- ความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนและการเรียนแบบร่วมมือกัน เป็นปัจจัยทางสังคมที่ทำให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในการเรียน บันทึกที่ 2 ของชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) จะพูดถึงวิธีการจัดการเรียนในห้องเรียนที่แบ่งเวลาออกเป็น 2 ส่วน คือ เวลาสำหรับปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และเวลาสำหรับอยู่กับตนเองครึ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้โดยให้นักเรียนทำงานร่วมกัน พร้อมกับมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ผ่านวิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependency)
- มีผลงานวิจัยยืนยันคุณค่าของการมีเพื่อนคอยช่วยเหลือกันในการเรียน นักเรียนที่มีผลการเรียนดี เป็นคนที่มีและให้คุณค่ากับการมีเครือข่ายของเพื่อนคอยช่วยเหลือกัน
- พร้อมกับไปอ่านประสบการณ์ของครูที่ใช้วิธีการเรียนการสอนเพื่อนช่วยเพื่อน เพราะไม่มีห้องเรียนใดที่มีครูทำหน้าที่เพียงคนเดียวได้ ห้องเรียนควรเป็นห้องเรียนที่มีผู้สอน ผู้สังเกต ผู้ช่วยเหลือ และผู้เรียนรู้ ทุกคนในห้องเรียนมีสิทธิ์ที่จะเป็นได้ในทุกๆ ตำแหน่ง
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้
บันทึกนี้เป็นบันทึกที่สองใน 3 บันทึก (อ่านบันทึกตอนที่ 1 ได้ที่นี่) ภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset) ตีความจาก Chapter 2 Connect Everyone for Success เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู
ความเป็นจริงที่สำคัญยิ่งคือ การมีกัลยาณมิตรทำให้คนมีความสุขยิ่งกว่ามีเงิน
กฎห้าสิบ-ห้าสิบ
ปัจจัยทางสังคม 2 ประการ มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียน ได้แก่ (1) ความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน (2) การเรียนแบบร่วมมือกัน ดังนั้น จึงมีผู้เสนอว่าเพื่อความสำเร็จในการเรียน ควรแบ่งเวลาในชั้นเรียนออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน เป็นเวลาสำหรับสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนครึ่งหนึ่ง และอยู่กับตนเองครึ่งหนึ่ง นี่คือกฎห้าสิบ-ห้าสิบ
ในบางวันการแบ่งเวลาอาจเป็น 90-10 หรือ 80-20 แต่ในภาพรวมของแต่ละสัปดาห์ควรเป็น 50-50
มีผลงานวิจัยยืนยันคุณค่าของการมีเพื่อนคอยช่วยเหลือกันในการเรียน นักเรียนที่มีผลการเรียนดี เป็นคนที่มีและให้คุณค่ากับการมีเครือข่ายของเพื่อนคอยช่วยเหลือกัน ในขณะที่นักเรียนที่เรียนอ่อนมักไม่มีเครือข่ายเพื่อน ผลงานวิจัยวัด effect size เทียบระหว่างผลการเรียนของนักเรียนที่ถนัดเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนกับนักเรียนที่เรียนคนเดียว เท่ากับ 0.59 (ตัวเลขที่มีนํ้าหนักน่าเชื่อถือคือ 0.40 ขึ้นไป)
ตัวอย่างกิจกรรมในช่วงเรียนร่วมกับเพื่อนกับเรียนคนเดียว แสดงอยู่ในตารางข้างล่าง
เวลาเรียนร่วมกับเพื่อน | เวลาเรียนคนเดียว |
กลุ่มหรือทีมร่วมมือ | เวลาเขียนหรือทำ mind map คนเดียว |
คู่หูเรียนรู้ ผลัดกัน quiz | ฝึกทดสอบตนเอง |
หุ้นส่วนชั่วคราว ช่วยกันสรุป | กำหนดเป้าหมาย และทดสอบตนเอง |
สถานีเรียนรู้ เพื่อเก็บข้อมูลจากเพื่อนๆ | อ่าน สะท้อนคิด และเขียน |
โครงงานกลุ่ม เพื่อระดมความคิดและอภิปราย | นั่งทำงานเพื่อแก้ปัญหา |
ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีอิทธิพลทั้งจากพันธุกรรมและสภาพสังคมแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์พัฒนาขึ้นตามอายุ ตั้งแต่แรกเกิด ดังนี้
