- สภาวะทางจิตใจของวัยรุ่นที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงวัยนี้ ดึงดูดให้พวกเขาเข้าหาความเสี่ยงและความท้าทายที่มีอันตรายถึงชีวิต เป็นที่มาให้ผู้ใหญ่นิยามวัยรุ่นว่า “บ้าคลั่ง” “ควบคุมตัวเองไม่ได้” หรือ “ไม่รู้จักโต”
- จากการศึกษายืนยันชัดเจนว่า อคติที่ผู้ใหญ่มีต่อวัยรุ่น และสภาพแวดล้อมรอบตัวส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงลบของพวกเขา เพราะการทำงานของสมองในช่วงนี้ทำให้พวกเขาพัฒนาตนเองไปตามคำตัดสินของผู้อื่น (ไม่ใช่เพราะฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว)
- ช่วงเริ่มต้นของวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรได้รับการสนใจอย่างเข้าใจ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสมองด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นไปจนกระทั่งอายุราว 24 ปี วิธีบริหารสมองที่บทความนี้แะนำ คือ มายด์ไซท์ (Mindsight) การเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ปล่อยให้เหตุผลเข้ามาปิดกั้นอารมณ์ และไม่ให้โอกาสอารมณ์ได้อยู่เหนือเหตุผล
หากใครกำลังคิดว่าเรื่องสมองเป็นเรื่องซับซ้อน การบริหารสมองแต่ละส่วนเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองเป็นเรื่องเข้าใจยาก เราอยากบอกว่าบทความนี้เป็นบทความวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองวัยรุ่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้การท่องจำ
ขอแค่ให้คุณมีสติอยู่กับปัจจุบัน และยังมีลมหายใจอยู่ก็พอ!!
บทความนี้เชื่อมโยงมาจากบทความก่อนหน้าที่พูดถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัยรุ่นและสาระสำคัญของสมองวัยรุ่น (ESSENCE) (อ่านบทความได้ที่นี่) ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจที่มาที่ไปพฤติกรรมที่วัยรุ่นแสดงออก และหากวัยรุ่นได้อ่าน ก็น่าจะทำให้พวกเขาเท่าทันความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเอง
สภาวะทางจิตใจของวัยรุ่นที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงวัยนี้ ดึงดูดให้พวกเขาเข้าหาความเสี่ยงและความท้าทายที่มีอันตรายถึงชีวิต เป็นที่มาให้ผู้ใหญ่นิยามวัยรุ่นว่า “บ้าคลั่ง” “ควบคุมตัวเองไม่ได้” หรือ “ไม่รู้จักโต”
แต่หากมองแค่ผลลัพธ์เชิงลบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการแสดงออกเหล่านั้น โดยไม่ทำความเข้าใจความลับในสมองของเด็กและเยาวชนวัยนี้ คงไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขาเท่าไรนัก
จากการศึกษายืนยันชัดเจนว่า อคติที่ผู้ใหญ่มีต่อวัยรุ่น และสภาพแวดล้อมรอบตัวส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงลบของพวกเขา เพราะการทำงานของสมองในช่วงนี้ทำให้พวกเขาพัฒนาตนเองไปตามคำตัดสินของผู้อื่น (ไม่ใช่เพราะฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว)
อ่านเพิ่มเติม: สมองสุขภาพดีของวัยรุ่น ผู้ใหญ่สร้างได้ และ วิจารณ์ พานิช: เป้าหมายของการเรียนรู้คือเปลี่ยนแปลงสมอง
ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ทำให้ค้นพบกระบวนการตัดแต่งวงจรประสาทที่ไม่ถูกใช้งาน (Synaptic Pruning) ซึ่งเริ่มต้นในสมองเมื่อมีอายุราว 12 ปีและสิ้นสุดเมื่ออายุราว 15 ปี สมองส่วนไหนที่ถูกใช้งานในช่วงนี้จะถูกเก็บรักษาไว้ให้มีอายุการใช้งานต่อไปได้ แต่…สมองส่วนที่ไม่ได้ใช้งานจะถูกลดบทบาทและถูกตัดขาดจากการเชื่อมโยงของระบบสมอง จนหายไปในที่สุด นี่คือข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังบอกว่า ช่วงเริ่มต้นของวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรได้รับการสนใจอย่างเข้าใจ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสมองด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นไปจนกระทั่งอายุราว 24 ปี
แต่จะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้? จะมีวิธีการไหนที่ช่วยให้วัยรุ่นควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น?
