กราฟสองเส้นนี้ แสดงระดับพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และพฤติกรรมแสวงหาความรู้สึกที่ทำให้ตื่นเต้นเร้าใจ ในแต่ละช่วงอายุของวัยรุ่น อธิบายว่าทำไมวัยรุ่นจึงเป็นวัยที่ ‘เปรี้ยวที่สุด’
เส้น Sensation Seeking คือ พฤติกรรมแสวงหาความรู้สึกที่แปลกใหม่ตื่นเต้นเร้าใจ เป็นแรงผลักให้เข้าหาสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น ในช่วงวัยรุ่น หรือ 12-18 ปี ฮอร์โมนเพศ อย่างเทสโทสเตอโรน จะพุ่งสูงปรี๊ด ในขณะที่สมองส่วน Limbic Reward System ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพิ่มมากขึ้น เมื่อเจอสิ่งที่แปลกใหม่ตื่นเต้นเร้าใจก็จะมีการหลั่งสารสื่อประสาทโดพามีน (สารแห่งความพึงพอใจ) เพิ่มมากขึ้นในสมองบริเวณที่เรียกว่า Ventral Striatum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Limbic Reward System
หรืออาจกล่าวว่าคือสมการ
Limbic Reward System X ฮอร์โมนเพศ = ความต้องการแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ตื่นเต้นเร้าใจ
เส้น Impulsive หรือ พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น คือการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปโดยไม่คิดให้รอบคอบ ไม่ทันยั้งคิดถึงผลที่จะตามมา หรือทำด้วยอารมณ์โกรธ เป็นต้น เกิดจากการที่สมองส่วนหน้าสุดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ในขณะที่ฮอร์โมนเพศคือ เทสโทสเตอโรนพุ่งกระฉูด ร่วมกับระบบการให้รางวัลในสมองทำงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กวัยรุ่นมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น
จะเห็นว่า เราทุกคนเมื่อตอนเป็นเด็กมักจะหุนหันพลันแล่น แต่เมื่อเราโตขึ้นก็จะคิดก่อนทำมากขึ้น เพราะในช่วงวัยเด็กเครือข่ายใยประสาทในเปลือกสมองใหญ่ด้วยกันเอง (Cortex) ยังไม่เชื่อมโยงกันดีนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมโยงกันเองอยู่ภายใต้เปลือกสมองใหญ่ (Subcortical) ดังนั้นเด็กจึงมักจะทำโดยไม่ทันยั้งคิด แต่เมื่อโตขึ้นเครือข่ายใยประสาทในเปลือกสมองใหญ่ทั้งทางด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้เรานำข้อมูลจากเปลือกสมองหลายๆ บริเวณมาประมวลผลในการคิดตัดสินใจได้ดีขึ้น จึงคิดก่อนทำมากขึ้น หุนหันพลันแล่นน้อยลง
อย่างก็ตาม ในช่วงวัย 13-16 ปี (ช่วงอายุที่อยู่ในวงกลม) จะเป็นช่วงที่เด็กมีพฤติกรรมแสวงหาความรู้สึกที่ทำให้ตื่นเต้นเร้าใจสูงที่สุด (Sensation Seeking) และยังมีความหุนหันพลันแล่นอยู่มาก (Impulsive) นี่คือช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของการเป็นวัยรุ่น เพราะมันคือเวลาที่สมองเรื่องการควบคุมตัวเองยังไม่พัฒนาเต็มที่ ในขณะที่ Limbic Reward System X ฮอร์โมนเพศ ก็ยังทำงานอย่างเต็มสูบ