- อายุ 0-3 ปี ความสัมพันธ์อยู่ที่คนรอบตัว (แม่ พ่อ พี่เลี้ยง)
- อายุ 4-9 ขวบ ตอนอายุ 4 ขวบ ความสนใจของเด็กอยู่ที่พ่อแม่ ไม่สนใจเพื่อน แต่เมื่อโตขึ้นพันธุกรรมกำหนดให้มีความต้องการเพื่อน ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงเพื่อนๆ
- อายุ 10-17 ปี ตอนเรียนชั้น ม. ต้น เด็กไม่เพียงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ยังต้องการแสดงเอกลักษณ์หรือตัวตนของตนด้วย ถึงตอนนี้นักเรียนควรได้เรียนรู้ความสำคัญของการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependency) จากเวลาเรียนแบบร่วมมือกันกับเพื่อน
ครูต้องรู้วิธีให้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนสร้างทักษะการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันขึ้นในตน รวมทั้งเห็นคุณค่าของการพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลงานวิจัยบอกว่า effect size ของการเรียนแบบทีม 4 คน มีค่าเท่ากับ 0.69
วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependency)
มีดังต่อไปนี้
กลุ่มและทีมร่วมงาน
การจัดกลุ่มและทีมร่วมกันทำงาน ที่จะเกิดผลพัฒนาสปิริตของการทำงานเป็นทีม เกิดการเสริมแรงซึ่งกันและกัน (synergy) และเกิดมิตรภาพ ต้องมีหลักการและวิธีการ ดังต่อไปนี้
- มีการตั้งชื่อทีม คำขวัญประจำทีม โลโก้ กองเชียร์ และการเฉลิมฉลองความสำเร็จ เพื่อสร้างสถานะทางสังคม และความเป็นทีม
- มอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนของทีมมีบทบาทเฉพาะและมีความหมาย ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตัวอย่างของบทบาท เช่น ผู้สรุป ผู้นำ ผู้ฝึก ผู้นำการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้เติมพลัง ผู้เล่าเรื่องขบขัน ผู้เดินสาร
- กำหนดกติกาสำหรับพฤติกรรมในกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนมีพฤติกรรมกลุ่มที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบ โดยกำหนดกติกาสำคัญ 3 ประการ ที่ทุกทีมต้องปฏิบัติ เช่น (1) ให้ความร่วมมือต่อชั้นเรียน (2) ตรงต่อเวลา (3) ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- ให้ทีมทำงานร่วมกันทุกวัน มีกำหนดการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกวัน ให้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน หมุนเวียนหน้าที่กัน
เพื่อให้กลุ่มและทีมร่วมงานมีประสิทธิผลสูง ครูควรโค้ชผู้นำทีม แล้วให้ผู้นำทีมไปโค้ชเพื่อนอีกต่อหนึ่ง ผลงานวิจัยบอกว่าการที่นักเรียนไปสอนเพื่อนมี effect size 0.74
เกลอร่วมเรียน
ในตอนต้นปีการศึกษาหรือต้นเทอม จับคู่ให้นักเรียนเป็นเกลอร่วมเรียน ช่วยเหลือกัน มีการแลกเบอร์โทรศัพท์และอีเมลกัน โดยครูบอกว่าทั้งคู่ต้องช่วยเหลือกัน ให้ทั้งตนเองและเพื่อนประสบความสำเร็จในการเรียนด้วยกัน
วิธีการจับคู่ ต้องให้ได้คู่ที่เป็นคน “คอเดียวกัน” มีความสนใจหรือเป้าหมายชีวิตคล้ายๆ กัน โดยครูให้เขียนเรียงความสั้นๆ บอกความสนใจ ความคลั่งใคล้ แล้วครูนำมาแยกกลุ่ม เพื่อจัดให้นักเรียนได้เกลอที่มีจริตคล้ายกัน ไปกันได้
ในกรณีที่คู่เกลอมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เขาไม่แนะนำให้เปลี่ยนคู่ แต่ให้ใช้วิธีการเยียวยา หรือแก้ความขัดแย้ง 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. “ฉันรู้สึก” บอกความรู้สึกของแต่ละฝ่าย เช่น “ฉันรู้สึกท้อและขาดเพื่อน เมื่อเธอไม่พูดในช่วงเวลาสำหรับเกลอร่วมเรียนปรึกษากัน”