สถาบันมายด์ไซท์ (Mindsight Institute) นำโดย แดเนียล เจ. ซีเกล (Daniel J. Siegel) ผู้อำนวยการสถาบัน และศาสตราจารย์คลินิกจิตเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทชีววิทยาระหว่างบุคคล (interpersonal neurobiology) ได้นำเสนอแนวทางบริหารสมองเรียกว่า “Mindsight” – “มายด์ไซท์” ที่ช่วยเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ปล่อยให้เหตุผลเข้ามาปิดกั้นอารมณ์ และไม่ให้โอกาสอารมณ์ได้อยู่เหนือเหตุผล
มายด์ไซท์ – การมีสติที่จะนำไปสู่ปัญญา
จากการศึกษาถึงระดับโครโมโซมพบว่า การทำสมาธิช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการทำงานของร่างกายในระดับเซลล์ สามารถตรวจพบเอนไซม์เทโลเมอเรสระดับสูงในร่างกายของผู้ที่ทำสมาธิ ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยให้เซลล์รักษาตัวเองได้แข็งแรงและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ในปี ค.ศ. 2009 อลิซาเบซ เอส. แบล็คเบิร์น (Elizabeth H. Blackburn), คาโรล กราย์เดอร์ (Carol Greider) และ แจ็ค ซอว์สแท็ก (Jack Szostak) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลโนเบลทางการแพทย์ร่วมกัน จากการค้นพบกลไกการป้องกันโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลายด้วยโครงสร้างเทโลเมียร์ (Telomere) ส่วนปลายโครโมโซมที่มี DNA ลักษณะพิเศษ และเอนไซม์เทโลเมอเรส (Telomerase Enzyme) ที่ช่วยซ่อมแซมเทโลเมียร์ให้เป็นปกติ เป็นการค้นพบองค์ความรู้ด้านการชะลอวัยครั้งสำคัญ ช่วยสร้างความหวังในการหยุดยั้งและชะลอการแก่ในระดับเซลล์
นอกจากนี้การทำสมาธิ ยังกระตุ้นให้สมองสร้างเส้นใยประสาทเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสมองแต่ละส่วน รวมถึงส่วนที่ช่วยควบคุมอารมณ์ ความสนใจและการคิด
วิทยาศาสตร์กำลังบอกเราว่า การฝึกบริหารควบคุมจิตใจช่วยพัฒนาและควบคุมการทำงานของระบบสมอง และมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกาย
การทำสมาธิจึงไม่ใช่แค่เรื่องทางศาสนา แต่เป็นเรื่องของการฝึกบริหารสมอง ที่ช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และสังคม (Emotional and Social Intelligence) อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนมีความฉลาดทางสติปัญญาในการคิด วิเคราะห์ คำนวณ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะและความรู้ต่างๆ
มายด์ไซท์ เป็นเรื่องของความสามารถในการเห็นและรู้จักจิตใจตัวเอง นำไปสู่การเห็นและเข้าใจผู้อื่น แล้วสร้างเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม – ทำให้วัยรุ่นไม่ตัดสินใจทำในสิ่งที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น
ซีเกล กล่าวว่า จิตใจมีความยืนหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ผ่านประสบการณ์ เราสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สภาพจิตใจได้ หากเข้าใจพื้นฐานของมายด์ไซท์ 3 ประการ ได้แก่
การหยั่งรู้ตนเอง (Insight) ความสามารถในการเข้าใจจิตใจภายในของตนเอง ตอบคำถามกับตนเองได้ว่า เราเป็นใครในปัจจุบัน เราเป็นใครในอดีต และเราอยากเป็นใคร (เป็นแบบไหน) ในอนาคตอันใกล้ เชื่อมโยงตัวตนในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจจิตใจภายในของผู้อื่น ทำให้เราเข้าใจการกระทำของผู้อื่นจากมุมมองของเขาโดยไม่ใช้ประสบการณ์หรือความรู้สึกของเราตัดสิน เหมือนจินตนาการว่า “ถ้าเราเป็นเขาแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร?”
