเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณทางการศึกษา เป็นโรงเรียนของชุมชนขนาดเล็กที่เพิ่งมีข่าวว่าอาจถูกยุบลงเมื่อไรก็ได้
“แม้โรงเรียนอยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดระยอง แต่เรากลับรู้สึกขาดแคลน รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำเพราะไม่มีเงินบริหารจัดการเลย แต่เรามีไฟนะ ท่ามกลางปัญหา เราไม่มองว่าเราขาดแคลน แต่มองไปข้างหน้า และอยากสร้างจุดยืนให้กับโรงเรียน จนได้มาเข้าโครงการนวัตกรรม
“ตลอด 1 ปีที่ผ่านเรามาได้เรียนรู้หลากหลายอย่าง ทำให้ยิ่งยึดมั่นและดำเนินงานด้วยความศรัทธา สถาบันอาศรมศิลป์ พี่เลี้ยงของโรงเรียน ไม่ได้เอาวิธีการสำเร็จรูปมาให้เราทำตาม แต่พาโรงเรียนค้นหาต้นทุนดีๆ ค้นหาสิ่งต่างๆ ที่เป็นของเราจริงๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมของโรงเรียนด้วยตัวเอง จนตอนนี้ค้นพบแล้วว่า ต้นทุนที่ดีของโรงเรียนคือชุมชนโดยรอบที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับโรงเรียน
“ตอนนี้เรามีแนวคิดว่าจะระดมทุน CSR ของโรงงานต่างๆ ในตัวเมืองระยอง แล้วกระจายให้กับพื้นที่ต่างๆ อย่างเท่าเทียม”
แม้เวลาจะผ่านมาแค่ 1 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วจริง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่หากหัวใจของพื้นที่นวัตกรรมอยู่ที่การเป็นอิสระและมีส่วนร่วมของชุมชน จากเสียงของผู้อำนวยการจากโรงเรียนนำร่องทุกท่านบนเวที เชื่อแน่ว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม กำลังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
การศึกษาไทย แก้ได้ในชาตินี้แน่นอน