2. “เมื่อเกิดสิ่งนั้นขึ้น” บอกเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหา เช่น “เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ เราไม่ได้แก้ปัญหาหรือเรียนสิ่งที่ต้องเรียน เมื่อวานนี้ฉันต้องการความช่วยเหลือในชั้นเรียน”
3. “ฉันต้องการ” บอกความต้องการ เช่น “ฉันอยากรู้ว่าเราสามารถทำงานร่วมกันได้ ใช่ไหม”
4. “ฟัง” ถึงตอนนี้ ฝ่ายพูดก่อน (ตาม 3 ข้อข้างบน) ฟังอีกฝ่ายหนึ่งพูดบ้าง ตาม 3 ข้อข้างบน
5. “ทบทวนและแก้ไข” ร่วมกันเสนอแนวทางทำงานร่วมกัน ต่างจากเดิม เช่น “เพื่อให้เราทำงานร่วมกันได้ เราเปลี่ยนวิธีทำงานเรื่อง … ให้ต่างไปจากเดิม ในแต่ละครั้งที่ทำงานร่วมกัน แล้วดูว่าได้ผลอย่างไร”
เขาแนะนำให้เกลอร่วมเรียนนั่งติดกันในห้องเรียนแชร์สาระเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่เชียร์หรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และคอยเอาใจใส่ความก้าวหน้าในการเรียนของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาจนำไปหารือกับครูหรือพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย หลังจากมีผลการทดสอบออกมาควรให้เวลาเกลอร่วมเรียนได้ปรึกษากัน
นักเรียนพี่เลี้ยง
เป็นการให้คำแนะแนว กำลังใจ และภาวะผู้นำแก่นักเรียน โดยนักเรียนชั้นโตกว่า หรือโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้ประโยชน์ทั้งตัว mentor (ผู้ให้คำปรึกษา) และ mentee (ผู้รับคำปรึกษา)
การให้คำปรึกษามักเน้นเรื่องวิธีการเรียน เรื่องทางสังคมกับเพื่อนๆ ในโรงเรียน เรื่องปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว และในชุมชน อาจรวมไปถึงติวเตอร์ในเรื่องวิชาความรู้
มีงานวิจัยบอกว่าการมีกิจกรรมพี่เลี้ยงโดยนักเรียนด้วยกันเอง ช่วยให้พัฒนาการของนักเรียนดีขึ้น ทั้งด้านการเห็นความสำคัญของตนเอง (self-esteem) ความตั้งใจเรียน ความประพฤติ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (กับพ่อแม่ พี่เลี้ยง และเพื่อนๆ)
หุ้นส่วนชั่วคราว
อาจเรียกว่าหุ้นส่วน 60 วินาที ทำโดยบอกให้นักเรียนยืนขึ้น บอกให้เริ่มเดินเมื่อเพลงดังขึ้น เดินไปแตะเก้าอี้อย่างน้อย 4 ตัว เมื่อเพลงหยุดก็หยุดเดินและชี้ไปที่คนที่อยู่ใกล้ที่สุดว่านี่คือหุ้นส่วนชั่วคราวและเริ่มคุยกันเรื่องที่กำลังเรียน กำลังทำกิจกรรมกลุ่ม หรือกำลังอภิปรายกัน คู่ไหนคุยกันเสร็จก็ให้ยกมือขึ้น เมื่อเสร็จทั้งชั้นให้กล่าวขอบคุณหุ้นส่วนโดยเรียกชื่อแล้วจึงกลับไปนั่งที่เดิม
เป็นกิจกรรมที่ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ ลดความเครียดหรือความขัดแย้งในกลุ่มหรือทีมร่วมงาน
เรื่องเล่าจากห้องเรียน
คุณครูอรนภา พุทธวรรณ ครูโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เขียนเล่าถึงประสบการณ์การนำเอาวิธีการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนไปใช้ในชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ระดับชั้น ป.1 เอาไว้ว่า
“เพื่อนช่วยเพื่อน” ไม่มีครูท่านใดไม่รู้จักเทคนิคนี้ การให้นักเรียนมีส่วนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บ่อยครั้งที่ทำให้ชิ้นงานหรือภาระงานของนักเรียนสำเร็จลุล่วงได้ดีกว่าครูอธิบายให้ฟัง อาจเพราะด้วยคำที่ครูใช้เข้าใจยากไป หรือครูไม่เข้าใจว่านักเรียนไม่เข้าใจตรงไหน และสำคัญที่สุดนักเรียนไม่กล้าถามครู