การเข้าใจเจตนาและความจำเป็นของผู้อื่น จะทำให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีสติมากขึ้น
การหลอมรวม/ การเชื่อมรวม (Integration) ความสามารถในการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกัน ทั้งภายในและภายนอกตัวเรา
“ไทม์-อิน” – “Time-In” เป็นวิธีการปฏิบัติ ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของมายด์ไซท์ ทำให้แต่ละคนสร้างระบบมายด์ไซท์ของตัวเองขึ้นมาได้ ซีเกล กล่าวถึงขั้นตอนไทม์-อิน ในหนังสือ Brainstorm: The Power and Purpose of the teenage brain ว่าเป็นการฝึกกำหนดให้มีสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกและอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ บางคนฝึกจดจ่อกับลมหายใจขณะล้างจาน ทำสวน เดิน ยืน นอน หรือนั่ง ซึ่งถือเป็น “การทำสมาธิ” อย่างหนึ่ง หากเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็แค่ให้กลับมารับรู้ถึงลมหายใจเข้าออกของตัวเอง หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องแฟบ
ซีเกล กล่าวว่า ไทม์-อิน คือ การให้ “เวลา” เพื่อใช้พิจารณาภายในจิตใจของตัวเองอย่างตั้งใจ ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ อาจจะวันละ 2 นาที 20 นาที หรือกี่นาทีก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่เป็นสิ่งที่ควรทำทุกวัน
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนแห่งนี้ไม่เก็บค่าเล่าเรียนและไม่มีการสอบ เน้นพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทั้งด้านความรู้และความเป็นมนุษย์
ตารางเรียนในแต่ละวันของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีความสัมพันธ์กับปัญญาภายใน (Emotion and Spiritual Quotients) และ ปัญญาภายนอก (Intellectual Quotients)
จิตศึกษาเป็นการพัฒนาปัญญาจากภายในอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งนักเรียนจะได้ทำกิจกรรมจิตศึกษาเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ทุกเช้า เพื่อฝึกสติ การใคร่ครวญ การเคารพคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น เป็นการปรับคลื่นสมองจากที่เพิ่งได้วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ มาในตอนเช้า ให้อยู่ในสภาวะคลื่นสมองต่ำที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อความจำและอารมณ์ร่วมในการเรียน
ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เราจะได้เห็นการนั่งจับกลุ่มเป็นวงกลมของครูกับนักเรียน ครูไม่นั่งสูงกว่านักเรียน แต่นั่งเป็นวงล้อมรอบที่ทุกคนอยู่เสมอกัน
กิจกรรม ‘Brain Gym’ หรือ กิจกรรมบริหารสมอง เป็นส่วนหนึ่งของจิตศึกษา การจัดท่าทางร่างกายที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อจึงจะทำได้ เช่น การกำหนดให้มือข้างซ้ายชูนิ้วชี้และนิ้วก้อย มือข้างขวากำหลวมๆ จากนั้นจึงสลับมาชูนิ้วชี้และนิ้วก้อยด้วยมือข้างขวา ขณะที่ข้างซ้ายเปลี่ยนมากำหลวมๆ แทน สลับกันไปอย่างนี้จำนวน 20 ครั้ง หรือ ออกแบบการเคลื่อนไหวสลับข้างอื่นๆ เพื่อบริหารการทำงานของสมองซีกซ้ายและขวา
กิจกรรม Brain Gym เป็นการใช้เวลาก่อนเข้าคาบเรียน ปรับสภาพจิตใจ อารมณ์ เตรียมสมาชิกให้กลับมามีสติที่ตัวเอง ละทิ้งความคิด ความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เผชิญมาก่อนหน้านี้ ให้นักเรียนพร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้า
การมีสติจดจ่อกับปัจจุบันขณะ (presence) และการรับรู้อย่างมีสติ (mindful awareness) ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบสมอง กระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนฝึกฝนและพัฒนาได้โดยเฉพาะในวัยรุ่น
เรากำลังพูดถึงการทำงานของสมองในระดับโมเลกุลของเซลล์ที่เชื่อมการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน แม้ว่าแต่ละส่วนจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ยิ่งสมองแต่ละส่วนสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมโยงกันได้มากเท่าไร เรายิ่งสามารถควบคุมอารมณ์ ความนึกคิด การตัดสินใจ และการแสดงออกทางพฤติกรรมได้มากเท่านั้น
แน่นอนว่าการฝึกฝนนี้ต้องอาศัยเวลาและการให้โอกาส สุด้ทายแล้วกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะทำให้วัยรุ่นปล่อยวางตัวเองจากคำตัดสินหรือจากสายตาของผู้อื่น ยอมรับตัวเองแทนการคาดหวัง มีความมั่นใจในตัวเอง เห็นคุณค่าและมีความรักให้กับตัวเองและผู้อื่น