การสอนแบบนี้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในรายวิชาของฉัน รายวิชาภาษาอังกฤษ การที่ให้เพื่อนช่วยเพื่อนไม่ได้เป็นการให้เพื่อนลอกงานกันมาส่ง แต่เป็นการให้เพื่อนที่เข้าใจภาระงานแบบชัดแจ้งได้มีโอกาสช่วยเพื่อนในการอธิบายแนวทางการทำงานแบบง่ายๆ แบบภาษาเดียวกันของนักเรียน
ตอนแรกที่เห็นนักเรียนคนหนึ่งคอยแต่ถามเพื่อนว่าครูให้ทำอะไร ยอมรับรู้สึกไม่ชอบใจอยู่นิดๆ จนสังเกตได้สักระยะ จึงพอจะเข้าใจว่าสิ่งที่นักเรียนคนนั้นถามไม่ได้เกิดจากคำว่าไม่เข้าใจ แต่บางครั้งเกิดจากความไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าใจถูกไหม หรือ อาจจะเกิดจากเราเองที่ใช้คำยากไปรึเปล่า เพราะทำไมเวลาเพื่อนอธิบาย เขาถึงเข้าใจและทำภาระงานออกมาได้ดีทีเดียว วันหนึ่งได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกันกับนักเรียนกลุ่มหนึ่งเลยแอบยิงคำถามเชิงเล่นๆ ว่า “สมมุตินะถ้าวันนี้ครูสอนแล้วหนูไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอนเลย พวกหนูกล้ายกมือถามครูไหมลูก” เด็กๆตอบ “ไม่ค่ะครู” “ทำไมหละ” ครูยังคงไม่เข้าใจ เด็กๆ ยิ้มเล็กน้อยแล้วพูดออกมาแบบภาษาเด็กๆ “ไม่กล้าค่ะครู กลัวครูดุ กลัวครูว่าพวกหนูไม่ตั้งใจฟัง” ครูผู้สงสัยเลยพูดออกไป “แล้วแบบนี้พวกหนูจะทำยังไงหละ” เด็กหญิงคนหนึ่งตอบแบบไม่ได้คิด “ไปถามเพื่อนที่เข้าใจค่ะ บางทีก็รวมตัวกันมาถามครูเหมือนทุกทีค่ะ”
จากการพูดคุยในครั้งนั้น ทุกครั้งที่มีการสอนเนื้อหาที่อาจเข้าใจได้ยาก ฉันมักจะยํ้ากับนักเรียนเสมอว่า “ใครไม่เข้าใจลุกมาหาครูได้เลยนะลูก เดี๋ยวครูอธิบายให้ฟังอีกรอบ” เพราะอย่างน้อยมันอาจจะทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจว่าหากพวกเขาลุกมาถามมันไม่ใช่เรื่องผิด และฉันจะไม่ดุพวกเขาแน่นอน!! และนอกจากนั้นคำว่า “ใครเข้าใจก็ช่วยอธิบายให้เพื่อนฟังได้นะคะ” ก็ยังเป็นคำที่ติดปากทุกครั้งเช่นกัน
จนเดี๋ยวนี้ห้องเรียนเด็ก ป.1 เวลามีนักเรียนคนใดคนหนึ่งทำภาระงานเสร็จก็มันจะมีคำถามว่า “ครูจะให้ผมไปช่วยสอนเพื่อนคนไหนครับ/ค่ะ” ครูแบบฉันก็จะมีหน้าที่คอยสังเกตว่านักเรียนคนไหนที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนของเขา และสะกิดให้เพื่อนที่ทำงานเสร็จแล้วให้ไปหาอยู่เสมอ
ไม่มีห้องเรียนใดที่มีครูทำหน้าที่เพียงคนเดียวได้ ห้องเรียนควรเป็นห้องเรียนที่มีผู้สอน ผู้สังเกต ผู้ช่วยเหลือ และผู้เรียนรู้ ซึ่งแน่นอนทุกคนในห้องเรียนมีสิทธิ์ที่จะเป็นได้ในทุกๆ ตำแหน่ง บางวันฉันอาจจะต้องเป็นผู้เรียนที่เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากเด็กๆ ในห้อง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อปรับปรุงการสอนเล็กๆ น้อยๆ ให้มันได้ผลที่ยิ่งใหญ่ต่อไป
คุณครูลัดดาวัลย์ ไสยวรรณ์ ครูโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีอีกท่านหนึ่งที่ได้นำเอาวิธีการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนไปใช้ในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้น ป.4 -ป.6 บันทึกประสบการณ์เอาไว้ว่า
จากการที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องคำนวณ นักเรียนจะรู้สึกเบื่อหน่ายได้ง่าย ข้าพเจ้าได้สังเกตการเรียนการสอน พบว่า จากการที่ครูผู้สอนได้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนในชั้น หลังจากการสอนครูได้ประเมินผลโดยการมอบหมายให้ทำแบบฝึกหัด ใบกิจกรรม และแบบทดสอบ พบว่านักเรียนบางคนไม่สามารถทำแบบฝึกหัด ทำใบกิจกรรม และทำข้อสอบให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่นักเรียนบางคนเรียนรู้ได้ช้า และมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ข้าพเจ้าจึงได้หาวิธีการที่จะจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจ และกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น กิจกรรมการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนนั้น เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนวิธีการดังกล่าวได้ โดยให้เพื่อนได้มีบทบาทสำคัญในการเรียน เพื่อนและกลุ่มมีอิทธิพลในการสร้างความสนใจ จูงใจ และการยอมรับของเพื่อนด้วยกัน ซึ่งการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน การทำกิจกรรมกลุ่ม การเรียนเป็นกลุ่มย่อย หรือการเรียนร่วมกัน มีประโยชน์ ดังนี้
- นักเรียนได้รับประโยชน์จากเพื่อนและมีโอกาสได้รับประสบการณ์ในการแก้ปัญหาหลายวิธี
- นักเรียนที่เรียนเก่งมีโอกาสขยายความรู้ให้เพื่อนฟังได้ และช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนอ่อนได้
- ทำให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น ปรับตัวเข้ากับสังคมและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น
- นักเรียนเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น มีความสัมพันธ์กันเป็นอันดี แม้จะมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ได้ช่วยกันแก้ปัญหาซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒนาทักษะทางชีวิตที่สำคัญ
- ทำให้บรรยากาศในการเรียนมีความสนุกสนาน น่าเรียน
- ทำให้นักเรียนกล้าพูด กล้าซักถาม และกล้าแสดงความคิดเห็นต่อหน้าเพื่อนในชั้น
- นักเรียนรู้จักบทบาทหน้าที่ มีการการแบ่งการทำงานได้อย่างชัดเจน
- นักเรียนทุกคนมีโอกาสที่จะนำเสนองาน/ความคิดของตนเอง ได้อย่างไม่เก้อเขิน
- ช่วยครูในการสอนและควบคุมชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี
วิธีการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน
- แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนที่เก่ง อ่อน ปานกลาง คละกัน นักเรียนที่มีความรับผิดชอบ มีลักษณะเป็นผู้นำมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม
- ครูผู้สอนชี้แจงการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน โดยหลังจากครูสอนในแต่ละครั้งก็จะมอบหมายให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด ใบงาน โดยนักเรียนนั่งทำแบบฝึกหัดระดมสมอง ช่วยกันคิด หากหัวข้อใดสมาชิกในกลุ่มไม่เข้าใจ ผู้ที่เข้าใจก็จะช่วยกันอธิบายจนเพื่อนเข้าใจ หากสมาชิกในกลุ่มยังไม่เข้าใจก็จะมาปรึกษาครูผู้สอน
- ครูสังเกตการทำกิจกรรมของกลุ่ม การช่วยกันแก้ปัญหา ความสนใจ และความตั้งใจของสมาชิกในกลุ่ม
- สังเกตผลการทำแบบฝึกหัด ใบงานว่าดีขึ้นหรือไม่
- สังเกตการประเมินตามสภาพจริงในแต่ละครั้ง
ผลจากการจัดการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนมาใช้ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ปรากฏว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดทุกคน และกิจกรรมกลุ่มทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี ช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นสนใจ ตั้งใจ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ช่วยสร้างความสามัคคี รู้จักแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
อ่านบทความตอนที่ 3 ได้ที่นี่